จากที่เคยเป็นเจ้าของ 100% ใน Seiyu เชนซูเปอร์มาร์เก็ตของแดนซามูไรกว่า 300 แห่ง และมีพนักงานประมาณ 35,000 คน มาวันนี้ Walmart ยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกของสหรัฐฯ กำลังจะขายหุ้นออกไปให้กับผู้ซื้อ 2 รายคือ KKR บริษัทการลงทุนของสหรัฐฯ ในสัดส่วน 65% และ Rakuten รายใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของญี่ปุ่น รวมเป็นมูลค่า 1.725 แสนล้านเยน หรือราว 4.9 หมื่นล้านบาท
Walmart จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้น 15% ใน Seiyu เอาไว้ โดย Judith McKenna ซีอีโอของ Walmart International กล่าวว่า ทั้งสองจะรักษาความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้าง
การตัดสินใจของ Walmart ในการขายหุ้น 85% ในเชนซูเปอร์มาร์เก็ต แสดงให้เห็นว่ากลยุทธ์สไตล์อเมริกันที่มุ่งเน้นไปที่ราคา กลับพบกับประสิทธิภาพที่ล้มเหลว และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้
ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลกเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 2002 ด้วยการซื้อหุ้น 6% ใน Seiyu และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น ก่อนที่จะเทกโอเวอร์เต็มรูปแบบในปี 2008 โดยรวมแล้ว Walmart ใช้เงินลงทุนไปกับ Seiyu มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่แทนที่จะได้ขุดทองในแดนซามูไร แต่ Walmart กลับประสบปัญหาในญี่ปุ่นเช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติรายอื่นๆ เช่น Tesco และ Carrefour ที่แม้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจะมีกำลังจับจ่ายสูง แต่ก็มาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรง
เดิมนั้น Walmart วางแผนที่จะนำกลยุทธ์ ‘Every Day Low Price’ หรือขายสินค้าราคาประหยัดในทุกๆ วัน ซึ่งเป็นท่าไม้ตายของ Walmart มาใช้กับ Seiyu เพื่อดึงดูดลูกค้าผ่านการตัดราคาคู่แข่ง ทว่าซูเปอร์มาร์เก็ตรายอื่นๆ ก็หันมาใช้กลยุทธ์เดียวกัน ดังนั้นความสามารถในการแข่งขันด้านราคาจึงไม่ดีขึ้นเท่ากับในสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน การมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพกลับสร้างผลกระทบเช่นกัน โดย Walmart ได้ลดจำนวนพนักงานในสาขาของ Seiyu แต่สิ่งนี้มักทำให้ร้านค้ามีพนักงานน้อยเกินไปที่จะเติมของใหม่หลังจากที่สินค้าหมด เป็นต้น
และถึงบริษัทแม่ในสหรัฐฯ จะเน้นกลยุทธ์ด้านราคา แต่บริษัทในญี่ปุ่นได้พยายามปรับกลยุทธ์โดยการดึง ‘ทาเคชิ คามิโกจิ’ ซึ่งมีประสบการณ์จาก Unilever ให้เข้ามานั่งตำแหน่งซีอีโอในปี 2015 โดยมีเป้าหมายที่พัฒนาความสามารถในการทำกำไรอย่างยั่งยืน แต่ที่สุดแล้ว คามิโกจิก็ไม่เห็นด้วยกับบริษัทแม่ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตผ่านความเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น การเข้าซื้อกิจการ ตัวเขาจึงก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2018
หลังจากนั้นก็มีข่าวว่า Walmart กำลังพยายามขาย Seiyu ในราคา 3-5 แสนล้านเยน แต่ก็ไม่ได้ขายจนมาถึงข้อตกลงล่าสุดนี้เอง
อย่างไรก็ตาม ดีล Seiyu ถือเป็นการขายสินทรัพย์ที่ด้อยประสิทธิภาพครั้งล่าสุดโดย Walmart หลังก่อนหน้านี้ได้ออกจากสหราชอาณาจักรและอาร์เจนตินา เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในท้องถิ่นที่ปรับตัวอย่างรวดเร็วได้ ส่วนในเอเชียนั้น ได้ออกจากตลาดเกาหลีใต้ในปี 2006 และหันมาโฟกัสกับจีนแทน ซึ่งล่าสุดนั้น Walmart กำลังสนใจธุรกิจในอินเดีย ด้วยการซื้อ Flipkart ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ด้วยกัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/article/us-seiyu-m-a-kkr-rakuten/walmart-sells-majority-stake-in-seiyu-nearly-exiting-japan-idUSKBN27V0TY
- https://asia.nikkei.com/Business/Business-deals/Walmart-finds-US-style-retail-a-tough-sell-in-Japan
- https://asia.nikkei.com/Business/Business-deals/KKR-and-Rakuten-to-buy-85-of-Seiyu-from-Walmart