การที่สหรัฐฯ สั่งควบคุมการนำเข้าชิปที่ผลิตในจีน ส่งผลให้หลายบริษัทผู้ผลิตชิปพิจารณาที่จะย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกไปยังประเทศอย่างอินเดียและเวียดนาม
Walter Kuijpers ที่ปรึกษาด้านธุรกิจของ KPMG สาขาสิงคโปร์ เปิดเผยว่า จำนวนของลูกค้าที่ติดต่อเข้ามายัง KPMG ซึ่งมีความต้องการที่จะขยายฐานการผลิตชิปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 30-40% จากช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
“บริษัทต่างๆ มองเห็นด้านบวกของห่วงโซ่อุปทานที่แตกออกเป็นสองฝั่ง การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นล่าสุดน่าจะเข้ามาเร่งกลยุทธ์ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วให้เกิดขึ้นเร็วขึ้น”
ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ เริ่มเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ขอใบอนุญาตในการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หากต้องการจะส่งออกไปยังจีน บริษัทเหล่านี้ยังต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ หากพวกเขาใช้อุปกรณ์ของสหรัฐฯ เพื่อผลิตชิปประสิทธิภาพสูงเพื่อขายให้กับจีน
โดยบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่สัญชาติไต้หวันอย่าง TSMC และบริษัทคู่แข่งอย่าง Samsung และ SK Hynix ของเกาหลีใต้ ได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 1 ปี สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังจีน
ในขณะที่ ASML บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า พนักงานของบริษัทในสหรัฐฯ ถูกห้ามให้บริการแก่โรงงานผลิตชิปขั้นสูงในจีน
การควบคุมที่เกิดขึ้นทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตชิปที่เคยย้ายฐานการผลิตไปตั้งในจีนต่างเผชิญกับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักจากโควิด และความเสี่ยงเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น ทำให้บริษัทเหล่านี้มองหาฐานการผลิตใหม่ที่น่าสนใจ
Jan Nicholas กรรมการบริหารของ Deloitte กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายมาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
“เมื่อคุณกำลังจะตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ที่ไม่ใช่แค่การลงทุนชั่วคราว คุณมักจะมองหาที่ที่ห่างไกลจากความเสี่ยง”
ด้าน Sarah Kreps ผู้อำนวยการของ Tech Policy Lab ของ Cornell University กล่าวว่า “เกาหลีใต้ ไต้หวัน อาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งโดยตรงได้ แต่ประเทศอย่างเวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ ต่างวางตัวอยู่วงนอก และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนกับสหรัฐฯ”
เวียดนาม
เวียดนามกลายมาเป็นตัวเลือกสำหรับการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสำหรับบริษัทผู้ผลิตชิปทั่วโลก ก่อนหน้านี้เวียดนามได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อตั้งศูนย์การวิจัยและศึกษาในด้านนี้ เพื่อดึงดูดบริษัทต่างๆ เข้ามา
Samsung บริษัทผู้ผลิตชิปสำหรับบันทึกข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศออกมาในปีนี้ว่าจะลงทุน 3.3 พันล้านดอลลาร์ในอนาคต โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตชิปได้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2023
อินเดีย
อินเดียก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับการตั้งฐานการผลิตของบริษัทผู้ผลิตชิปเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของบุคลากรที่มีความสามารถในด้านการออกแบบชิปประมวลผลขนาดเล็ก ชิปหน่วยความจำ
แรงงานในอินเดียถือเป็นจุดเด่นทั้งในแง่ปริมาณและต้นทุน อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงขาดแคลนการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมการผลิต
“ในขณะที่อินเดียพยายามตั้งพื้นที่สำหรับเป็นฐานการผลิตขึ้นมา แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน อย่างต้นทุนของเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง”
จีนยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในปัจจุบัน
แม้หลายบริษัทผู้ผลิตชิปตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิต หรือกระจายฐานการผลิตออกไปจากจีน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนยังคงเป็นผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในทุกวันนี้ โดยเฉพาะชิปคุณภาพต่ำ
มีการประเมินว่า จีนเป็นผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดราว 16% ของทั้งโลก แม้จะตามหลังสหรัฐฯ แต่ก็ยังคงมากกว่าเกาหลีใต้และไต้หวัน
“จีนใช้เวลาหลายปีเพื่อพัฒนาทักษะในด้านนี้ ทำให้ประเทศที่จะขึ้นมาแทนที่อาจต้องใช้เวลาไม่ต่างกัน เพราะทักษะเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในทันที” Nicholas กล่าว
แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยว่าเวียดนามและอินเดียจะเป็นผู้ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการควบคุมของสหรัฐฯ
Yongwook Ryu นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกของ National University of Singapore กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเวียดนามและอินเดียจะได้อานิสงส์จากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพราะทั้งเวียดนามและอินเดียต่างยังไม่มีความสามารถในการรองรับการผลิตได้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม Yongwook Ryu กล่าวย้ำว่า ประเทศหรือบริษัทที่สามารถผลิตชิปที่มีคุณภาพในราคาที่แข่งขันได้ หรือพูดอีกมุมหนึ่งคือ ประเทศหรือบริษัทที่มาแทนที่จีน หรือบริษัทผลิตชิปของจีนได้ จะเป็นผู้ชนะในอนาคต
อ้างอิง: