อ่านแนวคิด วิกรม กรมดิษฐ์ เจ้าสัวแห่งอาณาจักรอมตะ ผู้ฝันอยากเห็นเมืองไทยมีนิคม Smart City ภายใน 10 ปี เพื่อเพิ่มเสน่ห์ของประเทศ ดึงนักลงทุนใหญ่กลับมา พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ผู้นำในวัย 70 ปี ขอวางมือจากธุรกิจ เปิดทางคนนอกตระกูลรับช่วงต่อเก้าอี้ซีอีโอ และประกาศบริจาค 2 หมื่นล้านบาทเป็นพินัยกรรมมอบแก่สาธารณะ มองผู้นำในใจขอใครก็ได้ที่คล้าย ลีกวนยู
ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 70 เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ของ ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ ‘วิกรม’ ได้ประกาศทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนตัวให้กับมูลนิธิอมตะกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ดิน อาคาร คอนโดมิเนียม หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนทรัพย์สินส่วนตัว พร้อมประกาศวางมือจากธุรกิจ และยินดีเปิดทางให้คนนอกตระกูลกรมดิษฐ์เข้ามารับช่วงต่อซีอีโอของอาณาจักรอมตะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก
ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น วิกรม กรมดิษฐ์ เริ่มต้นสู่เส้นทางนักธุรกิจด้วยการรับช่วงต่อกิจการจากร้านถั่วคั่วจากป้า และเมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน มุ่งมั่นกลับมาเปิดบริษัท วี แอนด์ เค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้า-ส่งออก เมื่อปี 2518 ได้หันมาบุกเบิกเส้นทางของตัวเอง ด้วยการเริ่มต้นธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย และขยายเป็นอาณาจักรนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งในประเทศไทย และ 2 แห่งในประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
และ ณ ขณะนี้ นับเป็นก้าวใหม่ของอาณาจักรอมตะ เมื่อวิกรมเปิดใจถึงโครงสร้างแผนธุรกิจอนาคตอันใกล้ ว่าเขาเตรียมตัวจะลดบทบาทซีอีโอของอมตะ เพื่อเป็นที่ปรึกษาธุรกิจแทน ส่วนด้านงานบริหารทั้งหมดในองค์กรจะต้องมีคนในตระกูลกรมดิษฐ์นั่งระดับบริหารไม่เกิน 3 คนเท่านั้น และจะผลักดันให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบอร์ด โดยพร้อมจะเปิดทางให้บุคคลภายนอกตระกูลเข้ามาเป็นซีอีโอคนใหม่
วิกรมเปิดใจสั้นๆ เขาจะ ‘จะไม่ยึดติด’ กับครอบครัว และ ‘ความมั่งคั่ง’ ที่สั่งสมมา สะท้อนผ่านการประกาศยกทรัพย์สินให้สาธารณะแทนครอบครัว เนื่องจากพี่น้องทุกคนล้วนมีทรัพย์สินส่วนตัวอยู่พอสมควรแล้ว และเชื่อมั่นว่าน้องทุกคนเป็นคนดี เรียนเก่ง มีความสามารถ
“และที่สำคัญหากแบ่งให้ครอบครัวอาจเกิดความไม่เท่าเทียม ทำให้มีปัญหากัน กลายเป็นว่าเอายาพิษให้เขา แต่ให้ครอบครัวมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารมูลนิธิอมตะ” วิกรมกล่าว
เพราะฉะนั้น คนที่จะมาเป็นซีอีโอจะเป็นใครก็ได้ที่อยู่ในสเปก เก่ง เชี่ยวชาญด้านวิศวะ สุขภาพดี อายุราว 40-50 ปี และต้องมีหลักคิด วิธีการทำธุรกิจและทักษะผู้นำแบบ ‘ลีกวนยู’ ในข้อนี้หมายรวมไปถึงผู้นำประเทศด้วย ซึ่ง ลีกวนยู, สีจิ้นผิง หรือแม้แต่ โจโก วิโดโด ผู้นำลักษณะนี้ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เก่งด้านเศรษฐกิจ มองขาด เป็นที่หนึ่ง อย่างสิงคโปร์ใครจะคิดว่าเกาะเล็กๆ จะกลายเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมขั้นสูง เป็นศูนย์กลางของโลกภายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งส่วนตัวชื่นชมและยึดเป็นแบบอย่างลีกวนยูมาโดยตลอด
ดังนั้นซีอีโอคนใหม่ของอมตะนั้นจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติก็ได้ ไม่ปิดกั้น และขณะนี้ได้แบ่งเค้กส่วนงานต่างๆ ออกเป็นก้อนและเลือกคนในใจที่ต้องการเข้ามาบริหารบ้างแล้ว เมื่อซีอีโอเข้ามาจะมีหน้าที่บริหารงานได้เต็มที่ ซึ่งจะทำให้อมตะฯ เติบโตได้ดี
ปั้นเมืองอัจฉริยะอมตะ ‘AMATA Smart City’
จุดเปลี่ยนที่สำคัญกว่านั้น วิกรมมองในมุมที่ว่า ผู้นำของอมตะจะต้องมีวิสัยทัศน์มองโลกที่พร้อมจะ ‘เผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน’ ที่ทุกฝ่ายรวมทั้งกลุ่มอมตะจำเป็นต้องปรับตัวรองรับสิ่งใหม่ๆ โดยอมตะได้วางเป้าหมายการพัฒนาภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะอมตะ หรือ AMATA Smart City เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจที่สอดรับอนาคตการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งเน้นนวัตกรรมที่ทันสมัย นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลและความฝันที่ต้องการทำให้สำเร็จให้ได้ และอยากเห็นประเทศไทยมีการลงทุนนวัตกรรม อุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ได้หารือพาร์ตเนอร์หลายประเทศ อย่างโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป จีน และไต้หวัน
“เพราะอมตะฯ เราไม่มีอะไรเลย เราเก่งแค่เรื่องพัฒนาที่ดิน ถนนหนทาง ขอสิทธิประโยชน์ และให้บริการสาธารณูปโภค การคิดมันง่าย แต่การจะสร้างให้ได้มันยากเสมอ ที่สำคัญต้องมีเงินพร้อมลงทุน เพราะนักลงทุนเขามอง No Money No Talk การที่เรามีลูกค้า 1,400 โรงงาน อย่างไรก็ต้องดึงเอาพาร์ตเนอร์ที่เก่งๆ มาร่วมกันสร้างเป็น Smart City อมตะฯ ดึงเทคโนโลยีเข้ามา จะต้องเป็นโมเดลต้นแบบเมืองตัวอย่างให้ได้ เรื่องนี้ถือจะเป็นความฝันที่อยากให้เกิดภายใน 5-10 ปี เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นเสน่ห์ ดึงนักลงทุนใหญ่ๆ มาไทย” วิกรมย้ำ
มองไทยดึงศักยภาพจุดแข็งมาเป็นจุดขาย
วิกรมมองว่า การลงทุนขณะนี้ ความท้าทายคู่แข่งไทยไม่ใช่ทั้งเวียดนาม หรือใครที่ไหน แต่เป็นความท้าทายภายในประเทศของเราเองต่างหาก ที่ต้องมองจุดเด่นตัวเองให้ขาด อย่างอมตะมองเพื่อนบ้าน เราลงทุน สปป.ลาว ทำพลังงานสะอาด เพราะมีจุดเด่นใกล้จีน ส่วนเวียดนาม หลายคนไม่เคยพูดถึงเลย 10 ปีผ่านไปพัฒนาเร็วมาก เพราะมีจุดแข็ง แรงงานเยอะ ขยัน ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะเวียดนามมีความพร้อมทั้งในเรื่องของคน นโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสม การเมืองที่มีเสถียรภาพ และการที่เวียดนามมีแหล่งพลังงานเอง ดังนั้น จะเห็นว่าทำไม บิล เกตส์ ถึงไปเวียดนาม บริษัทใหญ่ Foxconn, Samsung ลงทุนที่นั่น แต่ถามว่าไทยทำได้ไหม ทำได้เหมือนกัน ถ้ารู้จุดแข็งของตัวเอง
“ขอให้ดึงศักยภาพตรงนั้นมา อย่าไปกลัว แต่ปัญหาใหญ่คือไทยขาดความจริงจัง เพราะที่จริงแล้ว จุดแข็งที่ไทยมีในตอนนี้คือ รถยนต์ EV อาหารไทย ที่สำคัญคือการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนทุกอย่างทั้งการแพทย์ เวลเนส ที่ต่างชาติเห็นถึงศักยภาพ ควรเอาสิ่งเหล่านี้มาขยาย รวมถึงสนามบินที่ไทยพร้อมจะสร้างเพิ่ม สิ่งเหล่านี้เวียดนามสู้เราไม่ได้” วิกรมกล่าว
ส่วนพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปี 2566 ปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ที่นักลงทุนเริ่มใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกที่เริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อาจจะกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น
แต่การลงทุนภาคการผลิตเป็นการลงทุนที่มองระยะยาว AMATA ได้วางแผนการบริหารตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่มีความจำเป็นออกไป เพิ่มรายได้ประจำ (Recurring Income) เช่น ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ค่าเช่าอาคารโรงงานสำเร็จรูป ฯลฯ ซึ่งบริษัทมีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นในระดับ 50% และหวังว่าจะมีสัดส่วนรายได้จาก Recurring Income เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะวางมือบทบาทซีอีโอเร็วๆ นี้ วิกรมทิ้งท้ายว่า จะไม่เข้าสู่เส้นทางการเมืองแน่นอน เพราะไม่ใช่ไลฟ์สไตล์และสิ่งที่ชอบ ถามว่า อยากเห็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นใคร ควรมีคุณสมบัติ 3 ข้อ ที่มุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. จะต้องเป็นบุคคลที่ทำงานเป็นด้านเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้ GDP โต 6-7% 2. ใช้กฎหมายบังคับและบทลงโทษให้จริงจัง 3. ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดี แน่นอนว่าจะเป็นใครก็ได้ที่ทำ 3 เรื่องนี้ให้เร็ว คนแบบ ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
ส่องขุมทรัพย์วิกรมที่ถือทรัพย์สินในกลุ่มบริษัทอมตะ
สำหรับข้อมูลทรัพย์สิน วิกรมถือทรัพย์สินในกลุ่มบริษัทอมตะ จากการรายงานข้อมูลสำคัญทางการเงินในรายงานประจำปีของกลุ่มบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) มีสินทรัพย์รวม 45,470 ล้านบาท ประกอบด้วย
- ดำเนินธุรกิจพัฒนานิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี
- นิคมอุตสาหกรรมซิตี้ ระยอง
- เขตอุตสาหกรรมระยองไทย-จีน
- นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนหัว
- นิคมอุตสาหกรรมซิตี้ ฮาลอง
- โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานและเช่า 1,379 แห่ง มีพนักงานในโรงงานทุกนิคม 305,754 คน
ส่วนทรัพย์สินส่วนตัวของ วิกรม กรมดิษฐ์ มีทั้งอสังหา อาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ คอนโดมิเนียมย่านพร้อมพงษ์ บ้านและที่ดิน เขาใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา ปราสาทอมตะคาสเซิล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทรัพย์สินที่เป็นที่จับตามองของสังคม พื้นที่ทั้งหมด 25,315 ตารางเมตร ซึ่งได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ และเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงผลงานทางด้านศิลปะแขนงต่างๆ ในเอเชีย เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ รวมทั้งทรัพย์สิน รถยนต์ซูเปอร์คาร์ และเครื่องบิน เรือคาตามารัน