×

วิชัย x เต๋อ นวพล เรื่องเล่าจากรอยน้ำตาของผู้ชายที่โอตะทั่วประเทศอิจฉามากที่สุดในเวลานี้

11.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

17 MINS READ
  • โปรเจกต์ Girls Don’t Cry เริ่มต้นจากวิชัยชวนให้เต๋อมาทำสารคดีของวง BNK48 และชวนให้เต๋อที่ตอนนั้นกำลังโพสต์เล่นมุกเรื่องที่เจนนิษฐ์ BNK48 ไม่ได้ดูหนังเรื่อง Die Tomorrow สักทีให้มาเป็นผู้กำกับเรื่องนี้
  • เต๋อเริ่มต้นด้วยการเข้าไปตามสมาชิก BNK48 ในที่ต่างๆ เป็นเวลา 1 เดือน และสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับสมาชิกทุกคนอีกคนละ 3 ชั่วโมง
  • สิ่งที่เต๋อรู้สึกได้จากการทำ Girls Don’t Cry คือเขาลืมภาพว่าทุกคนคือศิลปิน ลืมว่าทุกคนคือสมาชิกวง BNK48 ลืมว่าใครเป็นเซ็นเตอร์ ใครเป็นเซมบัตสึ และมองสมาชิกทั้งหมดเป็น ‘มนุษย์’ 26 คนที่มีประสบการณ์แตกต่างกันไป
  • วิชัยเชื่อว่าสมาชิกทุกคนมีความเข้มแข็งและจะแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ บางเรื่องที่พวกเธอเจอมา เขายังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าถ้าเปลี่ยนเป็นตัวเองแล้วจะรับมือได้ดีแบบนั้นหรือเปล่า
  • เต๋อคือหนึ่งในผู้กำกับที่มีผลงานด้านหนังวัยรุ่นที่โดดเด่นที่สุด แต่เมื่อได้ทำความรู้จักกับสมาชิกทุกคน สิ่งหนึ่งที่เต๋อรู้สึกคือการเขียนบทตัวละครที่เคยเชื่อว่ามีความจริงมากแล้วนั้นแทบว่างเปล่าเมื่อได้เจอ ‘ความจริง’ จากน้องๆ ทั้ง 26 คน

หลังจากปล่อยตัวอย่าง Girls Don’t Cry ภาพยนตร์สารคดีเรื่องล่าสุดของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่เปิดเผยให้เห็นหยาดน้ำตาและความรู้สึกลึกๆ ของสมาชิกวง BNK48 ทั้ง 26 คนออกมา น้ำตาของใครหลายคนก็เผลอหล่นลงมาโดยไม่รู้ตัว

 

จากการทำงานสัมภาษณ์ที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์น้องๆ วง BNK48 หลายคน เรารู้ดีอยู่แล้วว่าแต่ละคนล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ภายใต้ความร่าเริงสดใสที่แสดงออกมานั้นมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งที่เราไม่มีทางรู้

 

แต่เต๋อมีโอกาสดำดิ่งลงไปสำรวจสิ่งที่ถูกเก็บไว้ในภูเขาน้ำแข็งนั้น ทั้งจากการติดตามน้องๆ ไปในทุกๆ ที่เป็นเวลา 1 เดือน ค่อยๆ สังเกตพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด ก่อนจะได้นั่งคุยกับสมาชิกทั้งหมดแบบตัวต่อตัวคนละ 3 ชั่วโมง ใช้เวลาอีกครึ่งเดือนเพื่อนั่งดูฟุตเทจทั้งหมดซ้ำไปซ้ำมาเพื่อหาสิ่งที่น่าสนใจมาใช้ในหนัง และใช้เวลาอีก 2 เดือนครึ่งในการตัดต่อทั้งหมดด้วยตัวเองเพื่อสกัดเรื่องราวจากรอยน้ำตาออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ทุกคนกำลังจะได้ดูในวันที่ 16 สิงหาคมนี้

 

มองในมุมหนึ่ง การได้ติดตามชีวิตและพูดคุยกับสาวๆ ทั้ง 26 คนคงเป็นภาพในฝันที่โอตะหลายคนมองว่าเต๋อคือผู้ชายที่น่าอิจฉาที่สุด แต่นอกจากเรื่องความ ‘เหนื่อย’ ที่เขาบอกมา เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการนั่งอยู่ต่อหน้าหยาดน้ำตาที่ร่วงหล่นลงมาพร้อมกับเรื่องราวหนักๆ ที่สมาชิกทุกคนต้องเผชิญจะเรียกว่า ‘น่าอิจฉา’ ได้จริงๆ หรือเปล่า

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับทั้งตัวผู้กำกับและโปรดิวเซอร์จาก Salmon House อย่าง วิชัย มาตกุล ที่อยู่กับโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ต้นจนจบ และบอกว่าผู้กำกับเรื่องนี้ต้องเป็นนวพลคนเดียวเท่านั้น ถ้าไม่อย่างนั้นเขาเองก็คงไม่รับทำโปรเจกต์นี้ด้วย

 

เรามีเวลาพูดคุยกันทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งคงเทียบไม่ได้กับเวลาทั้งหมดที่พวกเขาใช้ ‘ทำงาน’ ร่วมกับน้องๆ มาเป็นเวลาเกือบ 6 เดือน แต่อย่างน้อยบางคำตอบที่สะเทือนหัวใจของวิชัย และความรู้สึกว่าตัวเอง ‘กระจอก’ หลังจากได้รับรู้ ‘ความจริง’ จากน้องๆ ของนวพลก็พอจะบอกได้ว่า ต่อให้คุณไม่ใช่แฟนคลับของวง BNK48 มาก่อนก็อาจเสียน้ำตาให้กับชีวิตของวัยรุ่นสาว 26 ชีวิตได้เหมือนกัน

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ Girls Don’t Cry

 

 

ทำไมผู้กำกับเรื่องนี้ต้องเป็นเต๋อ นวพล

วิชัย: ที่มาคือ BNK48 ทำหนังสือ B SIDE. กับ Salmon Books แล้วเขาอยากทำสารคดีด้วย เพราะรู้ว่ามี Salmon House อยู่ แบงค์ (ณัฐชนน มหาอิทธิดล บรรณาธิการบริหาร Salman Books) มาถามผมว่าอยากทำสารคดีไหม ผมก็สนใจ แต่พอคุยไปคุยมากลายเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เขาต้องการความยาวแบบ 120-150 นาที ซึ่งนานเกินไป เพราะเราถนัดทำอินเทอร์เน็ตฟิล์มที่ 10 นาทีก็ถือว่ายาวแล้ว

 

สำหรับเรา BNK48 มีความกึ่งนิชกึ่งแมสอยู่ เราเลยต้องหาผู้กำกับที่มีความกึ่งนิชกึ่งแมสมาดูแลโปรเจกต์นี้ แล้วเราไม่อยากให้ภาพออกมาเป็นแบบบีเอ็นเค้ บีเอ็นเค แล้วช่วงนั้นเต๋อก็โพสต์เล่นๆ กับเจนนิษฐ์ (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ สมาชิก BNK48 ที่โพสต์ว่าไม่ได้ดูหนังเรื่อง Die Tomorrow สักที จนแฟนคลับเรียกร้องให้โรงภาพยนตร์ขยายรอบฉายหนังออกไปเรื่อยๆ จนกว่าเจนนิษฐ์จะได้ดู) เลยลองชวนเต๋อแล้วกัน ตอนนั้นคิดนะว่าถ้าเต๋อไม่ทำเราก็คงไม่ทำโปรเจกต์นี้เหมือนกัน เพราะงานโฆษณาเรายุ่งมากอยู่แล้ว

 

เต๋อ: ตอนที่พี่วิชัยโทรมาก็ยังขอคิดแป๊บหนึ่งนะครับอยู่ เพราะพี่เขาเป็นสายอำอยู่แล้ว นี่พี่เอาจริงใช่ไหม ธุระจริงๆ ของพี่คืออะไรครับ (หัวเราะ) แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องนี้จริงๆ

 

เรากลัวว่าจะทำได้ไหมวะ เพราะคิดไม่ออกว่ามันควรจะเป็นยังไง แล้วไม่รู้ทางว่าค่ายเขามีภาพในใจแบบไหน อันนี้สำคัญมาก เรากลัวว่าจะไปเห็นภาพหนังคนละเรื่องแล้วทำผิด แล้วถ้าภาพไม่ตรงกัน เราจะทำให้เขาได้หรือเปล่า เพราะสารคดีมันยากกว่าฟิกชันอยู่ประมาณหนึ่ง มันมีเรื่องความจริง เรื่องโน่นนั่นนี่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงมากกว่า

 

แต่พอเข้าไปคุยจริงๆ พบว่าทุกคนเปิด เปิดคือเปิดจริงๆ นะ มีแค่บอกว่าอยากให้หนังมันสนุก แต่ไอเดียต่างๆ ไม่ได้ระบุมาชัด ให้เราดีไซน์ได้เลย ซึ่งถ้าเป็นประมาณนี้ก็โอเค ลองทำดู เริ่มคุยประมาณ 10 โมงเช้า พอ 4 โมงเย็นเขาก็โพสต์ในเฟซบุ๊กว่าจะทำแล้ว (หัวเราะ)

 

ก่อนจะมาทำโปรเจกต์ Girls Don’t Cry คุณวางแผนจะทำโปรเจกต์อะไรไว้บ้างหรือเปล่า

เต๋อ: ไม่มีเรื่อง BNK48 ในหัวเลย แล้วโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ Die Tomorrow ยังฉายไม่เสร็จ เราก็คิดว่าพร้อมกระโดดมาทำอันนี้แล้ว ตอนแรกไม่คิดว่าจะใหญ่โตมโหฬารนะ คิดว่าทำสัก 3 เดือนเสร็จ ทำไปทำมากลายเป็นหนังยาวเรื่องใหม่ของเราไปแล้ว คือสเกลของหนังไม่ได้ใหญ่ แต่เป็นโปรเจกต์ที่เราเอาแรงกายแรงใจไปทำเหมือนหนังยาวจริงๆ ความรู้สึกเหมือนตอนทำ ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย..ห้ามพัก..ห้ามรักหมอ มากเลยนะ

 

วิชัย: ด้วยความที่เราไม่รู้ว่าบทมันจะมีอะไรเกิดขึ้นด้วยมั้ง มันคาดเดายากไปหมดเลย

 

เต๋อ: ใช่ เราก็เริ่มจากทำการบ้าน ไปอ่านพวกที่สื่อสัมภาษณ์โน่นนี่นั่น แต่พอเข้าไปอยู่กับเขาแล้วเราค้นพบว่าสิ่งที่ควรจะทำคือทิ้งการบ้านเหล่านั้นไปเถอะ แล้วนั่งคุยกับเขา พอคุยสัพเพเหระกับเขาไปนานๆ เราเริ่มค้นพบว่าเขามีหลายมุมที่เราไม่เคยได้ยิน เพราะฉะนั้นไม่ต้องตั้งธงอะไรทั้งนั้น ตามไปดูว่าโลกของพวกเขาเป็นยังไงกันแน่ แล้วเราจะได้เห็นโลกที่เขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากการที่เราพยายามให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พยายามให้เขาแข่งขันหรืออะไรก็ตาม เราต้องลบอันนั้นทิ้งไปก่อน แล้วพอทำแบบนั้นมันได้เจอทางใหม่ๆ มีบางเรื่องที่เราไม่มีวันรู้ เพราะเขาไม่เคยให้สัมภาษณ์

 

เช่นเรื่องความพยายาม บางคนสนใจเรื่องความพยายามเป็นพิเศษ บางคนอาจจะไม่สนใจเลยก็ได้ พอเจอคนที่ไม่สนใจความพยายาม เราก็ตามเขาไปอีก เราไม่จำเป็นต้องบอกว่าทุกคนต้องพยายามก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้นแล้วคุณมาทำอะไรที่นี่

 

วิชัย: ความน่ากังวลใจที่คุยกับเต๋อคือเราไม่รู้ว่าน้องๆ BNK48 เขาจะกล้าพูดหรือเปล่า และถ้าเขากล้าพูด ทางค่ายจะยอมปล่อยหรือเปล่า เราเริ่มจากการไม่รู้อะไรจริงๆ เลยใช้วิธีให้เต๋อไปอยู่กับน้อง 1 เดือน น้องไปไหนก็ตามไป เพื่อจะเป็นเพื่อนกับน้อง

 

เต๋อ: อาจจะยาวกว่า 1 เดือนด้วยนะ คือเริ่มจากการไปให้น้องเห็นหน้าบ่อยที่สุด รู้สึกว่าเราเข้ามาทีหลัง มันไม่มีวันเป็นเพื่อนสนิทเขาได้จริงๆ หรอก อย่าพยายามเลย สิ่งที่เราทำได้มีแค่ เฮ้ย เรามาที่นี่เพื่อคุยกับคุณ ไม่ได้มาล้วงความลับ เราแค่อยากรู้จักคุณจริงๆ แล้วพอไปเจอน้องจริงๆ รู้สึกได้เลยว่าไม่มีใครเด็กเลยครับ โตกันหมด โตในระดับที่เราเคารพเขาเท่ากันโดยไม่รู้สึกว่านี่เป็นน้องแล้วต้องเอ็นดูเขา โห คนนี้ความคิดกึ่งๆ จะเป็นเด็กอายุ 25 อยู่แล้ว ทั้งๆ ที่อายุแค่ 15 ปีเอง นี่คือสิ่งที่เราอยากทำกับน้อง คืออยากพูดก็พูด ไม่อยากพูดก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปตะล่อมถามอะไรแบบนี้

 

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่เราควรจะได้มาก่อนคือพอถึงวันสัมภาษณ์ตัวต่อตัวจริงๆ เขาควรจะไว้ใจเรามากพอที่จะพูดกับเรา เพราะนั่นคือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ จะไปบอกให้น้องพูดเรื่องนั้นออกมาเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ถ้าเขาไม่เชื่อเรา เขาจะพูดเท่าที่เขาพูดได้ ซึ่งมันอาจจะน้อยจนเอามาใช้ไม่ได้เลย เราก็วัดดวงไปเลย เพราะชัดเจนอยู่แล้วว่าเรามาทำอะไร

 

 

บรรยากาศวันแรกที่เดินเข้าไปอยู่กับน้องๆ เป็นอย่างไรบ้าง

เต๋อ: ที่ได้ไปเจอจริงๆ คือวันที่เขามาถ่ายปก B SIDE. กับ Salmon Books ความรู้สึกคือเกร็งมาก (หัวเราะ) เพราะเหมือนคนนอกที่เดินเข้ามาทำอะไรไม่รู้ เหมือนเด็กนักเรียนใหม่ในห้องที่ไม่มีการแนะนำตัวหน้าห้องมาก่อน อยู่ดีๆ ก็เดินเข้ามาเลย น้องๆ เขาไม่รู้จักผมด้วยซ้ำ มีแค่ 1-2 คนที่อาจจะพอเคยเห็นผมมาบ้าง

 

วิชัย: ตอนนั้นเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่านวพลมาดูโปรเจกต์นี้แล้ว

 

เต๋อ: เขาคิดว่าผมเป็นทีมไฟด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะเดินปนอยู่กับช่างภาพ แล้วผมก็ไม่รู้อะไรเลยจนไม่ไหว ต้องบอกว่าขอเถอะครับ ขอ 1 วันให้ผมอยู่ข้างหน้าทุกคนแล้วพูดว่าเราจะมาทำอะไร เป็นหนังเรื่องแรกที่เราต้องเข้าไปแนะนำตัวกับใครแบบนี้ ในฐานะผู้กำกับหนัง นี่คือสถานการณ์ที่น่ากลัวที่สุด เพราะอยู่ในเซตที่ควบคุมอะไรไม่ได้เลย เราไม่มีอำนาจอะไรทั้งนั้น ถ้าน้องไม่อยากคุยเขาก็ไม่คุย สั่งแอ็กชันก็ไม่ได้ แล้วเราก็ไม่อยากมีฟีลลิ่งว่าอยู่ดีๆ เดินเข้าไปคุยแล้วเหมือนคนไปพยายามตีซี้เขา

 

คิดถึงขนาดว่าถ้าเราได้ทำงานกับเขาก็คงดีนะ เช่น ให้ไปซื้อข้าวซื้อน้ำก็ได้ (หัวเราะ) อย่างน้อยให้มีบทบาทบอกน้องได้ว่าเอาข้าวมาให้แล้วนะ การอยู่ที่นั่นเฉยๆ โดยไม่รู้จะทำอะไรมันเหงานะเว้ย (หัวเราะ) ต้องใช้เวลาอยู่สักพักจนเขาเริ่มจำได้ ก็มีคุยเล่น เละเทะบ้างนิดหน่อยๆ แต่กว่าจะสนิทกันก็คอนเสิร์ตโน่นเลย (BNK48 1st Concert “STARTO” จัดวันที่ 31 มีนาคม 2561) เริ่มมีการเดินมาขโมยกล้อง เหมือนเป็นการลงทุนด้วยเวลาเหมือนกันนะที่ต้องใช้เวลาถึงจุดหนึ่งถึงจะเริ่มโอเค

 

มีความมั่นใจมากขนาดไหนก่อนเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์น้องๆ แบบตัวต่อตัว เพราะก่อนหน้านี้บอกว่าเป็นการวัดดวงที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย

เต๋อ: ไม่มั่นใจอะไรเลย (หัวเราะ) อาจจะมีบางคนที่รู้สึกว่าสนิทกันขึ้นจริงๆ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกแบบนั้นกับทุกคน เพราะฉะนั้นมันคือการวัดดวงจริงๆ ว่าได้อะไรมากน้อยแค่ไหน

 

ตอนถ่ายสัมภาษณ์ เราใช้วิธีเดียวกับ The Master (หนังสารคดีของเต๋อที่พูดถึงร้านแว่นวิดีโอ เข้าฉายปี 2557) อันนั้นตอนสัมภาษณ์จะเป็นยุ้งฉาง แต่อันนี้แคบกว่า ใกล้กว่านั้นอีก แทบจะเหมือนคุยกันในห้องน้ำ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือเปล่านะ วัดดวงอีกเหมือนกัน แต่พอผ่านไปสัก 1 ชั่วโมงเขาจะลืมว่าสัมภาษณ์กันอยู่ แล้วจะเริ่มคุยเละเทะ คงเพราะมันเงียบและส่วนตัวพอที่จะนั่งคุยกันเรื่องสัพเพเหระหรือเรื่องสำคัญที่อยู่ลึกๆ ในใจ

 

วิชัยต้องเข้าไปยุ่งกับกระบวนการถ่ายทำมากแค่ไหนในฐานะโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้

วิชัย: แทบไม่ได้ไปยุ่งเลยครับ ตั้งแต่ตอนที่เต๋อไปตามน้องๆ หรือตอนสัมภาษณ์ พอเต๋อไปอยู่กับน้องๆ ได้สัก 10 วัน เห็นว่าเริ่มสนิทกัน เราก็บอกว่าจะไม่เข้าไปแล้วนะ เราไม่อยากเพิ่มตัวละครใหม่เข้าไปในชีวิตเขาแล้ว ถ้าเต๋ออยู่ในจังหวะการทำงานแล้วเราอยากเห็นน้องก็ขึ้นมาดูตอนสัมภาษณ์บ้างนิดหน่อย แต่ไม่ถาม ไม่ยุ่งอะไรแล้ว

 

 

วิชัยมองอยู่ข้างนอก ส่วนเต๋อเข้าไปอยู่กับน้องๆ จริงๆ แล้วช่วงที่กลับมานั่งคุยกันมีเรื่องไหนบ้างไหมที่วิชัยรู้สึกไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เต๋อกำลังทำอยู่ขึ้นมา

วิชัย: มันไม่เชื่อไม่ได้ครับ ต้องเชื่อตั้งแต่เราชวนนวพลมาทำแล้ว อย่างเดียวที่แอบกังวลคือจะมีบางโมเมนต์ในการทำงานที่ผู้กำกับถลำลึกลงไปในไอเดียที่เขาคิดว่าถูกต้อง เราก็จะไปเช็กเอาไว้ก่อน แต่ไม่ได้จะห้ามอะไร เราดูเพื่อจะไปเช็กกับทาง BNK48 ว่าถ้าเขามาเวย์นี้แล้วเราจะเอามารวบตึงกับนวพลได้ไหม เหมือนเราอยู่ตรงกลางระหว่างนวพลและ BNK48 บอกเขาว่าเรามีกรอบประมาณนี้นะ ไปสุวรรณภูมิ จะตัดเลนวิ่งยังไงก็เรื่องของมึง แต่ต้องมาที่นี่นะ สมมติว่าเขาอยากแวะกิ่งแก้วก่อน ผมก็จะไปบอก BNK48 ว่านวพลขอแวะนิดหนึ่งนะครับ ตรงนั้นมีจุดชมวิวอยู่ แต่จะมาถึงแน่นอน ระหว่างถ่ายทำก็จะเป็นลักษณะนี้ จนเข้าช่วงตัดต่อที่ทางนวพลก็หน้ามืดอยู่คนเดียว อันนี้ผมยิ่งไม่ยุ่งเลย ไม่กล้าโทรไปถามด้วยซ้ำว่าเป็นยังไงบ้าง (หัวเราะ)

 

เต๋อ: หนักกว่าติดถ้ำหลวง ออกมาไม่ได้อีกเลยในเชิงจิตใจ (หัวเราะ) ไม่มีใครมาช่วยด้วย

 

เต๋อเคยหลุดกรอบออกไปมากๆ บ้างไหม

วิชัย: ไม่มี เพราะรู้สึกว่ากรอบเรากว้างมาก แล้วสักพักหัวข้อที่คุยมันเซนสิทีฟมากๆ มากจนเราคิดว่ามันจะใช้งานได้จริงๆ เหรอวะ แต่สุดท้ายแม่งก็ทำออกมาจนได้ ซึ่งเราชอบไอ้ความเซนสิทีฟตรงนี้ เราบอกเต๋อแค่ว่าไม่ว่าจะเล่าเรื่องยังไง สุดท้ายมันต้องเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเราจะเข้ามาอยู่ในชีวิตน้องครึ่งปี หลังจากนั้นก็ออกไป เพราะฉะนั้นเราไม่ควรทิ้งบางอย่างแย่ๆ ให้เขา เพราะสุดท้ายคนที่ดีหรือไม่ดีก็คือตัวน้อง BNK48 ทุกคนเอง

 

จริงๆ เราสองคนชอบเรื่องดาร์กๆ นะ แต่เวลาดาร์กมากเกินไปจนกลับมาไม่ได้มันก็ต้องจบแบบดาร์กๆ แต่เรื่องนี้รู้สึกว่าตัวน้องก็ดูสดใสนะ ถ้าจะเอาน้องเข้าถ้ำไปแบบดาร์กๆ เราก็ต้องพาน้องออกมาจากถ้ำด้วย

 

เต๋อ: แต่สิ่งที่เราคิดได้ตอนเอาฟุตเทจมาดูอีกรอบมันไม่ใช่เรื่องดาร์กหรือแฮปปี้แล้วนะ มันคือเรื่องดีเทลชีวิตคนมากกว่าที่น่าสนใจที่สุดสำหรับเรา พูดง่ายๆ มันคือเด็กวัยรุ่น 26 คนที่เจอประสบการณ์พิเศษในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แล้วพอคุยกับน้องเสร็จเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เขาคือคนที่มีประสบการณ์คนหนึ่ง เพราะบางเรื่องที่เขาเคยเจอ เราก็ไม่เคยเจอ บางประโยคที่เขาพูดออกมาแม่งมีผลกับเรามาถึงตอนนี้นะ โห พูดอย่างนี้เลยเหรอ นี่คือคนจริงๆ ที่เจอสิ่งนี้ แล้วรีแอ็กออกมาแบบนี้ หนังไม่ได้เกี่ยวกับวงดนตรีแล้ว มันเกี่ยวกับคน 26 คน

 

วิชัย: ผมดูดราฟต์แรกได้ครึ่งทาง คิดในใจว่า เชี่ย นี่ไม่ใช่หนัง BNK48 แล้ว มันคือหนังวัยรุ่นจริงๆ แล้วผมก็อินฉิบหายเลย พอฮุกติดปุ๊บ ผมอินเลย ไม่ได้รู้สึกว่าเฌอปรางคือกัปตันแล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าคนไหนคือเซ็นเตอร์ คนไหนคือเซมบัตสึ หรือคนไหนคืออะไร เพราะทั้งหมดคือวัยรุ่น

 

ช่วงแรกมันต้องมีตั้งไว้คร่าวๆ ก่อนไหมว่าอยากเน้นใครเป็นพิเศษ หรือคิดตั้งแต่แรกว่าจะไม่ทำให้ใครเป็นใคร ทุกคนเท่ากันหมด

เต๋อ: แต่ละคนมีพื้นที่ไม่เท่ากันแน่ๆ แต่บอกได้ว่ามันคือหนังของทุกคน บางคนก็อาจจะน้อยจนถ้าเจอหน้าเราคงต้องยกมือขอโทษ (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่เพราะเขาดังน้อยนะ เพราะวิธีการทำงานคือเราดูฟุตเทจ 26 คนที่มีเรื่องน่าสนใจคนละอัน หน้าที่ของเราคือเอาสิ่งที่เขาพูดดีที่สุดหรืออะไรก็ตามที่เขาสนใจที่สุดไปอยู่ในจังหวะของหนังที่ถูกต้องที่สุดแค่นั้นเอง บางคนมีเรื่องน่าสนใจมาก แต่เรื่องของเขาดันไม่สอดคล้องไปกับตัวหนัง เลยออกมาน้อยหน่อย แต่ไม่ใช่ว่าเขาไม่น่าสนใจ เหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้ประกอบด้วยการที่คน 26 คนมาช่วยกันคุยมากกว่า

 

 

ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกด้วยหรือเปล่าว่าเต๋อจะต้องตัดต่อเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

เต๋อ: ใช่ครับ เพราะเวลาด้วย รู้สึกว่าตัดเองจะเร็วกว่า เพราะถ้าคนอื่นมาทำเขาจะต้องมาเริ่มใหม่หมดเลย แต่เราจะรู้ว่ามันมีช่วงไหนที่น่าสนใจ อันไหนน่าจะเอามาใช้ได้ ขนาดเราเป็นคนสัมภาษณ์เองยังใช้เวลาดูฟุตเทจอย่างเดียวประมาณครึ่งเดือนเลยนะ ที่เหลือก็ตัดต่อประกอบร่างอีก 2 เดือนครึ่งโดยไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย อยู่กับฟุตเทจน้องๆ ตลอดเวลาจริงๆ เป็นงานรูทีนแบบเริ่มงาน 8 โมงเช้า เลิก 5 ทุ่มถึงเที่ยงคืน

 

จุดหนึ่งต้องหยุด เพราะอยู่กับมันตลอดเวลาจริงๆ แล้วพอเราออกไปข้างนอกก็กลายเป็นโจ๊กว่าออกไปกินข้าว ออกไปที่ไหนก็เจอ หรือขับรถอยู่ก็จะมีรถเมล์ที่มีโฆษณาน้องโมบายล์ (พิมรภัส ผดุงวัฒนะโชค) มาจอดเทียบก็แบบ เดี๋ยว! นี่น้องมาทวงงานกูอยู่หรือเปล่าวะ (หัวเราะ)

 

คุณมีวิธีการอย่างไรในการทำหนังสารคดีของวง BNK48 ให้หลุดออกจากการรับรู้ที่มีอยู่เดิมในสังคม เพราะสมาชิกทุกคนมีช่องทางพรีเซนต์ตัวเองมากมาย ทั้งการไลฟ์ผ่าน VOOV การไลฟ์ที่ตู้ปลา โซเชียลมีเดียของตัวเอง การสัมภาษณ์สื่อต่างๆ รวมทั้งบรรดาโอตะที่รู้เรื่องของน้องๆ แทบทุกอย่างหมดแล้ว

เต๋อ: ตอนแรกเคยคิดเหมือนกันว่าจะทำแบบนั้น แต่พอไปถึงจุดหนึ่งก็ช่างแม่งไปเลย (หัวเราะ) อยู่ดีๆ ก็คิดว่าสิ่งที่คนอื่นไม่มีแน่ๆ คือกูไปอยู่กับเขามา 1 เดือน กูนั่งอยู่กับน้องตรงห้องแต่งหน้านี่แหละ เพราะฉะนั้นต้องได้อะไรมาแน่นอน เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าจะได้อะไรแค่นั้นเอง

 

วิชัย: ผมว่าข้อได้เปรียบอีกอย่างคือมันไม่ใช่หนังที่ทำโดยเวรี่โอตะ เราไม่รู้ว่าคำถามไหนควรถามหรือไม่ควรถาม สมมติเรารู้จักคริสโตเฟอร์ โนแลน เราจะรู้ว่าอันนี้ไม่ควรถามนะ เพราะมีคนถามไปแล้ว แต่ถ้าไม่รู้จักก็จะถามเลยว่าลุงเคยทำหนังเรื่องอะไรมาบ้าง อ๋อ แบทแมนเหรอ ตอนนั้นลุงถ่ายยังไงนะ มันอาจจะมีไอเดียบางอย่างที่เขาไม่เคยตอบหลุดออกมาก็ได้

 

มีคำถามไหนที่พอถามออกไปแล้วรู้สึกว่าไม่น่าถามออกไปเลยบ้างหรือเปล่า

เต๋อ: (คิดนาน) อธิบายอย่างนี้ดีกว่า สมมติเราถามเรื่องความรัก บางคนก็เล่าได้สบาย ไม่มีปัญหา บางคนก็จะแบบ…ไม่เล่าได้ไหมคะ มันมีอะไรแบบนี้ที่เราไม่แน่ใจจริงๆ ว่าน้องคนนี้เขาคิดอะไรอยู่ ยิ่งอยู่กับเขานานเท่าไรยิ่งรู้สึกว่าการบ้านที่เราทำมามันใช้ไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวจริงเขาซับซ้อนกว่านั้นเยอะเลย

 

ของเราจะต่างจากคนอื่นหน่อยตรงที่กล้องแม่งอยู่ข้างหน้าเลย มันคือ commitment ประมาณหนึ่งว่ามันบันทึกหน้าคุณตรงๆ อยู่ ทุกอย่างที่ออกมามันคือคำพูดของคุณแน่ๆ เพราะฉะนั้นอยากพูดก็พูด ถ้าไม่อยากพูดก็ไม่ต้องเลย เราไม่อยากให้น้องรู้สึกว่าสัมภาษณ์เสร็จแล้วกลับบ้านไปนอนไม่หลับ แต่กลายเป็นว่าน้องเขารู้ตัวนะ และเขาก็อยากที่จะพูดทั้งหมด ตื้นลึกหนาบางอะไรก็แล้วแต่ หรือความในใจต่างๆ บางคนเหมือนฝากมาพูดด้วยซ้ำว่านี่แหละคือโอกาสที่จะได้พูด งั้นพูดให้หมดเลย

 

วิชัย: บางคนพูดจนแบบ…น้อง พอแล้ว (หัวเราะ)

 

 

รู้สึกอย่างไรบ้างกับการถูกมองว่าเป็นผู้ชายที่โอตะอิจฉามากที่สุดในเวลานี้

เต๋อ: มันเหนื่อยนะ อย่าอิจฉาผมเลยครับ (หัวเราะ) พออยู่ตรงนั้นแล้วคุณไม่ได้มีสมาธิขนาดนั้นหรอก หนึ่งคือเบื้องต้นเราก็ไม่ได้ชอบน้องแบบฮาร์ดคอร์ขนาดนั้น เราเข้าไปก็รู้สึกดีที่ได้เจอน้อง แต่ ณ โพสิชันนั้นมันเหงาจริงๆ นะ คุยกับใครได้บ้างวะ เพราะเราเข้าไปเพื่อทำงาน ไม่ได้เข้าไปเดินเล่นเฉยๆ

 

สองคือเราอยากให้น้องสบายใจ ไม่ได้อยากรู้สึกแค่ โอ้ ได้ใกล้ชิดกับน้องแบบนั้น เราอยากให้เขาได้อยู่ตามปกติที่เขาควรจะอยู่ เพราะฉะนั้นสถานะเราเหมือนผีกว่าด้วยซ้ำ คือให้เขารู้สึกว่าไม่มีเราอยู่ตรงนั้นได้ แต่ถ้าเราเข้าไปคุยด้วย ช่วยคุยกับเรานิดหนึ่งนะแค่นั้นเอง มันจะมีความเด๋อๆ ด๋าๆ เกิดขึ้นเหมือนกัน

 

ก่อนหน้านี้เคยมีความรู้สึกด้านลบบางอย่างกับ BNK48 มาก่อนบ้างไหม

วิชัย: ไม่มีนะ ผมพูดบ่อยว่าวงการเพลงบ้านเราขาดสีสัน แล้ววัฒนธรรมทั้งหมดของ BNK48 มาช่วยเพิ่มสีสันตรงนี้ได้ดีเลยล่ะ แต่สิ่งที่ได้จากการทำหนังเรื่องนี้เพิ่มคือก่อนหน้านี้ผมคิดว่าน้องคงเป็นเด็กทั่วๆ ไปแหละตามที่น้องแสดงออกมา แต่พอมาเห็นจริงๆ ผมรู้สึกว่าน้องแม่งจริงเกิน สิ่งที่น้องพูดออกมา สิ่งที่แสดงออกมาทางแววตา ความรู้สึก น้องแม่งโคตรเรียล เป็นมนุษย์โคตรๆ จนคิดเลยว่า เชี่ย เราแม่งเสพทุกอย่างผ่านแค่สิ่งที่คนเซตอัพมาเท่านั้นเลย

 

พอคุยกับทุกคนไปเรื่อยๆ แล้วมีความรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจอะไรบางอย่างที่ทำให้น้องต้องมาเจออะไรแบบนี้บ้างหรือเปล่า

เต๋อ: ไม่นะ หนึ่งคือเรารู้สึกว่าเขาเดินทางเข้ามาด้วยตัวเขาเอง กับสองคือเราเชื่อว่าประสบการณ์ใดๆ ก็ตามที่เขาเจอในวันนี้มันจะเป็นฐานที่แข็งแรงมากๆ ในการใช้ชีวิตถัดๆ ไป มันจะทำให้คุณเติบโตขึ้นอีกมากแน่ๆ

 

วิชัย: เราว่าโลกของน้องคือสังคมหนึ่ง แต่ละสังคมมีกฎของมันอยู่แล้ว แล้วน้องรับมือกับกฎนั้นได้ดีมาก บางเรื่องถ้าเปลี่ยนเป็นเรา ไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่าจะทำได้อย่างน้องหรือเปล่า มีคำถามหนึ่งที่เราได้ยินตอนสัมภาษณ์พอดี น้องบอกว่า “ก็เข้ามาเพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นอย่างนี้” ตอนแรกคิดว่าจะเลี่ยงๆ ตอบแบบนางงามนะ แต่น้องแมนมากๆ เขาเตรียมใจอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรต้องโกรธว่ะ แล้วแต่ละสังคมมันก็มีคนดี คนไม่ดี มีคนบูลลี่ ไม่บูลลี่ น้องเขาก็แค่เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในนั้น  

 

 

นอกจากการถูกโจมตีจากฝั่งแอนตี้มากๆ มีความรู้สึกว่าตัวน้องๆ เองก็เข้มแข็งมากกว่าที่หลายคนพยายามปกป้องน้องๆ มากจนเกินไปบ้างไหม

วิชัย: เราไม่แน่ใจว่าน้องแข็งแกร่งแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือน้องจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ พวกเราอาจจะลืมไปว่าน้องก็เป็นแค่เด็กวัยรุ่นที่บางทีก็ทำอะไรที่ประสาทแดกขึ้นมา แล้วเราคิดว่าเป็นหน้าที่หรือเป็นสิทธิ์ของแฟนคลับของโอตะที่จะรู้สึกหวั่นไหวหรือออกมาช่วยอะไรบางอย่าง เขาแค่กำลังทำหน้าที่ของเขาเท่านั้นเอง

 

เต๋อ: แต่สุดท้ายคนที่จะตอบได้มากที่สุดคือตัวน้องนะ เราไม่แน่ใจเหมือนกัน บางคนอาจจะรู้สึกโอเคก็ได้ที่มีคนมาปกป้อง แต่บางคนอาจจะรู้สึกปล่อยเขาไปเถอะก็ได้ ต้องถามเจ้าตัว เพราะว่าแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน

 

 

มีเห็นภาพของน้องๆ คนไหนแล้วคิดถึงตัวเองในสมัยเด็กๆ ซ้อนทับขึ้นมาบ้างหรือเปล่า

เต๋อ: เราใกล้เคียงกับเจนนิษฐ์มั้ง ยิ่งคุยยิ่งแบบ เชี่ย มึงเป็นคนเหมือนกูนี่ เชี่ยๆ พูดแบบนี้ได้ไหมนะ (หัวเราะ) เด้ดๆ เหมือนกัน ทางมุกก็คล้ายกันมากเลย

 

วิชัย: เรารู้สึกว่าแต่ละมุมของน้องแต่ละคนมันแทนที่ความรู้สึกวัยรุ่นในแต่ละช่วงได้ดีมาก มันมีคน 26 แบบ เท่ากับว่าในช่วงหนึ่งของเราจะต้องเป็นแบบนั้นแน่ๆ หรือในกลุ่มเพื่อนวัยรุ่นของเราก็ต้องมีคนแบบนั้นอยู่เหมือนกัน มีบางท่อนที่ดูแล้วน้ำตาไหล เชี่ย กูก็เคยเป็น บางทีการที่เราดูคนเฟลเรื่องเดียวกับที่เราเฟลมันช่วยปลอบประโลมเราได้เหมือนกันนะ แล้วอยู่ดีๆ น้องก็พูดเรื่องที่มันมีอินเนอร์มากๆ ออกมา เชี่ย มันมีคนที่รู้สึกเหมือนเราตอนนั้นอยู่เว้ย

 

เต๋อ: อีกเรื่องที่เรารู้สึกเยอะๆ คือถ้าคิดว่าเด็กกรุ๊ปนี้คือเด็กในวงการบันเทิงนะ หลายๆ คำตอบที่แม่งโคตรตรงไปตรงมา บางคนอาจจะพูดได้ตอนอายุ 35 หรือออกจากวงการไปแล้วถึงจะพูดอย่างนี้ได้ เราไม่เคยเห็นศิลปินคนไหนพูดตรงขนาดนี้ในช่วงที่เขายังแอ็กทีฟอยู่นะ แล้วเราก็รู้สึกดีใจที่ทางค่ายเขาก็เอาแบบนี้กับเราด้วย

 

วิชัย: วันก่อนฉายหนังดราฟต์แรกให้ค่ายดู ผมมวนท้องจนนอนไม่หลับเลยนะ เครียดมาก ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่ต้องไปขายลูกค้าที่เต๋อกำกับ หน้าที่เราคือ defend หนังให้ได้ ซึ่งมันจะมีบางจุดที่เต๋อบอกว่าถ้าเขาคอมเมนต์มา เรา defend ไม่ได้แน่ๆ ปรากฏว่าเขาไม่คอมเมนต์อะไรเลยนอกจากพวกเรื่องเทคนิค เรื่องสปีดหนัง เรื่องอยากได้ฟุตเทจเพิ่ม ซึ่งพวกนั้นมันเป็นปัญหาทางเทคนิคที่เรายินดีแก้ให้ได้อยู่แล้ว แล้วเราคุยงานกันแค่ 2 ครั้งเองมั้งก็จบแล้ว หลังจากนั้นผมพยายามคุยกับเขาน้อยมากเลย กลัวเขาเปลี่ยนใจ (หัวเราะ)

 

 

หลังทำโปรเจกต์นี้จบ รู้สึกถึงอะไรบางอย่างในตัวเองที่ถูกชีวิตของ BNK48 เปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า

วิชัย: บางทีเรากำลังเสพสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมให้เรารู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่ได้ดูเนื้อแท้ของมัน ซึ่งไม่ผิดนะที่เราไม่เห็น เพราะระบบมันออกแบบมาอย่างนี้ อย่าง AKB48 ออกแบบมาดีมากจนเราคล้อยตามเขา บางครั้งเราก็ลืมไปว่าจริงๆ คนที่มาร้องแบบนั้น เต้นแบบนั้น ร่าเริงแบบนั้น มันต้องมีความรู้สึกจริงๆ เหมือนกันนะ นั่นคืองานของเขา แล้วเราก็เห็นเขาเฉพาะเวลาทำงาน พอเราเห็นเขาตลอดเวลาเลยคิดว่าเขาทำงานตลอด ซึ่งจริงๆ เขาต้องเลิกงานเพื่อกลับไปเป็นลูกของพ่อแม่ เป็นเพื่อนของเพื่อน เขาต้องพักผ่อนเพื่อตื่นมาเป็นไอดอลในเช้าวันต่อมา เพียงแต่เราไม่เคยเห็นภาพตรงนั้นของเขาเท่านั้นเอง

 

เต๋อ: ของเราเป็นความรู้สึกว่าเรากระจอกจัง ปกติเราทำหนังวัยรุ่นอยู่แล้วใช่ไหม แต่สิ่งที่เขียนออกมามันสู้ความจริงจากปากน้องไม่ได้เลย พลังมันคนละเรื่องเลยครับ สิ่งที่น้องพูดมันจริงกว่า เรียลกว่า ถูกต้องกว่า เป็นสิ่งที่เราไม่มีทางจินตนาการหรือเขียนขึ้นมาได้ เวลาเจอตรงๆ ต่อหน้าแล้วพลังมันแรงกว่าเยอะ

 

ที่เราเห็นมันไม่ใช่แค่ไดอะล็อก ไม่ใช่แค่คำพูดของน้อง มันมีรีแอ็กชัน มันคือใบหน้า เพราะหนังมันจับภาพใกล้มาก ได้เห็นความรู้สึกบนใบหน้าคนที่มันเรียลิสติก อยากตอบ ไม่อยากตอบ กังวลใจ ภูมิใจ ดีใจ เสียใจ แล้วพอเห็นฟุตเทจหลายๆ รอบก็ยิ่งเห็นละเอียดมากขึ้นจนรู้สึกว่าที่เราทำมาแม่งช่างเปล่าประโยชน์เหลือเกิน มันสู้พลังความจริงไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าถ้าอย่างนั้นเราเลิกทำดีกว่า เราแค่คิดว่านี่ไง มีตัวอย่างดีๆ ให้ดูแล้วก็เอาไปปรับใช้ในการเขียนบทครั้งต่อๆ ไป

 

 

ถึงขนาดอินมากๆ จนร้องไห้ออกมาระหว่างตัดต่อหรือดูฟุตเทจไปเรื่อยๆ เลยไหม

เต๋อ: กับเรื่องนี้เรามีนิดหนึ่งจริงๆ นะ บางช็อตที่แบบ เชี่ย ดูกี่ทีก็เหนื่อย

 

วิชัย: เราดูหนังไป 5 รอบ จะมีช็อตที่รู้ว่าต่อไปจะมานะ แต่พอมาถึง เชี่ย แม่งยังรู้สึกอยู่เลยว่ะ

เต๋อ: มันมีฟุตเทจของบางคนที่ถึงขั้นเราไม่กล้ามองหน้าเขาตอนตัดต่อ อันนี้จริงๆ นะ ใช้ฟังเสียงอย่างเดียว ด้วยคำถามที่มันมีความกระอักกระอ่วนนิดหน่อย คือเราไม่ได้บังคับให้เขาตอบนะ เขาอยากตอบ แต่ในช่วงที่เขาพยายามหาคำอธิบายมันจะมีความรู้สึกแบบ เออ ไม่อยากมองหน้าเขา ไม่กล้ามองหน้า subject ของเรา ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนเลย

 

ภาพ: Salmon House, นวลตา วงศ์เจริญ

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising