×

จ้ำไปถกไป ใครว่าไม่ได้งาน? นี่คือการประชุมงานแบบใหม่ที่อาจได้ผลกว่าเก่า

28.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สมมติว่าการสนทนาของคุณจะใช้เวลาราวๆ 30 นาที ควรวางแผนเส้นทางสักหน่อยให้เดินง่ายและไม่ต้องเดินวนไปมา หรือสะดวกต่อการเดิน
  • แนวคิดของ สตีฟ จ็อบส์ ที่ไม่ชอบให้พนักงาน Apple นั่งทำงานนานๆ ยังสานต่อด้วยการเปลี่ยนเก้าอี้ทำงานในออฟฟิศเป็นเก้าอี้แปซิฟิก แชร์ (Pacific Chair) ที่ออกแบบมาสำหรับคนทำงานยุคมิลเลนเนียลส์ ที่ไม่จำเป็นต้องผูกตัวติดกับหน้าจอคอมพิวเตอร์เสมอไป

สตีฟ จ็อบส์ เป็นคนทำงานคนหนึ่งที่หลงรักการเดินไปคุยงานไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตอนที่เขานัดพบกับใครสักคนเป็นครั้งแรก นั่นเป็นสิ่งที่วอลเตอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) นักเขียนชีวประวัติกล่าวถึงสตีฟ จ็อบส์ โดยเล่าถึงตอนที่สตีฟยืนกรานกับเขาว่าอยากให้การพบกันครั้งแรกเป็นเช่นนั้น “การเดินไปเรื่อยๆ เป็นวิธีที่ดีในการคุยเรื่องสำคัญๆ”

 

Photo: Courtesy of Intel

 

นอกจากนั้นแนวคิดของสตีฟ จ็อบส์ ที่ไม่ชอบให้พนักงาน Apple นั่งทำงานนานๆ ยังสานต่อด้วยการเปลี่ยนเก้าอี้ทำงานในออฟฟิศเป็นเก้าอี้แปซิฟิก แชร์ (Pacific Chair) ที่ออกแบบมาสำหรับคนทำงานยุคมิลเลนเนียลส์ที่ไม่จำเป็นต้องผูกตัวติดกับหน้าจอคอมพิวเตอร์เสมอไป แต่ชวนให้รู้สึกอยากลุกออกไปสังคมกับผู้อื่น แต่ยังรู้สึกสบายต่อการนั่งทำงาน

 

หากลองสังเกตดู คุณเองคงเห็นว่ามีคนรอบตัวไม่น้อยที่พยายามขยับตัวเพื่อทำแต้มบนนาฬิกาไฮเทค แม้ว่าจะเป็นแค่การเดินขึ้นบันไดไม่กี่ชั้นที่ออฟฟิศ นั่นอาจทำให้คนเริ่มเห็นความสำคัญของการผละจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อพักแม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม

 

หากให้ลองนึกภาพการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยปราศจาก PowerPoint, Evernote, Microsoft Excel นั่นอาจฟังดูยากเสียหน่อย แต่นี่คือเคล็ดลับ

 

Photo: shutterstock

 

นัดเดินกัน 2 คนพอ

คงจะพอจินตนาการกันได้ว่าการไปเที่ยวกับเพื่อนนับสิบนั้นสื่อสารยากแค่ไหน ดังนั้นหากคุณอยากลองเดินไปคุยงานไป เราขอแนะนำให้นัดกันตัวต่อตัวแค่ 2 คนก่อน เพราะเมื่อคน 2 คนเดินคุยกัน การให้คนที่เหลือเงี่ยหูตั้งใจฟังด้วยนั้นเป็นเรื่องยากเกินไป จึงเหมาะแก่การอัปเดตเรื่องงานกับคนในทีมว่าโปรเจกต์คืบหน้าถึงไหนหรือแชร์ไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ทั้งยังเหมาะกับการพูดคุยหรือพบปะสัมภาษณ์กับคนที่มาสมัครงาน เพื่อดูทรงว่ามีแนวโน้มที่จะเหมาะกับการทำงานไหม (นี่เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สังเกตว่าคนคนนั้นรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอย่างไรบ้างได้ดีทีเดียว)

 

เลือกเส้นทางสักหน่อย

สมมติว่าการสนทนาของคุณจะใช้เวลาราวๆ 30 นาที ควรวางแผนเส้นทางสักหน่อยให้เดินง่าย คนไม่พลุกพล่านเกินไป และไม่ต้องเดินวนไปมา หรือสะดวกต่อการเดิน ทั้งนี้ควรคำนึงถึงความเหนื่อยของเพื่อนร่วมทางด้วยสักเล็กน้อย ดังนั้นการเลือกเส้นทางที่มีสถานที่ให้นั่งพักสักครึ่งทางได้เป็นดี และควรรู้ว่าจะไปที่ไหนและไปอย่างไร คุณคงไม่อยากหยุดเปิดกูเกิลแมปหาสถานที่ให้เสียเวลาหรอกจริงไหม

 

แชร์เอกสารเบื้องต้นก่อนการประชุม

หากการเดินไปสนทนาไปด้วยควรมีข้อมูลในเอกสารมาเกี่ยว แนะนำให้แชร์ข้อมูลนั้นให้กับผู้ร่วมเดินด้วยล่วงหน้า เจฟ เบซอส (Jeff Bezos) ซีอีโอของ Amazon มักจะตรวจสอบและแชร์ข้อมูลหรือเอกสารให้ผู้ร่วมประชุมอ่านก่อนการประชุมล่วงหน้า นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเดินไปประชุมไป เพื่อให้เข้าใจตรงกันและยังไม่เสียเวลาเท้าความหรืออธิบายแต่ต้นอีกด้วย

 

Photo: shutterstock

 

เงียบได้

ปกติแล้วการประชุมจะเต็มไปด้วยบทสนทนา (บ้างอาจพูดไปเรื่อยให้ดูเหมือนมีอะไรจะเสนอ) ซึ่งนั่นไม่แปลก เนื่องจากธรรมชาติของการนั่งล้อมโต๊ะประชุมที่ทำให้รู้สึกแปลกหากทุกคนนั่งอยู่ในความเงียบ แต่ความเงียบนั้นอาจเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะแปลว่าถึงเวลาคิด หรือพิจารณาในสิ่งที่พูดไปแทนที่จะรีบตอบรับโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วนเสียก่อน แต่เมื่อมาถึงการเดินคุยแล้ว ความเงียบกลับถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคุณทั้งคู่กำลังจดจ่ออยู่กับการเดิน (หลบรถเข็น ฟุตปาธโบ๋ หรือระเบิดน้ำกระเซ็น) ดังนั้นการเดินไปคุยไป หยุดบ้าง พูดบ้าง ยังสามารถช่วยให้พิจารณาอะไรหลายอย่างได้เสียอีก

 

กลับมาจด

หลังจากกลับมาจากการคุย ควรรีบกลับมาจดลงสมุดโน้ตถึงข้อสรุปต่างๆ ก่อนที่คุณจะเช็กอีเมล รับโทรศัพท์ หรือทำกิจวัตรสัพเพเหระบนโต๊ะทำงานต่อ เราแนะให้จดประเด็นสำคัญเป็นข้อๆ เผื่อดำเนินงานต่อ หรือใช้ต่อในการประชุม หรือว่าง่ายๆ คือ ‘จดไว้จะได้ไม่ลืม’ นั่นเอง และการจดทีหลังยังมีข้อดีตรงที่ทำให้ต่างตั้งใจฟังกันและกันขณะสนทนา แทนที่จะง่วนกับการจดโดยคิดว่าเก็บไว้อ่านทีหลังอีกด้วย

 

การเดินไปถกไปอาจฟังดูไม่เข้าท่า แต่คุณอาจพบว่าเป็นวิธีทำงานที่ไม่เลวเลย ทั้งยังช่วยดึงไอเดียสร้างสรรค์ออกมา โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องรวมสมองเบรนสตอร์มไอเดีย แต่มักพายเรือวนในอ่าง #เรายังไปไม่ถึงไหนกันเลย วิธีนี้อย่างน้อยก็ช่วยให้คุณเลิกคิดว่าติดแหง็กอยู่กับเก้าอี้จนอยากเดินออกจากห้องประชุมเสียดื้อๆ ได้ เพราะคุณได้เดินออกมาแล้ว และไม่เสียเวลาทำงานอีกด้วย

 

อยากรู้ว่าจะเวิร์กไหม ต้องลอง (แต่ระวังตกหลุมบนทางเท้าล่ะ)

 

Photo: Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X