วันนี้ (16 ธันวาคม) สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อประชุมเตรียมการโครงการยุวชนอาสา เพื่อร่วมให้โอวาทและแนวทางในการทำงานกับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 800 คน จาก 9 มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน พร้อมทั้งหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย หัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่
สุวิทย์ เปิดเผยว่า โครงการ ‘ยุวชนอาสา’ นับเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญ ในการปฏิรูปการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียนมาเป็นการลงมือทำจริง นำองค์ความรู้ที่เรียนมาบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยเลือกกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ติด 1 ใน 10 จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ
“จากรายงานการประมวลผลผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัวอยู่ที่ 51,147 ต่อคนต่อปี และยังมีสัดส่วนคนยากจนอยู่ที่ 31.99% มากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนไทยจะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการนำความรู้ความสามารถที่เรียนมาช่วยแก้ปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ภายใต้แนวคิด มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมเฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มสูงขึ้น 7% และสัดส่วนคนจนลดลง 2.5% ต่อปี”
การลงพื้นที่ครั้งนี้นับเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมพูดคุย และรับฟังปัญหาจากตัวแทนชุมชน รวมทั้งประชุมร่วมกับคณาจารย์ที่ดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ชุมชนมากที่สุด พร้อมทั้งให้โอวาทแก่เยาวชน นิสิต นักศึกษา จำนวนกว่า 800 คน จาก 9 มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา จำนวน 83 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จาก 134 ตำบล ใน 18 อำเภอ ระยะเวลาในการดำเนินโครงงาน 1 ภาคการศึกษา
โดยประเด็นการพัฒนาครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาศักยภาพที่มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย 2. ยกระดับคุณภาพและรายได้ด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมการค้า การลงทุน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4. การพัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมที่มีความมั่นคงและสงบสุข
“การนำร่องของโครงการฯ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในครั้งนี้ เป็นการปักหมุดครั้งใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงประเทศ และในวันที่ 13 มกราคม 2563 ยุวชนอาสาทั้ง 800 คนจะไปเป็นแขกของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะของยุวชนสร้างชาติผู้ที่จะกำหนดอนาคตใหม่ของประเทศ” สุวิทย์ กล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์