×

วอดก้า: ประวัติศาสตร์ อำนาจ ที่เกี่ยวพันกับการเมืองเรื่องความเมาที่โหดสัสของรัสเซีย

20.07.2022
  • LOADING...
Vodka

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • วอดก้าเป็นมากกว่าเครื่องดื่มประจำชาติ เครื่องดื่มน้ำเมาชนิดนี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองของรัสเซียมาโดยตลอด นับแต่ยุคจักรวรรดิเป็นต้นมา ผ่านยุคสหภาพโซเวียตจนมาถึงสหพันธรัฐ ผู้นำมากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนกันขึ้นลงสู่อำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือรายได้จากเครื่องดื่มน้ำเมา
  • ผู้ปกครองหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ซาร์อีวานที่ 4 หรือ ‘อีวานผู้โหดเหี้ยม’ พระเจ้าปีเตอร์มหาราช สตาลิน ต่างก็เคยใช้ความเมาในการควบคุมผู้คนให้ตกอยู่ใต้อำนาจ รายได้ของวอดก้าเคยมากถึง 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งประเทศ วอดก้าเป็นทั้งสิ่งที่ชาวรัสเซียรักและภาคภูมิใจ ทว่าก็เป็นสิ่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากด้วยเช่นกัน 

เครื่องดื่มน้ำเมาที่เปรียบได้ดังเส้นเลือดหล่อเลี้ยงจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการปฏิวัติ มันทั้งเคยเป็นสิ่งห้าม ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้คน มันเป็นสิ่งที่ได้คร่าชีวิตชาวรัสเซียหลายล้านคนตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่มีเครื่องดื่มอะไรที่ชาวรัสเซียจะรักมากไปกว่านี้อีกแล้ว ‘วอดก้า’ นับเป็นเครื่องดื่มอันเป็นสัญลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาติ เป็นทั้งบ่อเกิดความสุขและทุกข์ทรมานมากมาย บทความนี้ว่าด้วยเรื่องของประวัติศาสตร์การเมืองของรัสเซียนับแต่โบราณที่เกี่ยวข้องกับความเมา ถึงเครื่องดื่มที่มีความเกี่ยวพันกับการเมืองและประวัติศาสตร์รัสเซียอย่างแนบแน่นนับแต่โบราณ จนถึงขั้นมีคำกล่าวที่ว่า “Russian’s History Written in Vodka”

 

ประวัติศาสตร์ที่จารึกในน้ำเมา: ชนชาติที่ขาดการดื่มไม่ได้

 

Vodka

วอดก้ามีบทบาทสำคัญในสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของรัสเซีย

คนรัสเซียดื่มวอดก้ากันแทบจะทุกโอกาสของชีวิต

 

วอดก้าเป็นมากกว่าเครื่องดื่มประจำชาติ เครื่องดื่มชนิดนี้มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองและวัฒนธรรมของรัสเซีย ประวัติศาสตร์ของรัสเซียมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับวอดก้ามาโดยตลอด รัสเซียเป็นชนชาติที่รักการดื่มเป็นชีวิตจิตใจ นับตั้งแต่ ค.ศ. 987 วลาดิเมียร์มหาราช (Vladimir the Great) ได้ทำการเลือกศาสนาประจำชาติ โดยได้ทรงเลือกนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ แทนที่จะเป็นศาสนาอิสลามซึ่งห้ามดื่มเหล้า พระองค์ทรงตรัสให้เหตุผลว่า “การดื่มคือความสุขของชาวรัสเซีย เราอยู่โดยปราศจากความรื่นรมย์นี้ไม่ได้” นี่แสดงให้เห็นถึงอุปนิสัยรักการดื่มที่ฝังรากลึกมาในชนชาตินับแต่โบราณ 

 

ทรราชผู้กดขี่ควบคุมผู้คนด้วยวอดก้า

 

Vodka

อีวานผู้โหดเหี้ยมใช้ความกลัวและเหล้ามอมเมาควบคุมผู้คน

แต่บั้นปลายชีวิตซาร์พระองค์นี้ก็รันทดไม่น้อย ทรงโทสะจนแทงลูกชายของตนจนสิ้นชีวิต 

สุดท้ายสวรรคตด้วยการถูกวางยาพิษ

(ภาพ: Ilya Yefimovich Repin จิตรกรชาวรัสเซีย)

 

วอดก้าเป็นเครื่องดื่มที่แพร่หลายในแถบยุโรปตะวันออกและในรัสเซีย ตามประวัติศาสตร์แล้วชาวรัสเซียเริ่มรู้จักวิธีกลั่นวอดก้าราวคริสตศตวรรษที่ 1440 แม้ช่วงแรกจะยังไม่เป็นที่นิยมนักแต่ก็เริ่มทวีความนิยมขึ้น จนถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ก็เป็นที่แพร่หลายในสังคมรัสเซีย ยุคหนึ่งที่น่ากล่าวถึงที่สุดคือในสมัยซาร์อีวานที่ 4 หรือ ‘อีวานผู้โหดเหี้ยม’ (Ivan the Terrible ครองราชย์ในปี 1530-1584) ซึ่งได้เข้าควบคุมกิจการสุราอย่างผูกขาดโดยออกกฎหมายห้ามผลิตวอดก้าเถื่อน ทั้งยังจัดตั้งโรงเหล้าของรัฐที่เรียกวา ‘คาบัก’ (Kabak) กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจะขายทั้งเหล้า เบียร์ และวอดก้าแล้ว คาบักยังเป็นทั้งสถานที่ปล่อยกู้ โรงพนัน และบางแห่งยังถึงขั้นค้าประเวณีด้วย โดยในปี 1648 มีบันทึกถึงเหตุการณ์จลาจลที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เนื่องจากประชากรชายถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศต่างก็เป็นหนี้คาบักกันถ้วนหน้า เรียกได้ว่าเป็นกลไกที่สร้างขึ้นมาเพื่อสูบเงินเข้าท้องพระคลังโดยแท้

 

Vodka

ภาพวาดคาบักในรัสเซีย

(ภาพ: John Atkinson Grimshaw ศิลปินชาวอังกฤษ)

 

ความเมา: เครื่องมือ ‘โหดสัส’ ในการควบคุมข่มขู่ผู้คน 

นอกจากใช้สุรามอมเมารีดภาษีจากชนชั้นใต้ปกครองแล้ว พระเจ้าอีวานจอมโหดยังเป็นต้นแบบผู้ปกครองที่ใช้ความเมาเป็นเครื่องมือควบคุมทางการเมืองของรัสเซียอีกด้วย โดยมักจะบังคับให้ข้าราชบริพารดื่มเหล้าโดยไม่มีสิทธิปฏิเสธจนเมามายไร้สติ แล้วให้คนจดบันทึกสิ่งที่ผู้ถูกมอมเผลอพูดขณะเมา ซึ่งแน่นอนว่าถ้าพูดอะไรไม่ดี ไม่เข้าหู หรือเผยความลับอะไรก็จะต้องโทษ บ้างก็ส่งน้ำเมาไปยังบ้านของคนที่เพิ่งออกจากงานเลี้ยงไป แล้วให้ทหารเฝ้าดูจนแน่ใจว่าวอดก้าที่ส่งไปนั้นถูกดื่มจนหมด บ้างก็พิสดารจนถึงขั้นปล่อยให้หมีขย้ำนักบวช สิ่งต่างๆ เหล่านี้นับเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองรัสเซียในยุคต่อๆ มาต่างนำมาใช้เป็นเครื่องมือใช้เพื่อควบคุมข่มขู่ผู้คนให้ตกอยู่ใต้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าปีเตอร์มหาราช (Peter the Great ครองราชย์ในปี 1672-1725) ซึ่งให้ตำรวจลับฝึกหมีจนเชื่องทำหน้าที่เป็นบริกรนำวอดก้าใส่พริกไทยให้แขกดื่ม แถมเจ้าหมียังถูกฝึกมาให้ลงมือทำร้ายถ้าแขกคนไหนหาญกล้าปฏิเสธการดื่ม นอกจากนี้ยังมีแก้วไวน์ใบยักษ์ความจุถึงลิตรครึ่งที่ใช้สำหรับลงโทษผู้ไม่ประสงค์จะดื่ม ทั้งนี้ราชทูตชาวไซปรัสเคยเล่าว่าเขาเป็นสักขีพยานที่เห็นเองกับตาว่า พระเจ้าปีเตอร์มีบัญชาให้นำตัวนักโทษ 20 คนมาเข้าเฝ้า พร้อมแก้วเครื่องดื่มอีก 20 ใบ ก่อนที่จะดื่มทีละแก้วและลงดาบสังหารนักโทษทีละราย 

 

สตาลินเป็นผู้นำในยุคสหภาพโซเวียตที่ใช้ความเมาเป็นเครื่องมือทำนองนี้ งานเลี้ยงของสตาลินมักเชิญสมาชิกพรรคคอมมูนิสต์และคนอื่นๆ ที่เขาต้องการข่มขู่มา แน่นอนว่าแขกผู้ได้รับเชิญไม่ได้รับอนุญาตให้ปฏิเสธการดื่ม งานเลี้ยงอาหารค่ำนี้ไม่ได้น่าหวั่นเกรงเพียงเท่านั้น เพราะก่อนอาหารจะถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะก็มีการบังคับดื่มอวยพรกว่า 20 ครั้งเข้าไปแล้ว และกว่าจะปล่อยตัวแขกให้ได้กลับบ้านได้ก็เกือบจะฟ้าสาง มีเรื่องเล่าถึงแขกผู้เข้าร่วมงานที่ถูกผลักตกน้ำและถูกกลั่นแกล้งอย่างโหดร้าย ซึ่งในขณะที่แขกทุกคนต้องดื่มอย่างเลี่ยงไม่ได้นั้นสตาลินกลับไม่ค่อยดื่ม หรือถ้าดื่มก็เป็นไปได้ว่าดื่มน้ำเปล่า 

 

จักรวรรดิที่ถูกค้ำจุนและล่มสลายด้วยวอดก้า 

 

Vodka

ซาร์นิโคลัสที่ 2 คิดว่าวอดก้าทำร้ายรัสเซีย 

แต่การแบนมันกลับทำลายจักรวรรดิของเขา

(ภาพ: https://time.com/6082058/russian-revolution-vodka/ )

 

ตั้งแต่ยุคจักรวรรดิรัสเซียเป็นต้นมาผู้นำมากหน้าหลายตาผลัดเปลี่ยนกันขึ้นสู่อำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือรายได้จากเครื่องดื่มน้ำเมา เพื่อเพิ่มรายได้สูงสุดราชวงศ์ได้ประมูลสิทธิ์ระดับภูมิภาคในการขายวอดก้าให้กับผู้เสนอราคาได้ดีที่สุด ทำให้การผูกขาดทั้งหมดสามารถพัฒนาไปทีละน้อย สร้างประเทศศักดินาที่ใช้เชื้อเพลิงวอดก้าเป็นหลัก ในยุคศตวรรษที่ 19 รายได้จากแอลกอฮอล์และภาษีมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเพียงพอสำหรับการรักษากองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป รัสเซียพึ่งพาผลกำไรจากวอดก้าราวกับเส้นเลือดใหญ่ของจักรวรรดิ

 

นักประวัติศาสตร์บางรายเห็นว่าเส้นทางสู่การล่มสลายของจักรวรรดิพันปีที่ปกครองโดยพระเจ้าซาร์นั้น สาเหตุหนึ่งก็ด้วยการดำเนินนโยบายแอลกอฮอล์ที่ผิดพลาด ทันทีที่พระเจ้าซาร์นิโลลัสที่ 2 ประกาศให้การค้าวอดก้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 1914 อีก 4 ปีถัดมาจักรวรรดิที่ปกครองด้วยราชวงศ์มาแต่โบราณก็ล่มสลาย ส่วนสาเหตุที่ทำให้ซาร์นิโคลัสที่ 2 ตัดสินใจทำเช่นนั้นก็เพราะตอนนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในการศึกกับจักรวรรดิญี่ปุ่นนั้นรัสเซียเป็นฝ่ายแพ้อยู่เนืองๆ ส่วนหนึ่งก็เพราะทหารรัสเซียขาดวินัยจากการเมา จึงได้มีการสั่งห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการแก้ปัญหา ทว่ากลับกลายเป็นรัฐบาลต้องสูญเสียรายได้หลักถึง 1 ใน 3 นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจและการจลาจล มีการบุกโรงเหล้าทั่วประเทศกว่า 200 แห่งโดยประชาชนและทหารที่อยู่โดยขาดวอดก้าไม่ได้ จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติจนถึงจุดสิ้นสุดของราชวงศ์โรมานอฟ

 

การเมืองเรื่องวอดก้ายุคหลังจักรวรรดิ

 

Vodka

สตาลินใช้เหล้าและความเมาในการควบคุมผู้คน

นำการผูกขาดวอดก้าโดยรัฐกลับคืนมา

 

ปี 1917 ในช่วงการปกครองของรัฐบาลบอลเชวิกสมัยแรก เลนินได้ควบคุมการผลิตวอดก้าออกสู่ตลาดรัสเซีย หลังจากเลนินเสียชีวิตในปี 1921 ความต้องการหารายได้เข้ารัฐทำให้ปริมาณวอดก้าหวนกลับสูงมากอีกครั้ง สตาลินต้องการนํารายได้จากการขายวอดก้ามาใช้จ่ายในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต ต่อมาในปี 1925 ข้อจํากัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวอดก้าที่กําหนดขึ้นในช่วงการปฏิวัติจึงได้ถูกยกเลิก เพื่อกระตุนเศรษฐกิจให้กับรัฐคอมมิวนิสต์เพิ่งเกิดใหม่ อัตราผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอลพุ่งสูงขึ้นในหลายเมือง เช่น มีผู้เสียชีวิตจากการดื่มที่มอสโกเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า การยกเลิกจํากัดการดื่มพร้อมทั้งการผูกขาดผลิตเครื่องดื่มวอดก้าโดยรัฐหวนคืนมาใหม่ในสมัยสตาลินอย่างชัดเจน จนในปี 1970 สหภาพโซเวียตภายใต้การนำของสตาลินยังคงผูกขาดวอดก้าแบบเดียวกับซาร์ สตาลินสนับสนุนให้พลเมืองของเขาดื่มวอดก้าเพื่อป้องกันการล้มละลายของประเทศ เขาเห็นว่าวอดก้าทำให้ชาวรัสเซียเมาและว่าง่าย ไม่สามารถเป็นภัยคุกคามต่อการปกครองของเขา ความเครียดจากการปกครองอันแสนเข้มงวดทำให้ประชาชนหันมาดื่มวอดก้ากันมากขึ้น รายได้จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้กลับมาเป็นรายรับสําคัญของรัฐถึง 1 ใน 3 อีกครั้งในยุคสหภาพโซเวียต แต่นั่นก็แลกมาด้วยสถิติจากการป่วยและตายของผู้คนที่สืบเนื่องจากการดื่ม

 

Vodka

วันที่ ‘วอดก้าหมดประเทศ’ 

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 1945 เมื่อนาซีเยอรมนีประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งประเทศรัสเซียซึ่งทนทุกข์จากภาวะสงครามมานานได้เฉลิมฉลองใหญ่กันทั่วประเทศ แม้แต่คนที่ไม่เคยดื่มก็ดื่มวอดก้า หลังจากที่งานฉลองผ่านไปได้ 22 ชั่วโมง วอดก้าที่สำรองไว้ก็หมดประเทศ

(ภาพ: https://www.warhistoryonline.com/instant-articles/the-day-of-victory-vodka.html)

 

วอดก้ายังมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองรัสเซียมาโดยตลอดหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นในยุคของประธานาธิบดีมิคาอิล กอร์บาชอฟ ที่มีการรณรงค์และออกกฎหมายเพื่อลดการดื่มและผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อปี 1985 ซึ่งช่วยรักษาชีวิตของชาวรัสเซียได้เป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาหลังจากนั้นอีก 6 ปี สหภาพโซเวียตก็ถึงคราวล่มสลาย และเมื่อเข้าสู่ยุคสหพันธรัฐรัสเซียในสมัยของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน การผูกขาดการผลิตวอดก้าโดยรัฐก็ถูกยกเลิก ส่งผลให้การผลิตวอดก้าเพิ่มสูงขึ้น อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากการดื่มก็เพิ่มขึ้นสูงเป็นเงาตามตัว ในปี 1995 วารสารสุขภาพโลกถึงกับรายงานว่าคนรัสเซียบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 14.5 ลิตรต่อคนต่อปี ส่งผลให้รัสเซียครองแชมป์ชาติดื่มหนักที่สุดในโลก แอลกอฮอล์คร่าชีวิตชาวรัสเซียเฉลี่ยมากถึง 30,000 คนต่อปี ซึ่งก็มีทั้งประชาชนและนักการเมืองบางส่วนที่พยายามหาทางจำกัดการบริโภควอดก้าอยู่เหมือนกัน นั่นทำให้วอดก้าได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงอำนาจทางการเมืองทั้งระหว่างฝ่ายที่ต้องการจำกัดและส่งเสริมการดื่ม ซึ่งนักการเมืองคนสำคัญ แม้กระทั่ง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเองก็เคยใช้นโยบายลดราคาวอดก้าในการหาเสียงและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อใช้ในการหาคะแนนเสียงสนับสนุนตนเองด้วยเช่นกัน 

 

Vodka

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน 

ก็เคยใช้นโยบายลดราคาวอดก้าในการหาเสียง

 

แม้จะเคยมีรายงานจาก WHO ที่บอกว่าคนรัสเซียรุ่นใหม่ดื่มเหล้ากันน้อยลงมากถึง 43 เปอร์เซ็นต์ในระหว่างปี 2003-2016 โดยหันไปดื่มอย่างอื่นที่ดีกรีแรงน้อยกว่าว้อดก้าเพราะกระแสรักสุขภาพตามเทรนด์โลก แต่ก็ยังมีข่าวคนรัสเซียเสียชีวิตจากเหล้าเถื่อนและพิษสุราให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ แม้กระทั่งทุกวันนี้ในขณะที่รัสเซียกำลังทำสงครามกับยูเครนวอดก้ารัสเซียยังตกเป็นเป้าในการแบนจากนานาชาติ เป็นการคว่ำบาตรทั้งทางสัญลักษณ์และเศรษฐกิจ ซึ่งอาจไม่ส่งผลมากนักเพราะบริโภคกันในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเห็นได้เลยวอดก้าเป็นเครื่องดื่มน้ำเมาที่มีความเกี่ยวพันกับการเมืองเรื่องอำนาจอย่างโหดสัสมาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ซึ่งเราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าวอดก้าจะถูกนำใช้เป็นเครื่องมือหรือมีบทบาทต่อการเมืองรัสเซียอีกอย่างไรต่อไปในอนาคต 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising