ในเวียดนามมีปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกับการ ‘Lying Flat’ ของจีนกำลังเกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่นอกภาคเทคโนโลยีและการผลิต ต้องดิ้นรนกับค่าแรงที่ต่ำและค่าครองชีพที่สูง จนเป็นที่มาของการเลือกทำงานแบบขอไปทีเพื่อให้มีชีวิตรอดไปวันๆ
ถึงแม้ว่าประเทศจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริษัทระดับโลก เช่น Dell, Apple และ Microsoft เพราะเวียดนามมีแรงงานที่มีอายุน้อยและมีค่าจ้างต่ำ ทำให้เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้กระจายอย่างเท่าเทียม
รัฐบาลได้พยายามดึงดูดการลงทุนต่างประเทศมากกว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งคาดว่าจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่คนงานรุ่นใหม่ยังพบว่ายากที่จะจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาหลักสำหรับพวกเขา
พนักงานคนรุ่นใหม่ในเวียดนามหลายคนต้องดิ้นรนกับค่าครองชีพที่สูง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์และฮานอย แม้ว่าพวกเขาจะทำงานหลายอย่าง แต่ก็ยังจ่ายเงินเช่าที่พักได้เพียงห้องขนาดเล็กที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ
หน้าเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 828,000 คนได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับพนักงานเวียดนามรุ่นใหม่ในการแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับค่าจ้างที่ต่ำและสภาพการทำงานที่ท้าทาย สิ่งนี้สะท้อนถึงความรู้สึกของเยาวชนที่กำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในเศรษฐกิจ
แม้รัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เช่น การกระตุ้นให้ธนาคารลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมและฉีดทุนเข้าสู่เศรษฐกิจ ทว่าตลาดที่อยู่อาศัยยังคงเป็นปัญหาสำหรับหลายคน โดยเฉพาะในภาคที่มีรายได้ต่ำ พบว่ายากที่จะจ่ายค่าบ้านในเขตเมือง
เป้าหมายของเวียดนามในการกลายเป็นเศรษฐกิจที่พัฒนาและมีรายได้สูงภายในปี 2045 ยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก โดยผู้เชี่ยวชาญโต้แย้งว่า เพื่อหลีกเลี่ยง ‘กับดักรายได้กลาง’ เวียดนามจำเป็นต้องปรับปรุงความสามารถในการผลิต เพราะตอนนี้ค่าจ้างเฉลี่ยของคนงานในโรงงานอยู่ที่ประมาณ 220 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือราว 7,800 บาทเท่านั้น
อ้างอิง: