×

วิรไท สันติประภพ แนะไทยเร่งดูแลปัญหาคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนข้ามรุ่น และโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี ก่อนก้าวข้าม Tipping Point

09.08.2022
  • LOADING...
วิรไท สันติประภพ

วิรไท สันติประภพ แนะไทยให้ความสำคัญปัญหาด้านสังคมและธรรมาภิบาลควบคู่สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนแบบองค์รวม ชี้ต้องดูแลปัญหาคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนข้ามรุ่น และการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ไม่ให้ก้าวข้ามจุดหักเหที่ไม่อาจย้อนกลับ  

 

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา ThaiPublica Forum 2022 ‘ก้าวร่วมกัน…สู่ก้าวที่ยั่งยืน’ ว่าปัญหาทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนบนโลกในทุกด้าน เห็นได้จากการเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคอุบัติใหม่ ปัญหาขาดแคลนอาหารและที่อยู่อาศัยก่อให้เกิดการอพยพและสงครามแย่งน้ำ 

 

โดยองค์กรสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปีนี้และปีหน้าโลกจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงจาก 3 Cs ได้แก่ Climate (สภาพอากาศ), Conflict (ความขัดแย้ง) และ COVID-19 ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตขาดแคลน 3 Fs ได้แก่ Food (อาหาร), Fuel (เชื้อเพลิง) และ Fertilizer (ปุ๋ย) ซึ่งปัญหาใหญ่ในปีนี้จะเป็นเรื่องราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ในปีหน้าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงอาหาร

 

“มีการคาดการณ์ว่าในสิ้นปี 2022 นี้จะมีประชากรถึง 345 ล้านคนใน 80 ประเทศทั่วโลกประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งประเทศใดก็ตามที่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมักจะมีปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองตามมา อาจมีการอพยพครั้งใหญ่และปัญหาอาชญากรรมตามมา” วิรไทกล่าว

 

ทั้งนี้ หากมองกลับมาที่ประเทศไทยจะพบว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีความน่ากังวลทีเดียว แม้ไทยอาจไม่เจอสภาวะขาดแคลนอาหาร แต่ไทยก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากวิถีชีวิตคนไทยครึ่งหนึ่งมีความเกี่ยวโยงกับภาคเกษตร ขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรมไทยจำนวนไม่น้อยก็อยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง ที่ราบต่ำ ในด้านอุตสาหกรรมบริการ แหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากก็เป็นพื้นที่ชายฝั่ง ส่วนเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็มีความเสี่ยงจะจมน้ำ โดยปัญหาเหล่านี้ล้วนมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น

 

วิรไทกล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องการเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่การพูดคุยก็ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีแรงกดดันจากมาตรฐานระดับโลก ยังไม่กระจายไปสู่วิถีชีวิตและการทำธุรกิจส่วนใหญ่ ที่สำคัญไทยยังมีการพูดถึง Adaptation Plan หรือ แผนการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศน้อยอยู่ โดยในต่างประเทศมีการเตรียมแผนรองรับในเรื่องนี้แล้ว แต่สังคมไทยยังเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับความสำคัญ

 

“เมื่อพิจารณาจากกรอบ ESG นอกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือตัว E ที่เป็นปัญหาใหญ่ของไทยแล้ว หากดูในด้านสังคมหรือตัว S และธรรมาภิบาลหรือตัว G ก็พบว่าทั้งสองเรื่องนี้ก็กำลังเข้าใกล้จุดหักเหที่ไม่อาจย้อนกลับ หรือ Tipping Point มากขึ้นเช่นกัน โดยมีหลายเรื่องที่ไทยได้ก้าวข้าม Tipping Point ไปแล้ว เช่น การปล่อยก๊าชเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ และกำลังจะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์” วิรไทกล่าว

 

อย่างไรก็ดี เรื่องที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้ก้าวข้าม Tipping Point ในด้านสังคมและธรรมาภิบาล ก็คือปัญหาคอร์รัปชัน โดยหากปล่อยให้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับได้ในสังคม จะแก้ปัญหาได้ยากและมีผลกระทบที่กว้างไกล โดยดัชนีคอร์รัปชันของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงต่อเนื่องทุกปี จากปี 2561 อยู่อันดับ 96 และในปี 2564 อยู่ที่อันดับ 110 แสดงให้เห็นปัญหาที่รุนแรง

 

วิรไทกล่าวอีกว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญของไทยที่ต้องไม่ปล่อยให้ก้าวข้าม Tipping Point ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของคนข้ามรุ่นหรือระหว่างรุ่น ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส 

 

“ที่ผ่านมาเราอาจพูดถึงความเหลื่อมล้ำของสินทรัพย์ หรือความเหลื่อมล้ำเรื่องของรายได้ แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นและโอกาสของคนก็มีความสำคัญเช่นกัน หากปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นและด้านโอกาสจะยิ่งน่ากลัว เห็นได้ชัดจากด้านการศึกษาซึ่งเป็นบันไดทางสังคม แต่วันนี้บันไดนั้นดูเหมือนจะให้โอกาสน้อยลงสำหรับคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ได้ฐานะดี” อดีตผู้ว่า ธปท. ระบุ

 

นอกจากนี้ วิรไทยังแสดงความกังวลในเรื่องเส้นแบ่งของเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง เห็นได้จากธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากด้วยต้นทุนที่ถูกทำให้ความสามารถในการแข่งขันก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในระดับด้านล่างของสังคม และอีกด้านหนึ่งที่ต้องระวังคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยมีความเปราะปรางอยู่มาก อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นในสังคม หากไม่ระมัดระวังและช่วยกันแก้ไข

 

วิรไทกล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ได้นำไปสู่ความแตกต่างทางความคิดของคนหลากหลายกลุ่ม โดยการแตกต่างทางความคิดนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิด ทำให้สังคมไทยมีความเปราะบาง ไม่สามารถสร้างพลังร่วมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เท่าทันกับความท้าทายใหม่ๆ 

 

นอกจากนี้ ในแวดวงธุรกิจของไทยยังมีปัญหาเรื่องการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่เพียงปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ในบางครั้งยังเกิดภาวะที่เรียกว่าปลายักษ์กินปลาเล็ก มีการเอาเปรียบผู้บริโภคจากอำนาจทุนใหญ่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นจุดที่ต้องระมัดระวังเพราะอาจทำให้สังคมเปราะบางลงไปอีก

 

อดีตผู้ว่า ธปท. ระบุว่า กรอบในเรื่องของความยั่งยืนของโลกตะวันตกอาจจะเน้นในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่ในบริบทปัญหาของไทยนั้นจะต้องให้ความสนใจเรื่องสังคมและธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วย หากแก้ปัญหาด้านสังคมและธรรมาภิบาลไม่ได้ หรือปล่อยให้ปัญหาก้าวข้าม Tipping Point ไปมากขึ้น ก็จะไม่มีทางรักษาสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ฉะนั้น การวางยุทธศาสตร์แบบสังคมไทยต้องวางความคิดแบบองค์รวม ดูความเชื่อมโยงกัน 

 

“ด้วยขนาดและความท้าทายของปัญหาที่ไทยเผชิญอยู่ การหวังพึ่งพาให้รัฐทำหน้าที่อย่างเดียวคงไม่พอ การแก้ปัญหาทุกเรื่องต้องมุ่งไปสู่ต้นเหตุของปัญหา เมื่อปัญหาความยั่งยืนเกิดจากเราทุกคน จึงเป็นโจทย์ร่วมของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ ภาคธุรกิจต้องวางเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นยุทธศาสตร์องค์กร ไม่ใช่เพียงการ CSR ต้องมีการวิเคราะห์วางแผนติดตาม ทำความเข้าใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น” วิรไทกล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising