บรรดาธนาคารรายใหญ่ใน Wall Street กำลังมองหุ้นจีนในแง่ดี (Bullish) มากขึ้นเรื่อยๆ หลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลจีนและการดีดตัวของหุ้นจีนครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน ทำให้ธนาคารรายใหญ่บางแห่งเริ่มถอยห่างจากมุมมองเชิงลบ (Bearish) ที่มีต่อหุ้นจีนก่อนหน้านี้
โดยสัปดาห์ที่แล้ว Morgan Stanley ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายสำหรับดัชนี MSCI China โดยคาดว่าจะพุ่งขึ้น 14% ภายในสิ้นปีหน้า ขณะที่ JPMorgan Chase & Co. ก็ระบุถึงการล่มสลายของตลาดเมื่อปลายเดือนตุลาคมว่า ‘เป็นโอกาสในการซื้อ’ นับเป็นการเปลี่ยนมุมมองก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตของจีน ‘ไม่สามารถลงทุนได้’ (Uninvestable)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
ความเชื่อมั่นในหมู่นักวิเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นเกิดหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลจีนที่ไม่มีใครคาดคิดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวด การเยียวยาภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม ไปจนถึงความพยายามในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
ในเดือนพฤศจิกายนดัชนี MSCI China พุ่งขึ้นเกือบ 24% ใกล้เป็นการเพิ่มขึ้นที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 หลังจากร่วงไป 17% ในเดือนตุลาคม ขณะที่ดัชนี Hang Seng China Enterprises ของหุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง และดัชนี Nasdaq Golden Dragon China ก็อยู่ในแดนกระทิง (Bull Market Territor) เช่นกัน โดยการดีดตัวขึ้นราว 20% จากระดับต่ำสุดเร็วๆ นี้
ด้าน ลอรา หวัง หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านหุ้นจีนจาก Morgan Stanley มองว่า การดีดตัวครั้งล่าสุดอาจขึ้นได้อีกหากการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID ของจีน ยังคงดำเนินต่อไปและเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อไป
การดีดตัวอย่างโดดเด่นในเดือนพฤศจิกายนนี้ทำให้นักกลยุทธ์ Goldman Sachs รวมถึง ทิโทธี โม คาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นอีกทั้งดัชนี MSCI China และดัชนี CSI 300 จะเพิ่มขึ้น 16% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า สูงที่สุดในเอเชีย
กองทุนทั่วโลกได้ซื้อหุ้นจีน Onshore สุทธิประมาณ 4.1 หมื่นล้านหยวน (หรือราว 5.8 พันล้านดอลลาร์) จนถึงเดือนนี้ หลังมีการไหลออกสุทธิ 5.73 หมื่นล้านหยวนในเดือนตุลาคม มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
อย่างไรก็ตาม ผู้ติดตามตลาดหลายคนกล่าวว่า การดำเนินนโยบายของทางการจีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวของจำนวนผู้ติดโควิดได้ลดความคาดหวังสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของกลยุทธ์ Zero-COVID ดังนั้นจึงยังต้องรอดูว่าการซื้อสุทธิดังกล่าวจะเป็นการซื้อที่ยั่งยืนหรือไม่
ด้าน JPMorgan Asset Management มองว่า นักลงทุนสถาบันในสหรัฐฯ บางรายยังคงจัดสรรเงินทุนออกจากจีนไปยังตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เนื่องจากความท้าทายและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเมืองภายในจีน ไต้หวัน และความตึงเครียดกับสหรัฐฯ
โดย จูเลียน ลาฟาร์ก หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดของ Barclays Private Bank กล่าวว่า การดีดตัวเมื่อเร็วๆ นี้ได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากนักเก็งกำไร พร้อมระบุว่า เรายังไม่เห็นการซื้อจริง (Real Buying) ในจีน และตนคิดว่าผู้คนต้องการเห็นหลักฐานของการเปิดเศรษฐกิจใหม่และข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากจีนก่อน
อ้างอิง: