Wan Gang สถาปนิกผู้ออกแบบและวางกลยุทธ์ EV จนได้รับการยอมรับว่าเป็น ‘บิดาแห่งรถยนต์ไฟฟ้า’ ในสื่อจีน มองอนาคตรถยนต์ไฮโดรเจนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อตลาดยานยนต์ไฟฟ้าหลังจากนี้ และจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากจนกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แม้จีนจะสามารถประกาศความสำเร็จในการพัฒนาและสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลกได้แล้ว แต่แดนมังกรก็ยังไม่หยุดพัฒนา
แม้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนในโลกยังมีไม่มาก ด้วยข้อจำกัดการลงทุนที่สูง แต่สำหรับจีนเองกลับมองว่าเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ ล่าสุดยังทุ่มทุนค้นคว้าและวิจัยแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ๆ เห็นได้จากความสำเร็จของ EV ที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จในวันนี้ ล่าสุดจีนมองข้ามช็อตไปถึงเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นคือ การพัฒนาไฮโดรเจนในยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle หรือ FCEV) เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยกให้ ‘ไฮโดรเจน’ เป็น 1 ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตของจีนอีกด้วย
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Wan Gang สถาปนิกผู้ออกแบบและวางกลยุทธ์ผลักดัน EV จนได้รับการยอมรับ เป็นผู้ที่กล้าตัดสินใจผลักดันจีนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจนสำเร็จ ในอดีตเขาเคยเป็นวิศวกร ผู้บริหารของ Audi และรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวในการประชุมเยอรมัน-จีน นอกรอบงานแสดงรถยนต์ในงาน IAA MOBILITY ที่ประเทศเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า อนาคตเชื่อว่ารถยนต์ไฮโดรเจนจะมีบทบาทสำคัญในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะเป็นกุญแจสำคัญต่อตลาดยานยนต์ไฟฟ้า
โดยเฉพาะขณะนี้เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่มีระยะทางระหว่างเมืองยาวนาน เพราะการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่นี้ยังคงต่ำ และยังพบอีกว่า ในบางภูมิภาคการใช้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฮโดรเจนอาจแพร่หลายมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเสียอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไฮโดรเจน’ ขุมทรัพย์ใหม่ของอินโดนีเซีย? เยอรมนีทุ่ม 500 ล้านดอลลาร์ตั้งโรงงานผลิต 35,000 ตันต่อปี บนพื้นที่ตอนเหนือของอินโดนีเซีย
- ไอเดีย ‘เปลี่ยนทะเลทรายเป็นไฟฟ้า’ ของอินเดียน่าสนใจอย่างไร? ทำไม ‘GPSC’ บริษัทพลังงานไทยจึงเข้าไปลงทุนและยกให้เป็นบ้านหลังที่ 2
- ทางเลือกหรือทางรอด? เหตุใดอินเดียยอมทุ่มเงินมหาศาลให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่และไฮโดรเจน เพื่อดันให้เป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หากย้อนไปเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว เขาเดิมพันเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยการขายรถจนสำเร็จ ซึ่งไม่เพียงช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังรับมือในการลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันของจีน บวกกับการใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพื่อผลักดันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้จีนกลายเป็นตลาดที่โดดเด่นสำหรับ EV ในที่สุด
เขากล่าวอีกว่า ขณะนี้การส่งเสริมไฮโดรเจนนั้นมีประโยชน์มากต่ออุตสาหกรรมสีเขียว เนื่องจากสำหรับจีนแล้ว ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถใช้ในการขนส่งทางทะเลและทางรถไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในกองยานพาหนะเชิงพาณิชย์ของจีน ซึ่งล้วนได้รับประโยชน์จากระบบขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน
สำหรับค่ายรถแบรนด์ดังอย่าง BMW ก็พบว่าได้เริ่มพัฒนารถยนต์ทดสอบไฮโดรเจนหลายสิบคัน และพร้อมที่จะนำระบบขับเคลื่อนไปใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น ‘Neue Klasse’ ที่ตกแต่งแบบย้อนยุคสไตล์มินิมัลที่มาพร้อมความทันสมัย ซึ่งมีกำหนดออกจำหน่ายประมาณกลางทศวรรษ
โดย Oliver Zipse ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BMW กล่าวในงานเดียวกันว่า “นี่คือรถยนต์ต้นแบบคันแรกสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเจเนอเรชันใหม่ และสำหรับเรา การพูดถึงยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์นั่นจะหมายถึงไฮโดรเจนด้วย” เขาเสริมอีกว่า จีนควรเพิ่มสถานีบริการไฮโดรเจนใกล้ใจกลางเมืองมากขึ้น เพื่อสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสำหรับลูกค้าเอกชน
ทั้งนี้ แม้รถยนต์ไฮโดรเจนมีข้อจำกัดเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงและมีโครงสร้างพื้นฐานในการเติมเชื้อเพลิงที่ยังใหม่ ส่งผลให้ค่ายรถบางรายอย่าง Mercedes-Benz เลิกผลิตรุ่น GLC SUV ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนที่ผลิตออกมาจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ Honda หยุดการผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงรุ่น Clarity ในปี 2564 แต่ยังไม่ทิ้ง และได้ประกาศแผนที่จะเริ่มการผลิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในสหรัฐอเมริกาภายในปี 2567
ส่วน BMW ล่าสุดได้ดำเนินการทดสอบกลุ่มรถยนต์สปอร์ตอเนกประสงค์ iX5 ที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจนไปแล้วจำนวน 80 คัน และกำลังจัดส่งไปยังหลายประเทศเพื่อทำการทดลองขับ โดยบริษัทจะตัดสินใจเกี่ยวกับแผนผลิตอีกครั้งหากได้รับการตอบรับดี
อ้างอิง: