บรรดาธนาคารใหญ่ในวอลล์สตรีทเห็นพ้องกันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า แต่เริ่มมองต่างกันเรื่องจุดพีคของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงมุมมองต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีหน้า
โดยความเห็นที่ต่างกันนี้มาจากการพิจารณาว่า Fed จะพยายามกำราบอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างดื้อรั้นต่อไป หรือจะเริ่มให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงของภาวะถดถอยและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กำลังเจอกับความยากลำบาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซีอีโอ JPMorgan เตือน เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 6-9 เดือน
- หุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดบวกถึง 800 จุด จากที่ร่วงหนักกว่า 500 จุด หลังการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย.
- สหรัฐฯ รายงานเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ที่ 8.2% สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ หุ้นสหรัฐฯ ดิ่งทันที!
จากการรวบรวมความคิดเห็นของบรรดาธนาคารใหญ่พบว่า Nomura Holdings คือผู้ที่คาดว่า Fed อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยแตะ 5.75% ในเดือนพฤษภาคมปีหน้า เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดในบรรดาธนาคารทั้งหมด
รองลงมาคือ Citi ที่มองว่าดอกเบี้ยสูงสุด (Peak) ของ Fed ในปีหน้าจะอยู่ที่ 5.50% ขณะที่ Goldman Sachs, Wells Fargo, Bank of America และ Barclays มองตรงกันว่าจุดพีคของดอกเบี้ย Fed ในปีหน้าจะอยู่ที่ 5.25%
ขณะที่ UBS เดิมพันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะประสบภาวะ ‘Hard Landing’ โดยอัตราการว่างงานจะพุ่งสูงกว่า 5% ในปี 2024 ทำให้คาดการณ์ว่าจุดพีคของดอกเบี้ย Fed ในปีหน้าจะอยู่ที่ 5.00% เช่นเดียวกับ JPMorgan Chase, Bloomberg Economics และ Deutsche Bank ส่วน Morgan Stanley เป็นธนาคารที่มองว่าจุดพีคของดอกเบี้ย Fed ในปีหน้าจะอยู่ที่ 4.75% เท่านั้น
โจนาธาน มิลลาร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Barclays ในนิวยอร์ก กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นที่เข้าใจได้ว่าช่วงของการคาดการณ์นั้นยังคงกว้างมาก แม้ว่าตอนนี้พาวเวลล์และเจ้าหน้าที่ Fed คนอื่นๆ จะส่งสัญญาณอย่างแน่วแน่ว่าพวกเขาจะรักษาจุดยืนนโยบายการเงินที่เข้มงวดไว้ เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ 2% จาก 6.2% ในเดือนกันยายน และ 7% ในเดือนมิถุนายน
ขณะที่ แอนนา หว่อง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ของ Bloomberg มองว่า พาวเวลล์ค่อนข้างสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งในยุค 1970 ว่า Fed ไม่ควรผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร แม้จะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม
“โดยเหตุผลที่จะดึงดูด Fed ให้ลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้ามากที่สุด คืออัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่า 3% ซึ่งนั่นไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์ของเรา โดยเรามองเห็นโอกาส 68% ที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะอยู่ระหว่าง 3% ถึง -5% ในปีหน้า” หว่องกล่าว
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์