×

วิเคราะห์ส่งออก ‘เวียดนาม’ ไม่สะเทือน แม้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน

22.12.2020
  • LOADING...
วิเคราะห์ส่งออก ‘เวียดนาม’ ไม่สะเทือน แม้ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีปั่นค่าเงิน

เวียดนามถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เวียดนามอาจไม่สามารถเข้าดูแลค่าเงินได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ค่าเงินดองมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แต่ประเด็นนี้อาจไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของเวียดนามมากนัก

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ทางการเวียดนามจะทยอยปรับค่าเงินดองให้สูงขึ้นในช่วง 5-7% สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่พบว่าเวียดนามกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าความเป็นจริง 4.2-5.2% ในปี 2562 ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินดองจะไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในระยะสั้นถึงกลาง เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของเวียดนามส่วนมากเน้นการใช้แรงงานเข้มข้น 

 

ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมในการผลิตที่ยังนับได้ว่ามีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำโดยเปรียบเทียบ ทำให้ค่าเงินดองที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้นเพียง 5-7% ไม่น่าจะกระทบต่อส่วนต่างกำไร (Margin) จากการส่งออกมากนัก 

 

หากยกตัวอย่างอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอของเวียดนามที่ในปี 2561 ยังคงมีส่วนต่างกำไรเฉลี่ยสูงมากกว่า 15% ขณะที่การแข็งค่าของเงินดองเวียดนามจะส่งผลทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศลดลง นอกจากนี้ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าไทยเกือบสองเท่าตัวก็เอื้อให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

สำหรับในระยะข้างหน้าด้วยค่าเงินดองมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันให้แข็งค่าต่อเนื่องจากโครงสร้างทางการค้าที่เกินดุล ทางการเวียดนามคงทยอยปรับค่าเงินดองให้แข็งค่าขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม อันช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามมีระยะเวลาในการปรับตัวเพียงพอต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินดองในระยะข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าและการตัดสินใจลงทุนในระยะยาวของนักลงทุน ขณะที่ยังสามารถที่จะลดแรงกดดันจากข้อกล่าวหาในการบิดเบือนค่าเงิน

 

ส่วนกรณีของประเทศไทย ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่เฝ้าจับตา (Monitoring List) ในกรณีการแทรกแซงค่าเงินหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงไต้หวัน อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ยังไม่ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงินเหมือนกับเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปว่า การพิจารณาประเทศที่บิดเบือนค่าเงินของสหรัฐฯ ในรอบนี้แม้จะไม่มีไทย ซึ่งก็สร้างความอุ่นใจให้ธุรกิจส่งออกของไทยในระดับหนึ่งว่าจะไม่ถูกสหรัฐฯ ใช้นโยบายกดดันการค้ากับไทยได้โดยง่ายในปี 2564 แต่การที่ประเทศเวียดนามถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน มีผลให้ค่าเงินดองของเวียดนามเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวคงไม่ทำให้เวียดนามสูญเสียความได้เปรียบในการทำตลาดส่งออก เนื่องจากหากค่าเงินดองแข็งค่าขึ้นก็น่าจะเอื้อประโยชน์ช่วยลดต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางของเวียดนามที่ยังต้องพึ่งพาจากต่างประเทศถึง 54% ของการนำเข้าทั้งหมด ประกอบกับโครงสร้างการผลิตที่เอื้อให้สินค้าเวียดนามมีต้นทุนต่ำ จึงน่าจะบริหารจัดการลดส่วนแบ่งกำไรลงบางส่วนเพื่อรักษาตลาดไว้ได้ ทำให้เวียดนามจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในด้านการผลิตและส่งออกไว้ได้อีกระยะหนึ่ง 

 

สำหรับไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงเฉพาะหน้า โจทย์สำคัญของทางการไทยคงต้องประคับประคองเศรษฐกิจและเสถียรภาพของกลไกหลักต่างๆ ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ก่อน ส่วนของความสามารถในด้านการแข่งขันนั้น ไทยควรจะเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ทั้ง CPTPP และ EU-Thailand 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising