ทำไมเป้าหมายของสตาร์ทอัพต้องเป็นที่ ‘ซิลิคอนแวลลีย์’ (Silicon Valley)
Google, Facebook, Apple, eBay, Adobe, Yahoo, Netflix อดีตสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในวันนั้นกลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในวันนี้ ต่างก็เติบโตและสร้างธุรกิจพันล้านจากที่นี่ ราวกับมีเวทมนตร์ที่เสกทุกความฝันให้กลายเป็นจริงได้ แต่เบื้องหลังความสำเร็จที่โลกได้เห็น นอกจากไอเดีย เงินทุน และความมุ่งมั่น สำคัญยิ่งกว่าคือ ‘สิ่งแวดล้อม’ ภายในซิลิคอนแวลลีย์ที่แวดล้อมไปด้วยส่วนผสมที่ดีในการสร้างนวัตกรรม อาทิ ศูนย์รวมของเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก สำนักงานใหญ่ของบริษัทมากกว่า 30 แห่ง ที่ติดอันดับอยู่ใน Fortune ก็อยู่ที่นี่ ศูนย์รวมของสตาร์อัพหลายพันบริษัท และยังเป็นที่ตั้งของ Stanford University ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเต็มที่ ถึงกับสร้าง Stanford Research Park ให้บริษัทด้านเทคมาเช่าพื้นที่เพื่อทำงานวิจัย รวมถึง University of California at Berkeley หรือ San Jose State University ก็ล้วนแล้วแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนา และสร้างทรัพยากรบุคคลด้านเทคโนโลยีป้อนสู่ตลาดแรงงาน
นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้เหล่าสตาร์อัพตั้งเป้าไว้ที่ซิลิคอลแวลลีย์ รวมถึงสตาร์ทอัพไทยก็เช่นกัน นับเป็นเรื่องน่ายินดีกับว่าที่นวัตกรและสตาร์ทอัพชาวไทย เพราะตอนนี้เราไม่ต้องตีตั๋วบินไปถึงสหรัฐอเมริกา แค่ขับรถมาที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง คุณจะได้พบกับ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองหลวงแห่งนวัตกรรมที่พร้อมจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมสากล
‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองหลวงแห่งนวัตกรรม Silicon Valley ของเมืองไทย
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่ 3,454 ไร่ ของ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ให้เป็นเมืองหลวงแห่งนวัตกรรมที่พร้อมจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของไทยให้ทัดเทียมสากล อีกทั้งต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกร ผลักดันสตาร์ทอัพ และองค์กรที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีให้เติบโตไปพร้อมกัน
ด้วยศักยภาพ สิ่งแวดล้อม และความเพียบพร้อมที่จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมแบบครบวงจร ทั้งการวิจัยและพัฒนา โรงเรียนนวัตกร จนถึงแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับกลุ่มผู้อาศัยและประชากรภายในพื้นที่ โดยเดินหน้าไปพร้อมกับเป้าหมายสำคัญของโครงการ คือมุ่งผลักดันนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดให้กลายเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เชื่อมโยงสู่การใช้งานจริงกับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเน้นเป็นพิเศษกับ 6 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่, ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, เทคโนโลยีการบินและอวกาศ และเครื่องมือแพทย์
3 องค์ประกอบสำคัญในการบ่มเพาะนวัตกรที่ดีเพื่อสร้างนวัตกรรมระดับโลก
นวัตกรที่มีคุณภาพและนวัตกรรมที่ดีต้องเกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี และสภาพแวดล้อมที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม ซึ่ง ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ดีตั้งแต่แนวคิดตั้งต้นที่ต้องการสร้าง ‘Smart Natural Innovation Platform’ ทำให้พื้นที่แห่งนี้ครบถ้วนทั้งความสะดวกในการทำงานและการใช้ชีวิต ทั้ง 3 โซนจึงออกแบบให้เชื่อมโยงและสนับสนุนกันอย่างเป็นระบบ ได้แก่
พื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (Education Zone)
เพราะต้นกล้าที่แข็งแกร่ง ควรต้องได้รับการเพาะบ่มภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและเพียบพร้อม ด้วยเหตุนี้เองวังจันทร์วัลเลย์จึงให้ความสำคัญกับการสร้างนักคิด นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศให้พร้อมจะเติบโตเป็นนวัตกร โดยการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่มอบองค์ความรู้และเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) แหล่งผลิตนักวิทย์แห่งอนาคต
นักเรียนของ KVIS เป็นนักเรียนทุนแบบไม่ผูกมัด คัดเด็กหัวกะทิที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อันดับสูงสุดระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อให้ได้รับการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิด โดยคณาจารย์ที่มีความสามารถ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการดูแลอย่างดี ตั้งแต่ที่พัก อุปกรณ์การเรียน ห้องปฏิบัติการที่ล้ำสมัย
ด้านสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งเน้นงานวิจัยชั้นแนวหน้า เพื่อสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นเลิศในระดับโลก ให้สามารถสร้างและใช้องค์ความรู้ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (MSE), สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE), สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) และยังได้รับการจัดอันดับจาก Nature Index ให้เป็นมหาวิทยาลัยของประเทศที่มีผลงานวิจัยชั้นเลิศในทุกสาขาด้าน Natural Sciences
การเรียนการสอนของที่นี่จึงเป็นการบูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำงานวิจัยเชิงลึก และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล หัวข้องานวิจัยจึงเน้นไปที่การคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่ม New S-Curve เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น
ตัวอย่างงานวิจัยล่าสุด แอปพลิเคชัน CHIVID เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ในการติดตามอาการและดูแลรักษากลุ่มผู้ป่วยโควิด ที่ต้องแยกกักตัวที่บ้าน กักตัวในชุมชน และโรงพยาบาลสนาม ถูกนำไปใช้งานแล้วที่โรงพยาบาลกระทุ่มแบน, โรงพยาบาลบางปะกง, โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
นอกจากแหล่งผลิตนวัตกร ภายใน Education Zone ยังจัดตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์’ พัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่ จัดสรรพื้นที่ครอบคลุมบริเวณ 351.36 ไร่ สำหรับการศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการป่าไม้ และยังนำร่องเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้หายาก ไม้ป่าเศรษฐกิจ ไม้ผลธรรมชาติและพืชอาหารตามธรรมชาติ ใกล้กันยังมี ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา’ ศูนย์การเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่เกษตรโดยใช้แนวคิดวนเกษตร เกษตรผสมผสาน ที่จะยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบ Smart Farming เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียนและผู้ที่สนใจทั่วไป
พื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone)
ในโซนนี้ยังเป็นที่ตั้งของอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของ สวทช. ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ เมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS), เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS), เมืองนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ (SPACE INNOPOLIS) และเมืองนวัตกรรมอาหาร (FOOD INNOPOLIS) รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐ บริษัทในกลุ่ม ปตท. และภาคเอกชนอื่นๆ เข้าร่วมพัฒนาพื้นที่
พื้นที่บางส่วนที่กำลังพัฒนาจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาใช้งานในอนาคต โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยเกื้อหนุนในงานวิจัยหลายประการ เช่น
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี
- ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ
- ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ร้อยละ 17 ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย
- สมาร์ทวีซ่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว
- พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox)
ที่สำคัญ กลุ่ม ปตท. จับมือกับพันธมิตร พัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้สามารถใช้งานระบบ 5G เพื่อการทดลอง ทดสอบนวัตกรรมที่จำเป็นต้องใช้โครงข่าย 5G เช่น อุปกรณ์ IoT ต่างๆ หรือระบบอุตสาหกรรมอัจฉริยะในหลากหลายรูปแบบ รวมถึง UAV Regulatory Sandbox หรือการอนุญาตให้สามารถบินโดรนเพื่อการวิจัยนวัตกรรมได้ในพื้นที่ของวังจันทร์วัลเลย์เป็นกรณีพิเศษ เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ (Community Zone)
สำหรับโซนสุดท้าย จะถูกเนรมิตให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและสันทนาการ แวดล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวเพื่อความยั่งยืน สถานที่ออกกำลังกาย โรงแรม ศูนย์การค้า แหล่งนันทนาการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยอาคารต่างๆ ยังดีไซน์แบบ Universal Design คำนึงถึงการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีทุกช่วงวัย
ปัจจุบันวังจันทร์วัลเลย์ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ภายในโครงการจึงพัฒนาตามหลักเกณฑ์เมืองอัจฉริยะ Thailand Smart City ครบทั้ง 7 ด้าน ได้แก่
- Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ จัดการสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ สู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
- Smart Governance การบริการภาครัฐอัจฉริยะ มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ
- Smart Mobility การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ ให้ความสำคัญกับความสะดวก ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการเดินทางและขนส่ง
- Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยติดตั้ง Solar Farm และ Solar Roof Top
- Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ เพิ่มประสิทธิภาพ ความเชื่อมโยง และความร่วมมือทางธุรกิจและนวัตกรรม
- Smart Living การดำรงชีวิตอัจฉริยะ มุ่งเน้นความปลอดภัยและบริการที่เพียบพร้อม
- Smart People พลเมืองอัจฉริยะ พัฒนาความรู้และการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการควบคุมระบบทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย โดยมีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ทั้งเพื่อประโยชน์ในการศึกษา และการใช้งานจริงกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม
ภายในเมืองอัจฉริยะ ยังมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานสะอาด กระจายไฟฟ้าสู่ทั้งโครงการด้วยระบบ Smart Grid มีรถประจำทางไฟฟ้ารับส่งภายในพื้นที่ มีทางเดินและทางจักรยานที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้สมกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองตัวอย่างของการปล่อยคาร์บอนต่ำ
ในอนาคต ‘วังจันทร์วัลเลย์’ อาจจะเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาสตาร์ทอัพ และเป็นหมุดหมายของสตาร์อัพจากทั่วโลกจะเข้ามาอยู่ใน Ecosystem เพราะวังจันทร์วัลเลย์จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันไอเดียไปสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมใน EEC จึงช่วยให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในที่แห่งนี้เชื่อมโยงไปสู่เวทีโลกอย่างง่ายดาย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อีเมล [email protected] หรือ Wangchan Valley
อ้างอิง: