×

สว. 67 : อยู่มาทุกยุค ‘ครูหยุย วัลลภ’ ยังไม่เคยโดนด่าว่า ‘ทำงานไม่คุ้มภาษี’ เตรียมโปรเจกต์ใหม่ ‘คนแก่ที่ดูแลคนแก่’

15.06.2024
  • LOADING...
วัลลภ ตังคณานุรักษ์

HIGHLIGHTS

17 min read
  • วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย ผู้ที่อยู่บนเส้นทาง สว. อย่างยาวนาน 5 สมัย ตั้งแต่ปี 2539 ย้ำทุกเรื่องที่ทำมีผลงาน จับต้องได้ และยังไม่เคยโดนด่าว่าทำงานไม่คุ้มภาษี
  • เปรียบอนาคตใหม่-ก้าวไกล เหมือนยุคแรกของยุวชนประชาธิปัตย์ เสียดายอนาคตประเทศไทยถูกทำลายด้วย ม.112 
  • ไม่ห่วงบ้านเมือง เชื่อมือคนรุ่นใหม่จะพาประเทศเดินต่อไปได้ ชีวิตหลังพ้นวาระยังเดินหน้าทำงานสังคม เตรียมเปิดโปรเจกต์ ‘คนแก่ที่ดูแลคนแก่’ ทำบ้านเพื่อผู้สูงอายุ

THE STANDARD ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านการสนทนาพิเศษกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่ 12 ชุดที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘สว. ชุดพิเศษ’ ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงผลงาน 5 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปหลังเข้าสู่ช่วงพ้นวาระ

 

การสนทนาครั้งที่ 5 นี้เป็นการสนทนาพิเศษกับ ‘วัลลภ ตังคณานุรักษ์’ หรือ ครูหยุย จากนักพัฒนาสังคม และเป็นที่รู้จักในฐานะเลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก สู่การเป็นสมาชิกวุฒิสภามาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2539

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ยืนอยู่ด้านหน้าห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

วัลลภ สว. วัย 69 ปี ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการ สว. ชุดที่ 12 เช่นปกติจนกว่าจะได้ สว. ชุดใหม่ โดยในช่วงเวลาพักกลางวัน เขาได้เปิดห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกต โอเอซิสแห่งสัปปายะสภาสถาน พูดคุยถึงบทบาท สว. ผู้ที่อยู่มาทุกยุค ยาวนาน 5 สมัย และแผนที่จะทำในอนาคตอันใกล้นี้ 

 

สว. ผู้อยู่มาทุกยุค

 

“รู้สึกเฉยๆ ฉันโชคดี ฉันได้เปรียบ เพราะอยู่บนเส้นทางนี้มา 5 สมัยแล้ว ตั้งแต่ปี 2539” วัลลภตอบ THE STANDARD หลังถูกถามถึงความรู้สึกในการทำงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา  

 

การทำงานในช่วง 5 ปีหลัง ด้วยความที่เราเป็นคนที่ทำงานมาตลอด จนรู้กลไกมากกว่าเพื่อนๆ ก็ทำให้เราไม่ต้องตั้งหลักอะไรมาก และเมื่อเราไม่ต้องตั้งหลักอะไรมาก ก็ทำให้เรานั้นต้องรับภาระในการทำงานจำนวนมากเช่นกัน 

 

โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการในหลายคณะ ทั้งประธานกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาหลายสมัย หรือแม้แต่การเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการจิตอาสาเพื่อสังคม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รู้สึกภาคภูมิใจมาก 

 

เราที่ทำงานอาสามาตลอด เราก็มีความสุข

 

นอกจากนี้ยังเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ คณะอนุกรรมาธิการติดตามมติของวุฒิสภาด้วย กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่วุฒิสภามีมติผ่านกฎหมาย รวมถึงพระราชกำหนด หรือแม้แต่รายงานที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมของวุฒิสภา รวมถึงกระทู้ต่างๆ ที่รัฐมนตรีได้เดินทางมาตอบในการประชุมวุฒิสภา 

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภายในห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

เรามีหน้าที่ต้องติดตามว่า กฎหมายต่างๆ เหล่านั้นดำเนินการถึงขั้นตอนใด เช่น การออกกฎหมายแต่ละฉบับต้องมีการออกกฎกระทรวงหรือออกประกาศ รวมถึงต้องตั้งคณะกรรมการกี่คณะ ตามเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง หรือแม้แต่ติดตามกระทู้ที่รัฐมนตรีได้ตอบ ว่าทำตามสิ่งที่ได้พูดหรือไม่ 

 

“ผมตามจนคุณประยุทธ์ (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี) น่าจะรำคาญผม เพราะผมมีจดหมายถึงตลอดว่า รัฐมนตรีของนายกฯ ไม่ได้ทำตามที่ได้พูดไว้ หรือไม่ได้ทำอะไรเลย นายกฯ จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รายงานการทำงานต่อวุฒิสภาทุก 3 เดือน ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าดีใจมาก”

 

วัลลภเล่าอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาเขาได้รับบทเรียนมากมายว่า กฎหมายที่ออกมาจากผู้แทนราษฎรหรือจากวุฒิสภา เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงไม่ค่อยได้ และใช้ในการดำเนินการอย่างยาวนาน บางฉบับต้องรอกฎกระทรวงประกาศ เนื่องจากกฎหมายส่วนใหญ่จะมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงได้กำหนด กฎหมายบางฉบับให้ตั้งคณะกรรมการ ผ่านมาแล้ว 5 ปีก็ยังไม่สามารถตั้งได้ 

 

“ด้วยเหตุนี้ก็เลยไม่มีเวลาว่าง แม้กระทั่งวันเสาร์และวันอาทิตย์ก็ยุ่งทุกวัน หนักมาตลอด แต่ว่าด้วยความเคยชินก็อาจจะมีความรู้สึกเฉยๆ ทุกอย่างก็เป็นไปตามตารางที่เราได้จัดไว้” 

 

ตัวอย่างเช่น ตารางการทำงานจะถูกจัดไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน แล้วก็เราก็ต้องวางแผนตัวเองว่าในเดือนถัดไปจะทำเรื่องอะไรบ้าง ยกเว้นวันที่มีการประชุมในวันจันทร์และวันอังคาร แต่ด้วยความที่เราอยู่มานาน เมื่อเห็นวาระการประชุมก็พอคาดการณ์เวลาได้ บางวันไม่เกินบ่าย 2 การประชุมก็เลิกแล้ว เราก็ไปทำงานอย่างอื่นต่อ ถึงบ้าน 2 ทุ่มทุกวัน เป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2539 จนกลายเป็นความเคยชิน เป็นเรื่องปกติ

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

THE STANDARD จึงถามต่อ “การทำงานในแต่ละรัฐบาลเป็นอย่างไร มีความแตกต่างกันหรือไม่”

 

วัลลภกล่าวว่า การทำงานในทุกรัฐบาลมีความยากและง่ายต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายด้วย เช่นในปี 2539 หน้าที่หลักในตอนนั้นมีหน้าที่แค่กลั่นกรองกฎหมายเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ยากมาก 

 

แต่เราอยู่ท่ามกลางนักกฎหมายที่เก่งๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น มีชัย ฤชุพันธุ์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, วิษณุ เครืองาม หรือแม้แต่ คุณหญิงนันทกา สุประภาตะนันทน์ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่างมาก

 

“ปี 2539 เราเด็กมาก เราก็ไม่เข้าใจว่าเขาพูดอะไรกัน แต่ก็ทำให้เราต้องฝึกตัวเองเพื่อตามคนเหล่านั้นให้ทัน สงสัยอะไรก็ถาม ถามจนเขารำคาญ เมื่อเราไม่รู้เราก็ต้องถาม เราต้องถามแทนชาวบ้าน เมื่อเห็นกฎหมายถ้าเรายังไม่รู้แล้วชาวบ้านจะรู้ได้อย่างไร แต่เป็นการทำงานที่มีความสนุก”

 

เมื่อเข้าสู่การเป็น สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในช่วงหลายรัฐบาล ทั้งรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ หรือรัฐบาลชวน หลีกภัย มีระยะเวลาการทำงานทั้งสิ้น 6 ปี ก็มีความสนุกสนานโดยไม่มีความขัดแย้ง เนื่องจากการเมืองยังไม่มีการแบ่งขั้วการเมืองเหมือนในปัจจุบัน 

 

“เป็นบรรยากาศสีเขียว และเพิ่งได้รัฐธรรมนูญใหม่ เราเองก็มาจากการเลือกตั้ง เป็นบรรยากาศของการทำงานที่ให้เกียรติกันระหว่าง สส. และ สว. ได้กำกับบริหารราชการแผ่นดินที่เข้มข้นอย่างมาก เพราะเรามีอำนาจเทียบเท่าผู้แทนราษฎร”

 

เมื่อเข้าสู่การเป็น สว. ในช่วงรัฐประหาร ในแง่ของการพิจารณากฎหมาย การทำงานก็เป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากมีสภาเดียว จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจำนวนมาก และตนเองได้มีโอกาสเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนหลายฉบับ 

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ระหว่างถูกสื่อมวลชนประจำรัฐสภารุมถามประเด็นทางเมือง 

ที่บริเวณโถงรัฐสภา ฝั่ง สว. 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

ส่วน 5 ปีล่าสุดนี้ มีกฎหมายผ่านความเห็นชอบจำนวนน้อยมาก เนื่องจากการเมืองค่อนข้างที่จะแบ่งขั้วกัน สส. ก็แบ่งขั้วกัน สว. ก็ยังถูกแบ่งขั้วไปอีก เป็นการทำงานที่ไม่สนุก และที่ไม่สนุกเพราะเรารู้จักทุกคน อย่างพรรคสีส้ม บางคนก็เป็นเพื่อนของลูกสาวเราด้วยซ้ำ

 

ครูคุยได้ทุกคน แต่ไม่สนุก เป็นบรรยากาศระหว่างการแบ่งขั้วโดยอัตโนมัติ การประชุมร่วมก็มีความขัดแย้งกันตลอด เราก็เดินตามเส้นทางของเรา แต่ครูโชคดีไม่ค่อยมีใครมายุ่งด้วย เพราะอยู่มานาน 

 

THE STANDARD จึงถามต่อ “แสดงว่ามีอิสระในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ”

 

วัลลภตอบว่า ตนเองมีอิสระในการตัดสินใจสูงมาก จนหลายคนมาถามว่า เราเป็นอย่างไรกันแน่ เราก็ตอบว่าไปว่า “ไม่ต้องมาเอาอะไรกับฉันหรอก หากนายกฯ คนนี้ ฉันเอา ฉันก็ลงมติเห็นด้วย หากนายกฯ คนนี้ฉันไม่เอา ฉันก็แค่งดออกเสียง ไม่ต้องมายุ่งกัน ต่างคนต่างอยู่”

 

แต่ก็มีหลายคนพยายามที่จะจำแนกที่มาของ สว. แต่ละคน ซึ่งทุกคนล้วนมีเบื้องหลังทั้งนั้น แต่เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ยอมรับว่าก่อนเข้ามารับตำแหน่งตนเองก็ได้รับโทรศัพท์ว่าให้เข้ามาช่วยงาน ซึ่งมีทุกยุค ปี 2539 ยุครัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ก็มี ตอนนั้น กัญจนา ศิลปอาชา ก็ได้โทรศัพท์มาให้ช่วยงานด้านสังคมในวุฒิสภา หรือแม้แต่ในช่วงที่ผ่านพ้นการทำรัฐประหาร พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ต่อสายตรงให้มาช่วยงาน

 

พี่ป้อมก็โทรมาบอกว่า ไอ้หยุย มึงมาช่วยงานหน่อยได้ไหม 

 

หรือมากไปกว่านั้น มีหลายพรรคการเมืองทั้งพรรคฟ้า พรรคแดง ก็ได้โทรศัพท์มาให้ช่วยทำงาน ซึ่งใครเรียกให้ช่วยก็ช่วยหมด ทำทุกอย่าง ถือว่าเป็นการทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน อย่างน้อยๆ ก็มีโอกาสได้ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสังคม 

 

ทุกเรื่องที่ทำ ‘มีผลงาน’ ที่จับต้องได้ 

 

วัลลภกล่าวถึงผลงานของตนเองตลอด 5 ปีที่ผ่านมาว่า ทุกเรื่องที่ทำล้วนเป็นผลงานทั้งสิ้น เราอยู่ตรงนี้มานาน ตอนที่เป็นประธานกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ได้ดีไซน์การทำงานอย่างชัดเจน ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเด็ก ด้านผู้หญิง ด้านผู้ด้อยโอกาส ด้านผู้พิการ ผู้สูงอายุ

 

การที่เราได้แบ่งงานในลักษณะนี้จะทำให้เราติดตามความคืบหน้าได้ทั้งหมด การทำงานส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเพื่อนำรายงานเข้าที่ประชุม และกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เป็นกรรมาธิการที่นำรายงานเข้าที่ประชุมมากที่สุด ด้วยจำนวนกว่า 30 เรื่อง 

 

ด้านผู้สูงอายุ เราเสนอให้เงินเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 2 แนวทางคือ จ่ายถ้วนหน้า 600 บาท หรือ 1,000 บาท หรือทางที่ 2 คือ การจ่ายเงินแบบขั้นบันได เช่น ปีนี้ 20,000 บาท ปีหน้าได้ 30,000 บาท ปีต่อไป 40,000 บาท 

 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกำลังจะเต็มไปด้วยคนสูงอายุ เราก็เสนอให้มีการจ้างงานคนที่เกษียณอายุราชการไปแล้วโดยมีการลดภาษีให้ ซึ่งรัฐบาลก็รับเงื่อนไขนี้ กระทรวงการคลังเห็นด้วยกับเรื่องนี้ มีหลายๆ หน่วยงานที่เริ่มรับบุคคลที่มีอายุเข้าทำงาน 

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ด้านผู้หญิง ครั้งหนึ่งได้เกิดอุทกภัยขึ้น เราได้เสนอว่า คนเหล่านี้ได้รับความเสียหายมากแล้ว จึงไม่ควรที่จะต้องถูกเก็บดอกเบี้ย และดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง จึงเสนอให้ลดดอกเบี้ยให้เหลือเพียง 25 สตางค์เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนสามารถตั้งตัวได้ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นด้วย

 

ด้านคนพิการมี มณเฑียร บุญตัน ที่ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว ได้ผลักดันการจ้างงานของคนพิการ โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ อย่างน้อยใน 100 คน ควรรับคนพิการ 1 คน พร้อมทั้งได้ศึกษาข้อมูลว่ามีหน่วยงานไหนที่ติด 10 อันดับที่ไม่ได้มีการรับคนพิการเข้าทำงาน ตนเองก็จะส่งหนังสือถึงหน่วยงานนั้นๆ สุดท้ายก็มีการรับคนพิการเข้าทำงาน

 

บางหน่วยงานที่ระบุว่าไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้ เพราะไม่มีงบประมาณที่เพียงพอ เราก็ได้เสนอว่า หากไม่สามารถรับคนพิการเข้าทำงานได้ ก็ให้คนเหล่านั้นใช้พื้นที่สำหรับการค้าขาย และสุดท้ายหน่วยงานเหล่านั้นก็รับข้อเสนอนี้ไป และกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนพิการ

 

ด้านเด็ก เราพยายามจะผลักดันการพัฒนาสื่อออนไลน์ โดยให้ทุกจังหวัดมีกรรมการปกป้องเด็กจากสื่อออนไลน์ ซึ่งทุกจังหวัดได้มีการตั้งกรรมการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีผู้ว่าเป็นประธานฯ มีโมเดลนำร่องที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดหนองคาย


นี่คือการผลักดันของการทำงานในฐานะการทำงานของกรรมาธิการ

 

“ที่หลายคนถามว่าหมดวาระตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา แล้วเราทำอะไรอยู่ ก็ต้องบอกว่าเราก็ยังคงทำงาน ยังติดตามมติเหล่านี้อยู่ และที่สำคัญที่สุด เรายังทำหน้าที่ในการกลั่นกรองดูแลกฎหมายเช่นเดิม และยังมีกฎหมายที่สำคัญอีกสองฉบับคือ กฎหมาย กยศ. และกฎหมายเพื่อการสมรสเท่าเทียม เราก็แทบไม่ได้หยุด” 

 

ยังไม่เคยโดนด่าว่า ‘ทำงานไม่คุ้มภาษี’ 

 

“รู้สึกภูมิใจกับตำแหน่งนี้ไหม และคิดว่า 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวคิดว่าทำหน้าที่คุ้มภาษีของประชาชนหรือไม่” THE STANDARD ถาม 

 

วัลลภกล่าวว่า ตนเองภูมิใจกับทุกตำแหน่งที่ได้ทำ ไม่ว่าตำแหน่งนั้นจะเป็น สว. หรือไม่ ทำงานอย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเราใช้เงินภาษีอากรของราษฎรด้วยเงินเดือน 113,560 บาท หากตีเป็นเลขกลมๆ ตกวันละ 3,000 บาท ยังไม่รวมเบี้ยประชุมอีก ถ้าเราทำงานไม่คุ้ม คนเขาก็จะด่าเราได้ เราก็ต้องตระหนักและต้องสำเหนียกในเรื่องนี้ให้ทำงานให้คุ้ม แต่เราก็ยังไม่เคยโดนใครด่าว่าทำงานไม่เต็มที่ 

 

หากเราพูดกันอย่างเป็นธรรม คนด่าก็เป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่คนทั้งประเทศ และในทัศนะของตนเอง หนึ่งคนด่าเราก็ต้องฟัง แม้คนด่าจะเป็นกลุ่มเดิมๆ แต่ก่อนมีทั้งขั้วแดงและขั้วส้ม แต่ปัจจุบันนี้เหลือแค่ขั้วส้ม ไม่มีขั้วแดงแล้ว เพราะสถานการณ์การเมืองได้เปลี่ยนไป

 

ดังนั้นตนเองจึงเฉยๆ หากเขาจะด่าก็ต้องปล่อยให้เขาด่าไป เพราะเราคือคนสาธารณะ แต่จะด่าถูกด่าผิดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอให้ผลงานเป็นตัวพิสูจน์ เราก็คิดว่าเราเองก็ยืนตรงนี้ได้โดยไม่อายใคร

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภายในห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

“มีความคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า สว. ชุดที่ 12 เป็นทายาทของ คสช.” THE STANDARD ถาม

 

วัลลภตอบว่า เราโดนด่าเรื่องนี้มาตั้งแต่ชุดที่ 11 แล้ว มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ระบุว่าเราเป็นทรราชที่รับใช้เผด็จการ แต่ยืนยันว่าไม่ได้สนใจ ตนเองเป็น สว. มาจากทุกรูปแบบ ทั้งการแต่งตั้ง การเลือกตั้ง ส่วนตัวเฉยๆ แต่ขออย่าด่าถึงบุพการีเท่านั้นพอ

 

THE STANDARD จึงถามต่อว่า “ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สว. อยู่กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่เห็นต่างบนโลกออนไลน์มาโดยตลอด และมากไปกว่านั้น คำวิจารณ์เหล่านั้นยังลามและส่งผลกระทบไปถึงคนในครอบครัวด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีอีเวนต์ทางการเมือง ครูโดนด้วยหรือไม่” 

 

“ผมโดนน้อยมาก ตอนนั้นก็เป็นห่วงเรื่องมูลนิธิ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็ยังมีคนมาบริจาคของให้กับเด็กๆ ตามปกติ เพราะเขาแยกแยะได้ เขาบอกว่าเขามาช่วยเด็ก ไม่ได้มาช่วยครูหยุย” วัลลภกล่าว

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภายในห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

แต่ลูกสาวที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลสัตว์ก็โดนบ้างประปราย ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นคนสูงอายุที่ไม่ได้สนใจทางการเมือง และไม่สนว่าจะเป็นลูกใคร เขาสนใจแค่สัตว์เลี้ยงของเขา 

 

ผมโดนน้อยกว่าตัวตึงทุกคน อย่าง สว. บางคนที่โนเนมเขาก็ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อะไร มีแต่พวกบิ๊กเนมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นหลัก

 

“ช่วงก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี โลกออนไลน์มีการร่วมแสดงจุดยืนให้คนในครอบครัวของสมาชิกวุฒิสภาไปกดดันผู้ปกครองที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาให้โหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ลูกๆ ครูได้มาพูดอะไรกับครูหรือไม่” THE STANDARD ถาม

 

วัลลภกล่าวว่า สิ่งที่ตนเองไม่พอใจมากที่สุดคือมีการกดดันไปถึงเด็กๆ ในมูลนิธิ โดยที่เด็กเหล่านั้นไม่รู้เรื่องเลย 

 

“เด็กๆ ดูตามโทรศัพท์มือถือ และมาขอให้เลือกพ่อ ตอนนั้นผมก็พูดไป ใครคือพ่อเธอ ฉันนี่คือพ่อเธอ ก็รู้สึกไม่พอใจ เพราะเอาการเมืองเข้ามายุ่งกับเด็กมากเกินไป พวกเขาเป็นแค่เด็กในระดับชั้นประถม จึงรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แต่มันก็เป็นแค่กระแส แล้วก็มีญาติๆ โทรมา เราก็พูดไปฉันจะเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด”

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รายล้อมไปด้วย สส. พรรคก้าวไกล 

ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

วัลลภกล่าวอีกว่า มีเพื่อน สว. หลายคนที่แสดงออกว่าจะเลือกพรรคก้าวไกล เพียงเพราะตัดรำคาญ เนื่องจากได้รับโทรศัพท์กดดันทุกวัน จึงรับปากไปเช่นนั้น แต่ตนเองไม่เห็นด้วย เพราะเหมือนเป็นการโกหกประชาชน จึงอาสาที่จะตัดชื่อของคนที่ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะลงมติเห็นชอบให้ 

 

นอกจากนี้ ช่วงก่อนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็มีคนโทรศัพท์มามากมาย ขอให้ตนเองเห็นชอบแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกลอย่าง สส. ก้าวไกล ที่รู้จักกัน ก็มาพูดคุยกับเรา ขอให้ช่วยเลือก แต่เราก็ไม่ได้รับปาก และบอกว่าขอให้รอดูหลังจากที่ได้ลงมติ 

 

มีประชาชนมาจากไหนก็ไม่รู้โทรศัพท์เข้ามาแล้วพูดว่า “โหวตด้วยนะไอ้พวกเผด็จการ” เราก็ไม่ได้พูดอะไรแล้ว ตอบกลับแค่ว่า ขอให้ดูผลการลงมติในวันนั้น มันเป็นแค่ช่วงหนึ่ง และไม่ได้ซีเรียสอะไร เป็นกระแสที่วูบวาบขึ้นมา

 

แม้มีสิทธิ แต่ขอใช้สิทธิเพียงครั้งเดียว

 

“ส่วนตัวไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว” วัลลภให้ความเห็นกับ THE STANDARD เกี่ยวกับการให้อำนาจ สว. โหวตนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 

 

และส่วนตัวเห็นว่า การให้อำนาจ สว. ในการโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เมื่อฝ่ายค้านได้ร่วมเข้าชื่อกันอภิปรายฯ จะเป็นการดีเสียกว่าอีก 

 

สำหรับแนวทางการโหวตนายกรัฐมนตรีของตนเองที่ผ่านมาก็ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียว คือการโหวตนายกรัฐมนตรีในรอบแรก ที่ลงมติเห็นชอบ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อปี 2562 

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภายในห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

“ครูใช้แนวทางอะไรในการเลือกนายกรัฐมนตรีแต่ละครั้ง คนนี้เลือก คนนี้ไม่เลือก และคนนี้งดออกเสียง”  THE STANDARD ถาม 

 

วัลลภกล่าวว่า แนวทางคือจะใช้สิทธิของตนเองเพียงครั้งเดียว การเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไปจะงดออกเสียงทั้งหมด ที่เลือกใช้สิทธิลงมติในครั้งแรก เนื่องจากเห็นว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งแรกไม่มีแคนดิเดตที่มากพอ และเห็นว่าคู่แข่งเมื่อเทียบกับคนที่เราเลือกแล้วบุคคลนั้นมีสมบัติที่ไม่เพียงพอ 

 

พูดกันอย่างแฟร์ๆ คุณจะเลือกใคร ระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยที่เราไม่พูดถึงเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ประสบการณ์การทำงานต่างกัน เบื้องหลังก็ต่างกัน 

 

หากการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 มีแคนดิเดตมากกว่านี้ และได้เสนอชื่อ ‘ชวน หลีกภัย’ จากพรรคประชาธิปัตย์ ตนเองจะเลือก ‘ชวน’ เพราะมีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า แล้วมีเพื่อน สว. หลายคนที่คิดเหมือนตนเอง

 

“คุณชวนมีประสบการณ์ในรัฐสภาอย่างมหาศาล และเป็นนายกรัฐมนตรีที่มือสะอาด”

 

อนาคตก้าวไกล ถูกทำลายด้วย ม.112 

 

วัลลภบอกเล่าความรู้สึกที่มีต่อพรรคเกิดขึ้นใหม่ในช่วงปี 2562 อย่างพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะเป็นพรรคก้าวไกลในวันนี้ว่า ส่วนตัวมีความรู้สึกชื่นชมพรรคอนาคตใหม่อย่างมาก เป็นพรรคการเมืองที่ใช้ AI ในทางบวกได้ดี ทั้งการสืบค้นข้อมูล และการเตรียมบุคคลที่จะใช้สำหรับอภิปรายได้ดีและตรงประเด็น 

 

“ผมเคยคุยกับหลายคนในพรรคอนาคตใหม่ แล้วบอกไปว่า ถ้ากูยังหนุ่มๆ กูคงมาร่วมด้วย เป็นพรรคการเมืองในอุดมคติ มีแนวการทำงานที่ตรงกัน แต่มีข้อแม้เพียงเรื่องเดียวคือ เรื่องสถาบันฯ ถ้าหยุดเรื่องสถาบันฯ ได้จะเดินไปได้ไกลมาก ท่านมายุ่งอะไรกับเอ็งด้วย หลายคนก็ตอบผมไม่ได้”

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ขณะให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD 

ภายในห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

จนเวลาล่วงเลยมาในปี 2566 จากพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคก้าวไกล พรรคนี้ก็ยังไม่เลิกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ เราก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และจะไปยุ่งอะไรกับสถาบันฯ ทำไม

 

“เสียดายเหมือนกัน พรรคก้าวไกลเป็นอนาคตได้จริงๆ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ เขาไปได้ไกล และเป็นพรรคการเมืองที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนไปได้ ซึ่ง ณ เวลานี้ก็ควรที่จะต้องเปลี่ยนไปได้แล้ว”

 

วัลลภกล่าวแนะนำก้าวไกลว่า แนวทางที่พรรคก้าวไกลเดินมานั้นถูกต้องมาโดยตลอด ทั้งการทำงานในสภา แม้ในช่วงหลังมานี้จะอ่อนลงไปบ้าง ไม่เหมือนก้าวไกลในรอบที่แล้วที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีเยี่ยม ตรงไปตรงมา มีหลักการ และมีจุดยืนอย่างชัดเจน เหมือนยุคแรกของยุวชนประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายกลุ่มคนเหล่านั้นไม่สามารถฝ่าคนสูงอายุในพรรคไปได้ 

 

รู้สึกเสียดาย เพราะเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ผมแม้จะแก่ แต่ผมก็เป็นคนรุ่นใหม่ เราก็อยากเห็นบ้านเมืองเดินต่อไปได้

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ยืนอยู่ด้านหน้าห้องทำงานชั้น 5 ซึ่งอยู่บริเวณโซนกลางด้านใน (ในสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ) ติดกับสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

เมื่อก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เชื่อว่าจะไม่แตะ ม.112

 

วัลลภเชื่อว่า หากในอนาคตพรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เขาก็จะไม่แตะมาตรา 112 ส่วนที่ยังไม่ตัดมาตรา 112 ออกไป ณ ตอนนี้ เพราะยังต้องการเลี้ยงคนกลุ่มหนึ่งที่เคยเลี้ยงไว้ก่อน 

 

เมื่อได้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะเป็นอีกแบบ เพราะได้ทราบถึงข้อจำกัด ได้เข้าไปอยู่ในฐานะคนกลาง และจะได้เห็นความจริงว่า ข้าราชการนั้นมีระเบียบและเงื่อนไขมากมาย เมื่อไรที่ไปอยู่ตรงนั้นก็จะรู้เลยว่าทำอะไรได้แค่ไหน และทำอะไรมากไม่ได้ แม้จะเป็นเสียงข้างมากของรัฐสภาก็ตาม

 

เพราะพรรคที่ใหญ่ที่สุดคือ พรรครัฐราชการ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายอันพะรุงพะรังมากมายเต็มไปหมด ที่เมื่อทำผิดก็ติดคุก แม้ไม่ได้ดำเนินการในวันนี้ก็จะถูกเช็กบิลภายหลัง เพราะเรื่องของคุกนั้นมันเป็นเรื่องระยะยาว 

 

ฉันอยู่มานาน มันไม่ง่ายหรอก ไม่ง่ายเลย ยากมาก

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ยืนระหว่างทางเชื่อมชั้น 5 ภายในอาคารรัฐสภา

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ไม่ห่วงบ้านเมือง เชื่อมือคนรุ่นใหม่ 

 

“หลังหมดวาระ มีสิ่งที่กังวลต่อบ้านเมืองอีกไหม” THE STANDARD ถาม 

 

วัลลภกล่าวว่า ไม่ได้กังวลอะไร ตอนนี้ตนเองกำลังอายุเข้าปีที่ 70 ปี แม้บ้านเมืองจะไม่สงบ แต่ก็ต้องเชื่อคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา เราไม่ได้แบกโลกไว้ อย่างการเลือก สว. ก็ไม่ห่วง เพราะว่าเห็นว่ามีทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตนายทหาร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตปลัดกระทรวง มีคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเรามากมาย และทุกคนล้วนมีประสบการณ์ทั้งสิ้น 

 

“ตอนเรามาครั้งแรกก็ไม่มีใครรู้จักเรา เชื่อว่าคนที่ถูกเลือกมาน่าจะพอมีคนที่รู้จักมากกว่า จึงไม่ได้กังวล เพียงแต่ขอให้คนที่เข้ามามีใจที่บริสุทธิ์ และมีใจที่จะเข้ามาทำงานจริงๆ กังวลเรื่องของการฮั้วเพียงเรื่องเดียว แต่บ้านเมืองไม่ได้มีเราแค่คนเดียว จึงเชื่อว่าจะสามารถเดินต่อไปได้”

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ยืนระหว่างทางเชื่อมชั้น 5 ภายในอาคารรัฐสภา

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

คนแก่ที่ดูแลคนแก่

 

“หมดวาระแล้วไปไหนต่อ จากนี้มีแผนอยากทำอะไร” THE STANDARD ถาม 

 

วัลลภกล่าวว่า เมื่อหมดวาระไปแล้วสิ่งที่เขาจะทำก็ยังเป็นการทำงานแบบที่ทำอยู่ เพราะงานช่วยเหลือสังคมนั้นไม่มีวันหยุดอยู่แล้ว แต่ถ้าถามว่ามีอะไรที่อยากจะทำเป็นพิเศษ ตนเองห่วงผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง จึงมีความตั้งใจว่าจะเอาตัวเองไปทำงานช่วยเหลือผู้สูงอายุ พร้อมนิยามตัวเองว่า ‘เป็นคนแก่ที่ทำงานให้คนแก่’

 

วัลลภกล่าวว่า ตนเองมีความตั้งใจและเตรียมเรื่องนี้มากว่า 8 ปีแล้ว ได้มีเตรียมสถานที่และที่ดิน 10 ไร่ โดยมีกองทุนและพรรคพวกที่มีงบประมาณจำนวนหนึ่ง อยากจะทำบ้านสำหรับผู้ป่วยผู้สูงอายุให้ได้เข้ามาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่า และไม่ต้องอยู่อย่างอนาถาข้างถนน เพราะเชื่อว่าทุกคนล้วนมีประสบการณ์ทั้งสิ้น แต่มากน้อยก็ต่างกันไป 

 

ยังคงอยู่กับแวดวงสังคม แต่เพียงจะขยายจากเด็กๆ และหันหน้าไปทำเรื่องคนแก่มากยิ่งขึ้น 

 

THE STANDARD ถามต่อว่า “ยังสนใจงานทางการเมืองอยู่หรือไม่”

 

“หากมีใครขอให้ช่วยก็พร้อมจะช่วยได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม กฎหมาย การศึกษา หากทำอะไรได้ก็ทำ เพราะเวลาที่จะทำไม่ไหวนั้นรอเราอยู่แล้ว” วัลลภกล่าว และจบการสนทนากับ THE STANDARD 

 

วัลลภ ตังคณานุรักษ์

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ยืนอยู่ริมสระมรกตภายในสัปปายะสภาสถาน

ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว THE STANDARD

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising