การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดนับตั้งแต่ วัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ทำงานที่นี่มากว่า 16 ปี วิกฤตที่ผ่านๆ มา ทั้ง ต้มยำกุ้ง การเมือง ไฟไหม้ ก็ไม่เคยทำให้ต้องปิดศูนย์การค้าพร้อมกันทั้วประเทศ 33 แห่ง และอีก 1 แห่งที่มาเลเซีย
วัลยา ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า การปิดศูนย์การค้าทั้งหมดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่และตกใจพอสมควร แต่ในฐานะผู้นำต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่า เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน ในช่วงสองสัปดาหห์แรกใช้เวลากับการวางแผนธุรกิจใหม่ๆ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของศูนย์ฯ ต้องปิดชั่วคราว เหลือเพียงร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านยาเท่านั้น ซึ่ง CPN ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน จึงถือเป็นความท้าท้าย
จริงอยู่ที่ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ที่หนักกว่าคือธุรกิจท่องเที่ยว แต่ธุรกิจบริการอย่างภาคค้าปลีกก็หนักไม่แพ้กัน มีการประเมินว่าการปิดศูนย์การค้า ตลอดจนร้านค้าปลีกอีกๆ ในช่วงระยะ 40 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 30 เมษายน 2563 สร้างผลกระทบกับแรงงานที่อยู่ในค้าปลีก 2.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียทายทางเศรษฐกิจกว่า 6 แสนล้านบาท
“ตอนแรกยอมรับว่าไม่สบายใจ แต่มาคิดดูอีกทีเราไม่ได้เผชิญเรื่องนี้อยู่คนเดียว วิกฤตินี้กระทบต่อคนทั้งโลก ไม่ได้เกิดกับภาคค้าปลีกอย่างเดียว เราเลยคิดว่าให้เหมือนกับนอนฝันร้ายไป ตอนนี้เราต้องแก้ปัญหาปัจจุบันให้ดีที่สุด พอตื่นขึ้นมาเราต้องเดินหน้าและวิ่งไปพร้อมกับคู่ค้า”
การปรับตัวในระยะแรกของ CPN คือการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาด ปรับระบบแอร์เนื่องจากต้องเปิดเพียงบางส่วน ให้สอดคล้องหรือต่ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงระยะเวลา 40 วันที่ปิด แต่ค่าใช้จ่ายที่ CPN จะไม่ไปยุ่งเลยคือ พนักงาน ที่ถูกมองเป็นสินทรัพย์ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย
ส่วนต่อมาช่วยคู่ค้าที่มีกว่า 15,000 ราย โดยใช้วิธีปรับลดค่าเช่า 20-100% ตามแต่ละธุรกิจและความเล็กใหญ่ วัลยาขยายความว่า จริงๆ แล้วการปรับลดค่าเช่าเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมก่อนที่จะมีคำสั่งปิดชั่วคราวด้วยซ้ำ ซึ่ง “การลดของเราจะเป็นนโยบายที่ CPN จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกลับมาขายดีได้อีกครั้ง เบื้องต้นได้กำหนดสัดส่วนการลด 20-50% แล้วแต่ธุรกิจ”
ในส่วนของการเตรียมพร้อมกลับมาเปิดศูนย์การค้าอีกครั้ง CPN ได้วาง 5 มาตรการด้วยกัน ซึ่งศึกษามาจากศูนย์การค้าที่อยู่ในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ได้แก่ การคัดกรองอย่างเข้มงวด (Extra Screening), มาตรฐาน Social Distancing ทุกจุด, การติดตามเพื่อความปลอดภัย (Safety Tracking), การใส่ใจในความสะอาดทุกจุดสัมผัส (Deep Cleaning) และลดการสัมผัส (Touchless Experience)
ตัวอย่างเช่น การเว้นระยะห่าง 1.5-2 เมตร บันไดเลื่อนยืน 1 ขั้น เว้น 2 ขั้น มีการกำหนดให้ 1 คน ต่อพื้นที่ 5 ตารางเมตร เช่น ร้านค้า 100 ตารางเมตร ก็จะมีคนอยู่ในร้านไม่เกิน 20 คน คนที่เหลือต้องรอด้านนอก ส่วนกรณีร้านชาบูที่ส่วนใหญ่ต้องนั่งกินหลายคน ได้พูดคุยเบื้องต้นมี 2 แนวทางได้แก่ 1. หม้อส่วนตัวไม่มีรวมกัน 2. มีช้อนกลางส่วนตัวและต้องนั่งเยื้องกัน จำจัดพื้นที่คนนั่งต่อโต๊ะลง 50%
วัลยายอมรับว่า หลังจากกลับมาเปิดศูนย์การค้าอีกครั้ง จำนวนทราฟฟิกจะลดลงแน่นอน และยังประเมินไม่ได้ว่าจะลดลงไปเท่าไร แต่ได้อ้างอิงจากศูนย์การค้าในนครศรีธรรมราชที่ได้เปิดไปก่อนหน้านี้ และใช้มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมาพบว่า ช่วงแรกยอดทราฟฟิกลดเหลือ 20% จากช่วงปกติ ตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็น 35% ศูนย์อื่นๆ น่าจะประมาณนี้เช่นกัน
ขณะเดียวกันหนึ่งในแผนที่วางไว้หลังจากกลับมาเปิดศูนย์ฯ คือการเปิดพื้นที่ให้กับเกษตรกรหรือธุรกิจ SMEs สามารถนำสินค้าของตัวเองมาวางขายได้ฟรี โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 30,000-40,000 ตารางเมตร ในศูนย์การค้าทั้ง 33 แห่งทั่วประเทศ เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งหากคิดค่าเช่าตามปกติจะมีมูลค่า 3,500 ล้านบาท
สำหรับแผนการลงทุน วัลยายืนยันว่า CPN ยังลงทุนเหมือนเดิม มีการเปิดศูนย์การค้าใหม่ปีละ 2-3 แห่ง สำหรับปีหน้าจะมีการเปิดที่ศรีราชาและพระนครศรีอยุธยา ปี 2564 เตรียมเปิดที่จันทบุรี ส่วนต่างประเทศกำลังศึกษาตลาดเวียดนามอยู่ เป็นต้น
ภาพ: ทศพล บุญคง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์