×

Voice of Beauty Queen เสียงของนางงาม… เสียงที่จะไม่เงียบหายในสังคม

23.07.2020
  • LOADING...

หากมองย้อนกลับไปในการประกวด Miss Universe 2017 ที่แฟนนางงามชาวไทยทั้งประเทศต่างฝากความหวังมงกุฎที่ 3 ไว้กับ มารีญา พูลเลิศลาภ Miss Universe Thailand 2017 ตัวแทนสาวไทยที่พกดีกรีการศึกษาระดับปริญญาโทจากสวีเดน และนางแบบมืออาชีพ พร้อมกับการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีเยี่ยม จนมีการคาดว่าเธออาจจะคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลในปีนั้น แต่เมื่อถึงรอบตอบคำถาม 5 คนสุดท้าย โดยเธอได้คำถามที่ว่า 

 

“อะไรคือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่คุณคิดว่าสำคัญที่สุดในคนรุ่นคุณ” 

(What do you think has been the most important social movement of your generation and why?) 

 

และหลังจากที่เธอตอบคำถามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เกิดข้อกังขาบางอย่างว่าเธอเข้าใจเรื่องการเคลื่อนไหวในสังคมของผู้คนในยุคของเธอมากน้อยเพียงใด บ้างก็ว่าเธอยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว หรือคำตอบของเธอนั้นยังไม่จำเพาะเจาะจงถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น #MeToo #LoveWins หรือ Arab Spring เป็นต้น ซึ่งการตอบของมารีญาในวันนั้นดูจะสร้างกระแสให้คนไทยพูดถึง ‘Social Movement’ กันเป็นวงกว้างในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นแฟนนางงามไปจนถึงนักวิชาการและสื่อมวลชน 

 

มารีญา รอบตอบคำถาม Miss Universe 2017 

 (คลิปโดย MU Thailand)

 

ทว่า 2 ปีให้หลังที่มารีญาตอบคำถามบนเวทีด้วยเนื้อหาสาระที่ว่า “ฉันคิดว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดเท่าที่ผ่านมานั่นก็คือการที่โลกเรามีประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของเราแน่นอน นั่นก็คือ ‘ตัวของคนหนุ่มสาวเอง’ พวกเขานี่ล่ะคืออนาคต คนหนุ่มสาวเหล่านี้คือกลุ่มคนที่เราต้องลงทุนฟูมฟัก เพราะพวกเขาจะเป็นคนที่คอยดูแลโลกใบนี้ที่เราอาศัยกันอยู่ต่อไป” ก็กลับมามีกระแสอีกครั้งบนโลกออนไลน์ เพราะเธอได้พิสูจน์คำตอบที่ได้ให้ไว้วันนั้นผ่านอินสตาแกรมในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนและนักศึกษา กับข้อความที่ว่า ‘ภูมิใจนักศึกษาไทย’ ทำให้คนที่ได้อ่านข้อความนี้ต่างก็เสียงแตกกันเป็นกลุ่มต่างๆ ภาพและคลิปการตอบคำถามของเธอในครั้งนั้นถูกนำกลับมารีโพสต์ใหม่ เสียงของมารีญาในวันนั้นที่ปรากฏในวันนี้ดูเหมือนจะ ‘ไม่ธรรมดา’ อีกต่อไป 

 

ในยุคหนึ่ง การแสดงจุดยืนทางการเมืองของ ‘นางงาม’ นั้นมักถูกมองว่าต้องทำตัวให้เป็นกลางและไม่ควรมีปากมีเสียงในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับบริบทของสังคมไทย แต่ในสหรัฐอเมริกาที่วัฒนธรรมการประกวดนางงามได้รับความนิยม กลับเปิดโอกาสให้นางงามได้วิพากษ์ประเด็นทางการเมืองบนเวทีได้อย่างเสรี เช่น เวทีประกวด Miss USA หรือ Miss America นั้น คำถามรอบตัดสินมักจะชงให้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมและการเมืองอยู่เสมอ เช่น การดำรงตำแหน่งของบุคคลทางการเมือง หรือปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างเรื่องการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

https://www.youtube.com/watch?v=VvkNO1i7qMk&feature=youtu.be&t=1660

การตอบคำถามและแสดงความคิดเห็นรอบ 15 คนสุดท้ายบนเวที Miss America 2019 

(คลิปโดย abc4utah)

 

วัฒนธรรมการประกวดนางงามถือเป็นวัฒนธรรมมวลชน (Pop Culture) ที่เติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเมื่อเกิดประเด็นทางการเมืองระดับประเทศ นางงามต่างก็ใช้ตัวเองเป็นกระบอกเสียงเพื่อสะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่น เปีย อะลอนโซ วูร์ซบาค หรือแคทรีโอนา เกรย์ สองมิสยูนิเวิร์สจากดินแดนพันเกาะอย่างฟิลิปปินส์ที่เคยแสดงความเห็นในประเด็นการออกกฎหมายต่อต้านและปราบปรามการก่อการร้ายที่รุนแรงของประธานาธิบดีดูเตร์เต (Anti-Terror Bill) โดยเปีย อะลอนโซ วูร์ซบาค Miss Universe 2015 ได้ทวีตข้อความแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนเองว่า “ในสมัยก่อนเธอมักจะเลี่ยงการกล่าวถึงประเด็นแบบนี้ เนื่องจากยังไม่มีความรู้และความเข้าใจที่มากพอ แต่ถึงตอนนี้เธอให้ความสนใจกับประเด็นทางการเมืองในประเทศเป็นอย่างมาก เพราะเธออยากได้เสียงและสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตัวเองกลับคืนมา (I need my voice back.)”

 

 

เปีย อะลอนโซ วูร์ซบาค Miss Universe 2016 จากฟิลิปปินส์ แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการให้ความเห็นทางการเมืองของตนเองผ่านทวิตเตอร์ @PiaWurtzbach

 

ในขณะที่ Miss Universe 2018 อย่างแคทรีโอนา เกรย์ ก็เคยโพสต์อินสตาแกรมเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยส่วนหนึ่งของข้อความได้ระบุว่า “มีหลายสิ่งมากมายเหลือเกินที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้และในประเทศของเรา และฉันก็รู้ดีว่าเราหลายคนก็อยากจะเบือนหน้าหนีประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เพียงเพราะมันอาจมากเกินจะรับได้ แต่ก็อย่าปล่อยให้นี่เป็นเหตุผลให้เราต้องเงียบปากและทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เราจำต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นเหล่านี้ เพราะเสียงของพวกเราทุกคนมีความสำคัญ” 

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

There is so much happening in the world and in our nation right now, and I know alot of us want to just tune out because it all gets a bit overwhelming. But please, dont allow that to be the reason we revert into silence and turn a blind eye. We need to stay engaged because this is where our voices count. So let’s help each other by creating spaces that help us keep each other informed and help us understand what’s going on. I’ve taken the time to research and digest information and come to my own conclusions and I implore you all to do the same. I’ve created an IG story highlight with some resources. I’m not here to influence you to think a certain way, but I hope I can influence you to think for yourself. #JunkTerrorBill

A post shared by Catriona Gray (@catriona_gray) on

 

แคทรีโอนา เกรย์ Miss Universe 2018 จากฟิลิปปินส์ แสดงความคิดเห็นผ่านอินสตาแกรม @catriona_gray

 

นอกจากเอเชียแล้ว ฝั่งลาตินอเมริกาก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน หากแต่ครั้งหนึ่งในการประกวด Miss Venezuela ผู้ฝึกซ้อมการพูดในที่สาธารณะได้บอกให้ผู้เข้าร่วมการประกวดพูดและวางตัวให้เป็นกลางทางการเมือง แต่นั่นอาจจะเป็นมิติที่เก่าไป เพราะในบางประเทศกลับเปิดพื้นที่สาธารณะให้นางงามได้นำเสนอปัญหาในสังคมที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การประกวด Miss Peru 2017 ที่ให้ผู้เข้าประกวดกล่าวแนะนำชื่อตนเองและเมืองต้นสังกัด พร้อมตัวเลขสถิติความรุนแรงในเมืองของตนเองแทนตัวเลขสัดส่วนทองคำของเรือนร่างพวกเธอ 

 

 

ส่วนหนึ่งของการแนะนำตัวผู้เข้าประกวด Miss Peru 2017 

 (คลิปโดย BBC News)

 

หากมองย้อนกลับไปในวันที่มารีญาและนางงามอีกหลายคนยังไม่ได้ตระหนักรู้ถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมในมิติทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นเพราะกลัวผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาจากกลุ่มผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน นางงามคือผู้หญิงที่ต้องมีเสียงเป็นของตัวเอง และเมื่อได้รับตำแหน่งและกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในด้านต่างๆ (Empowered Women) ก็จะต้องส่งพลังทั้งกายและใจให้คนอื่นๆ ในสังคม ซึ่งหลายๆ คนก็อาจจะคิดว่านี่เป็นการทำการตลาด ภาพลักษณ์ หรือการต่อยอดจากการเป็นนางงามก็ไม่ผิด แต่ขณะเดียวกันสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนลำโพงหรือกระบอกเสียงให้คนในสังคมมองเห็นและอภิปรายถึงประเด็นทางสังคมที่นางงามได้สื่อออกไป แต่จะออกมาในรูปแบบไหนนั้น นางงามเองเป็นผู้เลือกและเน้นย้ำให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ 

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มารีญาก็ได้ออกมาสื่อผ่านถ้อยคำในพื้นที่อินสตาแกรมส่วนตัวถึงจุดยืนทางการเมืองของเธออีกครั้งถึงกลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ ว่าขอให้ทุกคนนั้นปลอดภัย หากใครไม่สบายขอให้อยู่กับบ้านก่อน และหากออกมาก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัย และอยากที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม แม้ว่าจะไม่สามารถไปได้ พร้อมแฮชแท็ก #Thailand #Change #PeacefulProtest 

 

 

มารีญาโพสต์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านอินสตาแกรม @marialynnehren

 

ล่าสุด (23 กรกฎาคม) มารีญาก็ได้ออกมาขอบคุณผู้ที่ติดตามและให้การสนับสนุนในจุดยืนของเธอผ่านอินสตาแกรม พร้อมกันนั้นเธอยังทำให้เห็นถึงวุฒิภาวะของการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และมุ่งเน้นให้ทุกคนรู้เท่าทันโลกทุนนิยมโดยการไม่ใช้สินค้าใดๆ ที่ตนเป็นพรีเซนเตอร์เพียงเพราะอยากจะปกป้องตนจากการโจมตีของผู้เห็นต่าง แถมยังเชื้อเชิญให้บุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์หรือประเด็นต่างๆ ให้มากขึ้นภายใต้การเคารพกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่พลเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยความหวังที่ว่าคนที่เห็นต่างและตัวเธอเองจะมีโอกาสพูดคุยและอภิปรายร่วมกันบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน

 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามารีญามีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และเปิดกว้างทางความคิด ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความงดงามอีกแง่มุมหนึ่งของนางงามในโลกสมัยใหม่ที่มิได้เป็นเพียงพรีเซนเตอร์ที่สวมมงกุฎและสายสะพายเพื่อออกงานและขายสินค้าให้กับกองประกวดหรือสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียว 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising