หวังเหวินเทา (Wang Wentao) รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน ได้พบกับ ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ Apple ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 มีนาคม) โดยให้คำมั่นที่จะต้อนรับธุรกิจต่างชาติที่จะลงทุนในจีน รวมถึงการจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้นและโปร่งใสมากขึ้น
ทั้งนี้ ทิม คุก ถือเป็นผู้บริหารระดับโลกคนที่ 11 ที่ได้พบกับเจ้าหน้าที่จีนตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (23 มีนาคม) ในช่วงที่มีการจัดการประชุม China Development Forum โดยผู้บริหารครึ่งหนึ่งที่เข้าร่วมงานมาจากสหรัฐอเมริกา
ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การประชุมของเจ้าหน้าที่จีนกับผู้แทนต่างประเทศได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ของจีนในการเปิดประเทศ และเป็นเครื่องยืนยันถึงบทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีนในฐานะแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การแสดงท่าทีต้อนรับที่เป็นรูปธรรมของทางการจีนยังแสดงให้เห็นจุดยืนของจีนที่แตกต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งไม่เคยละความพยายามใดๆ ที่จะปราบปรามบริษัทจีนในสหรัฐฯ แม้จะต้องสูญเสียชื่อเสียงของชาติตนเองก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จีน ‘หลุด Top 3’ ประเทศสำคัญด้านการลงทุนของสหรัฐฯ เซ่นปมสัมพันธ์ตึงเครียดของสองชาติ
- ‘เงินเฟ้อ-ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ’ ปมชี้ชะตาตลาดหุ้นโลก
- ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บอกว่า ‘ทักษะการเขียนโค้ด’ ควรเริ่มสอนในโรงเรียนประถม เพราะมองเป็นภาษาสากล
แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ทางรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการเปิดตลาดระดับสูงอย่างไม่หยุดยั้ง และขยายการเปิดสถาบันอย่างมั่นคงโดยคำนึงถึงกฎระเบียบ ข้อบังคับ การจัดการ และมาตรฐาน จีนยินดีจัดหาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีและมั่นคงสำหรับบริษัทต่างชาติ รวมถึง Apple เพื่อลงทุนและดำเนินการในประเทศ
นอกจาก ทิม คุก แล้ว บรรดาผู้บริหารสหรัฐฯ รายอื่นๆ ได้แก่ Wendell P. Weeks ซีอีโอ Corning Inc., Jon Moeller ซีอีโอ Procter & Gamble, Craig Allen ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน, Albert Bourla ซีอีโอของ Pfizer และ Cristiano Amon ซีอีโอ Qualcomm
ระหว่างการประชุมกับผู้บริหารธุรกิจต่างประเทศ หวังได้แสดงความเต็มใจที่จะมอบสภาพแวดล้อมและบริการที่ดีสำหรับบริษัทจากทั่วโลกเพื่อพัฒนาในประเทศจีน
มั่นใจบริบททางเศรษฐกิจเหมาะเป็นฐานผลิตของโลก
เทียนหยุน (Tian Yun) อดีตรองผู้อำนวยการของสมาคมปฏิบัติการเศรษฐกิจในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อโลกคาดว่าจะอยู่ในอันดับที่ 1 ของโลกในปีนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้บริหารระดับโลกจะบินไปยังตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและขยายการลงทุน ก่อนชี้ว่า ในแง่ของการควบคุมต้นทุน จีนซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับบริษัทระดับโลกในการผลิตสินค้าที่แข่งขันด้านราคา
ทั้งนี้ จีนมุ่งมั่นที่จะปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เหมาะสมและสร้างเงื่อนไขที่สะดวกสำหรับนักลงทุนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด รัฐบาลจีนได้จัดตั้งทีมพิเศษเพื่อช่วยบริษัทต่างชาติแก้ปัญหาด้านวัตถุดิบและแรงงานได้อย่างทันท่วงที และความพยายามเหล่านี้ได้รับการตอบรับจากบริษัทต่างชาติ
จากการสำรวจของ China Council for the Promotion of International Trade พบว่าองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างชาติโดยทั่วไปมีความพึงพอใจต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของจีนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 โดย 90.2% ‘พึงพอใจ’ หรือ ‘พอใจมาก’ กับเงื่อนไขในการเช่าพื้นที่ธุรกิจและชำระภาษี
เจิ้งชางเจีย (Zheng Shanjie) ประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจชั้นนำของจีนย้ำว่า จีนยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติและยินดีแบ่งปันความสำเร็จด้านการพัฒนา โดยการก้าวเดินไปกับจีนหมายถึงการสื่อสารด้วยโอกาส และการลงทุนในจีนหมายถึงการลงทุนในอนาคต
วงการเชื่อ จีนมุ่งสนับสนุน ไม่ควบคุม
ด้านบรรดานักสังเกตการณ์ระบุว่า การกระทำของจีนตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง โดยสหรัฐฯ ขณะนี้ กำลังวางแผน ‘ล่าแม่มดทางการเมือง’ กับบริษัทที่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับจีน ไล่เรียงตั้งแต่ TikTok ไปจนถึง Huawei การพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐฯ เกี่ยวกับ TikTok ที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่าถูกบิดเบือนทางการเมืองเพื่อให้ครอบคลุมจุดประสงค์ที่แท้จริงในการปล้นกำไรของบริษัทจากจีน ซึ่งสะท้อนถึงการมีอำนาจมากขึ้นของสหรัฐฯ และการกลั่นแกล้งบริษัทที่มีพื้นฐานมาจากจีน
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เหมาหนิง (Mao Ning) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ออกโรงตำหนิข้อสันนิษฐานของสหรัฐฯ ที่มีต่อ TikTok โดยกล่าวชัดว่า ปัญหาทางเทคนิคควรได้รับการแก้ไขอย่างมืออาชีพ การปราบปรามผู้อื่นอย่างไม่มีเหตุผลไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้นแต่อย่างใด
ลั่นเดินหน้าสนับสนุน AI
วันเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน (MOST) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติจีน (NSFC) ได้ร่วมกันริเริ่มโครงการประยุกต์ใช้สำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI หรือ AI for Science
รายงานระบุว่า เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยุคถัดไปที่ออกโดยสภาแห่งรัฐ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน (MOST) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติจีน (NSFC) วางแผนที่จะจัดตั้งระบบการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ล้ำสมัยสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยบูรณาการประเด็นสำคัญทางคณิตศาสตร์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งฟิสิกส์ เคมี ดาราศาสตร์ และสาขาวิชาพื้นฐานอื่นๆ
สำหรับระบบ R&D จะมุ่งเน้นไปที่ความต้องการการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเด็นสำคัญๆ เช่น การวิจัยและพัฒนายา การวิจัยยีน การเพาะปลูกทางชีวภาพ และการวิจัยและพัฒนาวัสดุใหม่ๆ
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนกล่าวว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ได้กลายเป็นแนวหน้าใหม่ของภาค AI ทั่วโลก โดยจีนมีรากฐานที่มั่นคงในด้านเทคโนโลยี AI ข้อมูลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ และกล่าวเสริมว่า จีนจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับการตั้งค่าระบบและคำแนะนำโดยรวม เพื่อส่งเสริมการบูรณาการเชิงลึกของ AI และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการบรรจบกันของทรัพยากร และเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง
หลิวจิงจิง (Liu Dingding) ผู้สังเกตการณ์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้สนับสนุนให้บริษัทเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตรายใหญ่เสริมความแข็งแกร่งให้กับการวิจัยและการประยุกต์ใช้ AI ซึ่งถือเป็นทิศทางหลักของอินเทอร์เน็ตยุคหน้า เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ตที่เคยเข้ามาพลิกโมเดลเศรษฐกิจ โดยอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภาคอุตสาหกรรม การผลิตทางการเกษตร การศึกษา และการแพทย์ จะต้องได้รับการสนับสนุนจาก AI ในอนาคต
หลิวเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยี AI นี้จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมหลายล้านแห่งและปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างมาก ก่อนเสริมว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านนี้ เห็นได้จากการที่บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Baidu, Alibaba, Tencent และรายอื่นๆ ได้เปิดตัวชุดผลิตภัณฑ์และบริการ AI มากมาย
อ้างอิง: