×

จีน ‘หลุด Top 3’ ประเทศสำคัญด้านการลงทุนของสหรัฐฯ เซ่นปมสัมพันธ์ตึงเครียดของสองชาติ

24.03.2023
  • LOADING...

ประธานสภาหอการค้าสหรัฐฯ ในจีน แสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำธุรกิจในจีน โดยระบุว่า โอกาสการค้าการลงทุนระยะยาวของบริษัทสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ในจีนค่อนข้างติดลบมากกว่าที่เคยเป็นมา

 

Michael Hart ประธานหอการค้าสหรัฐฯ ประจำประเทศจีนกล่าวว่า เหตุผลหลักเป็นเพราะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การทำธุรกิจในจีนของเอกชนสหรัฐฯ เผชิญกับความท้าทายมากขึ้น 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนมีชนวนขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิดและการรับมือวิกฤตโรคร้ายดังกล่าว สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน สถานภาพเกาะไต้หวัน แอปพลิเคชัน TikTok และเซมิคอนดักเตอร์

 

ทั้งนี้ ในการสำรวจประจำปีล่าสุดของหอการค้าสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 900 คน รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nike, Intel, Pfizer และ Coca-Cola พบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่คิดว่าจีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญด้านการลงทุน 3 อันดับแรกอีกต่อไป ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ดำเนินการสำรวจมา

 

ขณะเดียวกันจำนวนผู้ที่เห็นว่า ‘ความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน’ เป็นความท้าทายหลักเพิ่มขึ้น 10% จากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 66% ขณะที่ เอกชนที่คิดว่าจีนกลายเป็นประเทศที่ต้อนรับบริษัทต่างชาติน้อยลงก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 49%

 

การสำรวจความเห็นครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการครบรอบ 5 ปีของการบังคับใช้มาตรการกีดกันด้วยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าจีนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยให้เหตุผลว่าการขาดดุลการค้าสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนเป็นผลมาจาก ‘การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม’ ซึ่งรวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรม 

 

นอกจากนี้ มุมมองทางลบของเอกชนสหรัฐฯ ยังสะท้อนถึงสถานะปัจจุบันของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ไม่ค่อยสู้ดีนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยประธานหอการค้าสหรัฐฯ ประจำประเทศจีนกล่าวว่า บริษัทต่างๆ เริ่มเหนื่อยหน่ายกับการทำธุรกิจในจีน เพราะจีนกลายเป็นสถานที่ที่คาดเดาได้ยากมากขึ้นในการทำธุรกิจ ยังไม่นับรวมต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น และการเดินทางที่ยากมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความยากลำบาก แต่ตัวเลขการค้าระหว่างทั้งสองประเทศก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 6.906 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2022 ซึ่ง Eswar Prasad ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการค้าโลกแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และอดีตหัวหน้าแผนกฝ่ายจีนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติมหาอำนาจยังจำเป็นต้องพึ่งพากันและกัน และปัญหาสหรัฐฯ กับจีนมีผลกระทบต่อสุขภาพของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด

 

Prasad อธิบายว่า ในความเป็นจริงจีนยังคงต้องการสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และบริษัทจำนวนมากของสหรัฐฯ ก็ยังจำเป็นต้องดำเนินการระบบซัพพลายเชนผ่านจีน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลก เพราะไม่ใช่แค่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกเท่านั้น แต่แนวโน้มของระเบียบการค้าโลกยังถูกกำหนดโดยความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้

 

หลายฝ่ายคาดหวังว่าปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ น่าจะได้รับการจัดการจากองค์การการค้าโลก (WTO) กระนั้น ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ เพิ่งจะปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวต่อคำวินิจฉัย 2 ฉบับที่เข้าข้างจีนเกี่ยวกับภาษีที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ บังคับใช้ในตอนนั้นจนทำให้เกิดสงครามการค้าขึ้น โดยสหรัฐฯ ยืนกรานว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงของชาติ ซึ่งองค์การการค้าโลกไม่มีสิทธิ์เข้ามาควบคุมหรือแทรกแซง 

 

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก รวมถึง Prasad จะค่อนข้างกังวลว่าการตัดสินใจของสหรัฐฯ จะกระทบต่อระเบียบการค้าโลกและระบบห่วงโซ่อุปทาน แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งรวมถึง Dan Wang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Hang Seng Bank China ในนครเซี่ยงไฮ้ เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วสหรัฐฯ ไม่มีทางกีดกันจีนจากการค้าโลกได้ เพราะต่อให้สร้างระบบห่วงโซ่อุปทานโลกขึ้นมาใหม่ ห่วงโซ่ดังกล่าวก็ยังมีการพึ่งพาจีนในทางใดทางหนึ่งอยู่ดี เพราะว่าประเทศทางเลือกเหล่านั้นจะยังคงพึ่งพาจีนในแง่ของส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีทางการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์

 

ด้าน Prasad สรุปว่า ความเป็นปรปักษ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP โลก มีแนวโน้มที่จะสร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วต้องการในตอนนี้

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X