×

ย้อนคดีการเมืองไทยในรอบ 15 ปี กับ ‘วิญญัติ ชาติมนตรี’ หนึ่งใน ‘ทนายเสื้อแดง’

28.12.2021
  • LOADING...
วิญญัติ ชาติมนตรี

HIGHLIGHTS

7 mins. read
  • THE STANDARD สัมภาษณ์ วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทนายซึ่งว่าความคดีการเมืองตั้งแต่คดีคนเสื้อแดง จนถึงคดีการเมืองในระลอกล่าสุด รวมระยะเวลากว่า 15 ปีที่เขาเผชิญกับชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ และความร้าวลึกของกระบวนการยุติธรรมไทย

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในรอบ 15 ปีนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 เหตุการณ์ คือรัฐประหาร 2 ครั้ง 19 กันยายน 2549 กับ 22 พฤษภาคม 2557 และอีกเหตุการณ์ คือการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 เป็น 3 ระลอกใหญ่ ซึ่งทำให้มีผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

 

ย้อนความต่อเนื่องของคดีทั้ง 3 ยุค นับแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เกิดขบวนการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของ ‘คนเสื้อแดง’ นำโดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในขณะนั้นมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นระยะและรุนแรงที่สุดคือปี 2553

 

ต่อมาหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีความเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 2562 และแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วในปี 2562 ก็ปรากฏว่ามีการชุมนุมระลอกล่าสุดคือปี 2563 พร้อมปรากฏการณ์ ‘ทะลุฟ้า-ทะลุเพดาน’ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ     

 

THE STANDARD สัมภาษณ์ วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทนายซึ่งว่าความคดีการเมืองตั้งแต่คดีคนเสื้อแดง จนถึงคดีการเมืองในระลอกล่าสุด

 

 

 

หนึ่งใน ‘ทนายเสื้อแดง’ ช่วงต้นทศวรรษ 2550

 

ผมเป็นทนายความมาตั้งแต่ปี 2541 ช่วง 10 ปีแรกของการเป็นทนาย ได้ทำคดีทั่วไป ทั้งคดีอาญา คดีแพ่ง คดีทรัพย์สินทางปัญญา กระทั่งเข้าสู่ปีที่ 10 ถึงปัจจุบันปีที่ 23 จะว่าความคดีอาญาเป็นหลัก

 

ส่วน ‘คดีการเมือง’ ซึ่งหมายถึงคดีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วรัฐไม่พอใจ มีการตั้งข้อหาเนื่องจากรัฐต้องการควบคุมจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพ ได้เริ่มทำคดีมาตั้งแต่ปี 2550 การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ก่อนจะเป็น นปช. 

 

ต่อมาปี 2552 ในยุคที่คนเสื้อแดงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และหลังสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 19 พฤษภาคม 2553 ก็มีคดีใหญ่ๆ ตามมา

 

ปี 2550-2553 ทนายที่ว่าความคดีการเมือง ในตอนนั้นจะถูกเรียกว่า ‘ทนาย นปช.’ หรือ ‘ทนายเสื้อแดง’ ผมเป็นหนึ่งในทนายเสื้อแดงซึ่งมีหลายคน คดีในสมัยนั้น เช่น คดีชุมนุมหน้าบ้าน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ คดีชุมนุมปีที่มีการประชุมสุดยอดอาเซียน (2552) คดีการปะทะกันหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา (2553) คดีก่อการร้าย คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีชายชุดดำ คดีครอบครองอาวุธ ระเบิด คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ คดีปล้นร้านค้าในเซ็นทรัลเวิลด์ คดีก่อความวุ่นวาย คดีหมิ่นประมาท

 

 

 

กลุ่มทนายที่ว่าความคดีการเมืองหลังรัฐประหาร 2557

 

กลุ่มที่เป็นทนาย นปช. เดิม มีการรวมตัวกันอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2557 เป็นชื่อ ‘กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน’ (กนส.) แต่ใช้ชื่อนี้ได้ไม่นานเพราะชื่อไปพ้องกับ ‘สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ (สนส.)

 

กลุ่มทนาย นปช. เดิม จึงเปลี่ยนเป็น ‘สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ’ (สกสส.) โดยมีนักกฎหมายสาขาวิชาชีพอื่นร่วมด้วย และใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน

 

ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 นอกจากมี สกสส. ก็มีทนายอีกกลุ่มที่มีบทบาททำคดีการเมืองคือ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ 

 

ล่าสุด หลังมีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากจากการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปี 2563 จึงมีการรวมตัวกันของหลายองค์กรชื่อ ‘ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน’ โดยมี สกสส. รวมอยู่ด้วย 

 

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นการรวมตัวกันขององค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน 9 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF), สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.), สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), ศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 

 

 

ความต่อเนื่องของคดีหลังรัฐประหาร 2549 หลังรัฐประหาร 2557 และช่วงการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ปี 2563 

 

มีความต่อเนื่องทางการเมือง ระลอกหลังปี 2549 สืบเนื่องมาถึงปี 2557 มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันในมุมมองของฝ่ายรัฐบาลที่มีทหารเป็นหลัก 

 

หลังรัฐประหาร 2557 นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกเรียกไปรายงานตัว รวมถึงแกนนำ นปช. ถ้าไม่ไปรายงานตัวก็จะถือว่าขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในครั้งนั้นมีประชาชนและนักวิชาการถูกเรียกด้วย นอกจากนั้นมีคดีที่อ้างว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 แต่มาถูกดำเนินคดีในยุค คสช. ปี 2557 คือคดีชายชุดดำ จับใครไม่ได้ตั้งแต่ปี 2553 กระทั่งปี 2557 หลังรัฐประหาร ทหารไปตามจับ อ้างว่าคนนั้นคนนี้ทำ พอฟ้องก็ถูกยกฟ้อง นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า คสช. พยายามจะบอกว่ามีประชาชนกลุ่มก้อนที่ต่อต้านรัฐโดยใช้ความรุนแรงสืบเนื่องกัน 

 

ปี 2563 ก็เป็นความต่อเนื่องทางการเมือง เนื่องจากปี 2563 เริ่มมีความชัดเจนของกลุ่มที่อยากจะมีความเปลี่ยนแปลงเร็วๆ กลุ่มที่คิดว่าต้องมีการพูดตรงๆ ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกว่าต้องการให้มีการปฏิรูป 

 

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดี ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง ในช่วงนี้เองมีการใช้กฎหมายควบคุมโรคระบาดซึ่งเป็นเรื่องสาธารณสุขมาจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนในการชุมนุมด้วย 

 

ช่วงปี 2557 มีบางคดีที่ คสช. อ้างว่ามีการวางแผนจะก่อเหตุการณ์ต่างๆ เช่น คดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นคดีซึ่งโด่งดังในขณะนั้น เนื่องจาก คสช. อ้างว่าทหารที่ขอนแก่นจะถูกกลุ่มผู้ต้องหาเหล่านี้เข้าไปโจมตี ไปยึดค่าย ยึดธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อจะวางแผนต่อต้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นการมโน เนื่องจากโดยศักยภาพประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถทำได้ ถ้าจะทำขนาดนั้นต้องมีกองกำลังติดอาวุธ ต้องมีอาวุธร้ายแรงในการที่จะต่อสู้หรือควบคุมทหารในค่าย การปล้นเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ ที่เราบอกว่าเป็นเรื่องมโน เพราะกลุ่มผู้ต้องหามีอายุมากแล้ว 

 

หลังรัฐประหาร 2557 ก็เป็นทนายให้กับจำเลยคดี 8 แอดมินเพจ ‘เรารักพลเอกประยุทธ์’ แต่มี 2 คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คือ นัท-ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ปัจจุบันลี้ภัยในต่างประเทศ และ ปอนด์-หฤษฎ์ มหาทน ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษา 15 มีนาคม 2565 

 

คดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นถูกจัดเป็นคดีความมั่นคง แต่ก็ชัดเจนว่า คสช. ใช้อำนาจกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประกาศหรือคำสั่งของ คสช. เพื่อระงับยับยั้งไม่ให้มีการชุมนุมต่อต้าน คสช. เรียกประชาชนรวมถึงเรียกนักวิชาการไปรายงานตัว 

 

 

คดีอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ สู้ชนะ คสช.  

 

ผมเป็นทนายของอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตั้งแต่ปี 2557 ล่าสุด 8 มิถุนายน 2564 คดีจบแล้ว อาจารย์วรเจตน์ชนะคดี   

 

คดีเริ่มจากในปี 2557 ระหว่างอาจารย์ไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ เนื่องจากมีโรคประจำตัว ก็มีการยึดอำนาจในไทย 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. เรียกหลายคนให้ไปรายงานตัว ให้ไปปรับทัศนคติ แต่อาจารย์ไปไม่ทันเนื่องจากให้เวลาวันเดียว ดังนั้นการจะกลับมาจึงเป็นเรื่องพ้นวิสัยหรือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อาจารย์จึงถูกมองว่าฝ่าฝืนคำสั่งไม่มารายงานตัวต่อ คสช. ขณะที่ประกาศ คสช. กำหนดไว้ว่า ใครไม่มารายงานตัวมีความผิด 

 

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ การบอกว่าใครไม่ไปรายงานตัวมีความผิด ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา

 

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 ว่าการเรียกรายงานตัวและการไม่มารายงานตัวแล้วมีความผิด เป็นสิ่งเกินสมควรแก่เหตุ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ   

 

อาจารย์ต่อสู้คดีมาตั้งแต่ปี 2557-2564 ไม่ต่ำกว่า 7 ปี สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการที่นำมาใช้กับอาจารย์ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง มีข้อดีเพียงอย่างเดียวคือได้เห็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมารับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ นอกนั้นมีแต่เรื่องเสียหายไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ อาจารย์ต้องเสียเวลามาขึ้นศาล ศาลต้องจัดงบประมาณจัดบุคลากรมาดูแลคดี ศาลทหารในยุคแรกใช้เวลาประมาณ 2 ปี หลายคดีไม่มีความคืบหน้าในทางที่ควรจะเป็น ไม่เฉพาะคดีอาจารย์วรเจตน์คนเดียว มีหลายคดีที่กระบวนการพิจารณาคดีไม่คืบหน้า ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ต้องไปเสียเวลากับศาลทหารที่รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้มาพิจารณาพิพากษาประชาชนซึ่งเป็นพลเรือน หลักการก็ผิดแล้ว อาจารย์ไม่สมควรต้องไปขึ้นศาลทหารและไม่สมควรถูกตั้งข้อหาว่าเป็นความผิด สุดท้ายต้องโอนคดี หรือบางคนเรียกว่าโยนคดีมาศาลยุติธรรม ซึ่งมีความสิ้นเปลืองหลายอย่าง มีหลายคนยังถูกขังในเรือนจำอย่างไม่เป็นธรรมกับเรื่องที่ถูกตั้งข้อหา 

 

ระหว่างที่อาจารย์ต่อสู้ก็มีคนมาขอให้อาจารย์รับสารภาพ ไม่อยากให้อาจารย์ต่อสู้ อยากให้อาจารย์รับสารภาพผิดและให้ยุติเร็วๆ แต่อาจารย์ยืนยันว่าอาจารย์ไม่ผิด และยืนยันหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ 

 

อาจารย์สอนกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง อาจารย์มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ อาจารย์มองว่าการที่ คสช. ใช้อำนาจเรียกคนเป็นเรื่องผิดหลักการ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นตามนั้น ดังนั้นอาจารย์พ้นข้อกล่าวหาจากการต่อสู้คดีมาไม่ต่ำกว่า 7 ปี     

 

 

ความเสียหายจะมีโอกาสได้รับการเยียวยาหรือไม่ 

 

ถ้ายังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้สิทธิของอาจารย์จะยังไม่ได้รับการเยียวยา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่า การใช้อำนาจใดๆ ของ คสช. ผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถเรียกค่าเสียหายหรือฟ้องทางปกครองได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญถูกแก้ไขหรือยกเลิกทั้งหมดอาจจะฟ้องได้ ระหว่างนี้ไม่ได้รับการเยียวยา เพียงแต่บอกได้ว่าไม่ผิด  

 

วันที่ชนะคดี ศาลแขวงดุสิตซึ่งเป็นศาลที่รับโอนคดีมาจากศาลทหารกรุงเทพ อ่านคำวินิจฉัย โดยในคำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิอยู่ด้วย ศาลแขวงดุสิตจึงบอกว่า อาจารย์ไม่มีความผิด และคดีของอาจารย์ไม่มีการอุทธรณ์ ไม่มีการฎีกาต่อ เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ซึ่งโดยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นฝ่ายโจทก์คืออัยการก็ไม่ได้อุทธรณ์

 

หลังกระแสการเมืองร้อนแรงจากการชุมนุมในปี 2563 มีคดีฟ้องร้องนักวิชาการอีก 1 ท่านในปี 2564 

 

ผมเป็นทนายความของอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด จำเลยที่ 2 ในฐานะที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ซึ่งศาลนัดพร้อมอีกครั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2565 

 

ผมในฐานะทนายความไม่หนักใจ แต่ผมค่อนข้างจะผิดหวังกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเมื่อเกิดปัญหากับอาจารย์ อาจารย์กลับไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร แล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมเนียมทางวิชาการหรือธรรมเนียมของนักวิจัย ที่ถ้าหากความเห็นไม่ตรงกันก็ควรโต้แย้งในหลักการ หาเหตุผลมาว่ากัน แต่กลายเป็นว่ามีนักวิชาการไปพูดกับคนอื่นให้เขารู้สึกว่าตัวเองเสียหาย แล้วมาฟ้องนักวิชาการที่ทำหน้าที่ตามคำสั่งของมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยปฏิบัติต่อเรื่องนี้ค่อนข้างน่าผิดหวัง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจของวงการนักวิชาการที่อาจารย์กุลลดามาถูกฟ้องเพราะความเห็นต่างทางการเมืองแบบนี้   

 

 

การดำเนินคดีไม่ได้มีเฉพาะแกนนำ นักเคลื่อนไหว แต่ลามไปถึงนักวิชาการในมหาวิทยาลัย

 

ในอดีตนักวิชาการจะมีการพูดคุยในรั้วมหาวิทยาลัย ในวงเสวนา เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อเนื้อหาถูกขยายออกไปในวงกว้างผ่านสื่อใหม่ๆ รัฐต้องการจำกัดกลุ่มเหล่านี้ ไม่ต้องการให้สื่อสารขยายเรื่องออกไป ดังนั้นสิ่งที่นักวิชาการโดนเป็นสิ่งสะท้อนว่ารัฐไม่ต้องการให้นักวิชาการขยายการต่อสู้หรือแนวความคิดใหม่ นักวิชาการก็มีหลายแนวคิด บางแนวคิดก็มีผลต่อคนรุ่นใหม่ และเมื่อมีนักวิชาการถูกดำเนินคดีก็กลายเป็นว่าเรื่องถูกขยายจากวงเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยออกไปข้างนอกกลายเป็นข่าว 

 

ส่วนนักวิชาการรุ่นเก่าหัวโบราณไม่เปิดกว้างก็มี เวทีวิชาการจึงเป็นเวทีที่ประชาชนจะได้เปรียบเทียบระหว่างนักวิชาการที่มีหัวคิดแบบเก่ากับแบบใหม่ 

 

นักวิชาการมีความคิดทางการเมืองแตกต่างกัน นิยมอำนาจคนละแบบ นักวิชาการฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายที่เป็นลูกความผม เขาก็จะแสดงออกสอดคล้องไปกับผู้มีอำนาจรัฐในรัฐบาลทหาร ก่อนหน้านี้มีนักวิชาการบางคนไปขึ้นเวทีชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม กปปส. และเปิดทางหรือสนับสนุนให้มีการยึดอำนาจ ซึ่งเป็นการกระทำและแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับลูกความผม 

 

ลูกความผมจะมีที่มาคล้ายกันคือ เป็นผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตย รักประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศชาติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตย เขาต้องการตรวจสอบรัฐบาล ใช้กระบวนการที่ประชาชนเข้าถึง แต่ว่าแต่ละคนแต่ละคดีมีมูลเหตุแตกต่างกัน

 

อย่างไรก็ตาม การแพ้หรือชนะคดี มีคดีที่เกี่ยวข้องกับความคิดของยุคสมัย ถ้าหากยุคสมัยเปลี่ยน ผลของคดีอาจจะเป็นอีกอย่าง เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้มีอำนาจในประเทศ คดีแบบนี้มีผลต่อแนวความคิดของคนในประเทศซึ่งผู้พิพากษาก็เป็นคนในประเทศด้วย 

 

หลายครั้งที่เราว่าความคดีการเมือง จะเห็นทัศนคติของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เขาแสดงออกว่ามีทัศนคติทางการเมืองอย่างไร บางคนอาจมองได้ว่าสูญเสียความเป็นกลาง ถ้าบ้านเมืองเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ผลสะท้อนของคดีอาจจะออกมาในทางที่ดีและเป็นที่ยอมรับในสากล 

 

 

รู้สึกอย่างไรกับคำว่า ‘ทนาย นปช.’ หรือ ‘ทนายเสื้อแดง’ 

 

รู้สึกภาคภูมิใจ ไม่รู้สึกในทางที่เป็นลบ แม้คนที่มีความคิดทางการเมืองตรงข้ามกับลูกความหรือสิ่งที่เราแสดงออกเขาจะมองว่าเราเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่เรารู้สึกว่าเราทำงานในวิชาชีพของเรา คือเป็นทนายความ ต้องช่วยลูกความให้ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่เขาจะได้จากสิ่งที่ศาลวินิจฉัย 

 

บางคนถูกจับไม่ได้รับการประกันตัวเลย อ้างว่าคดีมีอัตราโทษร้ายแรง เกรงจะหลบหนี ทั้งที่อัตราโทษมาจากการตั้งข้อหาอย่างไม่สมเหตุสมผล บางคนถูกจับแล้วจับอีก ดำเนินคดีแล้วดำเนินคดีอีก เขามีสิ่งที่เขาต้องเสียไป เรากำลังมองว่างานที่เราทำเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจ ไม่ได้รู้สึกแย่กับคำเรียกว่า ‘ทนายเสื้อแดง’ หรือ ‘ทนาย นปช.’ เพราะเป็นอดีตที่เราภูมิใจ ได้ช่วยคนได้ทำในสิ่งที่ตั้งปณิธานมาตลอด หลายคนชื่นชมและให้กำลังใจเราเสมอ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นกำลังใจอยู่  

 

 

ก่อนมาเป็นทนายและอาชีพทนายในปัจจุบัน

 

เรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รหัส 36 จบปี 2538 ใช้เวลาเรียน 3 ปี จบเนติบัณฑิตไทยในปี 2542 แล้วเรียนปริญญาโท นิติศาสตร์ที่รามคำแหง ทำกิจกรรมในรั้วรามคำแหงตลอดการเป็นนักศึกษาและหลังจบแล้ว เคยทำกิจกรรมการเมืองอยู่พรรคศรัทธาธรรม เป็นพรรคนักศึกษา ซึ่งมี จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค รู้จักจตุพรตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เรามีเพื่อนในรามคำแหงที่มาจากทุกภาค เคยมีโอกาสร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยในฐานะทนายความ ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยในอดีต ตอนนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคใด

 

ปัจจุบันที่ทำคดีการเมืองเป็นงานช่วยเหลือประชาชน ส่วนใหญ่เป็นงานอาสา แม้บางคดีลูกความที่มีกำลังเขาอยากจะช่วยเป็นเงินตอบแทนน้ำใจก็มี แต่ไม่ได้นับเป็นรายได้หลัก เพราะคดีที่ได้ค่าตอบแทน ค่าที่ปรึกษา เลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวเป็นรายได้หลักจะไม่ใช่คดีการเมือง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X