วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน สำหรับคนในรุ่นปัจจุบันคงไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าวัดทั่วไปแห่งหนึ่ง แต่หากย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 วัดแห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และกลายเป็นวัดที่มีความหมายพิเศษต่อสังคมการเมืองไทย ณ ขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง
ในบรรดามรดกทางสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร (พ.ศ. 2475-2490) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ถูกละเลยในการศึกษาและอธิบายอย่างน่าประหลาด หากเทียบกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ
วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งบางเขน ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบระหว่างกลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า ‘คณะกู้บ้านกู้เมือง’ ภายใต้การนำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กับทหารฝ่ายรัฐบาลของคณะราษฎร ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า่า ‘กบฏบวรเดช’ ซึ่งเกิดจากความไม่พอใจรัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมองว่ามีคนในรัฐบาลบางคนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปแบบคอมมิวนิสต์
การริเริ่มก่อสร้างวัดแห่งนี้ รัฐบาลได้ประกาศรับบริจาคเงินราษฎรทั่วไปที่มีจิตศรัทธา เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัดแห่งนี้ให้สมกับเป็นวัดที่สร้างขึ้นในระบอบประชาธิปไตย มีหลักฐานระบุว่า
“การสร้างวัดพระศรีมหาธาตุแห่งนี้ โดยเหตุที่เป็นวัดในระบอบประชาธิปไตย จึงควรให้เป็นงานของชาติและของประชาชน รัฐบาลจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกุศลทั่วกัน”
ที่วัดมีการออกแบบเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ทำหน้าที่เป็นอนุสรณ์สถานที่มีประโยชน์ใช้สอยในการบรรจุอัฐิของผู้ทำคุณงามความดีให้แก่ชาติ โดยมีช่องบรรจุอัฐิของคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้น เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พระยาพหลพลพยุหเสนา และ ปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น
สัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญคือเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ ที่ถูกออกแบบส่วนยอดให้ไม่มีบัลลังก์และมีจำนวนบัวกลุ่มที่ยอด 6 ชั้น ซึ่งไม่ใช่ระเบียบโดยทั่วไปขององค์ประกอบเจดีย์ ที่หากทำเป็นยอดกลุ่มมักจะออกแบบให้ชั้นบัวกลุ่มนี้เป็นเลขคี่ ดังนั้นการทำบัวกลุ่ม 6 ชั้น จึงอาจจะสื่อความหมายถึง ‘หลัก 6 ประการ’ ของคณะราษฎร เนื่องจากสถาปัตยกรรมในยุคนั้นมีความนิยมใช้เลข 6 เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการออกแบบอาคาร โดยแต่แรกนั้นมีชื่อว่า ‘วัดประชาธิปไตย’ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน
อ้างอิง:
- หนังสือ ‘ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์’ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ