การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญรัสเซียครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก 2 สมัย สมัยละ 6 ปี เรียกว่าครองอำนาจต่อไปได้จนถึงปี 2036 ภายหลังวาระประธานาธิบดีสมัย 4 ของเขาสิ้นสุดลงในปี 2024
เดิมทีกำหนดลงประชามติคือวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา แต่รัสเซียกำลังรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดมาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงคะแนน
แม้ว่ารัสเซียยังมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยวันละ 7 พันราย แต่รัฐบาลเดินหน้าจัดประชามติต่อ พร้อมให้คำมั่นว่าจะใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงได้เปิดให้ลงคะแนนล่วงหน้าได้ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้สิทธิแบบ New Normal ได้มากขึ้น
ผู้นำสายแข็ง กับภาพลักษณ์ ‘สตรองแมน’ ไม่ปิดบังเจตนาว่าอยากครองอำนาจต่อ ปูตินให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งชาติเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนว่า “เราต้องสานต่องานอีกมากมาย นี่ไม่ใช่เวลามองหาคนมาสืบทอดอำนาจ
“ถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ ผมเชื่อว่าในอีก 2 ปี แทนที่จะได้ทำงานกันปกติ ทุกคนจะมุ่งแต่มองหาคนที่มีแนวโน้มจะมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากผม”
ดังนั้น การลงประชามติครั้งนี้เป็นเสมือนการหยั่งความเห็นของชาวรัสเซียด้วยว่า ต้องการอยู่ใน ‘ระบอบปูติน’ ต่อไปอีกกว่าทศวรรษหรือไม่ ซึ่งคะแนนเสียงของปูตินที่สูงถึง 76% จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2018 มีแนวโน้มสูงที่การลงประชามติครั้งนี้ ผลลัพธ์ได้ถูกกำหนดไว้แล้ว
ซาราห์ เรนซ์ฟอร์ด ผู้สื่อข่าว BBC ประจำกรุงมอสโก วิเคราะห์ว่าคนรัสเซียอาจไม่ได้ชอบปูติน แต่ก็ไม่ได้เกลียดเขามากขนาดนั้น
“หลายคนมองว่าเขาเป็นผู้นำเข้มแข็งที่ยืนหยัดต่อสู้กับชาติตะวันตกได้”
แก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘นับหนึ่งใหม่ให้ปูติน’
การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่จะเกิดขึ้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัสเซียครั้งนี้ คือการจำกัดวาระประธานาธิบดีรัสเซียที่ 2 สมัย สมัยละ 6 ปี แทนที่กำหนดเดิมว่าดำรงตำแหน่งได้แค่ 2 สมัยติดต่อกัน
แต่สำหรับปูตินที่กำลังดำรงตำแหน่งในสมัยที่ 2 (สมัยที่ 4 หากนับช่วงปี 2000-2008 แล้วเว้นช่วงไปเป็นนายกรัฐมนตรีปี 2008-2012) การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้จะเป็นการ ‘เริ่มนับหนึ่งใหม่’ หรือ ‘เซตซีโร่’ ให้กับเขา หมายความว่าเมื่อครบวาระในปี 2024 หากเขาชนะการเลือกตั้งอีกก็สามารถเป็นประธานาธิบดีต่อไปได้ยาวนานสุดอีกถึง 12 ปี ส่วนการดำรงตำแหน่งที่แล้วๆ มาถือว่าไม่นับ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการ คือจุดยืนอนุรักษนิยมของรัสเซียที่จะเข้มข้นมากขึ้น ด้วยการประกาศห้ามการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มเงินบำนาญและค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงปรับโครงสร้างรัฐบาลด้วย เสมือนเพิ่มปัจจัยเชิญชวนให้ลงคะแนน ‘ยอมรับ’ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทาเตียนา สตาโนวายา (Tatiana Stanovaya) ประธานบริษัทด้านการวิเคราะห์ R. Politik มองว่า ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การเลื่อนจัดลงประชามติมาเป็นช่วงนี้ ถือว่า ‘ถูกจังหวะ’ เพราะรัสเซียเพิ่งประกาศชัยชนะเหนือไวรัสโคโรนา (แม้ว่าผู้ติดเชื้อรายวันยังสูงกว่า 7 พันราย)
และยัง ‘ถูกจังหวะ’ เพราะเป็นช่วงก่อนที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดจะเริ่มเป็นรูปธรรม รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ ‘ระลอกสอง’ ด้วย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชน
ห่างไกลแค่ไหน กล่องลงคะแนนจะตามไปถึง
“สถานการณ์เปราะบางมาก ประชาชนเผชิญความยากลำบาก ผู้คนจำนวนมากตกงาน และจะยิ่งตกงานมากขึ้นในอนาคต” สตาโนวายา วิเคราะห์
“รัฐบาลต้องการจัดการลงประชามติให้เร็วที่สุด และให้เรื่องนี้มันจบๆ ไป เพราะถ้ารอนานกว่านี้ จะเป็นการยากที่จะขับเคลื่อนประชาชน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ”
ประชามติ ‘เกมโชว์’
ก่อนหน้าที่จะเริ่มการลงประชามติล่วงหน้า ประชาชนในกรุงมอสโกได้รับข้อความว่า “คุณมีสิทธิชนะรางวัลมูลค่าหลายล้าน” ถ้าออกไปใช้สิทธิลงประชามติ
“มันเหมือนเกมโชว์” โอเล็ก คาร์ลามอฟ (Oleg Kharlamov) เจ้าหน้าที่ห้องทดลองในกรุงมอสโกที่ประกาศจะลงคะแนน ‘คัดค้าน’ ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian
“ผมบอกทุกคนให้มองเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ” เพราะการลงประชามติเท่ากับกำหนดว่า “ใครจะคุมอำนาจไปอีกชั่วอายุคน แล้วถ้าเราไม่พอใจ รัฐบาลจะบอกได้ว่า ‘ก็คุณลงคะแนนสนับสนุนแล้วนี่’”
แม้จะดูเหมือนข้อความสแปม หรือโฆษณาชวนเชื่อเพื่อพยายามหลอกเอาเงิน แต่จริงๆ แล้ว การ ‘ชิงโชค’ และ ‘สมนาคุณพิเศษ’ เหล่านี้เป็นมาตรการ ‘ปาหี่’ ที่รัฐบาลรัสเซียอนุมัติ เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนออกไปลงคะแนนมากขึ้น แม้กระทั่งบุคลากรทางการแพทย์ที่วุ่นอยู่กับการรับมือผู้ป่วยโควิด-19 ยังถูกกระตุ้นให้ไปหย่อนบัตรด้วย เพียงเพื่อให้ยอดผู้ใช้สิทธิสูงขึ้น
ใบปลิวร่วมชิงโชค สำหรับผู้ลงคะแนนประชามติ
บริษัทต่างๆ เองมีกิจกรรมแจกของ แจกรางวัลให้พนักงานที่ออกไปลงประชามติเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันอาจมองได้ว่าเป็นมาตรการเพื่อตรวจสอบว่าใครบ้างที่ออกไปหรือไม่ออกไปใช้สิทธิ
อินฟลูเอนเซอร์ในโลกสังคมออนไลน์ ทั้ง Instagram และ TikTok ถูกว่าจ้างรวมเป็นเงินมหาศาล โดยคนกลางที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าทำงานให้รัฐบาล เพื่อทำคอนเทนต์เชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้ออกไปใช้สิทธิ
ตบเท้าเข้าคูหาแบบ New Normal
อำนาจเบ็ดเสร็จของปูตินเห็นได้ชัดจากการที่ขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้เขาเป็นประธานาธิบดีต่ออีกยาวนาน แทบไร้เสียงต่อต้าน และได้รับการอนุมัติในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ-รัฐสภา อย่างง่ายดาย
คณะกรรมการกลางการเลือกตั้งของรัสเซียชี้ว่า อันที่จริงการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ สามารถทำได้ทันที แต่เป็นปูตินเองที่ยืนยันว่าอยากให้ประชาชนได้แสดงความเห็น ด้วยการจัดการลงประชามติ
เรนซ์ฟอร์ดกลับมองว่าปูตินก็แค่พยายาม “ทำให้ดูเหมือนเขาไม่เต็มใจกับข้อเสนอนี้ และทำเหมือนกับว่ามันเป็นความต้องการจาก ‘เบื้องล่าง’” ทั้งที่เบื้องบนเองนั่นแหละที่บัญชาการลงมา
แม้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัสเซียจะไม่คัดค้าน แต่เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยต่อต้านการลงประชามติครั้งนี้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 ของรัสเซีย ยังน่าเป็นห่วง
“พวกเราไม่ใช่ของใช้แล้วทิ้ง” นี่เป็นหัวข้อของจดหมายเปิดผนึกที่พวกเขาร่วมลงนาม และจ่าหน้าถึงรัฐบาล ด้วยความหวังว่าจะทำให้ตระหนักถึงอันตรายต่อผู้ลงคะแนน และเจ้าหน้าที่ หากจัดการลงประชามติทั้งประเทศแบบนี้
แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สนใจ ยืนกรานว่าจะมีการฆ่าเชื้อหน่วยลงประชามติอยู่บ่อยๆ ส่วนคูหาที่คับแคบจริงๆ จะใช้มาตรการจำกัดผู้เข้าใช้สิทธิ โดยมีแห่งหนึ่ง อนุญาตให้ประชาชนเข้าลงคะแนนได้ 8 คนเท่านั้น ใน 1 ชั่วโมง
เซลฟีกันสักหน่อย ก่อนไปลงคะแนน
หน่วยลงคะแนนบางแห่งยังมีความคิดสร้างสรรค์ อาทิ เปิดท้ายรถเป็นคูหา กางเต็นท์ชั่วคราว หรือแม้กระทั่งวางหีบลงคะแนนตามม้านั่งสาธารณะก็มี เพราะพิจารณาว่า การลงคะแนนกลางแจ้งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 น้อยกว่า
ส่อแววทุจริตก่อนวันจริง
สื่อเสรีที่ไม่ขึ้นกับภาครัฐได้ติดตามรายงานบรรยากาศการลงคะแนนล่วงหน้า ตั้งแต่เริ่มเปิดหีบได้ไม่กี่ชั่วโมง
ผู้ประกาศช่อง TV Rain คนหนึ่งโพสต์วิดีโอที่เขาอ้างว่าเป็นหลักฐานว่า เขาลงคะแนนซ้อนได้ คือลงคะแนนแบบหย่อนกระดาษ และลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์
องค์กรอิสระชื่อ โกลอส (Golos) ที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งของรัสเซียมาตลอด เปิดเผยว่าสามารถบันทึกการทุจริต และการ ‘บังคับลงคะแนน’ ในช่วงการลงคะแนนล่วงหน้าได้มากกว่า 700 ครั้ง พร้อมหลักฐานเป็นภาพแคปหน้าจอบทสนทนาที่หัวหน้างาน ผู้อำนวยการโรงเรียน และนักการเมืองท้องถิ่น ขู่ว่าจะ ‘ไล่ออก’ หรือ ‘ลงโทษ’ ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่ยอมลงทะเบียนลงประชามติ
การบังคับประชาชนให้ลงคะแนนมีความผิดทางกฎหมาย แต่สำหรับรัสเซียถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดการเลือกตั้งที่แล้วๆ มา
แต่ประธานร่วมของโกลอส กรีกอรี เมลคอนยันต์ส (Gregory Melkonyants) ให้สัมภาษณ์กับ The Moscow Times ว่า “ไม่เคยได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่บอกว่าถูกกดดันให้ลงคะแนนมากเท่านี้มาก่อน”
จาก ‘โนเนม’ สู่ ‘ประธานาธิบดีทรงอำนาจ’
วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นสายลับเคจีบีระดับกลาง ในช่วงปลายสงครามเย็น เขาเริ่มประจำการอยู่ที่เมืองเดรสเดนของเยอรมนีเมื่อปี 1985 สมัยนั้น เดรสเดนตั้งอยู่ในเยอรมนีตะวันออก ที่เศรษฐกิจตกต่ำเข้าขั้นวิกฤต อยู่ได้ด้วยเงินกู้หลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากเยอรมนีตะวันตก ความขุ่นเคืองไม่พอใจปกคลุมไปทั่วเยอรมนีตะวันออก
แคเธอรีน เบลตัน อดีตผู้สื่อข่าว Financial Times เขียนในบทความลงเว็บไซต์ Politico.com ว่า ในช่วงเวลาแห่งความโกลาหลนั้น สิ่งที่ปูตินทำในเดรสเดนยังเป็นปริศนาที่ไร้คำตอบ ส่วนหนึ่งเพราะเคจีบีทำงานมีประสิทธิภาพมาก พวกเขาเผาทำลายหรือถ่ายโอนเอกสารสำคัญจนเกือบหมด ก่อนที่เยอรมนีตะวันออกจะล่มสลาย
เอกสารที่หลงเหลือและเกี่ยวกับภารกิจของปูตินในเดรสเดนหนาเพียงไม่กี่แผ่น แต่จับนัยสำคัญได้ว่าปูตินในสมัยนั้นมีบทความสำคัญพอตัว เพราะรับคำสั่งตรงจากผู้บังคับบัญชาประจำเดรสเดน
แต่วลาดิเมียร์ อูโซลต์เซฟ (Vladimir Usoltsev) อดีตเคจีบีที่เคยร่วมงานกับปูตินตั้งแต่วันแรกที่ไปถึงเดรสเดน และได้รับอนุญาตให้เขียนหนังสือเกี่ยวกับช่วงเวลานั้น พยายามลบข้อสังเกตถึงอิทธิพลของปูตินในช่วงเป็นสายลับเคจีบีว่า เขาเป็นแค่สายลับ ‘โนเนม’ ไม่ได้มีความสำคัญอะไร
งานของพวกเขาหลักๆ คือสรรหาคนมาร่วมงานด้วย แต่อันที่จริงใช้เวลากว่า 70% ไปกับ ‘การเขียนรายงานไร้สาระ’
ทั้งนี้ เอวา ออนติเวอร์รอส (Eva Ontiveros) ผู้สื่อข่าว BBC มองว่า “ปูตินกลัวการลุกฮือของประชาชนและรังเกียจภาวะสุญญากาศทางอำนาจ” หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ออนติเวอร์รอส วิเคราะห์ว่าแม้รัฐบาลและสื่อของรัฐจะพยายามชี้ว่าการขึ้นสู่อำนาจของปูตินไม่เกี่ยวกับการงานสมัยเขาเป็นสายลับเคจีบี แต่อันที่จริงเครือข่ายผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่เขาฟูมฟักตั้งแต่สมัยนั้น มีส่วนต่อหน้าที่การงานที่ก้าวกระโดดของปูติน
พอเขากลับเลนินกราด หรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน เขาได้เป็นมือขวาของนายกเทศมนตรีเมืองในสมัยนั้น ก่อนย้ายไปทำงานด้านความมั่นคงในกรุงมอสโก ซึ่งการงานของเขารุ่งเรืองมาก จนบอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย แต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1999
แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียงปีเดียว เยลต์ซินตัดสินใจสายฟ้าแลบ ลาออกจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีในวันสุดท้ายของปี 1999
ปูตินซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นนำในรัสเซียได้รักษาการประธานาธิบดี ก่อนที่ต่อมาจะชนะการเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีในเดือนมีนาคมปีต่อมา และดำรงตำแหน่ง 2 สมัยมาถึงปี 2008
ปูตินขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2000
แต่ด้วยข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญที่ห้ามดำรงตำแหน่งเกินสองสมัย ปูตินใช้วิธีขยับลงไปเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 4 ปี ระหว่างปี 2008 ถึง 2012 โดยผลักดันให้คนสนิทของเขาคือ ดมิทรี เมดเวเดฟ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ผู้สังเกตการณ์และสื่อนานาชาติเชื่อมั่นว่าปูตินมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด แม้จะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรียกได้ว่าคุมบังเหียนไว้แน่นไม่ปล่อย
แล้วก็เป็นไปตามคาด ในปี 2012 เมื่อเมดเวเดฟครบวาระ ปูตินลงสังเวียนชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และชนะด้วยคะแนนท่วมท้น กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ขยายเพิ่มวาระเป็นสมัยละ 6 ปี และเมื่อปี 2018 ปูตินก็ชนะการเลือกตั้งอีก ทำให้ได้ครองอำนาจต่อไปจนถึงปี 2024
และหากผลประชามติเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง วลาดิเมียร์ ปูติน จะเป็นประธานาธิบดีรัสเซียคนแรกนับแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 และ ‘คนเดียว’ ได้อีกอย่างน้อย 16 ปีนับจากนี้ ถึงตอนนั้นเขาจะมีอายุ 83 ปี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2020/06/25/europe/russia-referendum-vote-constitution-putin-intl/index.html
- https://www.theguardian.com/world/2020/jun/26/it-looks-like-a-gameshow-russias-pseudo-vote-on-putins-term-limits
- https://www.politico.com/news/magazine/2020/06/20/vladimir-putin-dresden-kgb-330203
- https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-53176061