นักวิชาการและนักธุรกิจต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปี 2017 เป็นปีแห่งความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI บริษัทยักษ์ใหญ่พยายาม ‘คิดใหม่’ และ ‘ทำใหม่’ ทั้ง Microsoft, Amazon, Google และ Facebook แข่งกันประกาศตัวเป็นบริษัทด้าน AI (AI Company)
ขณะที่รัฐบาลจีนเพิ่งเผยแผนยุทธศาสตร์สนับสนุนการพัฒนา AI ปี 2018-2020 ไปเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้าน AI และหุ่นยนต์ เช่น การผลิตชิปประมวลผลโครงข่ายประสาทเทียม หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ และ Machine Learning สำหรับการแพทย์ ซึ่งหมายความว่าการแข่งขันของตลาดเหล่านี้จะดุเดือดขึ้นแน่นอน
นอกจากจะชู AI เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ รัฐบาลจีนยังประกาศว่าจะนำ AI มาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตภายในปี 2020 ชนิดที่สวนกระแสไม่แคร์โลกร้อนของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ว่าได้
ถ้าปี 2017 คือปีแห่งความก้าวหน้าของ AI แล้วปี 2018 จะเป็นปีแห่งอะไร?
บรรดาสำนักเทรนด์ สื่อมวลชน และผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจได้เผยรายชื่อของเทคโนโลยีที่จะกำหนดทิศทางของปี 2018 ออกมาแล้ว
มาดูกันดีกว่าว่าอนาคตอันใกล้จะเดินไปในทางไหน?
Digital Twin กุญแจสู่อุตสาหกรรม 4.0
ปี 2018 เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม-ธุรกิจสู่ยุค 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
‘Digital Twin’ (หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับคำนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้เราเชื่อว่าคำนี้จะได้รับการพูดถึงมากขึ้น) เป็นซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาจัดเก็บข้อมูลและพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรธุรกิจ ด้วยการรวบรวมข้อมูลจากระบบเซนเซอร์และทำสำเนาเป็นข้อมูลดิจิทัล (เรียกง่ายๆ ว่า ‘ก๊อปปี้’ ข้อมูลทั้งหมดไว้อีกที่หนึ่ง ถ้าเปรียบก็เหมือนสร้างแฝด (Twin) หรือโคลนนิ่งข้อมูลของสิ่งของหรือสภาพแวดล้อมขึ้นมา) เช่น เครื่องจักรในโรงงาน อาคารสิ่งก่อสร้าง อุปกรณ์ IoT เพื่อนำไปวิเคราะห์และรายงานผลแบบเรียลไทม์
โดยองค์กรสามารถใช้ Voice Assistant (ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น Siri) เข้ามาเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะในการจัดการโมเดลจำลองข้อมูล ตัดสินใจวางแผนการทำงาน ตรวจสอบความผิดปกติ และคาดการณ์ล่วงหน้า เช่น แจ้งเตือนเครื่องจักรที่เสี่ยงใช้งานไม่ได้ พร้อมกับหาสาเหตุ วิธีนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง ตลอดจนเพิ่มผลผลิตและโอกาสทางธุรกิจอย่างแม่นยำ
ถ้าอ่านถึงตรงนี้แล้วยังนึกภาพ Digital Twin ไม่ออก เราอยากให้ลองจินตนาการถึงรถยนต์ที่คุณสามารถเรียกดูข้อมูลต่างๆ เช่น ระบบเครื่องยนต์ อะไหล่ น้ำมัน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ฯลฯ จากสมาร์ทโฟนได้แบบเรียลไทม์ เมื่อรถยนต์มีปัญหาหรือเกิดความผิดปกติ ระบบก็จะแจ้งเตือนทันที ถ้าเป็นเมื่อก่อนคุณอาจต้องเอารถเข้าศูนย์เพื่อให้ช่างหาสาเหตุและซ่อมแซม แต่ระบบ Digital Twin จะบอกว่าปัญหานั้นเกิดจากอะไร พร้อมกับแนะนำวิธีแก้ไข เช่น คุณสามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้หรือไม่ ถ้าได้จะแก้ไขอย่างไร หรือถ้าจำเป็นต้องนำเข้าศูนย์ ช่างที่ศูนย์ก็จะรู้ว่าควรจะซ่อมแซมรถยนต์ตรงจุดไหน
คลิปบริษัท GE อธิบายการทำงานของ Digital Twin ในโรงงานไฟฟ้ากังหันไอน้ำในแคลิฟอร์เนีย
Gartner บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านไอทีชั้นนำของโลกชี้ว่า ในปีหน้าเทคโนโลยีนี้จะถูกต่อยอดในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การดูแลวงจรการผลิตทั้งระบบ การออกแบบวิศวกรรม การวางผังอาคาร ไปจนถึงการออกแบบเมืองอัจฉริยะ ปัจจุบันมีบริษัทหลายรายที่เริ่มให้บริการกับภาคธุรกิจ เช่น IBM, Siemens และ General Electric (GE)
Digital Reality ดำดิ่งสู่ประสบการณ์เสมือนในโลกจริง
Deloitte ชี้ว่า Digital Reality (DR) จะเข้ามามีอิทธิพลในปี 2018 ครอบคลุมตั้งแต่ AR, VR, กล้อง 360 องศา, ระบบเซนเซอร์, Immersive Technology ไปจนถึง MR (Mixed Reality) หรือความจริงผสมที่นำข้อมูลของโลกจริงกับโลกเสมือนมารวมไว้ด้วยกัน (หรือ AR กับ VR นั่นเอง) โดยที่ผู้ใช้สามารถใส่อุปกรณ์สวมศีรษะและปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลคอนเทนต์ที่ปรากฏในโลกจริงได้
นอกเหนือจากอุตสาหกรรมเกมที่จะทำรายได้มหาศาล ดูเหมือน DR จะได้รับความสนใจในศาสตร์สาขาอื่นไม่แพ้กัน องค์กรธุรกิจจะนำมาใช้ประชุมทางไกล ทดลองวิจัยผลิตภัณฑ์ และการฝึกพนักงาน
บริษัท Unity Technologies ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเกมเผยว่า ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ นำ DR เข้าไปต่อยอดธุรกิจแบบครบวงจร เช่น ออกแบบยานยนต์ ฝึกฝนพนักงานภาคปฏิบัติ ทดสอบรถยนต์อัตโนมัติ วางแผนมาร์เก็ตติ้งและพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้า
นอกจากเราจะได้เห็นการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวระหว่าง Microsoft, Apple กับ Facebook ปะทุเดือดในปี 2018 Charlie Fink คอลัมนิสต์และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี VR ยังคาดการณ์ว่าตลาดแอปพลิเคชันที่รองรับ AR, VR, MR มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นในธุรกิจประเภทค้าปลีก การท่องเที่ยว และการแพทย์
AI จะเป็นพื้นฐานของทุกธุรกิจ แต่ AI ที่ฉลาดกว่ามนุษย์ยังอีกยาวไกล
หลายคนน่าจะได้ยินข่าวธุรกิจแบรนด์ดังหันมาใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลหาอินไซต์ลูกค้ากันบ้าง Gartner เผยว่า AI จะมีบทบาทต่อไปในปี 2018 และเข้าถึงกลุ่มธุรกิจทุกขนาด บริษัทน้อยใหญ่จะลงทุนกับ AI ที่วิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Analytics) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในยุค Digitization
Jan Kautz ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย Visual Computing and Machine Learning Research บริษัท NVIDIA มองว่า AI จะกลายเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่เก่งกาจและรู้ใจผู้บริโภคเป็นที่สุด ถึงขั้นที่สามารถแต่งเพลงที่ตรงกับรสนิยมของผู้ฟังแทนการเลือกเพลงโปรดตามระบบอัลกอริทึม ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนของการทำตลาด Personalization อย่างแท้จริง
ฝั่งวงการแพทย์ก็ตื่นตัวกับความก้าวหน้าของ AI เช่นกัน อย่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย McMaster and Vanderbilt University ได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์และคาดคะเนวิธีรักษาโรคซึมเศร้าและโรคมะเร็งเต้านมที่เหมาะสมกับเคสของผู้ป่วยแต่ละราย
เมื่อมองภาพรวมของการปรับใช้ AI ในแต่ละอุตสาหกรรม เป็นไปได้ที่ AI จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารธุรกิจระดับโลกประเมินว่า ในปี 2015-2065 ระบบอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางผลิตภาพการผลิตของเศรษฐกิจระดับมหภาคได้ถึง 0.8-1.4% ต่อปี แต่ที่น่ากังวลคือ เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในระยะยาวจากระบบอัตโนมัติที่เข้ามาทำงานแทน
อย่างไรก็ตามนักวิชาการบางส่วนกลับเห็นต่างไป Erik Brynjolfsson ผู้อำนวยการ MIT Initiative on the Digital Economy สถาบัน MIT ได้เผยแพร่บทความวิชาการว่าด้วยประเด็นพัฒนาการของ AI ที่ล่าช้า สวนทางกับจำนวนการศึกษาวิจัยและหุ้นการลงทุนในธุรกิจสาย AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน AI ยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดที่มีความฉลาดเทียบเท่าหรือเหนือกว่าคน
มุมมองของ Erik สอดคล้องกับข้อมูลของ AI Index โครงการที่มุ่งศึกษาความก้าวหน้าของ AI ตลอด 100 ปี Raymand Perrault นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันวิจัย SRI International หนึ่งในนักวิจัยโครงการดังเผยว่า สาธารณชนมักจะคิดว่านักวิทยาศาสตร์พัฒนา AI ไปไกลกว่าความเป็นจริง พร้อมชี้ว่าความสามารถการทำงานเฉพาะทางหรือแข่งเกมชนะแชมป์โลกก็ยังห่างไกลจากความฉลาดทั่วไป หรือ Artificial General Intelligence
Emotional Economy ออกแบบเทคโนโลยีให้มีหัวใจ
Richard Yonck ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Intelligent Future Consulting ผู้เขียนหนังสือ Heart of Machine กล่าวว่าในอนาคตจะเป็นยุคเฟื่องฟูของระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Emotional Economy กล่าวคือเมื่อเทคโนโลยีอัจฉริยะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันหรือแม้แต่ทำงานกับเรา ก็จำเป็นต้องเข้าใจ ‘อารมณ์ความรู้สึก’ ของมนุษย์หรือผู้ใช้งานมากขึ้น หรือมี empathy นั่นเอง แนวคิดนี้จะมีอิทธิพลในการออกแบบนวัตกรรม ตั้งแต่รถยนต์ไร้คนขับไปจนถึงหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ ส่วนผู้ประกอบการและนักการตลาดจะหันมาพึ่ง AI ในการอ่านอารมณ์และความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้แสดงผ่านพฤติกรรม
ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ ‘Jibo’ ของ Cynthia Breazeal นักวิจัยจากเอ็มเอทีที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับครอบครัว มันสามารถพูดคุย ถามตอบ และจดจำใบหน้าของคนที่พูดคุยโต้ตอบ สิ่งที่ทำให้หุ่นยนต์ตัวนี้แตกต่างไปจากหุ่นยนต์อื่นๆ คือมันได้รับการออกแบบมาให้เป็นมิตรและเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกของคน เหมือนกับเป็นสมาชิกในบ้าน จึงไม่แปลกที่ Jibo จะติดอันดับ 1 ใน 25 สิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2017
ในอีกด้านหนึ่งจริยธรรมและอคติในการสร้างหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงในระดับสากล เช่น การเลือกใช้เสียงผู้หญิงใน Voice Assistant ถูกมองว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิง การพูดกับ Voice Assistant ด้วยถ้อยคำล่วงละเมิดหรือแสดงความต้องการทางเพศ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มักถูกออกแบบโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ประเด็นดังกล่าวได้ปลุกกระแสให้ผู้หญิงมีบทบาทในวงการนี้มากขึ้น
นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ยังกังวลว่าหากหุ่นยนต์และ AI เกิดก่ออาชญากรรมขึ้นมา ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือแม้แต่การคุ้มครองแรงงานที่จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศมีแนวโน้มสนใจการร่างกฎหมายควบคุมเทคโนโลยีอัจฉริยะเหล่านี้ขึ้นมา
ระบบสแกนใบหน้า-ไบโอเมตริก จะมาแทนที่บัตรเครดิตและใบขับขี่
หลังจากบริษัท Ant Financial เปิดตัวเทคโนโลยี Smile to Pay ที่ให้ลูกค้า KFC จ่ายเงินผ่านระบบสแกนใบหน้าไปเรียบร้อยแล้ว เราน่าจะได้เห็นบริษัทและหน่วยงานองค์กรอื่นนำไปใช้กับบริการอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการระบุยืนยันตัวตน เช่น ตรวจสอบอาชญากรรม ใช้แทนใบขับขี่ บัตรประชาชน หรือแม้แต่กุญแจรถยนต์ไร้คนขับ
ด้าน Georges Nahon ซีอีโอบริษัท Orange Silicon Valley ที่สนับสนุนลงทุนสตาร์ทอัพให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีไบโอเมตริกจะเข้ามาตอบโจทย์ pain point ของการเข้าคิวชำระเงินในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าในอนาคตอันใกล้
อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีดังกล่าวยังมีช่องโหว่อยู่มาก เช่น ระบบ Face ID ที่เจอปัญหาโดนแฮก หรือเกิดปลดล็อกให้กับคนหน้าคล้ายกัน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของเทคโนโลยีที่คาดการณ์ว่าจะกำหนดทิศทางปี 2018 ที่เราหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีในวันนี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
วิธีรับมือที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่การอ่านบทความนี้เพื่อรู้ แต่คือการยื่นมือไปโอบรับอนาคตแห่งโอกาสและความท้าทายด้วยตัวเอง
อ้างอิง:
- www.cta.tech/News/i3/Articles/2017/November-December/Facing-Reality-AR,-MR-and-VR-Expand.aspx
- www.technologyreview.com/the-download/609791/china-has-a-new-three-year-plan-to-rule-ai
- www.nytimes.com/2017/11/30/technology/ai-will-transform-the-economy-but-how-much-and-how-soon.html?emc=eta1
- singularityhub.com/2017/11/02/tech-is-becoming-emotionally-intelligent-and-its-big-business