หากเราใช้ ‘อนุภาคพิม’ (อาวุธลับจากจักรวาลมาร์เวล) เข้ามิติควอนตัมเพื่อย้อนเวลากลับไปในช่วงที่ เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค ถูกลิเวอร์พูลซื้อตัวมาร่วมทีมด้วยค่าตัวเป็นสถิติโลกสำหรับผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังถึง 75 ล้านปอนด์ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2017 หลังคริสต์มาสได้เพียง 2 วัน
วันนั้นมีเครื่องหมายคำถามปรากฏขึ้นเต็มไปหมดครับ บ้างก็ว่า เจอร์เกน คลอปป์ เพี้ยนหรือเปล่า หน้ามืดเกินไปหรือเปล่า เป็นการเซ็นสัญญาที่บ้าคลั่งเกินไปหรือเปล่า
หลายคนเชื่อว่าไม่มีทางที่นักฟุตบอลร่างโย่งจากทีมเล็กๆ อย่างเซาแธมป์ตันจะคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรอก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในขณะนั้นฟาน ไดจ์ค ก็ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ทำผลงานได้ดีที่สุด เขาเพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าจนทำให้ต้องพักการเล่นนานเกือบปี และฟอร์มนั้นห่างไกลจากสนนราคาค่าตัวที่เกิดขึ้นมาก
แต่ความสงสัยเคลือบแคลงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับฟาน ไดจ์ค ครับ
เขาเจอเรื่องแบบนี้มาทั้งชีวิต
และเขาก็ผ่านมันมาได้ตลอด
ในวัยเด็ก ฟาน ไดจ์ค ซึ่งเป็นสายเลือดผสมระหว่างพ่อที่เป็นชาวดัตช์กับแม่ที่เป็นชาวซูรินาเม ไม่มีความฝันอื่นนอกจากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพียงอย่างเดียว
นักเตะในดวงใจของเขาไม่ใช่ผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังแบบที่เขาเป็นในทุกวันนี้ครับ แต่เป็น โรนัลดินโญ อดีตนักเตะอันดับหนึ่งของโลกชาวบราซิลผู้เป็นแรงบันดาลใจของผู้คนมากมาย รวมถึงเจ้าหนูฟาน ไดจ์ค คนนี้ด้วย
สิ่งที่โรนัลดินโญสอนฟาน ไดจ์ค ไม่ใช่เรื่องของเทคนิคการเล่นที่แพรวพราว (แม้ว่าเขาจะเป็นหนึ่งในกองหลังที่เล่นบอลกับเท้าได้ดีที่สุดคนหนึ่งก็ตาม แต่ก็ห่างไกลจาก R10 มาก) แต่เป็นเรื่องของ Winning Mentality หรือจิตใจของการเป็นผู้ชนะ
สิ่งนี้ทำให้ฟาน ไดจ์ค ยืนหยัดได้ในทุกสนามตั้งแต่ศึกลูกหนังข้างบ้าน ริมถนน ในกรง สนามเล็กๆ สำหรับการเล่น 5 คน (five-a-side) ที่หล่อหลอมเขาในวัยเยาว์ สังเวียนที่เขาไม่ต้องการเป็นผู้แพ้ เพราะความพ่ายแพ้ทุกครั้งหมายถึงการต้องออกมารอคิวข้างสนามยาวนาน
“เราต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้อยู่ในสนามต่อ” เขาเคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดยาวในนิตยสาร FourFourTwo
ความโดดเด่นในสนามเล็กทำให้เขาและครอบครัวตัดสินใจที่จะไปต่อ
เอ็นเอซี เบรดา สโมสรในบ้านเกิดเป็นทีมแรกที่เขาคิดถึง แต่สิ่งที่ฟาน ไดจ์ค ได้เรียนรู้ต่อมาคือทุกคนย่อมมีที่ของเราเอง ที่ที่เราจะสามารถอยู่และใช้ชีวิตเพื่อก้าวเดินต่อไปได้
น่าเสียดายที่เอ็นเอซี เบรดา ไม่ใช่ทีมนั้นสำหรับเขา เมื่อเสียงตะโกนดุด่าว่ากล่าวนักฟุตบอลของโค้ชทำให้เขาไม่เชื่อมั่น
ไม่ใช่ว่ากลัว แต่ฟาน ไดจ์ค ไม่คิดว่าเขาจะเติบโตเป็นนักฟุตบอลที่ดีหรือเป็นคนที่ดีต่อไปได้ในสภาวะเช่นนั้น
สัปดาห์ต่อมา พ่อของเขาพาไปทดสอบฝีเท้าที่วิลเลม ทเว สโมสรในเมืองที่อยู่ห่างจากบ้านในระยะเวลาการเดินทาง 1 ชั่วโมง และกำลังเป็นสโมสรที่มาแรงในช่วงเวลานั้น เพราะวิลเลม ทเว เพิ่งจะได้รองแชมป์ลีกเอเรดิวิซี (1998-99) และเล่นในแชมเปียนส์ลีก
ในบรรยากาศที่ไม่เป็นมลพิษทางหัวใจ ฟาน ไดจ์ค เติบใหญ่และแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่าเขามีดีแค่ไหน
โค้ชนิยามเขาว่าเป็น Rolls-Royce Defender หรือกองหลังที่สง่างามเหมือนรถโรลส์-รอยซ์
“ไม่มีกองหน้าคนไหนที่สัมผัสเขาได้ เขาแข็งแกร่งและมีความสามารถโดยธรรมชาติในการแย่งบอลจากคู่แข่งในช่วงเวลาที่ถูกต้องที่สุด เขารู้วิธีที่จะเล่นเกมรับ และทำทุกอย่างได้เหมือนกับเป็นเรื่องง่ายๆ” แยน ฟาน โลน โค้ชเยาวชนของเขาในทีมวิลเลม ทเว เล่าถึงศิษย์เก่าด้วยความภูมิใจ
การเข้าสกัดที่แม่นยำเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของเขาจริงๆ เหมือนในจังหวะที่เขาแสดงให้เห็นถึงความสุดยอดด้วยการเอาชนะการดวลในจังหวะ 2 ต่อ 1 ในเกมกับท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่เป็นจุดสุดยอดหนึ่งในชีวิตการเล่นของเขา
ในชีวิตฟาน ไดจ์ค เองก็ตัดสินใจได้แม่นยำเช่นเดียวกันครับ เมื่อเขาเห็นว่าวิลเลม ทเว ลังเลที่จะเสนอสัญญาอาชีพให้ แม้ว่าจะมีเสียงชื่นชมยินดีต่อเขามากแค่ไหนก็ตาม นั่นทำให้เขาไม่ลังเลที่จะไปต่อ และเป็นโกรนิงเกนที่ได้ตัวเขาไปร่วมทีม
แม้ว่าในเรื่องนี้ ฟอนส์ โกรเนนไดค์ อดีตโค้ชวิลเลม ทเว พยายามแก้ต่างในเวลาต่อมาว่าเหตุผลที่เขาไม่ได้ผลักดันฟาน ไดจ์ค ในขณะนั้นเป็นเพราะทีมกำลังอยู่ในช่วงลุ้นหนีการตกชั้น ทำให้เขาไม่สามารถจะให้โอกาสกับเด็กที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ฟาน ไดจ์ค ต้องคิดมากหรือเสียดายอะไร
เพราะบางครั้งชีวิตก็เป็นแบบนี้ และการตัดสินใจไปโกรนิงเกนของเขาก็เป็นเรื่องที่ดีเหมือนที่เขาเลือกจะมาศึกษาวิชาลูกหนังที่วิลเลม ทเว มากกว่าจะทนให้โค้ชดุด่าที่เอ็นเอซี เบรดา
การที่โกรนิงเกนได้ตัวเขาไป ทำให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ตีอกชกหัวตัวเอง เพราะพวกเขาพลาดการได้ตัวหนึ่งในปราการหลังที่มีศักยภาพสูงสุดไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจว่าตัวเองพลาดการมองเห็นนักฟุตบอลที่เก่งขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตัวเขาใหญ่ขนาดนั้น!
เรื่องนี้ทำให้คิดถึงคำหนึ่งที่ผมเชื่อเสมอว่า ‘เพชรอยู่ที่ไหนก็คือเพชร’ ไม่ว่าจะอยู่ในตู้กระจกหรือในโคลนตม หากต้องแสงตกกระทบแล้วมันสามารถเปล่งประกายได้เสมอ
โกรนิงเกนคือการตัดสินใจที่ดีอีกครั้งของฟาน ไดจ์ค ที่เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง
เพียงแต่ที่สโมสรแห่งนี้ เขาได้บทเรียนสำคัญที่สุดในชีวิต
ไม่ใช่เรื่องของฟุตบอลครับ แต่เป็นบทเรียนชีวิตครั้งใหญ่เมื่อเขาต้องผ่านประสบการณ์เฉียดตายจากการเป็นไส้ติ่งอักเสบ
ฟาน ไดจ์ค ในวัย 20 ปีที่กำลังโดดเด่นรู้สึกไม่สบายอยู่ร่วมสัปดาห์ ทีแรกเขาคิดว่าคงแค่เป็นไข้นิดหน่อย แต่มันไม่ใช่แบบนั้น อาการนั้นลุกลามถึงขั้นไส้ติ่งแตก ทำให้เยื่อกระเพาะอักเสบ ไตติดเชื้อ และเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาเป็นการด่วน
“ผมยังจดจำทุกอย่างได้ดี” ฟาน ไดจ์ค เล่าให้ฟัง “ผมไม่โกหกนะ ผมกลัวมากจริงๆ ผมคิดว่าผมน่าจะตายไปแล้ว”
เป็นเพราะเขาต้องย้ายไปใช้ชีวิตลำพังห่างจากบ้าน และความที่ทำอาหารไม่เป็น ทำให้เขาเลือกความสะดวกสบายให้ชีวิตด้วยการกินแต่อาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งสุดท้ายเกือบทำให้เขาเสียชีวิต แต่มันก็สอนเขาอย่างดีว่าทั้งชีวิตหลังเหตุการณ์นี้ ไม่มีเรื่องใดที่ยากหรือหนักหนาสำหรับเขาอีกต่อไป การลุ้นแชมป์หรือความสำเร็จใดๆ ในการเล่นฟุตบอลนั้นไม่มีความหมายเลยเมื่อความตายอยู่ตรงหน้า
และไม่มีแชมป์ใดจะมีความหมายเท่าครอบครัว
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฟาน ไดจ์ค จึงตั้งใจเล่นฟุตบอลให้ดีเท่าๆ กับที่ใช้ชีวิตให้ดี
หัวใจที่ผ่านบททดสอบทำให้เขาไม่กลัวความกดดัน เขาชอบที่จะเผชิญหน้ากับมัน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่สำคัญต่างๆ ทำให้เขากลายเป็น ‘ผู้นำ’ ของทีมที่เขาอยู่ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะที่โกรนิงเกน กับกลาสโกว์ เซลติก (ซึ่งเป็นอีกทีมที่เหมือนถูกหวย เพราะแมวมองของเซลติกมีประสบการณ์และอ่านออกว่าเด็กคนนี้ที่สโมสรใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ยังลังเลจะคว้าตัวไปมีความสามารถเกินกว่าจินตนาการ) และปัจจุบันกับลิเวอร์พูลที่เขาเป็นกัปตันทีมลำดับที่ 3 รองจาก จอร์แดน เฮนเดอร์สัน และเจมส์ มิลเนอร์
คำถามที่มีต่อเรื่องเงินที่ลิเวอร์พูลต้องจ่ายให้กับเซาแธมป์ตันนั้น ผมคิดว่าฟาน ไดจ์ค ได้ตอบทุกคนอย่างชัดเจนด้วยผลงานในสนาม
จากทีมที่มีเกมรับไม่มั่นคง ลิเวอร์พูลกลายเป็นทีมที่มีเกมรับแข็งแกร่งที่สุดทีมหนึ่งของโลก ซึ่งแม้มันเกิดจากทีมเวิร์ก แต่มันจะเป็นไปในทิศทางนี้ไม่ได้หากไม่มีผู้บัญชาการอย่างฟาน ไดจ์ค ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษอีกอย่างในการช่วยยกระดับผู้เล่นคนอื่นในทีมได้ด้วย ไม่ได้แค่จะเล่นโดดเด่นคนเดียว
สิ่งนี้คือคุณสมบัติของผู้เล่นระดับโลกที่หาได้ยาก
ในอดีต โลกลูกหนังเคยมียอดปราการหลังมากมายในแต่ละยุคสมัย จากฟรังโก บาเรซี สู่เปาโล มัลดินี มาจนถึงฟาบิโอ คันนาวาโร
เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค กำลังก้าวไปสู่ระดับนั้นครับ และรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของ PFA ประจำปี 2019 ที่เพิ่งได้รับเป็นแค่หมุดหมายเล็กๆ เท่านั้น
สิ่งที่เขาเป็นมากกว่านั้นคือการเป็น ‘หลัก’ ที่ทุกคนมองเห็น เป็นแรงบันดาลใจของยุคสมัย
เป็นคนที่เด็กรุ่นต่อไปทุกคนอยากทำได้ในแบบเดียวกัน
เหมือนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมองแผ่นหลังของโรนัลดินโญด้วยความชื่นชม
ภาพ: Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- 36 นัดในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ฟาน ไดจ์ค ลงสนามทุกนัด และช่วยให้ทีมชนะถึง 28 นัด ในจำนวนนี้มี 19 นัดที่ช่วยให้ทีมไม่เสียประตู
- นอกจากนี้เขายังทำได้ 3 ประตูกับอีก 2 แอสซิสต์ด้วย
- รางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของ PFA ไม่ค่อยตกถึงกองหลังมากนัก ก่อนหน้าฟาน ไดจ์ค มีเพียง 5 คนที่เคยได้รับรางวัลนี้ โดยคนสุดท้ายคือ จอห์น เทอร์รี กับเชลซีในฤดูกาล 2004-05
- ฟาน ไดจ์ค ได้รับรางวัลนี้ต่อจาก โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ เพื่อนร่วมทีมที่ได้รางวัลไปครองเมื่อปีที่แล้ว และนอกจากรางวัลของ PFA เขายังได้รับรางวัลของ BBC อีกรางวัลด้วย