×

‘จีน’ ทำเซอร์ไพรส์ จัดประชุมใหญ่ถกปัญหาเศรษฐกิจ หวังเร่งการฟื้นตัว สร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

26.05.2022
  • LOADING...
ประชุมปัญหาเศรษฐกิจ

ถือเป็นการประชุมออนไลน์ทางไกลระดับชาติในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อช่วงเช้าวันพุธที่ผ่านมา (25 พฤษภาคม) ที่คณะผู้บริหารประเทศในนามสภาแห่งรัฐของจีนจัดขึ้น เพื่อเร่งหารือแนวทางการรักษาเสถียรภาพทางเศรฐกิจของจีน โดยมีเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 1 แสนคน

 

รายงานระบุว่าประเด็นหลักๆ ของการหารือคือ การตอกย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินมาตรการให้ดียิ่งขึ้นเพื่อดูแลเศรษฐกิจ การจ้างงาน การดำรงชีวิตของประชาชน และรักษาเศรษฐกิจให้ดำเนินการอยู่ในช่วงที่เหมาะสม

 

ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแห่งนี้ ดูเหมือนจะเลวร้ายเกินคาด แต่การรวมตัวระดมสมองของที่ประชุมมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้การเติบโตฟื้นกลับขึ้นมาอีกครั้ง และคาดว่ารัฐบาลท้องถิ่นจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการตามนโยบายการรักษาเสถียรภาพ

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าขนาดและรูปแบบของการประชุมยังตอกย้ำความแข็งแกร่งของสถาบันที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน ในการระดมความพยายามทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญๆ

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีนระบุในที่ประชุมว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายน ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจบางอย่าง เช่น การจ้างงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า และการขนส่งสินค้า มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีความยากลำบากเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เห็นในช่วงการระบาดของไวรัสครั้งแรกในปี 2020

 

หลี่กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาเป็นพื้นฐานและเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดของประเทศ ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดของไวรัสและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการหาแนวทางให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ พร้อมให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยงานทางการตลาด การจ้างงาน และความเป็นอยู่ของผู้คน

 

นอกจากนี้ หลี่ยังเน้นย้ำถึงการปกป้องความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจและความพยายามที่จะรับประกันการเติบโตที่เหมาะสมในไตรมาสที่สอง และอัตราการว่างงานลดลงโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาการดำเนินงานทางเศรษฐกิจให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม

 

วันเดียวกัน ที่งานประชุม World Economic Forum บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการค้าโลกได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานะของจีนบนเวทีเศรษฐกิจโลก ระบุว่า การที่จีนเดินหน้าใช้นโยบายที่เปิดกว้าง และดำเนินการปรับบริบทแวดล้อมเพื่อดึงบริษัทต่างชาติเข้ามาในจีน บวกกับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนที่มีอยู่เดิม ทำให้จีนยังคงเป็นประเทศที่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน

 

โดย บอร์เก เบรนเด ประธานการประชุม World Economic Forum แสดงความมั่นใจต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยระบุว่า แม้จีนจะส่งสัญญาณชะลอตัวเพราะการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด บวกกับปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทุบสถิติสูงสุดในประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ของโลก แต่จีนก็มีความสามารถที่แข็งแกร่งพอที่จะก้าวข้ามวิกฤตเหล่านี้ได้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เบรนเดคาดหวังยิ่งไปกว่านั้นก็คือการที่ 2-3 ปีนับจากนี้ จีนและสหรัฐฯ จะสามารถหาทางเจรจาเพื่อลดหรือยุติมาตรการทางภาษีที่นำมาโต้ตอบทางการค้าระหว่างสองชาติ เพราะการลดกำแพงภาษีหรือยกเลิกมาตรการดังกล่าวระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

 

ด้าน เดวิด รูเบนสไตน์ มหาเศรษฐีนักลงทุน และผู้ร่วมก่อตั้ง Carlyle Group กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวค่อนข้างเป็นไปในทางที่สดใส ขณะที่ มาร์กอส ทรอยโจ ประธาน New Development Bank กล่าวว่า จีนเปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนและสร้างโอกาสให้กับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา พร้อมคาดการณ์ว่า GDP จีนในปีนี้จะขยายตัวที่ 5% และจีนจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกสำหรับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI)

 

นอกจากนี้ ในมุมมองของทรอยโจ จีนจะยังคงอยู่ในระดับแนวหน้าของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีกหลายปีข้างหน้า เมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะสร้างโอกาสมากมายในแง่ของการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าของโลก

 

ขณะที่ ตงเติงซิน ผู้อำนวยการสถาบันการเงินและหลักทรัพย์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอู่ฮั่น กล่าวว่า ทุนต่างชาติจะไม่มีวันเมินจีน เพราะจีนเป็นตลาดการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน อีกทั้งจีนยังมีสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมืองที่มั่นคง มีห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ตลอดจนมีกำลังแรงงานอุตสาหกรรมที่เติบโตเต็มที่ สามารถตอบสนองความต้องการของโครงการลงทุนใดๆ ในโลกได้

 

ทั้งนี้ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ จีนมีระบบอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างครบสมบูรณ์ โดยมี 41 หมวดหมู่อุตสาหกรรม และ 666 หมวดหมู่ย่อยอุตสาหกรรม ทำให้จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีหมวดหมู่อุตสาหกรรมทั้งหมดตามการจำแนกประเภทอุตสาหกรรมของสหประชาชาติ

 

ตงชี้ว่า รายงานทุนไหลออกจากจีนถือเป็นรายงานที่คาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ยังคงมีทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศจีนอย่างต่อเนื่องและเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าทุนต่างชาติจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนนโยบายสำหรับวิสาหกิจต่างประเทศ ซึ่งทำให้ตงเชื่อมั่นว่า จีนยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการลงทุนระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้ในปี 2021 เงินลงทุนต่างชาติที่นำไปใช้จริงของจีนมีมูลค่ารวม 1.15 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 14.9%

 

ขณะที่ผลการสำรวจที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยสื่อท้องถิ่นเยอรมนีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า บรรดาบริษัทสัญชาติเยอรมันทั้งหลาย ต่างยังคงปักหลักดำเนินธุรกิจในตลาดจีนอย่างเหนียวแน่น โดยแม้จะมีนักการเมืองในเยอรมนีส่วนหนึ่งเรียกร้องให้เศรษฐกิจเยอรมนีพึ่งพาตนเองมากกว่าที่พึ่งพาจีน กระนั้น ภาคส่วนอุตสาหกรรมกลับยังคงเดินหน้าลงทุนในจีนอย่างเต็มที่ต่อไป

 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า บรรดาบริษัทเยอรมันที่ใหญ่ที่สุดดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจราว 1 ใน 5 ของกิจกรรมทั้งหมดของบริษัทหรืออาจมากกว่านั้นในจีน ส่วนหอการค้าอุตสาหกรรมและการพาณิชย์สตุทท์การ์ด ประมาณการว่ามีบริษัทมากกว่า 1,200 แห่งจากแคว้นบาเดน-เวิร์ทเทมแบร์กกำลังดำเนินการอยู่ในจีน จากบริษัทเยอรมนีทั้งหมด 5,000 บริษัทที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในจีน

 

มีรายงานว่า ค่ายรถยนต์ชั้นนำของเยอรมนีอย่าง Mercedes-Benz กำลังเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในจีนด้วยการเพิ่มการแสดงตัวในตลาดท้องถิ่นจีนมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่จดจำและยอมรับ

 

ส่วน Trumpf ผู้ผลิตเครื่องมือกลของเยอรมนี กล่าวว่า บริษัทไม่มีแผนที่จะลดการดำเนินงานในจีนหรือย้ายไปยังประเทศอื่น พร้อมกล่าวว่า ภายในปี 2025 ครึ่งหนึ่งของยอดขายในตลาดโลกจะอยู่ในประเทศจีน ดังนั้นบริษัทจึงไม่สามารถถอนตัวออกจากจีนได้

 

คำตอบจากองค์กรต่างๆ สอดคล้องกับการสำรวจบริษัทเยอรมัน 4,000 แห่งในช่วงกลางเดือนเมษายนโดยสถาบัน Ifo เพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจ โดยการสำรวจได้แสดงให้เห็นว่ามีผู้ประกอบการยานยนต์เพียง 1 ใน 4 ที่ต้องการลดการนำเข้าจากจีน ขณะที่ 2 ใน 3 ไม่ได้มีแผนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงใดๆ และ 3 ใน 4 ของบริษัทเยอรมันล้วนพึ่งพาชิ้นส่วนรถยนต์จากประเทศจีน

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising