×

สำรวจความหมายของ ‘ความรัก’ ผ่านจดหมายและการเดินทางของ Violet Evergarden

14.02.2022
  • LOADING...
Violet Evergarden

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของอนิเมะ Violet Evergarden*

 

“ฉันอยากเข้าใจความหมายของคำว่า ‘ฉันรักเธอ’ ค่ะ”

 

“ฉันรักเธอ” คำพูดสั้นๆ ที่ทุกคนเข้าใจความหมายเป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่สำหรับ ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เดน ตัวละครหลักจากอนิเมะ Violet Evergarden หญิงสาวกำพร้าผู้ถูกชุบเลี้ยงให้เป็น ‘อาวุธสังหาร’ ที่ไร้จิตใจมาตั้งแต่เด็ก เธอมีชีวิตอยู่เพื่อทำตามคำสั่งและสังหารศัตรูที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น จึงไม่แปลกนักหากเธอจะไม่ทราบถึงความหมายของคำว่า ‘ฉันรักเธอ’ แต่ก็เพราะความไม่เข้าใจนี่แหละที่ผลักดันให้เธอเริ่มต้นการเป็นนักเขียนจดหมายและออกเดินทางไปทุกหนแห่ง เพื่อทำความเข้าใจทุกมวลความรู้สึกของมนุษย์ที่เธอไม่เข้าใจ

 

เพื่อต้อนรับเทศกาลแห่งความรัก THE STANDARD POP จึงขอชวนคออนิเมะและผู้อ่านทุกท่านมาร่วมสำรวจความหมายของ ‘ความรัก’ ผ่านจดหมายและการเดินทางจากอนิเมะ Violet Evergarden กันอีกครั้ง 

 

Violet Evergarden คือผลงานอนิเมะซีรีส์จากสตูดิโอ Kyoto Animation ที่ดัดแปลงมาจากนิยายไลท์โนเวลในชื่อเดียวกันของ คานะ อาคาสึกิ โดยบอกเล่าเรื่องราวของ ไวโอเล็ต เอเวอร์การ์เดน หญิงสาวกําพร้าที่ถูกจับไปฝึกฝนให้กลายเป็นอาวุธสังหารในสงคราม  

 

กระทั่งสงครามที่ยืดเยื้อมานานกว่า 4 ปีได้สิ้นสุดลง ไวโอเล็ตที่เพิ่งจะรอดชีวิตจากสนามรบมาได้ไม่นานก็พบความจริงว่า ผู้พันกิลเบิร์ต ที่คอยดูแลไวโอเล็ตมาตั้งแต่แรกได้หายสาบสูญไปจากสนามรบ ก่อนที่เธอจะได้รับความช่วยเหลือจาก คลาวเดีย อดีตผู้บัญชาการทหาร มารับตัวไปทำงานในบริษัทไปรษณีย์ CH Postal Company ตามสัญญาที่ให้ไว้กับกิลเบิร์ต เธอจึงเลือกที่จะทำงานเป็น ออโตเมโมรีดอลล์ หรือหญิงสาวผู้ทำหน้าที่เขียนจดหมายตามความต้องการของลูกค้า เพื่อค้นหาความหมายของคำว่า ‘ฉันรักเธอ’ ที่กิลเบิร์ตได้กล่าวกับเธอไว้เป็นครั้งสุดท้าย 

 

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ของไวโอเล็ตที่ไร้ซึ่งเสียงระเบิดและกระบอกปืนจึงได้เริ่มต้นขึ้น

 

เพราะมนุษย์ช่าง ‘ซับซ้อน’ การบอกความรู้สึกอย่างซื่อตรงจึงไม่ง่าย 

แม้ว่าไวโอเล็ตเลือกที่จะขอทำงานในตำแหน่งออโตเมโมรีดอลล์ ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอด ‘ความรู้สึก’ ของลูกค้าผ่านข้อความบนจดหมาย แต่สำหรับเธอที่ใช้ชีวิตตามคำสั่งมาตลอด จึงทำให้การทำงานในช่วงแรกเต็มไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะวิธีการถ่ายทอดความรู้สึกของมนุษย์ที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เธอจะเข้าใจ คลาวเดียที่มองเห็นจุดด้อยข้อนี้จึงตัดสินใจส่งไวโอเล็ตไปเข้าเรียนในโรงเรียนฝึกอบรมออโตเมโมรีดอลล์ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้เธอทำงานได้ดีขึ้น 

 

เมื่อไวโอเล็ตเดินทางไปถึง เธอก็ได้มาจับคู่กับ ลูคูเลีย หนึ่งในดอลล์หน้าใหม่ เพื่อฝึกฝนการเขียนจดหมายให้กันและกัน แน่นอนว่าจดหมายที่ไวโอเล็ตเขียนให้ลูคูเลียนั้นดูจะเป็นการเขียนรายงานมากกว่าการถ่ายทอดความรู้สึก ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ไวโอเล็ตไม่ผ่านการอบรมอย่างที่ตั้งใจไว้ 

 

“จดหมายคือการสื่อสารความรู้สึกของแต่ละคน ดอลล์ที่ดีจะต้องเข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของคน และถ่ายทอดลงบนแผ่นกระดาษ ไวโอเล็ต เธอมีคะแนนดีเยี่ยมและพิมพ์งานได้รวดเร็ว แม่นยำ แต่สิ่งที่เธอเขียนแทนเพื่อนนั้นไม่ใช่จดหมาย”

 

ในขณะที่ไวโอเล็ตกำลังสับสนว่าเธอจะสามารถเป็นดอลล์ที่ดีได้หรือไม่ ลูคูเลียจึงยื่นมือมาช่วยเธอในการฝึกเขียนจดหมายถึงผู้พันกิลเบิร์ต และช่วงเวลานั้นเองที่ลูคูเลียได้ทราบถึงเหตุผลในการมาเป็นดอลล์ของไวโอเล็ต ลูคูเลียจึงตัดสินใจเล่าเรื่องราวของตนเองและพี่ชายที่สูญเสียพ่อแม่ไปจากสงคราม ซึ่งสร้างบาดแผลทางใจให้เธออย่างมาก โดยเฉพาะพี่ชายผู้เป็นอดีตทหารที่รอดชีวิตมาได้ เขาจึงรู้สึกผิดที่ไม่สามารถปกป้องพ่อแม่ได้ และเริ่มทำตัวเหลวแหลกเพื่อปกปิดความรู้สึกไว้ จนส่งผลให้ลูคูเลียไม่สามารถบอกความรู้สึกยินดีและขอบคุณที่พี่ชายรอดชีวิตจากสงครามออกไปได้อย่างที่ตั้งใจ

 

เมื่อไวโลเล็ตได้รับฟังเรื่องราวของลูคูเลียจนจบ เธอจึงเริ่มเข้าใจความรู้สึกจริงๆ ของลูคูเลียที่แอบซ่อนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ และค่อยๆ กลั่นกรองความรู้สึกของลูคูเลียออกมาเป็นถ้อยคำสั้นๆ บนจดหมาย เพื่อนำไปมอบให้กับพี่ชายของลูคูเลีย 

 

“ถึงพี่ชาย ฉันดีใจที่พี่ยังไม่ตาย ขอบคุณนะ”

 

แม้ว่าเรื่องราวระหว่างลูคูเลียและพี่ชายอาจจะไม่ได้ถูกนำเสนอในแง่มุมของคู่รักก็ตาม แต่เพราะเป็นความสัมพันธ์แบบพี่น้องนี่แหละที่ยิ่งทำให้การบอกความในใจเป็นเรื่องยาก หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่าลูคูเลีย ‘รัก’ และ ‘เป็นห่วง’ พี่ชายมากๆ จึงทำให้เธอไม่กล้าจะบอกความในใจออกไป 

 

ซึ่งข้อความสั้นๆ ที่ไวโอเล็ตเขียนขึ้นจากเรื่องราวของลูคูเลียก็ช่วยให้เธอเริ่มเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้วว่า ทำไมผู้คนส่วนใหญ่ถึงมักจะไม่สามารถบอกความรู้สึกของตัวเองออกไปอย่างซื่อตรง นั่นก็เพราะมนุษย์ช่างซับซ้อน การถ่ายทอดความรู้สึกที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 

 

 

เพราะ ‘ความเหงา’ คือหลักฐานว่าใครคนนั้น ‘สำคัญ’ กับเรามากแค่ไหน 

หลังจากที่ไวโอเล็ตเริ่มต้นออกเดินทางเขียนจดหมายมาได้ระยะหนึ่ง จนฝีมือการเขียนของตัวเองค่อยๆ พัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ตามประสบการณ์ กระทั่งวันหนึ่งเธอได้รับมอบหมายให้เดินทางไปยังหอดูดาวชาฮาร์ สถานที่ที่รวบรวมหนังสือดาราศาสตร์เอาไว้จำนวนมาก เพื่อคัดลอกข้อมูลจากหนังสือเล่มเก่าไปยังหนังสือเล่มใหม่ เพื่อเก็บรักษาองค์ความรู้เหล่านั้นต่อไป

 

และที่นั่นเองที่ไวโอเล็ตได้มาพบกับ ลีออน นักถอดความหนุ่มผู้เงียบขรึมที่จะต้องมาช่วยเธอในการคัดลอกหนังสือ ซึ่งหลังจากเริ่มทำงานร่วมกันมาได้สักพักไวโอเล็ตก็ค้นพบว่าเธอและลีออนมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะรสชาติของการต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว 

 

ในวัยเด็กพ่อของลีออนได้หายตัวไปอย่างกะทันหันในระหว่างออกเดินทางรวบรวมหนังสือดาราศาสตร์ ซึ่งไม่ว่าเจ้าหน้าที่หอดูดาวชาฮาร์จะออกค้นหาเท่าไรก็ไม่พบ ก่อนที่แม่ของลีออนจะตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อตามหาพ่อด้วยตัวเอง แต่เธอก็ไม่เคยกลับมาเช่นกัน ลีออนจึงต้องเติบโตมาเพียงลำพังและทำได้เพียงเฝ้าคิดถึงพ่อและแม่ที่ไม่รู้ว่าจะได้เจอกันอีกหรือไม่

 

เมื่อได้รับฟังเรื่องราวของลีออน จึงทำให้ไวโอเล็ตเริ่มคิดถึงเรื่องราวของตัวเองที่ยังคงเฝ้าคิดถึงผู้พันกิลเบิร์ตอยู่เสมอ และยังคงเฝ้ารออย่างมีความหวังว่าเธอจะได้พบกับผู้พันอีกครั้ง และช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้ไวโอเล็ตเริ่มจะเข้าใจความหมายของ ‘ความเหงา’ ที่แม้ว่าเธอจะอยากเจอคนที่คิดถึงมากแค่ไหน เธอก็ยังต้องดำเนินชีวิตต่อไปพร้อมกับแบกรับความคิดถึงนั้นเอาไว้ 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ‘ความเหงา’ ที่เกิดขึ้นในใจของไวโอเล็ตและลีออนยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยย้ำเตือนให้พวกเขาได้รู้ว่า คนที่ทำให้พวกเขารู้สึกเหงาต่างก็เป็นคนที่พวกเขา ‘รัก’ และให้ความ ‘สำคัญ’ มากเพียงใด 

 

เพราะความเจ็บปวดจึงทำให้รู้ว่ายังมีคนที่ ‘คิดถึง’ และมองเห็น ‘คุณค่า’ ของเราอยู่เช่นกัน 

“เธอไม่รู้หรอกว่าในตัวเธอกำลังรุ่มร้อนและโดนแผดเผาเพราะสิ่งที่เธอทำ สักวันหนึ่งเธอจะเข้าใจในสิ่งที่ฉันพูด แล้วเธอจะรู้ตัวว่าตัวเองมีบาดแผลมากมาย”

 

นี่คือประโยคที่คลาวเดียเคยกล่าวไว้กับไวโอเล็ตหลังจากที่พาเธอเข้ามาทำงานด้วยเป็นครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่า ณ เวลานั้นตัวไวโอเล็ตก็ยังไม่ทราบถึงความหมายที่คลาวเดียพยายามจะสื่อถึง

 

กระทั่งไวโอเล็ตได้เริ่มออกเดินทางในฐานะดอลล์ ได้พบกับเจอผู้คนและรับรู้ถึงความรู้สึกอันหลากหลายของพวกเขา ซึ่งค่อยๆ ทำให้ไวโอเล็ตเริ่มเข้าใจความหมายของ ‘ความรัก’ ที่มนุษย์มอบให้กันมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการรับรู้ถึง ‘ความเจ็บปวด’ ของผู้คนที่ต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักไป

 

ณ เวลานั้นเองที่บาดแผลล่องหนที่คลาวเดียเคยกล่าวไว้เริ่มจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไวโอเล็ตตระหนักได้ว่าตัวเธอเองก็เคยเป็น ‘อาวุธสังหาร’ ที่พรากชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นอาจเป็น ‘คนรัก’ ของใครอีกมากมาย และเป็นตัวเธอเองที่ทำให้ผู้คนเหล่านั้นต้องเจ็บปวด เธอจึงเริ่มตั้งคำถามอีกครั้งว่า ตัวเองจะสามารถเป็นดอลล์ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้สึกของผู้อื่นได้จริงหรือ ในเมื่อมือของเธอชโลมไปด้วยกลิ่นคาวเลือด 

 

แต่ในขณะที่ไวโอเล็ตกำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจนไม่สามารถทำงานเขียนจดหมายได้ ไอริส และ เอริก้า สองเพื่อนร่วมงานของไวโอเล็ต ได้ตัดสินใจเขียนจดหมายให้กับเธอ เพื่อหวังว่ามันจะช่วยถ่ายทอดความรู้สึก ‘เป็นห่วง’ ของทุกคนให้เธอได้รับรู้ ซึ่งถือเป็นจดหมายฉบับแรกที่เธอได้รับจากคนอื่น 

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ไวโอเล็ตยังได้ทราบข่าวว่าพี่ชายของลูคูเลียได้เดินทางมาจ้างวานให้เธอช่วยเขียนจดหมายเพื่อส่งให้กับน้องสาว พร้อมยืนกรานว่าจะต้องเป็นไวโอเล็ตเท่านั้น เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปพบกับพี่ชายเพื่อเขียนจดหมายตามคำขอ

 

ในตอนนั้นเองที่ไวโอเล็ตได้ค้นพบความจริงอีกข้อหนึ่งว่า จดหมายของเธอไม่ได้ทำหน้าที่แค่ถ่ายทอดความรู้สึกของผู้คนผ่านแผ่นกระดาษเท่านั้น แต่ยังช่วยปลดล็อกปมปัญหาในใจของพวกเขาเหล่านั้นอีกด้วย รวมถึงยังมีผู้คนอีกมากมายที่กำลัง ‘เฝ้ารอ’ ให้เธอมาช่วยเขียนจดหมาย และมีคนอีกมากมายที่กำลังรออ่านจดหมายที่เธอเขียนเช่นกัน

 

แน่นอนว่าไวโอเล็ตคงจะไม่สามารถลบล้างเรื่องราวในอดีตออกไปได้อย่างถาวร และมันก็น่าจะทำให้เธอต้องเจ็บปวดทุกครั้งเมื่อคิดถึง แต่ขณะเดียวกันการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดในครั้งนี้ก็ทำให้เธอค้บพบว่า ยังมีผู้คนที่ ‘คิดถึง’ และ ‘เป็นห่วง’ เธออยู่เสมอ

 

ไม่เพียงเท่านั้น การที่พี่ชายของลูคูเลียเดินทางมาขอให้ไวโอเล็ตเป็นผู้เขียนจดหมายถึงน้องสาว ยังเป็นการย้ำเตือนให้เธอเห็นว่ายังมีคนอีกมากมายที่มองเห็น ‘คุณค่า’ ในตัวของเธอเช่นกัน

 

เพราะจดหมายและการเดินทาง ฉันจึงเข้าใจความหมายของ ‘ความรัก’

ตลอดการเดินทางอันยาวนาน ไวโอเล็ตได้พบเจอกับผู้คนมากหน้าหลายตา ได้รับฟังเรื่องราวที่หลากหลาย ได้เรียนรู้และสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกที่เธอไม่เคยเข้าใจมาก่อน (รวมถึงเนื้อหาอีกหลายส่วนของอนิเมะที่เราไม่ได้หยิบยกมากล่าวถึง) 

 

ซึ่งเรื่องราวระหว่างทางเหล่านี้ก็อาจเปรียบได้กับเฉดสีต่างๆ ที่มาแต่งแต้มให้อาวุธสังหารไร้จิตใจคนนี้ค่อยๆ มีสีสันที่งดงามมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสีสันแห่งความห่วงใย สีสันแห่งความเหงา สีสันแห่งความเศร้าโศก สีสันแห่งความเจ็บปวด ฯลฯ จนในท้ายที่สุดก็เกิดเป็นภาพวาดของหญิงสาวที่ชื่อว่าไวโอเล็ตผู้เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป 

 

และหากเราลองสำรวจเรื่องราวของผู้คนที่ไวโอเล็ตได้พบเจอให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย ทุกคนล้วนมีจุดร่วมข้อหนึ่งที่เชื่อมโยงทุกความรู้สึกเข้าด้วยกันคือ ‘ความรัก’ ทั้งความรักของพี่น้องที่ห่วงใยกันและกัน, ความรักของเจ้าชายและเจ้าหญิงที่สื่อสารออกมาจากใจ, ความรักของแม่และลูกที่จะถูกส่งต่อไปอีก 50 ปี ฯลฯ

 

ดังนั้นเราก็อาจจะตีความได้ในแง่มุมหนึ่งว่า Violet Evergarden ไม่ได้พาเราไปติดตามเรื่องราวการเดินทางของไวโอเล็ตเท่านั้น แต่ยังชวนเราไปสำรวจความหมายของคำว่า ‘ความรัก’ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดความอยู่ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง อีกทั้ง ‘ความรัก’ ยังเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญให้เราข้ามผ่านความเจ็บปวดในจิตใจได้อีกด้วย

 

เช่นเดียวกับประโยคสุดท้ายของผู้พันกิลเบิร์ตที่ได้กล่าวกับไวโอเล็ตว่า ‘ฉันรักเธอ’ ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เธอตัดสินใจมาเป็นออโตเมโมรีดอลล์ เพื่อทำความเข้าใจความหมายของ ‘ความรัก’ และอีกหลากหลายความรู้สึกของมนุษย์ที่เธอไม่เคยได้สัมผัส 

 

จนในท้ายที่สุดไวโอเล็ตก็สามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดในอดีต มีผู้คนที่รักและมองเห็นคุณค่าในตัวเธออยู่รอบกาย และไม่จำเป็นต้องทำตามคำสั่งของใครอีกต่อไป

 

สามารถรับชมอนิเมะ Violet Evergarden และ Violet Evergarden The Movie ได้แล้วทาง Netflix 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising