×

ชวนดู 4 ต้นแบบการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็น ‘พื้นที่สีเขียวในเมือง’ แล้วย้อนดู ‘กรุงเทพฯ’ เป็นไปได้แค่ไหนที่จะกลายเป็นเมืองสีเขียว [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
01.11.2023
  • LOADING...
พื้นที่สีเขียวในเมือง

WHO ระบุว่า ประชาชน 1 คนควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรถึงจะเข้าหลักเกณฑ์ของเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้คนเมืองมีความสุขเพิ่มมากขึ้นจริงหรือ?

 

เอนู รามาสวามิ วิศวกรสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน กล่าวไว้ว่า “พื้นที่สีเขียวเป็น 1 ใน 7 องค์ประกอบหลักของการเป็นเมือง ซึ่งรวมถึงที่พักพิง น้ำ อาหาร พลังงาน การเชื่อมต่อ และระบบสุขาภิบาล ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียว”

 

ความจำเป็นที่ว่านั้นส่งผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับมนุษย์ ไล่เลียงตั้งแต่ต้นไม้ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังเป็นเกราะลดมลภาวะทางเสียง เนื่องจากพุ่มใบที่หนาทึบของไม้ยืนต้นและไม้พุ่มช่วยดูดซับเสียง อ้างอิงจากงานวิจัยในเมืองอัมสเตอร์ดัมพบว่า สวนสาธารณะสามารถลดมลภาวะทางเสียงจากสนามบิน Schipol ได้ถึง 50%

 

ยิ่งไปกว่านั้น คนเมืองยังสามารถใช้พื้นที่สีเขียวเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ ได้ด้วย และการได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ นอกจากร่างกายจะได้ประโยชน์เต็มๆ จากระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นแล้ว ยังเพิ่มภูมิคุ้มกันความเครียด ช่วยให้เรารับมือกับความวิตกกังวลได้ดีขึ้น และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น ผลวิจัยจาก University of Twente ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่า ต้นไม้สามารถกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากถึง 20%

 

พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองยังเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข (Well-Being) ซึ่งเมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ยิ่งเมืองมีความหนาแน่นมากเท่าไร พื้นที่สีเขียวในเมืองยิ่งมีค่ามากขึ้นต่อสุขภาวะของคนเมืองมากขึ้นเท่านั้น

 

ถ้าดีขนาดนี้ แล้วทำไมกรุงเทพฯ ถึงไม่เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น? ถ้าดูรายงานสวนสาธารณะหลักของกรุงเทพมหานครเดือนตุลาคม 2566 กรุงเทพฯ มีสวนหลัก 40 แห่ง และไม่ใช่ทุกเขตของกรุงเทพฯ ที่มีส่วนสาธารณะหลัก

 

แม้ว่าสวนหย่อมขนาดเล็ก สวนชุมชน สวนในหมู่บ้าน สวนถนน หรือสวนเฉพาะทาง จะช่วยเติมสีเขียวให้กับพื้นที่อื่นๆ ในเมืองได้ แต่กรุงเทพฯ ยังเข้าข่าย ‘ขาดแคลน’ พื้นที่สีเขียวอยู่ดี เพราะ WHO กำหนดว่าละแวกชุมชนควรมีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวอยู่ในระยะการเดินเท้า 300-500 เมตร แต่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Urban Design and Development Center: UddC) ระบุว่า ระยะทางเฉลี่ยที่คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวที่ใกล้ที่สุดคือ 4.5 กิโลเมตร  

 

ผลกระทบโดยตรงคือมลพิษที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษเตือนให้คนกรุงรับมือกับ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ เลี่ยงไม่ได้ที่จะเสี่ยงเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ

 

จะเป็นไปได้ไหมที่กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ในเมื่อมองไปทางไหนก็เจอแต่ตึกสูงและชุมชนแออัด หรือเราจะสามารถใช้พื้นที่รกร้างมาสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวได้จริง ถ้ายังนึกภาพไม่ออก เราจะยกตัวอย่างพื้นที่สีเขียวในต่างประเทศให้ดูกันว่าเขาใช้พื้นที่แบบไหน

 

 

Grand Canal Linear Park: จากคลองเก่าแก่ของเมืองสู่สวนสาธารณะ

 

พื้นที่กว่า 73,000 ตารางเมตร เดิมที่เคยเป็นคลองเก่าแก่ของเมืองในประเทศเม็กซิโก ถูกสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วมซึ่งเคยเกิดขึ้นอย่างสาหัสในช่วงปี 1604-1607 ปัจจุบันได้กลายเป็น ‘Grand Canal Linear Park’ สวนสาธารณะที่ออกแบบเป็นเส้นตรงตามโครงสร้างคลองเดิม

 

ความพิเศษของสวนแห่งนี้ที่นอกจากจะมีต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์มาช่วยกรองมลพิษและเพิ่มอากาศบริสุทธิ์แล้ว ยังถูกออกแบบให้น้ำฝนซึมผ่านได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รักษาวัตถุประสงค์เดิมของพื้นที่ และลดโอกาสการเกิดน้ำท่วมเมือง

 

มากไปกว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง การทลายโครงสร้างเดิมของคลองยังทลายกำแพงชนชั้นที่เคยปิดกันคนเมืองกว่า 1 แสนคน จากหมู่บ้านกว่า 20 แห่ง ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะร่วมกันอีกด้วย 

 

 

Taichung Green Corridor: พัฒนาพื้นที่ใต้ทางรถไฟให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว

 

ตัวอย่างการปฏิรูปพื้นที่ใต้ทางรถไฟให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่น่าจะปรับใช้กับกรุงเทพฯ ได้ก็คือโครงการ Taichung Green Corridor ที่เมืองไถจง ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกถึงการปฏิรูประบบรางและฟื้นฟูพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ และยังเป็นโครงการต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางรถไฟในจุดอื่นๆ ของประเทศไต้หวันอีกด้วย

 

เดิมที Taichung Line เป็นเส้นทางรถไฟสายหลักของเมืองที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1908 แต่หลังจากที่มีการปฏิรูประบบรางช่วงวิ่งผ่านตัวเมืองใหม่ก็ยกระดับรางขึ้นลอยฟ้าจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2016 แล้วเริ่มพัฒนาโครงการ Taichung Green Corridor ระยะทางกว่า 1.7 กิโลเมตรให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะเปิดแบบแนวยาว เลียบเคียงไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมซึ่งอยู่ภายใต้เส้นทางรถไฟยกระดับด้วยคอนเซปต์ Continuous Public Park

 

มีการปรับภูมิทัศน์ด้วยต้นไม้และดอกไม้หลากหลายพันธุ์ ผสมผสานกับสวนสาธารณะเลียบริมคลองและทะเลสาบขนาดเล็กที่มีอยู่ในชุมชน พร้อมทั้งออกแบบถนนสำหรับเดินเท้า เพื่อให้คนเมืองได้สัญจรท่ามกลางธรรมชาติ รวมไปถึงเส้นทางปั่นจักรยานและเส้นทางการออกกำลังกาย โดยมีลานกิจกรรม จุดชมวิว สนามเด็กเล่น ไปจนถึงสวนสมุนไพร ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองแล้ว ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน ถือเป็นการออกแบบที่สอดคล้องกับวิถียั่งยืนอย่างแท้จริง 

 

 

Little Island: แปลงโฉมท่าเรือเก่าของนิวยอร์ก สู่สวนสาธารณะแห่งใหม่กลางแม่น้ำฮัดสัน

 

Pier 54 หรือที่คนเมืองนิวยอร์กเคยขนานนามว่าเป็น ‘ท่าเรืออับโชค’ เพราะในอดีตเคยเป็นท่าเทียบเรือของบริษัท White Star Line เจ้าของเรือ Titanic และยังเคยเป็นจุดรับเรือ RMS Lusitania ครั้งสุดท้ายก่อนถูกยิงในสงครามโลกครั้งที่ 1

 

จากท่าเรือที่ถูกทิ้งร้างให้ทรุดโทรม Pier 54 ถูกเนรมิตให้กลายเป็นสวนธารณะลอยน้ำแห่งใหม่ย่านแมนฮัตตันฝั่งตะวันตก พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น Pier 55 บนพื้นที่กว่า 11,000 ตารางเมตร ปกคลุมไปด้วยสวนที่มีพันธุ์ไม้ 370 กว่าสายพันธุ์ ด้วยคอนเซปต์พืชเหนือน้ำ เป็นที่มาของโครงสร้างฐานรูปก้านดอกทิวลิป 132 ต้น ลดหลั่นตามความสูงเพื่อต้านแรงลม มีทางเดินรอบสวนไว้ดูวิวต่างองศาได้ 

 

ต้นไม้กว่า 35 ชนิด พุ่มไม้อีก 65 ชนิด รวมถึงหญ้า พืชยืนต้น และอื่นๆ อีก 270 ชนิดที่เหมาะกับสภาพอากาศทุกฤดูของนิวยอร์ก และยังดึงดูดนกกับแมลงให้มาช่วยขยายพันธุ์ พร้อมด้วยลานกิจกรรมทางศิลปะทุกแขนง เพื่อส่งเสริมความสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง ออกแบบโดย Thomas Heatherwick สถาปนิกชาวอังกฤษ และได้ Mathews Nielsen ภูมิสถาปนิกแห่ง MNLA มาออกแบบภูมิทัศน์ให้

 

 

Seoullo 7017: โครงการฟื้นฟูทางข้ามแยกที่เสื่อมสภาพให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1960 พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นสะพานยกระดับข้ามแยกระยะทาง 1.24 กิโลเมตรที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้โครงสร้างเสื่อมสภาพ Seoul Metropolitan Government หน่วยงานกำกับดูแลการก่อสร้างของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ จึงตัดสินใจแปลงโฉมสะพานอายุกว่า 50 ปีให้กลายเป็นสวนสาธารณะทางเดินลอยฟ้าในชื่อ ‘Seoullo 7017’

 

ไม่ใช่แค่เปลี่ยนภูมิทัศน์เมือง แต่ยังต้องการยกระดับคุณภาพของเมืองด้วย อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการเดินเท้าของผู้คน เพราะตลอดทางเดินกว่า 1.24 กิโลเมตรมีทางลงที่เชื่อมต่อไปยังถนนต่างๆ ถึง 17 จุด มีลิฟต์สำหรับผู้พิการ และออกแบบให้เป็นสวนสาธารณะที่มีพรรณพืชกว่า 200 ชนิด จำนวนกว่า 24,000 ต้น โดยคัดเลือกพรรณพืชที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล พร้อมทั้งให้ข้อมูลพันธุ์ไม้ตามจุดต่างๆ โดยวางแผนที่จะพัฒนาสวนสาธารณะแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งในการอนุบาลและเลี้ยงดูแลกล้าไม้ใจกลางเมือง ซึ่งสามารถขนย้ายไปปลูกในพื้นที่อื่นๆ ของเมืองต่อได้

 

สำหรับชาวต่างชาติอาจมอง Seoullo 7017 เป็นเพียงจุดเช็กอินหรือไม่ก็มองเป็นเพียงสะพานที่สามารถเดินเชื่อมไปยัง Seoul Station แต่สำหรับคนเมือง ที่นี่คือปอดแห่งใหม่ที่พวกเขาสามารถใช้เวลาระหว่างการเดินทางแวะพักเติมพลังใจให้กับชีวิตได้

 

 

มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สวนเพิ่มมากขึ้น

 

อย่างที่บอกไปข้างต้น พื้นที่สวนสาธารณะไทยยังต่ำกว่ามาตรฐานโลกหากอิงตามเกณฑ์ค่าเฉลี่ยมาตรฐานของ WHO ที่กำหนดให้พื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมของเมืองควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยของกรุงเทพฯ ตามเกณฑ์นี้อยู่ที่ 7.30 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น 

 

แต่ก็ดูมีแนวโน้มที่ดี เพราะกรุงเทพฯ ก็มีความตั้งใจในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ดูได้จากโครงการต่างๆ เช่น Green Bangkok 2030 ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคนภายในปี 2573 รวมถึงเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเดินถึงได้ในระยะการ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ในเมือง (Urban Tree Canopy) จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 17% ให้เป็น 30%

 

หรือนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ​ที่ต้องการกระจายสวนและพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร โดยการพัฒนาพื้นที่รกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ฟื้นกลับมา ควบคู่การเพิ่มพื้นที่ใหม่ เพื่อให้คนเมืองได้มีพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ได้หยุดพักจากความเร่งรีบ และใช้เวลาเพิ่มความสุขและเพิ่มพลังให้กับตัวเอง  

 

คนเมืองอย่างเราๆ ก็หวังว่าจะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และควรเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนทางกายและชุบชูจิตใจให้มีแรงบันดาลใจเพิ่มมากขึ้น เพราะความหอมสดชื่นจากดอกไม้และแสงแดดภายในพื้นที่สีเขียวจะทำให้เราเบ่งบานในแบบของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แล้วคุณล่ะอยากเห็นพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ไหนใกล้บ้านคุณ แสดงความคิดเห็นกันได้เลย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X