แบงก์ชาติเผยเกณฑ์ตั้ง ‘ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา’ เตรียมเคาะใบอนุญาตให้ 3 รายในระยะแรก พร้อมคุมเข้มช่วง 3-5 ปีแรก แย้มมีผู้ให้ความสนใจแล้ว 10 ราย คาดรู้ผลการคัดเลือกกลางปีหน้าก่อนให้เริ่มดำเนินการจริงกลางปี 2568
ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยหนึ่งในแผนดังกล่าวคือ การเปิดให้มีผู้ให้บริการประเภทใหม่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เข้ามาให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอหรือตรงความต้องการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- เปิดสถิติ 9 เดือนแรกปี 65 ธนาคาร ไหนครองแชมป์แอปล่มมากที่สุด
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%
ทั้งนี้ เพื่อให้ Virtual Bank ที่จะเปิดให้บริการสามารถพัฒนานวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Innovation) และประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องหรือใช้อำนาจตลาดเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้อง จนกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ผู้ฝากเงิน และผู้บริโภคในวงกว้างนั้น ธปท. ได้กำหนดแนวทางสำหรับการอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank มีรายละเอียดดังนี้
เป้าหมายของการเปิดให้มี Virtual Bank
เป้าหมายของการเปิดให้มี Virtual Bank ของ ธปท. จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ สิ่งที่อยากเห็น (Green Line) และสิ่งที่ไม่อยากเห็น (Red Line)
โดยในส่วนของ Green Line จะประกอบด้วย
- การมีบริการทางการเงินที่ครบวงจรและเหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเหมาะสมเพียงพอ (Underserved) เช่นเดียวกับในกรณี Virtual Bank ในต่างประเทศที่ช่วยให้ผู้ไม่มีรายได้ประจำและธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น โดยใช้ข้อมูลทางเลือกอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ มาประเมินความเสี่ยง รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มตัวเลือกในการออมในกับผู้บริโภคมากขึ้น
- สร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า ใช้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ เช่น ออกแบบแอปพลิเคชันให้ใช้งานได้สะดวก ขั้นตอนน้อย โดยในต่างประเทศมีเคสที่ผู้บริโภคสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที
- ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่เหมาะสม เช่น ในกรณีของต่างประเทศที่การมาถึงของ Virtual Bank ทำให้ธนาคารในรูปแบบดั้งเดิมตื่นตัวและต้องปรับตัว มีการลดค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี เป็นต้น
ขณะที่ในส่วนของ Red Line ประกอบไปด้วย
- การประกอบธุรกิจในรูปแบบไม่ยั่งยืน เช่น เร่งขยายธุรกิจและธุรกรรมจนกระทบฐานะ เช่น กรณี Virtual Bank ในต่างประเทศที่มีการรับฝากเงินขยายฐานลูกค้าโดยไม่มีผลิตภัณฑ์ฝั่งหารายได้รองรับจนไปไม่รอดต้องปิดกิจการไป
- การแข่งขันที่ไม่เหมาะสมจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงมากๆ เพื่อแย่งลูกค้าหรือแข่งปล่อยสินเชื่อที่กระตุ้นการก่อหนี้เกินตัว
- การเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม เช่น การกำหนดเงื่อนไขผูกมัดคู่ค้าทางธุรกิจให้ใช้บริการเฉพาะกับ Virtual Bank ตัวเอง ซึ่ง ธปท. ไม่ต้องการให้เกิดการผูกขาดในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น
Virtual Bank ของไทยจะหน้าตาเป็นอย่างไร?
ธาริฑธิ์ระบุว่า ปัจจุบันแนวคิดการเปิด Virtual Bank สามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรกเป็นแนวคิดที่ถูกใช้อยู่ในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งมีเป้าหมายเรื่องเพิ่มการแข่งขันในระบบเป็นหลัก ทำให้ไม่มีการจำกัดจำนวนไลเซนส์ เน้นให้ Entry ง่าย และ Exit ง่าย ลักษณะของผู้เล่นส่วนใหญ่ในแนวทางนี้จึงเป็น Tech Company และบางส่วนเป็น FinTech ขนาดเล็ก
สำหรับรูปแบบที่สองเป็นแนวคิดที่ใช้อยู่ในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ รวมถึงไทยซึ่งมีเป้าหมายในเรื่องการเพิ่ม Financial Inclusion และสร้างนวัตกรรม เน้นความยั่งยืน จึงมีการจำกัดจำนวนไลเซนส์ โดยลักษณะของผู้เล่นในรูปแบบนี้จะมีฐานลูกค้า มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีความเชี่ยวชาญด้าน Tech และการเงิน
‘เหมือนหรือต่าง’ จากธนาคารดั้งเดิมอย่างไร?
ธาริฑธิ์ระบุว่า Vitual Bank มีทั้งจุดที่เหมือนและต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม โดยในส่วนที่เหมือนคือ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนจัดตั้งในไทย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ต้องมีธรรมาภิบาล สามารถบริหารความเสี่ยง และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมือนกัน
ส่วนข้อที่แตกต่างคือ Virtual Bank จะต้องแบกรับความคาดหวังของ ธปท. ในการเข้าถึงกลุ่ม Underserved เพื่อตอบโจทย์เรื่อง Financial Inclusion และต้องให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก (ไม่มีสาขาของตัวเอง) ไม่ได้รับอนุญาตให้มี ATM และ CDM เป็นของตัวเอง ต้องใช้วิธีไปพาร์ตเนอร์กับหน่วยงานอื่นๆ เช่น ไปรษณีย์ ร้านสะดวกซื้อหรือธนาคารพาณิชย์อื่นๆ สำหรับการให้บริการเงินสด
นอกจากนี้ Virtual Bank จะถูกกำกับดูแลเป็นพิเศษจาก ธปท. ใน 3 ประเด็นคือ
- ความต่อเนื่องในการให้บริการของระบบไอที โดย Virtual Bank ต้องดูแลความเสถียรของระบบไอทีให้ขัดข้องได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และทุกครั้งที่มีปัญหาต้องสามารถกู้ระบบกลับมาได้ภายใน 2 ชั่วโมง
- ประสิทธิภาพการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การมี Chatbot ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีแผนรองรับในกรณีฉุกเฉิน
- การใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอก (Outsourcing) เช่น การไปเชื่อมต่อระบบ Core Banking และระบบที่สำคัญอื่นๆ จากผู้ให้บริการภายนอกจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพ และต้องมาขออนุญาต ธปท. เป็นรายกรณี
ยิ่งกว่านั้น การดำเนินกิจการในช่วง 3-5 ปีแรกของ Virtual Bank จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด (Phasing) เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปอย่างมั่นคง และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน พูดง่ายๆ คือเป็นไปตาม Green Line และไม่ทำสิ่งที่เป็น Red Line
“Phasing เปรียบเสมือนช่วงทดลองงาน ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตผ่าน ธปท. อาจไม่ต้องเข้าไปกำกับใกล้ชิดเหมือนในช่วงแรก แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องเลิกกิจการและถูกถอนใบอนุญาต ซึ่งในกรณีต้องเลิกกิจการ ธปท. ได้กำหนดให้ทุกรายต้องจัดทำ Exit Plan ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เพื่อดูแลลูกค้าให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
” ธาริฑธิ์กล่าว
คุณสมบัติสำคัญของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank
ปัจจุบัน ธปท. ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank เอาไว้ 7 ข้อ ได้แก่
- มี Business Model ที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน ขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และบริหารรายได้และต้นทุนอย่างยั่งยืน
- มีธรรมาภิบาลผู้ถือหุ้นใหญ่ กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมและมีธรรมาภิบาล
- มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล สามารถออกแบบการให้บริการที่สร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
- มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินได้อย่างรวดเร็ว
- มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจทางการเงิน สามารถดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ได้อย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบ
- มีความสามารถในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำไปใช้พัฒนาบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม
- มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้สมัครจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในระยะแรก ธปท. จะจำกัดโควตาการออกใบอนุญาตเอาไว้ที่ไม่เกิน 3 รายก่อน และจะมีการติดตามประเมินผลเพื่อพิจารณาเปิดให้ใบอนุญาตรอบใหม่เพิ่มเติมในอนาคต โดยสาเหตุที่จำกัดจำนวนผู้เล่นเอาไว้ที่ 3 รายเนื่องจากไม่อยากให้การแข่งขันสูงเกินไปในช่วงแรก เพราะ ธปท. ต้องเข้าไปกำกับดูแลใกล้ชิด
ธาริฑธิ์เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ที่แสดงความสนใจจัดตั้ง Virtual Bank เข้ามาแล้ว 10 ราย มีทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน มีทั้งมาแบบเดี่ยวและจับมือกันมา มีทั้งไทยและต่างชาติ โดยสำหรับต่างชาติจะมีเงื่อนไขให้สามารถถือหุ้นรวมกันได้ไม่เกิน 25% หรือขอผ่อนผันได้สูงสุด 49% ขณะที่กลุ่มธนาคารดั้งเดิมจะมีเงื่อนไขว่าการนับเงินกองทุนต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน ต้องใช้โลโก้ และแบรนด์ที่ต่างกัน
Timeline การออกใบอนุญาตจะเป็นอย่างไร?
ธาริฑธิ์เปิดเผยว่า ธปท. จะมีการเปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ระหว่างวันที่ 12 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์นี้ ก่อนจะสรุปหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการภายในไตรมาสแรก จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนเปิดรับสมัครในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยเปิดรับสมัครเป็นเวลา 6 เดือน เมื่อปิดรับสมัครจะใช้เวลาคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมอีก 9 เดือน แบ่งเป็นการพิจารณาจาก ธปท. 6 เดือน และกระทรวงการคลังอีก 3 เดือน
ทั้งนี้ ธปท. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้จัดตั้ง Virtual Bank ในช่วงกลางปี 2567 จากนั้นจะให้เวลาผู้ได้รับการคัดเลือกเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะให้เริ่มดำเนินการจริงกลางปี 2568