เหตุการณ์จลาจลที่กลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์บุกเข้าอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางการรับรองคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างสูง จนทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติถอดถอน (Impeach) ทรัมป์เป็นครั้งที่สองในข้อหาปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง ขณะที่ประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง โจ ไบเดน ต้องปรับแผนงานของพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม
เราจะพาผู้อ่านเจาะลึกถึงเบื้องหลังการจลาจลในครั้งนี้ รวมถึงผลกระทบทางการเมืองและความมั่นคงที่จะตามมา
การบุกเข้ารัฐสภามีจุดประสงค์เพื่อล้มการเลือกตั้ง
เมื่อแรกที่ข่าวการบุกยึดรัฐสภาของกลุ่มผู้สนับสนุนของทรัมป์เผยแพร่ออกมานั้น สื่อมวลชนต่างก็คาดกันว่านี่น่าจะเป็นแค่การจลาจลที่เกิดจากการอารมณ์ของมวลชนที่เลยเถิดไปจนทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ
แต่กระนั้นเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป และมีข้อมูลจากทั้งคลิปวิดีโอและภาพถ่ายเป็นหลักฐานเผยแพร่ออกมา ก็ทำให้เราทราบว่า การบุกเข้ารัฐสภาครั้งนี้มีการวางแผนล่วงหน้ากันมาในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอที่ผู้ก่อการจลาจลได้ประชุมกันถึงแผนผังของอาคารรัฐสภา, ภาพถ่ายที่ระบุว่าผู้ก่อการจลาจลบางคนนำสายเคเบิลชนิดที่เรียกว่า Zip Ties ติดตัวมาด้วย (ซึ่งสายเคเบิลชนิดนี้นิยมใช้กันมากในการจับตัวประกัน เพราะสามารถเอาไปใช้รัดข้อมือได้ดี), การที่โน้ตบุ๊กของผู้นำ ส.ส. ของเดโมแครตอย่าง แนนซี เพโลซี ถูกขโมยไปในระหว่างการจลาจล ตลอดจนการที่ออฟฟิศของผู้นำคนสำคัญในพรรคเดโมแครตอย่าง จิม ไคลน์เบิร์น ถูกบุกรุกเข้ามา ทั้งที่ออฟฟิศของเขาซ่อนอยู่ในส่วนลึกของอาคาร และไม่มีป้ายชื่อระบุที่หน้าห้องว่าเป็นห้องทำงานของเขา
นอกจากนี้ ส.ส. ของพรรคเดโมแครตยังกล่าวหาอีกด้วยว่า ในวันก่อนเกิดเหตุจลาจล เขาพบเห็น ส.ส. บางคนของพรรครีพับลิกันพาผู้คนจำนวนมากเข้ามาเดินดูสถานที่ของรัฐสภา ซึ่งหนึ่งใน ส.ส. ที่ถูกกล่าวหาคือ ลอเรน เบอเบิร์ต ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ภักดีกับทรัมป์มากคนหนึ่ง แต่เธอก็ได้ตอบโต้ข้อกล่าวว่าบุคคลที่เธอพาเข้ามาเยี่ยมชมในอาคารคือญาติพี่น้องของเธอทั้งนั้น ไม่มีกลุ่มผู้ก่อการจลาจลแต่อย่างใด
จากหลักฐานต่างๆ ที่ว่ามา ทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนมองว่าการบุกยึดรัฐสภาของกลุ่มผู้สนับสนุนของทรัมป์ในครั้งนี้น่าจะมีการวางแผนกันมาในระดับหนึ่ง และเป็นไปได้ว่าจุดประสงค์สูงสุดของการบุกยึดอาคารคือการจับกุมตัวนักการเมือง (โดยเฉพาะระดับผู้นำของสภา) เพื่อเป็นข้อต่อรองให้สภาล้มเลิกกระบวนการรับรองคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งถ้ากลุ่มผู้ก่อจลาจลสามารถทำได้สำเร็จจริงๆ ก็อาจจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้น
แต่ผลที่ออกมาคือภาพลักษณ์ที่เสียหายของทรัมป์
อย่างไรก็ดี ในที่สุดแล้วกองกำลังทหารและตำรวจของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็สามารถเข้ามาควบคุมสถานการณ์ได้ จนผู้ก่อการจลาจลต้องล่าถอยออกไป และสภาก็สามารถดำเนินการรับรองคะแนนคณะผู้เลือกตั้งได้เป็นที่สำเร็จ
แต่เหตุจลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้นักวิเคราะห์มองในทิศทางเดียวกันว่า ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ กำลังถูกท้าทายอย่างไม่เคยมีมาก่อน และแรงกระเพื่อมทางการเมืองของเรื่องนี้ก็ยังไม่จบ เพราะทรัมป์ถูกโจมตีอย่างมากจากทั้งสื่อมวลชน คู่แข่งอย่างพรรคเดโมแครต รวมถึงนักการเมืองของพรรครีพับลิกันเองบางส่วนที่มองว่า การที่ทรัมป์ปราศรัยและทวีตปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนของเขาใช้ความรุนแรงในการประท้วงนั้นเป็นเรื่องที่ล้ำเส้นเกินไป จนนำไปสู่กระบวนการถอดถอนเขาเป็นครั้งที่ 2
เป็นที่น่าสนใจว่าการลงมติ Impeachment ในครั้งที่ 2 นี้มี ส.ส. จากพรรครีพับลิกันถึง 10 คน รวมถึงผู้นำเบอร์ 3 ในสภาอย่าง ส.ส. ลิซ เชนนีย์ (ลูกสาวของอดีตรองประธานาธิบดี ดิค เชนนีย์) ที่เห็นด้วยกับโดเมแครตว่าทรัมป์ทำผิดจริงและสมควรถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญทางการเมือง ต่างจากการโหวต Impeachment ครั้งแรกที่ไม่มี ส.ส. จากพรรครีพับลิกันแม้แต่คนเดียวที่โหวตว่าทรัมป์มีความผิด
การที่ ส.ส. ของพรรคบางส่วนกล้าที่จะโหวตสวนทรัมป์ อาจเป็นสัญญาณเตือนไปยังทรัมป์ว่า เขาไม่สามารถควบคุมพรรคได้แบบเบ็ดเสร็จเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนในข่วง 4 ปีที่ผ่านมาอีกแล้ว ผลจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ส.ว. ที่จอร์เจีย 2 ที่นั่ง จนทำให้พรรคสูญเสียเสียงข้างมากในสภาสูง ต่อเนื่องมาจนถึงการบุกยึดรัฐสภา อาจจะทำให้ ‘มนต์วิเศษ’ ของทรัมป์เริ่มเสื่อมลง และนี่อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ท้าชิงรายใหม่เข้ามาแย่งเป็นผู้แทนพรรคลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024
พิธีสาบานตนของไบเดนที่แตกต่างจากปีอื่นๆ
ประธานาธิบดีคนใหม่อย่างไบเดนจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ แต่พิธีสาบานของเขาจะไม่เหมือนกับประธานาธิบดีคนก่อนๆ ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนนับล้านคนที่มาเฝ้าชมแอ็กชันแรกของประธานาธิบดีที่พวกเขาเพิ่งเลือกมา
แต่ในปีนี้ ด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐสภา ทำให้ไบเดนและทีมงานตัดสินใจที่จะไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี
ที่สำคัญ ทางการได้ยกระดับมาตรการความปลอดภัยของพิธีครั้งนี้สู่ระดับสูงสุด เพราะเป็นไปได้ว่ากลุ่มผู้สนับสนุนของทรัมป์บางส่วนที่เป็นพวกหัวรุนแรง อาจจะมองว่าพิธีสาบานตนเป็นโอกาสสุดท้ายที่พวกเขาจะใช้ความรุนแรง เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งความกังวลที่ว่ามานี้ก็ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะหลังจากเหตุการณ์บุกยึดรัฐสภาก็ได้มีรายงานถึงการตรวจพบระเบิด 2 ลูกในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยในขณะนี้กองทัพของสหรัฐฯ ได้เกณฑ์ให้ทหารถึงกว่า 2 หมื่นนายมาประจำการที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่ออารักขาตัวไบเดน รักษาความปลอดภัยปะรำพิธี และอาคารของรัฐบาลกลางทุกแห่ง รวมถึงมีการปิดกั้นการจราจรไม่ให้ใครเข้าถึงบริเวณพิธีได้
อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยในพิธีสาบานตนอาจไม่ใช่เรื่องที่ไบเดนต้องกังวลมากที่สุดในเวลานี้ แต่เขาอาจต้องกังวลมากกว่ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้เป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว
เพราะตอนนี้ประชาชนของประเทศได้แตกแยกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายว่า ไบเดนจะบริหารประเทศอย่างไร เพื่อให้คนอเมริกันจำนวนมากที่รักภักดีต่อทรัมป์และยังปักใจเชื่อว่าไบเดนโกงการเลือกตั้ง หันมายอมรับในความเป็นผู้นำของไบเดน
ซึ่งเหตุการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นแล้วว่าเขาคงไม่สามารถคาดหวังการส่งผ่านอำนาจและความชอบธรรมในการบริหารประเทศ (Transition of Power) จากทรัมป์ตามวิถีประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ทรัมป์ยังปฏิเสธที่จะมาร่วมพิธีสาบานตนของไบเดน ซึ่งน่าจะเป็นการส่งสัญญาณครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 45 ว่าเขาไม่ยอมรับว่าไบเดนชนะการเลือกตั้งอย่างใสสะอาด
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
ภาพ: Rod LAMKEY / POOL, Joseph Prezioso / AFP