×

เปิดกลยุทธ์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เลือกหุ้นพอร์ตโตในช่วงเงินเฟ้อสูง

02.02.2022
  • LOADING...
Warren Buffett

ปี 2022 นับเป็นปีที่ 3 ของโรคระบาดจากโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด ‘โอมิครอน’ ยังสะท้อนการแพร่ระบาดระลอกใหม่ๆ ซึ่งพร้อมเกิดได้ตลอดเวลา หลายๆ ประเทศพยายามเลี่ยงการล็อกดาวน์ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนต่างๆ ดำเนินต่อไปตามโลกวิถีใหม่ ท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่เห็นได้จาก GDP ของแต่ละประเทศที่ไม่เท่ากันในช่วงปีที่ผ่านมา   

 

จึงกลายเป็นโจทย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ที่ไม่ใช่เกิดเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าๆ เท่านั้น แม้แต่ประเทศที่เข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น ก็ยังต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจที่ร้อนแรง กับการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะนโยบายการเงินที่ถึงเวลาต้องกลับข้าง ถ้าดอกเบี้ยขึ้น จะลงทุนตลาดหุ้นให้กำไรได้อย่างไรบ้าง

 

ผมก็ได้รับคำถามจากลูกค้ามากว่า ถ้าดอกเบี้ยขึ้น จะลงทุนตลาดหุ้นให้กำไรได้อย่างไรบ้าง

 

ส่วนตัวผมมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนอย่างนี้ครับ

 

ถ้าดูสถานการณ์ในปีที่แล้ว ทุกประเทศสามารถตั้งหลักรับมือกับการระบาดระลอกต่างๆ รวมทั้งอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปี 2021 เป็นปีแห่งการฟื้นตัวของหลายๆ ประเทศ พลิกกลับมาเป็นเติบโตในอัตราที่สูงขึ้นได้ เนื่องจากเศรษฐกิจปี 2020 ทรุดหนักเกือบทั้งโลก ส่วนดัชนีตลาดหุ้นก็พลิกกลับมาเป็นบวกตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นบางแห่งทำ New High ติดๆ กันภายในปีเดียว นั่นก็คือตลาดหุ้นเวียดนาม

 

นักลงทุนทั่วโลกมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตดีต่อเนื่อง และบริษัทจดทะเบียนทำรายได้และกำไรเติบโตดีตามด้วย ทำให้มีเม็ดเงินไหลกลับเข้าตลาดหุ้นทั่วโลก แม้บางเวลาตลาดหุ้นอาจจะมีความผันผวนขึ้นๆ ลงๆ อยู่บ้างตามข่าวสารที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี เช่น ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวจากวัฏจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศ กดดันการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก แรงเทขายทำกำไรในหุ้นเติบโต อุปทานสินค้าขาดแคลนในภาคการผลิต และยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน  

 

สรุปว่าในปี 2021 นับเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวเต็มๆ ปี แม้จะลุ่มๆ ดอนๆ ก็ตาม แต่ก็ประคับประคองให้กลไกทางเศรษฐกิจและการลงทุนผ่านไปได้อีกปี ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ยังไม่จบ แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกก็จบสิ้นปีได้สวยกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

ส่องผลตอบแทนตลาดหุ้นเด่นแห่งปี 2021 และแนวโน้มปี 2022 ที่น่าจับตา

แม้การลงทุนปี 2021 จะเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ หลายตลาดหุ้น ก็ทำผลตอบแทนได้ดี แม้บ้างตลาดหุ้นจะสร้างความผิดหวังก็ตาม แต่แนวโน้มปี 2022 ก็น่าจับตามองทีเดียว

 

ผมขอยกตัวอย่างตลาดหุ้นที่เติบโตเด่นในปีที่แล้ว รวมถึงตลาดหุ้นที่น่าจับตา และแนวโน้มสำหรับปี 2022 ครับ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม ในปี 2021 GDP ประเทศเวียดนามเติบโตได้ 3-4% แม้เกิดวิกฤตโควิดหนักก็ตาม ส่วนปีนี้คาดการณ์ GDP เติบโต 6-7% หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยเม็ดเงินถึง 5 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2022-2023 และยังมีนโยบายลงทุนต่างๆ เช่น พลังงาน ก๊าซธรรมชาติ สร้างศูนย์โลจิสติกส์มูลค่า 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็น 5.5 พันล้านบาท) และยังปรับลดอัตรามูลค่าภาษีเพิ่มจาก 10% เหลือ 8% ผลักดันการใช้จ่ายบริโภคในประเทศสะพัดยิ่งขึ้น

 

รัฐบาลเวียดนามยังมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการจะเป็น Digital Economy ในปี 2025 โดยจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 1 ใน 4 ของ GDP หรือราว 25% ซึ่งแนวทางที่รัฐบาลเวียดนามดำเนินการจะคล้ายกับจีนที่ระบบปกครองเป็นสังคมนิยม แต่เศรษฐกิจเป็นเสรีนิยม จึงอาจเห็นเศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตคล้ายจีน GDP เติบโตสูง 8-10% ในช่วง 20 ปี 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม ซึ่งเป็นดัชนีตลาดหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดของปี 2021 และเป็น 1 ใน 7 ตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งที่สุดในปี 2021 อยู่ในกลุ่ม Frontier Market และกำลังจ่อเลื่อนชั้นเป็น Emerging Market โดยดัชนี VNI ทำ New High ถึง 4 ครั้งในรอบปี 2021 จึงอาจจะมีเรื่องของ Valuation ของตลาดหุ้นที่อาจรู้สึกว่าราคาหุ้นแพงเกินไป แต่หากมองธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศที่ยังเติบโตสูง ก็น่าจะส่งผลต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเวียดนาม

 

สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นเวียดนามในปี 2022 นั้น มีแนวโน้มการเติบโตดี ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจเวียดนามเติบโต 6-6.5% อีกทั้งความขัดแย้งและกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทานทางเลือก ส่งเสริมภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคการผลิตในขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การปรับโครงสร้างตลาดหุ้นเวียดนามจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบ และสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ที่สำคัญตลาดหุ้นเวียดนามอุดมไปด้วยหุ้นดีที่ราคายังไม่แพง เพราะเฉพาะการลงทุนโดยเน้นหุ้นรายตัว สามารถทำกำไรให้กับนักลงทุนได้ในปี 2022

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2021 สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญโจทย์ ‘ภาวะเงินเฟ้อสูง’ และถูกพูดกันมาตลอดปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงปีนี้ โดยเดือนธันวาคม 2021 ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ พุ่งไป 7% เร่งตัวแรงและสูงสุดในรอบ 40 ปี และนับเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ตัวเลข CPI รายเดือนสูงกว่า 5% และยังไร้สัญญาณชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานและปัญหาขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 3.9% ต่ำสุดในรอบกว่า 22 เดือน และเข้าสู่ระดับเต็มศักยภาพแล้ว

 

สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีที่แล้วนั้น ถือว่าเป็นปีทองของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ และความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภค ส่งผลให้รายได้เติบโต กำไรปรับตัวสูงขึ้น ดันดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวทำสถิติสูงสุดในปี 2021

 

แนวโน้มปี 2022 สิ่งที่คนกลัวที่สุดคือ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อสูง นอกเหนือจากการดึงสภาพคล่องกลับ เตรียมลดงบดุลทำ Quantitative Tightening หรือ QT แม้ตลาดหุ้นรับรู้ไปแล้วระดับหนึ่ง ขณะที่มีการคาดการณ์กันเป็นส่วนใหญ่ว่า Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 4 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% รวมเพิ่มขึ้น 1% หากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและเงินเฟ้อคงอยู่ในระดับสูง เพราะฉะนั้นสถานการณ์ต่างๆ จึงยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นผมมองว่าการเลือกลงทุนควรเน้นลงทุนหุ้นรายตัว ธุรกิจมีความสามารถทางการแข่งขันสูง มีศักยภาพในการเติบโต และราคายุติธรรม

 

ตลาดหุ้นจีน ปีที่แล้ว GDP ประเทศจีนเติบโตมากที่สุดในโลกประมาณ 8.1% ขึ้นมาค่อนข้างสูง และหากเทียบปี 2020 GDP จีนก็เป็นบวก สวนทางทั่วโลกที่ติดลบ สะท้อนถึงความแข็งแกร่งด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะที่ GDP ต่อคนอยู่ที่ 12,551 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าเฉลี่ย GDP ต่อคนของทั่วโลกแล้ว และที่น่าสนใจคือ จีนกำลังเริ่มเป็นผู้นำของเศรษฐกิจยุคใหม่ของโลก ไม่ใช่เพียงแค่ Soft Tech เท่านั้น ยังมียานยนต์ไฟฟ้า (EV) พลังงานสะอาด Healthcare อาทิ ผลิตวัคซีน mRNA ของตนเองอีกด้วย

 

สำหรับตลาดหุ้นจีนในปี 2021 ได้รับแรงกดดันจากการตรวจสอบธุรกิจของรัฐบาลจีนในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี รวมไปถึงวิกฤตธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นจีนผันผวน นักลงทุนหลีกเลี่ยงที่จะลงทุน ทำให้ผลตอบแทน -5.2% เป็นปีที่แย่ที่สุดในรอบ 3 ปีเลยทีเดียว

 

แต่แนวโน้มของตลาดหุ้นจีนปีนี้ส่งสัญญาณการเติบโตอย่างชัดเจน จากมูลค่าการลงทุนเมกะโปรเจกต์สูงถึง 3 ล้านล้านหยวน รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาด คาดปริมาณการติดตั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์รวม 97 กิกะวัตต์ คิดเป็น 40% ของปริมาณติดตั้งทั่วโลก ฐานะทางการเงินภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องอย่างมั่นคง ส่งผลให้สถาบันการเงินหลักของโลกหลายแห่งมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นจีนในปี 2022 

 

สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือ จุดแข็งของจีนในการมี Economy of Scale สูง จากจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน โดยคนชนชั้นกลางมีถึง 600-700 ล้านคน ถือว่าจีนสามารถทำกินทำใช้ภายในประเทศได้สบายๆ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้มาก และนี่ทำให้จีนยังมีหุ้นธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจลงทุนอีกมาก ผมมองว่าตลาดหุ้นจีนที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ราคาหุ้นอยู่ระดับต่ำ เนื่องจากปีที่แล้วตลาดหุ้นจีนปรับลดลงแรง ปีนี้ตลาดหุ้นจีนจึงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก จึงเหมาะสำหรับการเพิ่มทุนในพอร์ตตลาดหุ้นจีน

 

ตลาดหุ้นไทย ปี 2021 เศรษฐกิจไทยเผชิญกับวิกฤตโควิดระบาดรุนแรงถึง 2-3 ระลอก ทำให้เศรษฐกิจสะดุดลง โดยสภาพัฒน์คาดการณ์ GDP ปี 2021 โตเพียง 1.2% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากบริษัทที่มีรายได้จากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2021 เพิ่มขึ้น 16.4% แตะระดับ 2.46 แสนล้านดอลลาร์ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจากโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ประเด็นบวกเรื่องรายได้ของบริษัทที่มาจากต่างประเทศก็เป็นปัจจัยหลักที่หนุนตลาดหุ้นไทยปีที่แล้วให้ปรับตัวขึ้นแรง และหนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการเติบโตได้ โดยผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นไทย (SET TRI) อยู่ที่ 17.67%

 

สำหรับปี 2022 ทุกคนก็หวังว่าประเทศไทยน่าจะหมดทุกข์หมดโศก หลังจากมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้น และคาดการณ์กันว่า GDP เติบโต 3-4% โดยได้แรงขับเคลื่อนหลักจากภาคส่งออกเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น การผลิตเซอร์กิตบอร์ด ฯลฯ  ถือว่าไทยยังเป็นโรงงานผลิตของโลกอยู่เหมือนกัน ขณะที่ภาคท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นบ้างในปีนี้

 

การเลือกหุ้นในตลาดหุ้นไทย ผมแนะนำให้ดูว่าบริษัทมีรายได้จากธุรกิจใด เช่น รายได้จากเทคโนโลยี ก็จะสะท้อนว่าธุรกิจเข้าสู่เมกะเทรนด์เทคโนโลยี ที่จะมีการเติบโตระยะยาว 10 ปี หรือหากทำธุรกิจผลิตเพื่อส่งออก ถือว่ายังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว ทำให้มีดีมานด์ค่อนข้างสูงจากประเทศต่างๆ

 

แต่ภาพในระยะสั้น ตลาดหุ้นไทยอาจเผชิญกับเงินทุนไหลออกในระยะสั้น เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต่อผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นสูง ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อน ทำให้นักลงทุนต่างชาติโยกเงินลงทุนในไทยออก เพื่อไปลงทุนในประเทศอื่นๆต่อไป

 

ปี 2022 เงินเฟ้อโลกพุ่ง จุดเปลี่ยน ‘ดอกเบี้ยขึ้น’ ชัดเจน

ข้อมูลจาก Centre for Economics and Business Research (CEBR) ระบุว่า ปี 2022 เศรษฐกิจโลกจะมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP รวมทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก เร็วขึ้นจากคาดการณ์เดิมไป 2 ปี ซึ่งเกิดจากภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ หลังโควิด

 

ขณะเดียวกันโลกก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย คือ ภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวทั่วโลก ที่ทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องเฝ้าระวังและดำเนินนโยบายการเงินอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะช่วงจังหวะการปรับเปลี่ยนขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และถ้าไม่สามารถสกัดภาวะเงินเฟ้อสูงให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ อาจจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยตามมาในปี 2023 หรือ 2024 ก็เป็นได้

 

เปิดกลยุทธ์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เลือกหุ้นในช่วงเงินเฟ้อสูง

หากย้อนดูสถิติย้อนหลังในหลายๆ ทศวรรษ ทั่วโลกเจอภาวะเงินเฟ้อมาโดยตลอด ซึ่งเป็นวัฏจักรทางเศรษฐกิจ พบว่าภาวะเงินเฟ้อกดดันตลาดหุ้นเกิดความผันผวนเพียงระยะไม่กี่วันไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น หลังจากตลาดหุ้นรับรู้ปัจจัยลบเหล่านี้ไปแล้ว ดัชนีจะทะยานต่อ และจะเติบโตมากกว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นอีก

 

นักลงทุนชื่อดังของโลก วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า ภาพรวมตลาดหุ้นอาจมีความผันผวนต่อการขึ้นดอกเบี้ยบ้าง จึงให้คำแนะนำการเลือกลงทุนหุ้นในช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อสูง คือ ต้องเลือกบริษัทที่มี 2 คุณสมบัติสำคัญ คือ ธุรกิจที่ดีต้องสามารถส่งต่อเงินเฟ้อไปยังผู้บริโภคได้ หมายความว่า มีอำนาจต่อรองในการเพิ่มราคาสินค้าและบริการได้ รวมไปถึงขยายธุรกิจโดยที่ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่มากเกินไป ผลที่ตามมาคือ รายได้ยังคงเติบโต ต้นทุนการขายและบริหารต่ำ และความสามารถทำกำไรอยู่ในระดับที่สูงนั่นเอง และถึงแม้ว่าเวลาเงินเฟ้อลดลง แต่ราคาสินค้าก็ไม่ได้ปรับลดลงมาด้วย 

 

ตัวอย่างธุรกิจที่ปรับราคาขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงสินค้าและบริการประเภทอาหาร ยา แต่ธุรกิจอื่นๆ ก็มีการปรับตัวขึ้นได้ เช่น ธุรกิจเทคโนโลยี การลงโฆษณาใน Facebook ก็ปรับราคาขึ้น หรือ Netflix ก็ปรับขึ้นราคา แม้แต่ Tesla ยังมีการปรับราคารถขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็ขายหมดอยู่ดี ธุรกิจเหล่านี้จะได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ ส่วนธุรกิจที่น่ากลัวจะเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนทางการเงินสูง กิจการแย่

 

ผมถึงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นครับ แม้ว่าในภาพรวมของตลาดหุ้นสหรัฐฯ น่าจะมีความผันผวน แต่หากคุณสามารถเลือกธุรกิจที่ดีและมีความสามารถในการแข่งขันได้สูง ย่อมสามารถทำกำไรได้สูง เพราะฉะนั้นอย่าได้กลัวจนเกินไป หน้าที่ของนักลงทุนคือ ต้องทำการบ้านในสภาวะตลาดผันผวน เพราะมันคือโอกาสสร้างผลตอบแทน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้จะมีโจทย์ยากมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณมีหลักการลงทุนที่ดี แม้ระหว่างทาง ในบางปีอาจปรับตัวลงตามตลาดหุ้นได้บ้าง แต่เวลาตลาดหุ้นขึ้นก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า สุดท้ายก็สามารถประคองพอร์ตไปได้เรื่อยๆ ที่สำคัญเมื่อมีจังหวะดีๆ ก็ ‘ลงทุนเพิ่ม’ เพื่อทำพอร์ตให้เติบโตในระยะยาว

ดังที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าว พอร์ตที่แข็งแกร่งต้องยึดหลักการลงทุน รักษาวินัยการลงทุนระยะยาวไว้ จะสามารถยืนหยัดในทุกความผันผวนที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising