×

บทบรรณาธิการ: ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก

17.10.2020
  • LOADING...
ในที่สุดภาพที่หลายฝ่ายไม่อยากเห็นก็เกิดขึ้น การสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวง
 
 
สถานการณ์เปราะบางกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรง เมฆดำที่ตั้งเค้าเปลี่ยนเป็นสายฝนที่ไม่มีวันหวนกลับ น้ำผสมสารเคมีสีฟ้าที่ฉีดใส่ประชาชนอาจจะล้างออก แต่ความรู้สึกจะยังคงฝังรากลึกอยู่ในใจ
 
 
แม้รัฐจะกล่าวว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้อุปกรณ์-ขั้นตอนตามหลักสากลทุกประการ แต่หากมองด้วยเหตุผล ใช้สติในการตัดสินใจ ก็จะพบว่ามันมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้มาก
 
 
ความรุนแรงไม่ใช่ทางออก การสลายการชุมนุมไม่ใช่การแก้ปัญหา การคุกคามประชาชนไม่ได้ทำให้เหตุการณ์คลี่คลายขึ้น
 
 
จับแกนนำสิบคน ก็มีคนมาอีกร่วมหมื่น สร้างความกลัวให้เยาวชน ก็ยิ่งไปจุดไฟความกล้าให้คนไม่จบสิ้น
 
 
ยิ่งกด ยิ่งห้าม ก็ยิ่งเกิด ยิ่งเติบโต
 
 
เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
 
รัฐควรยึดมั่นในหลักนิติธรรมและการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
 
 
ผู้มีอำนาจควรอดทนอดกลั้น เห็นอกเห็นใจความคิดที่แตกต่าง รับฟังด้วยเหตุผล ต้องใช้สันติวิธี ใช้กระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
 
 
เป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่างอาจเกิดความขัดแย้งได้ ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลและเชื่อในข้อมูลความถูกต้องของตัวเอง
 
 
สังคมอาจจะกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ความรุนแรง
 
 
เหมือนกับที่ มหาตมะ คานธี เคยกล่าวประณามความรุนแรงไว้ว่า
 
 
“ข้าพเจ้าขอคัดค้านต่อความรุนแรง
เพราะเมื่อความรุนแรงปรากฏเพื่อมุ่งหมายความดี
มันจะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ความชั่วที่เกิดจากความรุนแรงจะยืนยงตลอดไป”
 
 
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
กรรมการผู้จัดการและบรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว THE STANDARD
 
 
 
 
 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X