×

พิจารณางบกลางเดือด วีระเสนอตัดงบกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งก้อน ด้านศิริกัญญาเผย รัฐบาลเบี้ยวหนี้แบงก์รัฐแจกเงินหมื่น

โดย THE STANDARD TEAM
03.09.2024
  • LOADING...

วันนี้ (3 กันยายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3,750,000,000,000 บาท ปรับลด 7,824,398,500 บาท โดยเป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรานั้น

 

วีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เสียงข้างน้อย กล่าวอภิปรายถึงงบกลาง มาตรา 6 ว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 187,700,000,000 บาท เสนอให้ตัดงบในส่วนนี้ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ในส่วนงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการโยกเงินจากรัฐวิสาหกิจ 35,000,000,000 บาท มาอยู่ในงบกลางเพิ่มเติมจากเดิม 152,700,000,000 บาท โดยรัฐบาลใช้เวลาในช่วงท้ายของการพิจารณาช่วงสุดท้ายในการประชุม กมธ. ขอเสนอเปลี่ยนแปลงรายการ ซึ่งตนเองไม่ได้เห็นด้วย และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

วีระกล่าวต่อว่า การเสนอเปลี่ยนแปลงโอนเงินงบประมาณ​ดังกล่าว นอกจากไม่สมเหตุผลแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็น สิ่งที่เป็นอยู่เวลานี้ หากรัฐบาลยอมรับความจริงว่าการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 450,000,000,000 บาท ต้องแบ่งออกเป็น 2 ก้อน โดยในก้อนที่ 1 งบประมาณปี 2567 จำนวนเงิน 145,000,000,000-165,000,000,000 บาท ทั้งงบปกติและงบรายจ่ายเพิ่มเติมที่รัฐสภาได้อนุมัติไปแล้วทั้ง 2 รายการ โดยใช้วิธีจ่ายเป็นเงินสด ไม่มีกระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ต จนเกิดความสงสัยและสับสนถึงเป้าหมายและวิธีการ การแจกเงินสดในเดือนกันยายนนี้ให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้พิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ​ โดยไม่มีกระเป๋าดิจิทัลวอลเล็ตรองรับ จึงต้องคิดว่างบกลางที่กันไว้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 187,700,000,000 บาทนั้น หากมีการจ่ายเป็นเงินสด ถือว่าได้ยกเลิกโดยพฤตินัยแล้ว แม้จะไม่ได้มีการระบุว่าค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 2568 จะออกมาในรูปแบบใด จึงเห็นสมควรที่จะทบทวนให้ผ่านงบกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลจะทำ

 

วีระกล่าวต่ออีกว่า การจัดทำงบประมาณในประเภทค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำในงบประมาณปี 2567 และกำลังทำในงบประมาณปี 2568 ควรจัดทำเป็นโครงการเอกเทศ ไม่ควรที่จะถูกแอบแฝงอยู่ในงบกลาง เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบหลังจากที่ทำไปแล้ว

 

ดังนั้นในงบประมาณปี 2568 ในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น โดยเฉพาะหากรัฐบาลจะเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงขอเสนอให้ทำโครงการอย่างชัดเจน หรือทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหลังจากที่ตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกก็ได้ เพื่อความโปร่งใสและรอบคอบของโครงการอย่างต่อเนื่อง

 

ศิริกัญญาชี้ รัฐบาลเบี้ยวหนี้แบงก์รัฐแจกเงินหมื่น

 

ขณะที่ ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายถึงงบกลาง มาตรา 6 ว่า ให้ปรับลดอีก 152,700,000,000 บาท สำหรับมาตรา 6 มีงบประมาณเพิ่มเติมราว 180,000,000,000 บาทเศษ แต่ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงรายการจากการใช้หนี้ธนาคารรัฐ 35,000,000,000 บาท แต่ตนขอตัดเฉพาะที่เป็นค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจอีก 35,000,000,000 บาท ให้นำกลับไปชำระหนี้ของธนาคารของรัฐตามเดิม

 

ศิริกัญญากล่าวว่า ทราบกันดีว่างบกลางก้อนที่งอกขึ้นมา ค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ถูกนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถึงตอนนี้แล้วมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ว่าในเฟสแรกจะเปลี่ยนจากดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินสดไปแล้ว 14.5 ล้านคน ซึ่งใช้งบประมาณสำหรับปี 2567 ราว 145,000,000,000 บาท มาจาก 2 ส่วน

 

ส่วนแรกมาจาก พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 เพิ่มเติม 122,000,000,000 บาท ส่วนที่ 2 ไปใช้งบกลางบางส่วน 23,000,000,000 บาท ตรงนี้เราก็ต้องเลิกเรียกดิจิทัลวอลเล็ตได้แล้ว เพราะว่ามันไม่ใช่ดิจิทัล และไม่ได้มีวอลเล็ตแล้วสำหรับการแจกเป็นเงินสด แต่ยังทำให้มีงบประมาณอีกก้อนที่ยังต้องใช้เพื่อแจก 45 ล้านคน อย่างที่รัฐบาลได้เคยสัญญาไว้ คือต้องหาเงินมาอีก 305,000,000,000 บาท

 

“จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้มีความชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งตนเข้าใจเต็มที่ว่ายังไม่มีรัฐบาล ยังไม่ได้ถวายสัตย์ฯ ยังไม่มีการแถลงนโยบาย ดังนั้นเราไม่มีทางรู้ว่าเงินก้อนที่เหลือจะแจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ หรือจะแจกเป็นเงินสดอีก หรือจะแจกเท่าไร เมื่อไร ทุกอย่างต้องรอให้เกิดความชัดเจนหลังจากที่มี ครม. ใหม่ และมีการแถลงนโยบาย ดังนั้นตนไม่รู้ว่าเราจะมาพิจารณาเพื่ออนุมัติงบก้อนนี้กันไปเพื่ออะไร”

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำให้ได้ตามที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้เคยสัญญาเอาไว้ เราต้องการเงินเพิ่มอีก 305,000,000,000 บาท วันนี้ที่เราพิจารณากันอยู่ก็จะมีในส่วนที่ได้ตั้งงบมาตั้งแต่วาระ 1 จำนวน 152,700,000,000 บาทไว้ในกระเป๋าเรียบร้อย 1 ก้อน อีก 1 ก้อนจากการชักดาบเบี้ยวหนี้ธนาคารของรัฐไป 35,000,000,000 บาท เรียกได้ว่าหน้ามืดแล้ว มีเงินตรงไหน ซ่อนตรงไหน เก๊ะไหนเหลือ ก็ขอไปล้วงไปควักออกมาให้หมด

 

แต่จนแล้วจนรอดมันก็ยังไม่ครบ 305,000,000,000 บาท ยังขาดอีก 117,000,000,000 บาทเศษ ซึ่งเท่ากับคนประมาณ12 ล้านคน ที่ตอนนี้ยังหน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่ทราบว่าจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่ายให้กับประชาชนจนครบ ถ้ายังไม่ครบ ให้ไปตัดงบของธนาคารแห่งรัฐมาก่อนทำไม ที่ ธ.ก.ส. โดนตัดเกลี้ยง ยกเว้นในส่วนที่กระทรวงการคลังไปกู้มาให้ ธ.ก.ส.กู้ต่อ ตรงนั้นยังคงอยู่จ่ายต่อ แต่ส่วนที่ใช้ตามมาตรา 28 ที่จะต้องคืนปีนี้ 31,000,000,000 บาท ตัดหมด ที่หลายโครงการเป็นโครงการมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เช่น โครงการจำนำสินค้าเกษตร ปี 2552, โครงการประกันรายได้ฯ สมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงตัดงบของธนาคารออมสิน 2,000,000,000 บาท ซึ่งเป็นรายการที่ใช้ในโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด เป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้รวมเงินเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 

ศิริกัญญากล่าวต่อว่า เงินก้อนนี้มาประหลาดมาก เพราะตอนที่ทำงานในชั้นอนุ กมธ. ไม่มีอนุ กมธ. ไหนตัด ไม่มีการตัดงบประมาณในการชำระหนี้ให้กับแบงก์รัฐเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ลอยมาทีหลัง หลังจากที่พิจารณารายงานของอนุ กมธ. จนจบสิ้นแล้วก็มีมติ ครม. ออกมาว่า ขอแปรญัตติเพิ่ม เปลี่ยนแปลงรายการ โดยการขอตัดงบ 35,000,000,000 บาทจากรัฐวิสาหกิจ เพื่อโอนให้กับค่าใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือดิจิทัลวอลเล็ต ก็ไม่รู้ว่าจะรีบเอามาทำไม

 

ทั้งนี้ตนจึงมีข้อเสนอว่า หากเงินที่ต้องใช้ยังมีไม่พอ ควรจะต้องรอแถลงนโยบายให้จบก่อน หลังจากวันนั้นแล้วค่อยมาออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ก็ยังทัน ประชาชนรอมาได้ปีกว่าแล้ว ให้รออีกหน่อย ให้รัฐบาลไปออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ไปตัดลบงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล มาจ่ายเข้าสู่โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อแจกให้ครบ 45 ล้านคนดีกว่า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising