Virgin Galactic และ Blue Origin สองบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศกำลังแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยี ยานอวกาศ และระบบลงจอดกันสุดฤทธิ์ เพื่อเตรียมให้บริการทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ โดยเชื่อกันว่าทั้งคู่พัฒนากันมาจนถึงจุดที่วิทยาการก้าวหน้ามากๆ อีกเพียงแค่เดือนเดียวก็พร้อมส่งผู้โดยสารออกไปนอกโลกแล้ว
สำหรับ Virgin Galactic เป็นบริษัทผู้ผลิตยานอวกาศเชิงพาณิชย์ในกลุ่มเครือบริษัท Virgin ก่อตั้งโดยอภิมหาเศรษฐีจากสหราชอาณาจักร ริชาร์ด แบรนสัน เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์การทำทัวร์อวการเชิงพาณิชย์ และเพื่อปฏิบัติภารกิจทางวิทยาศาสตร์อวกาศ ขณะที่ Blue Origin เป็นบริษัทและผลงานการสร้างสรรค์ของเจฟฟ์ เบโซส์ นักธุรกิจและผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซ Amazon
ทั้ง Virgin Galactic และ Blue Origin ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือการจัดทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ให้กับผู้ที่สนใจสามารถเดินทางออกไปท่องอวกาศอันไกลโพ้นนอกโลกได้ และต้องไปให้ไกลกว่าที่เดนนิส ติโต (Dennis Tito) เศรษฐีชาวอเมริกันและลูกทัวร์อวกาศคนแรกเคยขึ้นไปเหยียบสถานีอวกาศเมื่อปี 2001 ด้วยการจ่ายค่าตั๋วราว 20 ล้านเหรียญสหรัฐ
เบื้องต้นเชื่อกันว่าราคาค่าตั๋วทัวร์อวกาศของ Virgin Galactic จำนวน 1 ใบน่าจะอยู่ที่ราวๆ 250,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 8.3 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ฝั่ง Blue Origin ยังไม่มีการเปิดเผยราคาค่าทัวร์อวกาศแต่อย่างใด แต่เชื่อกันว่าราคาน่าจะไม่หนีกันมาก อยู่ที่ประมาณ 200,000-300,000 เหรียญสหรัฐ
ก่อนหน้านี้ Virgin Galactic ได้ทดสอบนำ SpaceShipTwo ขึ้นบินมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เพื่อหาช่องโหว่และเร่งพัฒนาให้ใช้งานได้จริง และทรงประสิทธิภาพมากที่สุด หลัง 4 ปีที่แล้วเคยร่วงระหว่างการบินทดสอบจนคร่าชีวิตนักบินไปแล้ว 1 คน
ด้านแบรนสันให้สัมภาษณ์กับ BBC Radio 4 ว่าเขาหวังที่จะให้ตัวเองได้ขึ้นเป็น 1 ในลูกทัวร์กลุ่มแรกๆ ที่ได้ขึ้นไปท่องอวกาศ ซึ่ง ณ ขณะนี้มีผู้ที่สนใจโปรแกรมทัวร์ของ Virgin Galactic มากกว่า 650 คนแล้ว
ฝั่ง Blue Origin โดยนายยู มัตซึโทมิ หนึ่งในทีมงานของบริษัทได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า การทดสอบนำยานอวกาศขึ้นพร้อมผู้โดยสารน่าจะเริ่มทำกันในช่วงปลายปีนี้
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยแผนการเปิดให้บริการทัวร์อวกาศอย่างเป็นทางการ แต่รอยเตอร์สก็คาดการณ์เบื้องต้นว่าเป็นไปได้สูงเลยที่เราจะได้เห็นทัวร์ในฝันของใครหลายคนเปิดให้ลงทะเบียนภายในปลายปี 2019 นี้ ทางฝั่ง SpaceX and Boeing ก็ได้ร่วมกันพัฒนาแคปซูลเคลื่อนย้ายนักบินอวกาศของนาซาแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020 ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับการพัฒนาทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์เช่นกัน
อ้างอิง: