×

ทิศทางที่เปลี่ยนไป ในปาฐกถาของท่าน ว.วชิรเมธี งานครบ 45 ปี 14 ตุลา

15.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การตีความ ‘ธรรมาธิปไตย’ ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ต่างไปจากอดีตที่เคยได้แสดงปาฐกถาธรรม จาก ‘ธรรม’ ที่เคยถูกอธิบายในทำนองคุณภาพและคุณสมบัติของคน กลายเป็น ‘ธรรม’ ในแง่ของความเที่ยงธรรมมากกว่า
  • ท่านยังย้ำอีกว่า ‘รัฐประหาร’ ไม่ได้ช่วยให้สังคมเดินหน้า สังคมต้องการประชาธิปไตย เพราะเป็นระบบที่มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีมากที่สุด เป็นระบบที่ฟังคนมากที่สุด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ผ่านปาฐกถาธรรม

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน มูลนิธิ 14 ตุลา ได้จัดกิจกรรมถวายผ้าป่าประชาธิปไตยครบรอบ 45 ปี 14 ตุลา

 

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ในกิจกรรมนี้ได้มีกิจกรรมพิเศษ คือการบรรยายปาฐกถาธรรมโดยท่าน ว. วชิรเมธี หรือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียง ในหัวข้อ ‘14 ตุลา ธรรมาธิปไตย’

 

ผู้เขียนด้วยความเป็นแฟนคลับตัวยง ของท่าน ว. วชิรเมธี เลยไม่พลาดที่จะตามไปฟังท่านในงานกิจกรรมดังกล่าว แต่เมื่อได้เข้าไปร่วมฟัง บวกกับการเป็นแฟนคลับที่ติดตามฟังท่านมาตลอด กลับรู้สึกว่าปาฐกถาในครั้งนี้ของท่าน ว. วชิรเมธี มีลักษณะทิศทางที่เปลี่ยนไป

 

โดยเฉพาะคำถามที่ว่า “เหตุใดคนกรุงเทพฯ ถึงอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย” แต่อย่างไรก็ตามในการปาฐกถาครั้งนี้ก็ยังเห็นทั้งสิ่งที่เคยมี สิ่งที่ไม่เคยมี และสิ่งที่เปลี่ยนไปจากการปาฐกถาครั้งก่อนๆ ซึ่งผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ให้เห็นว่าปาฐกถาครั้งนี้ อะไรที่เปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปอย่างไร เพราะอะไร

 

 

การตีความ ‘ธรรมาธิปไตย’ ที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่ยังคงเห็นอยู่คือการตีความเรื่อง ‘ธรรมาธิปไตย’ โดยท่านอธิบายว่า คำดังกล่าวมาจากการสนธิระหว่างคำบาลี 2 คำคือ ‘ธรรมะ’ และ ‘ธิปไตย’ โดยคำว่า ‘ธรรมะ’ ท่านให้ความหมายว่าคือ ความจริง ความดีงาม ความถูกต้อง และความชอบธรรม ส่วนคำว่า ‘ธิปไตย’ คือ การตัดสินใจ

 

ดังนั้นท่านจึงสรุปความหมายของคำว่า ‘ธรรมาธิปไตย’ ไปในทำนองที่ว่า การตัดสินใจที่ถือเอาธรรมเป็นใหญ่ และท่านกล่าวต่ออีกว่า ใครที่ตัดสินใจโดยใช้ธรรมะเป็นใหญ่ ผู้นั้นถือว่าเป็นผู้มีธรรมาธิปไตย ท่านยังกล่าวอีกว่าแท้จริงแล้วธรรมาธิปไตยนี้ถือเป็นเนื้อในของหลักการประชาธิปไตย

 

ในหลักธรรมาธิปไตยนี้ ท่านยังกล่าวอีกว่า จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘พรหมวิหาร 4’ ด้วยและต้องใช้ให้สอดคล้องตามบริบท เช่น

 

1. หากอยู่ในสถานการณ์หรือสังคมทั่วไปให้ทุกคนมีความเมตตาต่อกัน

 

2. แต่หากอยู่ในบริบทหรือสถานการณ์ที่เห็นคนตกทุกข์ได้ยากให้เราใช้ความกรุณา เพื่อช่วยเหลือคนเหล่านั้น

 

3. เมื่อสังคมมีสุข ผู้นำ หรือคนใดในสังคมประกอบสิ่งดี ทำให้ประเทศชาติเจริญ ให้ใช้มุทิตา ควรยกย่องสรรเสริญ

 

4. เมื่ออยู่ในบริบทของความขัดแย้ง ให้ทุกคนใช้อุเบกขาวางใจเป็นกลาง

 

อย่างไรก็ตามท่านกล่าวว่า ในสังคมไทยนี้ในเรื่องของเมตตาและกรุณาอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ในแง่ของความมุทิตาและความอุเบกขา สังคมไทยเน้นแต่อิจฉา เพราะในสังคมไทยหากใครดีเกินหน้า ไม่ว่าจะคนทั่วไปหรือผู้นำเรามักจะไม่มีความมุทิตา แต่เราจะใช้ความริษยาเพื่อจะล้มล้างเขาเหล่านั้น ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังกล่าวย้ำอีกว่า พรหมวิหาร 4 ต้องใช้ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ สิ่งแวดล้อม และเราต้องถือว่าทุกคนนั้นเป็นมิตร ไม่คู่ควรกับความแค้นของใคร

 

หากกล่าวโดยสรุปปาฐกถาในครั้งนี้ของท่าน ว. วชิรเมธี ก็ยังให้ใช้ ‘ธรรม’ เป็นหลักในการช่วยปกครองประเทศ และจะทำให้สังคมดีขึ้น

 

 

แต่การตีความหรือขยายความของหลักธรรมาธิปไตยและพรหมวิหาร 4 ของท่านในปาฐกถาครั้งนี้ กลับมีลักษณะที่เปลี่ยนไปจากการตีความในอดีต จาก ‘ธรรม’ ที่เคยถูกอธิบายในทำนองคุณภาพและคุณสมบัติของคน กลายเป็น ‘ธรรม’ ในแง่ของความเที่ยงธรรมมากกว่า

 

โดยในอดีต ‘ธรรมาธิปไตย’ ของท่านคือการเน้นคุณภาพและคุณสมบัติของตัวบุคคลเป็นหลัก คือผู้ปกครองนั้นจะต้องเป็นคนที่เป็น ‘คนดี’ เป็นคนมีศีลธรรมและจริยธรรม หากผู้ปกครองไร้คุณภาพ หรือเลือกคนที่ไร้คุณภาพมาปกครอง สังคมก็จะไร้ซึ่งคุณภาพและคุณธรรม ดังนั้นคนที่เป็นคนดีมีคุณภาพจึงมีค่ามากกว่าคนที่ไร้ธรรม ไร้คุณภาพจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าการตีความในลักษณะนี้เป็นลักษณะการตีความที่คล้ายคลึง หรืออาจจะถือได้ว่าสรุปมาจากหลักธัมมิกสังคมนิยม หรือสังคมนิยมคนดีของท่านพุทธทาสภิกขุ

 

แต่เหมือนที่กล่าวไปทิศทางในการตีความคำว่า ‘ธรรม’ ของท่าน ว. วชิรเมธีในครั้งนี้ กลับหมายถึง ‘ความเที่ยง’ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนแปลกใจมาก โดยท่านกล่าวถึงลักษณะความหมายของคำว่า ‘ธรรม’ โดยยกกรณีตัวอย่างของการฆ่าเสือดำ และกรณีน้องแบม กล่าวโดยสรุปว่า ท่านกล่าวว่าเราอย่าใช้เมตตาที่ล้นเหลือ หรือความกรุณาที่ล้นเหลือจนขาดความเป็นธรรม รักพวกพ้องจนทำให้ไม่ขัดแย้งกับธรรม กลายเป็นอัตตาธิปไตย

 

ไม่เพียงเท่านั้นท่านยังเน้นให้เห็นอีกว่า ธรรมาธิปไตยนี้จะต้องไม่ผิดทำนองคลองธรรม และต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่ละเมิดต่อธรรม ซึ่งธรรมาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย แต่กลับเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากไม่ใส่ใจธรรมประชาธิปไตยก็จะไร้คุณภาพ

 

ท่านยังย้ำอีกว่า ‘รัฐประหาร’ ไม่ได้ช่วยให้สังคมเดินหน้า สังคมต้องการประชาธิปไตย เพราะเป็นระบบที่มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีมากที่สุด เป็นระบบที่ฟังคนมากที่สุด

 

ดังนั้น สรุปหลักการธรรมาธิปไตยและประชาธิปไตยในปาฐกถาครั้งนี้คือ ความจริง ความดีงาม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลัก และไม่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย และยิ่งน่าสนใจไปอีกเมื่อใดยิ่งท่านตั้งคำถามที่ว่า “…ทำไมคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จึงยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย…”

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นเราจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนในลักษณะของการตีความ และการตั้งคำถามที่ปรากฏในการปาฐกถาของท่าน ว.วชิรเมธี ในครั้งนี้อย่างมาก

 

 

2 สมมติฐานที่ทำให้ ‘ตีความ’ เปลี่ยนไปจากเดิม

คำถามสำคัญต่อมาสำหรับผู้เขียนในฐานะผู้ฟังคือ อะไรทำให้ทิศทางการตีความของท่านเปลี่ยนไปจากเดิม โดยผู้เขียนจะข้อตั้งสมมติฐานไว้ 2 ทิศทางด้วยกันคือ

 

1. หากคิดในแง่ดี ท่านอาจจะเห็นว่าภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการที่ยึดอำนาจประชาชนเข้ามาด้วยการใช้วาทกรรม ‘คนดี’ วาทกรรมการปฏิรูปประเทศ ไม่ได้ปรากฏผลในด้านดี หรือตามสิ่งที่เขาอ้างเพื่อลุแก่อำนาจของประชาชน

 

หนำซ้ำยังยิ่งทำให้ความเที่ยงตรงในสังคมเกิดความผิดรูปผิดรอย มีการใช้อำนาจที่ล้นเหลือช่วยเหลือพวกพ้องตนเอง หรือแม้แต่เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างโจ่งแจ้ง ในทุกระดับของหน่วยงานที่ปรากฏตามข่าว และไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันได้ อีกทั้งยังพร้อมกับปกป้องความผิดของพวกพ้อง และทำร้าย ทำลาย ผู้ที่คิดจะตรวจสอบต่อความทุจริตฉ้อฉลนั้น แม้จะมีนโยบายการต้านโกงออกมาจำนวนมาก แต่ในทางรูปธรรมกลับไม่สามารถจัดการอะไรเหล่านี้

 

2. หากคิดในอีกแง่ หรือเพราะท่านเลือกพูดตามจังหวะ สถานการณ์ และกลุ่มคนฟัง เหมือนที่อาจารย์บางท่านเรียกว่า ‘สานหมวกให้พอดีหัว’ เพราะหากดูจากบริบทการปาฐกถาในครั้งนี้ ทีมงานที่เชิญมาคือ มูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งแน่นอนว่า ท่านอาจจะเดาทางกลุ่มผู้ฟังในเวทีวันนี้ต้องการฟังการวิพากษ์วิจารณ์ระบบ คสช. รัฐบาลเผด็จการ และการรัฐประหาร และเน้นความสำคัญของประชาธิปไตยที่ไม่ได้มาจากคนดี คือพูดในทำนองที่ผู้ฟังอยากจะฟัง

 

แต่อย่างไรสมมติฐานการเปลี่ยนไปนี้ก็เป็นเพียงคาดเดาของผู้เขียนที่อาจจะเป็นไปได้ทั้งสองทาง

 

กล่าวโดยสรุปถึงแม้ว่าการปาฐกถาของท่าน ว.วชิรเมธี ในครั้งนี้จะมีทิศทางที่เปลี่ยนไป ‘ธรรมาธิปไตย’ ไม่ได้เป็นการปกครองโดยคนดี แต่เป็นการยึดโยงกับคน กับประชาชน ในระดับสากล รัฐประหารไม่ใช่คำตอบหรือไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น

 

แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งที่ไม่มีและไม่เคยมีในการปาฐกถาของท่าน ว.วชิรเมธี แม้ท่านจะประณามกรณีฆ่าเสือดำ กรณีคนที่พยายามจะปิดบัง การเปิดโปงการโกงของน้องแบม หรือกรณีใดก็ตามที่ขัดหลักธรรมาธิปไตยของท่านคือ การประณามการกระทำอันเลวร้ายของคณะรัฐบาลหรือผู้ลุแก่อำนาจที่กระทำต่อ กลุ่มนักศึกษา นักโทษการเมือง ประชาชนผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักธรรมาธิปไตยที่ท่าน ว.วชิรเมธี ได้กล่าวไว้เป็นแนวทาง

 

เมื่อพิจารณาสิ่งที่มี สิ่งที่เปลี่ยน และสิ่งที่ไม่มีในคำปาฐกถาของท่าน จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาในใจของผู้เขียนว่า “…หรือธรรมาธิปไตย ธรรมทั้งเที่ยงธรรม ธรรมทั้งยึดโยงกับคน กับประชาชนในที่นี้ เป็นธรรมที่มีไว้เลือกใช้กับคน หรือใครบางกลุ่มเพียงเท่านั้นหรือเปล่า?…” หรือว่า “…การปาฐกถาของท่านในครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในการคิดอีกด้านของผู้เขียนกันแน่…”

 

 

อ้างอิง:

  • สุรพศ ทวีศักดิ์, จากพุทธศาสนาแห่งรัฐสู่พุทธศาสนาที่เป็นอิสระจากรัฐ, กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2560
  • สังเกตการณ์การปาฐกถาหัวข้อ “14 ตุลา ธรรมาธิปไตย” โดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี ณ อนุสรณ์สถาน14 ตุลา ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2561
  • ดูสรุปคำปาฐกถาเพิ่มเติมที่ “‘ท่าน ว.วชิรเมธี’ ปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา คาใจ ชนชั้นกลางใน กทม.อยู่ตรงข้าม ประชาธิปไตย ชี้รัฐประหารไม่ทำประเทศก้าวหน้า”, www.matichon.co.th/news/871631, สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2561
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising