×

เวียดนามโชว์ ‘GDP ไตรมาส 2’ โต 6.6% ขยายตัวเด่นสุดในอาเซียน แม้เผชิญหน้ากับโควิดกลายพันธุ์

29.06.2021
  • LOADING...
เวียดนาม

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/64 เติบโต 6.61% ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด โดยรับแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัว 28.4% สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุ ส่งออกไปสหรัฐฯ ประเทศเดียวเติบโตถึง 42.6% แต่ภาพรวมทั้งปียังถูกท้าทายการการแพร่ระบาดของโควิดที่กลายพันธุ์ 

 

Nikkei Asia รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของเวียดนามในไตรมาส 2 ปีนี้ ขายตัว 6.61% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว  

 

ส่วนในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 5.64% เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.82% และแม้ว่าอัตราการขยายตัวจะต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 7% ของ VNDIRECT Securities แต่ก็ยังยืนยันได้ว่าศักยภาพทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นแข็งแกร่ง 

 

ตัวเลขการส่งออกไปที่สหรัฐฯ ในครึ่งปีแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 42.6% คิดเป็นมูลค่า 4.49 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุน GDP หลัก ส่วนภาพรวมการส่งออกขยายตัว 28.4% คิดเป็นมูลค่า 1.57 แสนล้านดอลลาร์ 

 

เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวโดดเด่นจากภาคการส่งออกสินค้าประเภทสมาร์ทโฟนและอื่นๆ 

 

ส่วนภาคการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าอื่นๆ ไปยังยุโรปก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สืบเนื่องมาจากข้อตกลงการค้าเสรีของเวียดนามกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2020

 

โควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่ระบาดรวดเร็ว สร้างผลกระทบต่อภาคการผลิตในเวียดนามตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในโรงงงานบางแห่งในเวียดนามตอนเหนือ เช่น จังหวัด Bac Giang และ Bac Ninh ซึ่งเป็นศูนย์กลางของซัพพลายเชน อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้ยังสามารถผลิตเพื่อส่งออกได้อย่างแข็งแกร่ง และเป็นผู้นำการเติบโตของเวียดนาม

 

นอกเหนือจากนี้ เวียดนามกำลังผลักดันให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการส่งออก การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ 2 แห่งที่ท่าเรือ Lach Huyen ในเมืองไฮฟอง ทางตอนเหนือของเมือง เริ่มขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 7 ล้านล้านดอง (304 ล้านดอลลาร์)

 

โดยปริมาณการขนส่งสินค้าที่ Lach Huyen ในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน เป็น 7.12 ล้านตัน และเวียดนามคาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงมีการตัดสินใจขยายท่าเรือ

 

ปัจจัยค่าแรงราคาถูกของเวียดนามทำให้ประเทศนี้เป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับบริษัทต่างชาติที่ส่งเสริมกลยุทธ์ ‘จีนบวกหนึ่ง’ เพื่อกระจายการลงทุน โดยการลงทุนในเวียดนามเร่งตัวขึ้นตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มขึ้นในปี 2018 เนื่องจากบริษัทต่างๆ พยายามหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่ผลิตในจีนของสหรัฐฯ

 

ตัวอย่างเช่น Hon Hai Precision Industry ของไต้หวัน ผู้รับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่รู้จักกันในชื่อ Foxconn ประกาศว่าจะลงทุนในเวียดนามเพิ่มอีก 700 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้ในประเทศเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์ภายใน 3-4 ปีจากนี้ จากฐานรายได้ 6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020

 

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดที่ลำบากและใช้เวลานานยังคงเป็นปัญหาสำหรับเวียดนามในขณะนี้ แม้ว่าประเทศนี้จะถูกมองว่าเป็น ‘นักเรียนต้นแบบ’ ในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ เพราะมีการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากกว่า 10,000 รายนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดกลายพันธุ์เริ่มแพร่ระบาด 

 

แม้การติดเชื้อในพื้นที่อุตสาหกรรมทางตอนเหนือ เช่น จังหวัด Bac Giang กำลังลดลง แต่ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตอนใต้ของโฮจิมินห์ซิตี้และที่อื่นๆ ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 868 รายในวันศุกร์ที่ผ่านมา (25 มิถุนายน) และโฮจิมินห์ซิตี้ เมืองสำคัญทางการค้าและเป็นเมืองใหญ่ที่ใหญ่สุดของประเทศ ยังคงรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

 

สถานการณ์ล่าสุดของโฮจิมินห์ซิตี้ใกล้จะถูกล็อกดาวน์แล้ว โดยภาครัฐได้สั่งห้ามมิให้ดำเนินการรถโดยสารและรถแท็กซี่ เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารภายในร้าน และขอความร่วมมืองดออกจากบ้านโดยสมัครใจ 

 

ส่วนความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนในเวียดนามนั้นยังล่าช้า ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลล่าสุดที่อ้างอิงจาก Our World in Data ระบุว่า ประชากรกว่า 3% ของเวียนดนามได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ต่ำกว่าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาว

 

ด้านสถานการณ์ของกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม พบว่ายังไม่สามารถพึ่งพาการจัดซื้อจัดจ้างในปักกิ่งได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากความตึงเครียดระดับทวิภาคี เช่น ข้อพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้ และแม้ว่าวัคซีนที่ผลิตขึ้นเองจะอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบในห้องปฏิบัติการ แต่ดูเหมือนว่าการผลิตเต็มรูปแบบไม่น่าจะเริ่มได้ในเร็วๆ นี้ แม้จะมีประชาชนจะตั้งความหวังไว้สูงมากก็ตาม 

 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน รัฐบาลเวียดนามประกาศแผนการจัดตั้งกองทุน และใช้เงิน 1.1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 75 ล้านคน หรือคิดเป็น 75% ของประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปี 2021 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างไรก็ตาม ด้วยการขาดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายเป็นฉีดวัคซีนให้ประชาชน 70% ภายในต้นปี 2022 โดยยึดมั่นในเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันอยู่เช่นเดิม

 

ทั้งนี้ GDP ของเวียดนามถูกทำนายว่าจะเติบโต 6.7% ในปี 2020 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวของ GDP ที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามการคาดการณ์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ในเดือนเมษายน แต่หากการจัดหาวัคซีนยังคงล่าช้า การกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างเต็มรูปแบบรวมทั้งการท่องเที่ยวจะใช้เวลามากขึ้น และขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X