×

“การเมืองส่งต่อบารมีให้กันไม่ได้” ก้าวต่อไปชาติไทยพัฒนา กับบทพิสูจน์ 3 ปี วราวุธ ศิลปอาชา

25.04.2022
  • LOADING...
วราวุธ ศิลปอาชา

HIGHLIGHTS

9 mins. read
  • วันนี้วราวุธมองว่าชาติไทยพัฒนายังคงรักษาความเป็นพรรคชาติไทยไว้ได้ นั่นคือการไม่มีศัตรู ด้วยเชื่อว่าการทำงานเมื่อมีศัตรูมันไม่ได้ทำให้งานมีประสิทธิภาพขึ้น ในทางตรงกันข้ามกลับจะโดนขัดขวาง การด่ากันมันไม่ได้ทำให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมาเลย ทำงานก็ทำไม่ได้ ทำงานไม่ได้แล้วจะแก้ไขปัญหาทำงานให้ประชาชนอย่างไร 
  • ก้าวต่อไป ไม่ได้มองว่าจะต้องเป็นพรรคใหญ่ได้ 30 เสียง 50 เสียง แต่คนที่จะทำงานให้เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ชาติไทยพัฒนาอยากได้คนที่เข้ามาแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง 

จากบททดสอบแรกหลัง บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะบิดา และผู้ให้กำเนิดทางการเมืองจากไป การดูแลพรรคชาติไทยพัฒนาของ วราวุธ ศิลปอาชา ร่วมกับพี่สาว กัญจนา ศิลปอาชา สู่ 3 ปีกับบทบาทรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

บทบาทของวราวุธจึงไม่ใช่เพียงสาธารณชนที่ตั้งคำถามรอการพิสูจน์ แต่ตัวเองก็เฝ้ามองการพิสูจน์ตัวเองอยู่เช่นกัน

 

THE STANDARD สนทนากับ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา และตำแหน่งลูกนายกฯ บรรหาร ในปีที่ 3 ของการทำงานที่ไปไกลกว่าสุพรรณบุรี ในบทบาทรัฐมนตรีดูแลมิติทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ให้คนทุกจังหวัดทั่วประเทศ กับจังหวะก้าวต่อไปของชาติไทยพัฒนา 

 

“การเมืองไม่สามารถส่งต่อบารมีให้กันได้ ไม่สามารถส่งต่อความเก่งกาจให้กันได้ เป็นอะไรที่ต้องสั่งสม

 

“อีก 3 ปีจากวันนี้ อีก 5 ปีจากนี้ไป วันนั้นวราวุธจะพูดได้มั่นใจกว่าวันนี้ สังคมจะเชื่อมั่นในวราวุธได้มากกว่าวันนี้ เพราะผมทำให้เห็นแล้ว แต่ในวันที่กระดองเรายังไม่แข็ง จะไปทำตัวพูดจาโอ้อวดสรรพคุณ มันไม่ใช่”

 

 

อยากเริ่มต้นด้วยการชวนมองย้อนกันก่อน ถึงก้าวที่ผ่านมาของพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นความเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาอย่างไรบ้าง และจุดอ่อนจุดแข็งของพรรคหลังจากเข้ามารับช่วงต่อจากบรรหาร และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์

 

เราคงจะพูดแค่ตอนเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาอย่างเดียวไม่ได้ ชาติไทยพัฒนาเกิดมาได้ไม่นาน เราต้องย้อนไปจุดเริ่มต้นคือ ชาติไทย พรรคชาติไทยเริ่มตั้งแต่ 2517 ซึ่งผมเกิดปี 2516 เรียกได้ว่าผมโตมาควบคู่กับพรรคเลย แล้วช่วงตลอดเส้นทางเดินของชาติไทยจนถึงชาติไทยพัฒนา เราเป็นพรรคขนาดใหญ่ เป็นแกนนำรัฐบาล เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นแกนนำฝ่ายค้าน เราเป็นมาหมดทุกมิติ เรามีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน คือ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ และ บรรหาร ศิลปอาชา จนกระทั่งพอมาเกิดอุบัติเหตุการเมือง วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ก็โดนยุบพรรคไป เป็นจุดเริ่มต้นชาติไทยพัฒนาวันนี้ ถามว่าตลอดเส้นทางเดิน 48 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ได้ฝากไว้ให้ประชาชนพูดถึง สิ่งที่คนพูดถึงที่สุดคือการแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 211 เพื่อเปิดทางให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปี 2538 ที่นายบรรหารเป็นนายกฯ และให้คำมั่นกับประชาชน การได้วางมรดกไว้ให้กับประชาชนถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก จนถึงวันนี้ รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดที่คนพูดถึงก็คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีจุดกำเนิดจากการแก้รัฐธรรมนูญหรือแม้แต่การตั้งวุฒิสมาชิกที่ดีที่สุดที่เคยมีมา ทั้งการแต่งตั้งเลือกตั้งด้วย ก็คือในยุค บรรหาร ศิลปอาชา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาจากทุกเครือข่าย ทุกสถานะ ทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ นี่คือมรดกทางการเมืองที่พรรคชาติไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาได้มอบให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย 

 

นอกจากนั้นก็เรื่องนโยบายด้านการเกษตร ดังนั้นที่ผ่านมาพรรคชาติไทยกับพรรค ชาติไทยพัฒนาจะถูกมองว่าใกล้ชิดพี่น้องชนบท เกษตร ชาวไร่ชาวนามาโดยตลอด เป็นพรรคใหญ่ พรรคขนาดกลาง จนวันนี้วันที่นายบรรหารไม่อยู่แล้ว เรากลายเป็นพรรคขนาดเล็ก มันก็เป็นวัฏจักรทางการเมือง แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะเล็กตลอดไป หรือวันที่เราใหญ่ก็ไม่ได้แปลว่าจะใหญ่ตลอดไป แต่เราก็จะสั่งสมประสบการณ์และจะโตขึ้นๆ 

 

คนบอกว่าวราวุธทำได้ไม่เหมือนายบรรหาร กัญจนาทำได้ไม่เหมือนนายบรรหาร ก็ต้องมาดูก่อนว่าเส้นทางการเมืองก่อนถึงวันที่ประชาชนยอมรับใช้เวลากี่ปี นายบรรหารเริ่มทำการเมืองปี 2519 แล้วก็ผ่านตำแหน่งรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าการเกษตร ว่าการอุตสาหกรรม ว่าการกระทรวงการคลัง ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นคมนาคม 2 รอบ มหาดไทย 2 รอบ จนเป็นนายกฯ ดังนั้นเส้นทางการเมืองกว่าจะถึงจุดสูงสุดผ่านอะไรมามากมาย ผมเองเพิ่งทำมาปี 2562 วันนี้ 3 ปีเท่านั้นเอง การเมืองไม่สามารถส่งต่อบารมีให้กันได้ ไม่สามารถส่งต่อความเก่งกาจให้กันได้ เป็นอะไรที่ต้องสั่งสม สร้างกันเอาเอง

 

ดังนั้นบริบทของชาติไทยพัฒนาวันนี้เราเป็นพรรคที่ค่อยๆ โตอย่างมั่นคง เราจะไม่ก้าวกระโดด การเมืองไทยไม่มีก้าวกระโดด ไม่มี Shortcut และวันนี้เราปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำให้พรรคเราใหญ่อย่างเดิม

 

 

3 ปีที่ผ่านมามีคนรอดู รอการพิสูจน์ฝีมือชายที่ชื่อวราวุธ ในวันที่รับไม้ต่อจากนายบรรหาร ประเมินตัวเองอย่างไรบ้าง

 

ผมก็พูดตรงๆ ว่าผมเองก็รอดูเหมือนกัน แล้ววันแรกที่ได้ตกลงคุยกันเสร็จสรรพแล้วว่าชาติไทยพัฒนาร่วมรัฐบาล แล้วเราดูโควตากระทรวงทรัพยากรฯ อย่าว่าแต่สาธารณชนจะรอดูเลยว่า รัฐมนตรีที่ชื่อวราวุธจะเป็นอย่างไร คนที่ชื่อวราวุธเองก็รอดูเหมือนกัน วันนั้นผมยังพูดกับทีมงานผมว่าจะไหวหรือเปล่า จะออกมาดีไหม อย่างเช่น ตัวผมตั้งแต่วันที่นายบรรหารเสียชีวิตเมื่อ 23 เมษายน 2559 ผมโดนทดสอบมาทีละสเตป สเตปแรก พอนายบรรหารไม่อยู่ วราวุธจะดูแลสุพรรณฯ ได้เหมือนเดิมไหม ถ้าดูแลสุพรรณฯ ได้ ส.ส. ทุกคนได้กลับมาหมดจะดูแลพรรคกับกัญจนาได้ไหม จะดูแลพรรคชาติไทยพัฒนาให้เป็นพรรคได้อย่างเดิมไหม หรือพรรคจะแตก 

 

เมื่อดูแลพรรคได้แล้วจะได้ ส.ส. กี่คน?

 

เมื่อได้ ส.ส. แล้ว คุณจะมีปัญญาได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลไหม หรือเขาจะไม่เห็นค่าคุณ เตะคุณไปเป็นฝ่ายค้าน?

 

เมื่อคุณไปเป็นรัฐบาลแล้วเขาจะเห็นค่าคุณให้กระทรวงดีมา หรือจะให้เศษเนื้อข้างเขียงแบบนั้นหรือเปล่า?

 

เมื่อคุณได้ตำแหน่งมาแล้ว คุณมีปัญญาทำงานหรือเปล่า คุณจะเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืมไหม คุณจะเป็นรัฐมนตรีที่พอออกจากกระทรวงแล้วข้าราชการจะจุดประทัดแห่ไหม?

 

นี่คือสเตปที่ผมโดนตั้งคำถามมาโดยตลอด แล้วทุกวันนี้ก็ยังโดน 

 

เราไม่สงสัยความรู้ความสามารถที่เรามี แต่การทำงานร่วมกับคนที่อาวุโสทั้งในกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เราไม่เคยทำมาก่อน เราได้เอาประสบการณ์จากการเห็นที่พ่อทำ ที่ได้ทำงานกับพ่อมา มาประยุกต์ใช้ ซึ่งพอมาถึงวันนี้ถามว่าจุดอ่อนของเราคืออะไร ก็คือเราก็รู้อีกเยอะเลย อย่างการตามคนไม่ทัน โดนคนพูดไม่ตรงกับสิ่งที่สัญญาเอาไว้ ก็เยอะ ก็เป็นประสบการณ์ที่ต้องสะสม หรือการที่ผมไปต่อปากต่อคำกับผู้ใหญ่ ก็ได้รู้ว่าเราไม่ควรไปต่อล้อต่อเถียงกับผู้ใหญ่ และสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างมากมายคือความรู้ที่เพื่อนๆ ข้าราชการในกระทรวงมอบให้กับเรา มีการแลกเปลี่ยนกัน คือการทำงานไม่มีใครรู้ทุกอย่างมาตั้งแต่แรกหรอก วันนี้เรามีความมั่นใจว่าเราทำงานให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำงานให้กับแผ่นดินไทย ทำงานให้กับพี่น้องประชาชน คิดว่านี่เป็นสิ่งที่เรากำลังพัฒนาตัวเองอยู่ 

 

 

เหมือนมีหมวกสองใบ บริหารงานกระทรวงกับบริหารการเมือง ในด้านบริหารการเมือง จากการที่ได้เห็นร่วมรัฐบาล แล้วก็กับการที่มี ส.ส. 10 กว่าคน เราทำอะไรได้บ้าง และต่อไปจะเดินอย่างไรต่อ ในการนำพาพรรค

 

มาถึงวันนี้พี่พอใจระดับหนึ่ง เรามีกันอยู่ 12 เสียง แล้วเราก็ยังคงสามารถรักษาความเป็นชาติไทยไว้ได้ ก็คือการไม่มีศัตรู เพราะในการทำงานเมื่อมีศัตรูมันไม่ได้ทำให้งานคุณมีประสิทธิภาพขึ้นเลย ในทางตรงกันข้ามคุณกลับจะโดนขัดขวางอะไรมากมาย 

“คือคนจะมองว่า ชาติไทย อะไรๆ ก็จะเป็นรัฐบาล แต่ถ้าว่าการที่จะพัฒนาประเทศได้ เราเห็นความขัดแย้งในสังคมไทยหลายต่อหลายครั้ง การที่เกิดความไม่สงบ เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร มันเกิดจากความขัดแย้ง ประเทศจึงไปไม่ถึงไหน สิ่งที่ชาติไทยจนมาถึงชาติไทยพัฒนาทำมาตลอดคือการสร้างมิตร สร้างมิตรเอาไว้ไม่เสียหลาย ด่ากันมันไม่ได้ทำให้เกิดผลดีอะไรขึ้นมาเลย ทำงานก็ทำไม่ได้ ทำงานไม่ได้แล้วจะแก้ไขปัญหาทำงานให้ประชาชนอย่างไร”

 

เป้าหมายของพรรค ชาติไทยพัฒนาตั้งแต่ไหนแต่ไรคือเอาประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง สัญญาที่เราให้ไว้กับพี่น้องประชาชนเราเข้ามาแล้วเราจะทำงานให้คุณ นี่คือสิ่งที่เราทำทุกวันนี้ ถามว่า 3 ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรี 2 คนของพรรค เรื่องน้ำบนดิน น้ำใต้ดิน เรื่องก๊าซเรือนกระจก เรื่องธรณี ทุกมิติของกระทรวงทรัพยากรฯ เราทำอย่างเต็มที่ หรือท่านประภัตรที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ ท่านก็รับผิดชอบงานอย่างหนัก ลัมปี สกิน ไข้หวัดต่างๆ ท่านก็ทำงานอย่างเต็มที่ ส.ส. ของพรรคก็ลงพื้นที่สม่ำเสมอ จนถึงวันนี้ผมก็จะสานงานต่อ ผมไม่เชื่อเรื่องการเป็นพรรคการเมืองแล้วต้องไปด่าคนนั้นว่าคนนี้ให้ตัวเองเด่นขึ้นมา เรียกว่าไปแต่ตัวตีนไปหาเอาดาบหน้า เราต้องการทำงานต้องการแก้ไขปัญหา 

 

การเมืองสมัยก่อนมันจะมีความมีมิตรไมตรีมากกว่านี้ ไม่ใช่เชือดเฉือนกันอย่างทุกวันนี้ คือเมื่อก่อนคนจะมองว่านักการเมืองเหมือนเล่นลิเก ด่ากันอยู่ในสภาแต่ออกมากอดคอกินข้าวกันแล้ว แต่นี่คือความเป็นมืออาชีพ ผมเป็นฝ่ายค้าน คุณเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็ทำหน้าที่กันไป ออกมาแล้วก็ยังมีมิตรภาพกันเหมือนเดิม แต่วันนี้วงการการเมืองเปลี่ยนไป มันมีความรุนแรงมากขึ้น มันไม่มีความสร้างสรรค์ขึ้น 

 

 

ต่อปัญหาเดิมๆ เรื่องขอชัดเจนอีกครั้ง เรื่องการที่ชาติไทยพัฒนามักถูกมองว่า ต้องไปพูดถึงแต่ความสำเร็จของนายบรรหารอยู่เรื่อยๆ แล้วตัววราวุธ ตัวพรรคชาติไทยพัฒนาวันนี้ อะไรคือจุดขาย

 

วราวุธวันนี้กับวราวุธเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถ้าจะพูดถึงการทำงานกระทรวงทรัพยากรฯ วันนี้ย่อมพูดได้ดีกว่า 3 ปีที่แล้ว เช่นกัน ความสำเร็จของนายบรรหารคือชั่วชีวิตของคนคนหนึ่งเลยนะ 40 ปีบนเส้นทางการเมือง เราถึงเอามาเป็นไมล์สโตน เป็นหมุดหมายของเรา แล้วก็เป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วและเป็นเป้าหมายที่เราจะทำ ถ้าให้เรามาพูดเรื่องของวราวุธ เรื่องของวันนี้เราแก้ปัญหาบางกลอยจบไปแล้ว คุณจะเชื่อไหม? แก้ปัญหาเรื่องความแห้งแล้งของพี่น้องเกษตรกรภาคอีสาน เราทำบ้านน้ำ 500 กว่าแห่ง เราเจาะบ่อบาดาล 5,000 กว่าบ่อแล้ว ถ้าคิดเป็นปริมาณน้ำ พี่น้องประชาชนได้ใช้ไปกว่า 3 ล้านลิตร ถ้าพูดไปอย่างนี้สิ่งที่เราทำ เชื่อไหม คนก็จะคิดว่าวราวุธโม้ ถึงเราจะทำจริงๆ แต่ปฏิกิริยาตอบสนองแรกสุดคนจะคิดไปก่อนเลยว่าเราโม้หรือเปล่า แต่ถ้าบอกว่านายบรรหารทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ขึ้นมา ไม่ต้องเถียงเลย มันมีอยู่แล้ว ฉะนั้นนี่คือสาเหตุที่ว่าทำไมเรายึดกับความสำเร็จตรงนั้นแล้วก็เป็นเป้าหมายในการที่เราจะเดินไปข้างหน้าเพื่อสร้างความสำเร็จนั้นใหม่ แล้วก็อีก 3 ปีจากวันนี้ อีก 5 ปีจากนี้ไป วันนั้นวราวุธจะพูดได้มั่นใจกว่าวันนี้ สังคมจะเชื่อมั่นในวราวุธได้มากกว่าวันนี้ เพราะผมทำให้เห็นแล้ว แต่ในวันที่กระดองเรายังไม่แข็ง จะไปทำตัวพูดจาโอ้อวดสรรพคุณ มันไม่ใช่

 

 

วราวุธวันนี้ 3 ปีผ่านไปกับการบริหารกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ต้องรับมือเต็มๆ กับเทรนด์ของโลก เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ ได้ประสบการณ์การบริหารอย่างไรบ้าง

 

ประเด็นแรกก่อนเลย ต้องสร้างการรับรู้การยอมรับให้ได้ก่อนว่า การจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ต้องมีการเสียสละ ต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดมาจากมนุษย์ ความสบายความสะดวก ดังนั้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องตัดเรื่องความสะดวกความสบายออกไปก่อน 

 

ประเด็นที่สอง เราต้องศึกษาปัญหาจริงๆ ว่าคืออะไร ยกตัวอย่าง บางกลอย ปัญหาคือพี่น้องประชาชนที่ดินไม่พอ ยังขาดปัจจัยการผลิต ดังนั้นแก้ตรงนั้นให้ได้ก่อน เหมือนมีปมใหญ่ๆ คุณแกะได้ทีละปมเท่านั้น คุณทำทีเดียวทั้งหมดไม่ได้หรอก ค่อยๆ แกะไปทีละอัน เหมือนอย่างตอนปี 2564 ก็มีคนไปอยู่ตรงบางกลอยกลาง เราก็ให้เจ้าหน้าที่ไปเชิญคนลงมา คนก็คิดกังวลว่าจะเกิดความรุนแรง เราก็แก้ปัญหาให้เจ้าหน้าที่ติดกล้อง จะได้ระวัง ทำอะไรก็มีกล้องอยู่ แล้วก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ทหาร มีหมอ มีสาธารณสุข มีผู้ว่าราชการจังหวัด มีทุกฝ่ายเลย ไปดูกันให้หมดถ้าคุณกังวลว่าจะเกิดอะไร ก็ไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นถึงบอกว่าไปดูแก่นของปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้ทีละอัน แล้วมันก็แก้ได้ เช่นกัน เรื่องแก้พลาสติก มาดูเป้าหมายก่อน ก็คือเพื่อลดปริมาณขยะ เราจะเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon 2050 กับ 2065 ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการร่วมแก้ไขปัญหาในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์เพื่อยกระดับการดำเนินการของไทย ที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายใน ค.ศ. 2050 และจะปล่อยก๊าชเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ในการประชุม World Leaders Summit 

 

คนก็จะถามว่าเราไปสัญญาทำไม เราทำไม่ได้อย่างนู้นอย่างนี้ เพราะนี่คือสิ่งที่นานาอารยะประเทศเขาบีบประเทศไทยเข้ามา จริงๆ แล้วเป้าหมายดั้งเดิมของเราคือ 2065 กับ 2090 นะ แต่ถ้าทำอย่างนั้นเราโดนทั่วโลกบีบเข้ามา คนที่ซวยไม่ใช่รัฐบาลนะ แต่คือพี่น้องประชาชนคนไทย แล้วมาดูที่เงื่อนไขที่เราตั้งไว้ให้ทำได้ในปี 2050 กับ 2065 ก็คือการได้เงินสนับสนุนจากต่างประเทศ เราต้องได้เทคโนโลยี การมาเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเข้ามา ถ้าเราทำตามเป้าหมายนี้และคุณมาช่วย เราทำได้ แล้วประโยชน์ก็จะเกิดกับประชาชน

 

หรืออีกตัวอย่าง การจัดการเรื่องท่องเที่ยวน้ำตก เมื่อก่อนน้ำตกก็จะมีคนเล่นยั้วเยี้ย อย่างน้ำตกเอราวัณ การจำกัดคนเล่น เราก็ไปให้เจ้าหน้าที่ไปดูไปถ่ายรูปเป็นชั้นๆ ว่ามีคนเล่นสักกี่คน มันถึงจะยังสวย ชั้นหนึ่ง ดูแล้วได้ 40 คน ชั้นสอง ดูเล็กหน่อย ได้ 30 คน ชั้นสาม ได้ใหญ่หน่อย แล้วผมก็ให้รอบหนึ่งคุณได้ 20 นาที ไม่ใช่จับจองโขดหินนี่เป็นของฉัน พอครบ 20 นาที เราเป่านกหวีดให้ออก เหมือนไปเล่นที่สระว่ายน้ำ แล้วเรามีชูชีพใส่ให้ทุกคน ทำตอนแรกโดนบ่นกัน แต่พอทำไปแล้วถ่ายรูปออกมาก็สวยกัน ก็เหมือนอ่าวมาหยา ตอนเปิดตอนแรกให้เข้าได้ 300 กว่าคน คนละชั่วโมง ก็มีคนไปเขียนบ่นกันว่าให้แวะเข้าไปฉี่หรือไง อย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอวันนี้ทุกคนที่ไป ถ่ายรูปออกมา สวย เห็นหาด เห็นน้ำทะเล สวย ไม่ใช่ถ่ายไปก็เห็นแต่คน แล้วพอไปเรื่อยๆ มันเป็นกฎอย่างนี้ พอพี่ไปถามที่น้ำตกเอราวัณคนก็ไม่บ่นอะไร ก็ชอบ นักท่องเที่ยวมาแล้วก็ได้ภาพสวยๆ ดังนั้นจะเปลี่ยนอะไรก็ต้องเปลี่ยนชีวิตประจำวันให้ได้ก่อน ต้องมาทำความเข้าใจแก่นปัญหา แล้วต้องสละความสะดวกสบายส่วนตน 

 

 

ขยับจากการทำผลงานทำนโยบายของกระทรวงทรัพยากรฯ มาที่มุมมองการได้ทำงานในแดนสนธยาของกระทรวงทรัพยากรฯ บ้าง การทำงานกับคนที่อาวุโสกว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

เรียกว่าเป็นเรื่องปกตินะ ที่แต่ละกรม แต่ละคน อยู่มานานจะมีอาณาจักรของตัวเอง ฉันจะมีเกาะของฉันอยู่ตรงนี้ คือตัวผมเข้ามา ผมไม่ใช่นักเลง ผู้มีอิทธิพล ที่จะเข้ามาทุบเป้งป้างๆ ผมทำตัวเองเหมือนน้ำ มันเป็นสิ่งที่นิ่งที่สุด จะอยู่ในภาชนะไหนก็จะปรับตัวให้เข้ากับภาชนะนั้น แต่พอถึงเวลาจะแข็งขึ้นมา กระโดดสะพานสูง 30 เมตรลงมา น้ำมันจะเป็นเหมือนแผ่นคอนกรีตเลย ฉะนั้นทำตัวให้เหมือนน้ำ ผมเข้ามาในกระทรวง ในแต่ละอาณาจักรที่เขาอยู่ ผมก็เอาน้ำเข้ามาเชื่อม มันก็เหมือนหมู่เกาะสิมิลัน มีเกาะเต็มไปหมด แต่เชื่อมกันด้วยผืนทะเลผืนหนึ่ง เข้ามาวันแรกบอกนโยบายคือ ทส. หนึ่งเดียว ผมไม่ใช่คนเก่ง ผมไม่รู้อะไรก็บอกอธิบดี ว่าไม่รู้ แล้วเราก็เอาความตั้งใจจริงของเราให้เข้าเห็นว่าเราอยากทำงาน อยากแก้ปัญหา บางทีเราก็ต้องยอมถอยบ้าง ที่ผ่านมาทุกคนจะรุกอย่างเดียว ผมเข้ามาเราเริ่มด้วยการยอมก่อน นี่คือวิธีการทำงาน เราอาวุโสน้อยกว่า ด้วยวัยวุฒิ แต่เราเป็นรัฐมนตรี เรามีอำนาจในการสั่งการ ก็อย่าใช้แต่พระเดช ใช้พระคุณด้วย 

 

ดังนั้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็สนุกสนานในการทำงาน ทำงานไม่เคยสั่งใครนะ มีแต่ขอท่านอธิบดีช่วยทำเรื่องนั้นเรื่องนี้หน่อย อย่างที่บอกว่าความขัดแย้ง ความก้าวร้าว ไม่เคยแก้ปัญหาได้ อันนี้ผมก็ให้เป็นนโยบายกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ว่าอ่อนน้อมไม่ได้แปลว่าอ่อนแอ แข็งแกร่งไม่ได้ต้องแข็งกร้าว ฉะนั้นเราต้องแข็งในที แต่อ่อนน้อมอยู่ข้างนอก นี่คือวิธีการบริหารของผม แล้วเราต้องให้เกียรติทุกคน ไปไหนผมจะชมทุกคนหมด 

 

อย่างล่าสุดที่ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ปริญญาเอก ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้มาเพราะตัวผม แต่ได้มาเพราะข้าราชการทุกคน ที่นายวราวุธได้เพราะทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามเขาเห็นว่าเราทำงานมีผลงานชัดเจนขึ้นมา ก็ได้ให้ปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน แต่การทำอย่างนี้ได้ผลงานมันเกิดมาจากคนในกระทรวงทุกๆ คน ทั้งพนักงานขับรถ แม่บ้านหน้าห้องผม จนถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่อดตาหลับขับตานอนเดินป่า เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าที่ไปพัดๆๆ ดับไฟ เจ้าหน้าที่ขับเฮลิคอปเตอร์ เจ้าหน้าที่ดำน้ำ ทุกคนมีส่วนหมด เราไปไหนเราไปกันเป็นทีม 

 

 

ต่อจากนี้ที่จะเข้าสู่จังหวะปรับทัพรับเลือกตั้ง ชาติไทยพัฒนาจะขยับอย่างไร ให้ไม่ถูกมองว่าเป็นพรรคคนสุพรรณฯ พรรคนายบรรหาร

 

ก่อนที่จะเป็นพรรคที่มีฐานที่มั่นเป็นสุพรรณบุรี ต้องย้อนกลับไป พรรคชาติไทยก็เป็นพรรคกลุ่มบ้านราชครูมาก่อน ในยุค พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ไม่มีใครมองว่าเป็นสุพรรณบุรี แล้วก็มาเป็นสุพรรณบุรีในยุคนายบรรหาร วันนี้อย่างที่บอกว่าตอนเข้ามารับช่วงต่อ อย่างแรกสุดวราวุธต้องยึดฐานที่มั่นสุพรรณบุรีให้อยู่ แล้วต่อมามันก็อาจเป็นยุคจังหวัดอื่นก็ได้ มันก็เปลี่ยนเป็นช่วงๆ ไป จากนี้ก็อยู่ในขั้นตอนทำให้พรรคเรามีความสมบูรณ์มากขึ้น ก็จะมีคนจากกลุ่มต่างๆ เข้ามา ก็ใช้เวลาในการค่อยๆ ปรับภาพ ปรับความรู้สึกของคน ซึ่งต้องใช้เวลา ใช้การทำงานเป็นตัวให้เห็น อย่างที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้จะทำแค่สุพรรณบุรี แต่หลังมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ เราไปทั่วประเทศ เราทำด้านอุทยาน เรื่องน้ำบาดาล เราแก้ปัญหาให้ประชาชนทั่วประเทศ ไปมาทั้ง 76 จังหวัด สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็ไปดูมาหมด ก็จะค่อยๆ ใช้การทำงานที่ทำ ปรับภาพให้คนรับรู้ ให้รู้สิ่งที่เราทำ 

 

 

จากที่กำลังเดินอยู่ตอนนี้ มีตัวเลขประเมิน ส.ส. หรือยัง

 

ไม่ได้มองว่าจะใหญ่ได้ 30 เสียง 50 เสียง แต่ต้องมองว่าคนที่จะทำงานให้เรา ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ อย่างที่บอกว่า สัจจะ เอาเขามาแล้ว เขาไปหาเสียงกับชาวบ้านว่าจะเข้ามาแล้วไปแก้ปัญหาตรงนี้ๆ จะทำอย่างไรให้ทำได้ คือไม่ใช่ว่าเข้ามาแล้วมี ส.ส. 40 คน 50 คน แต่พอถึงก็มาบอกว่าอันนี้ทำไม่ได้ อันนี้ทำไม่เป็น ไม่รู้ทำอย่างไร แบบนี้อย่ามาดีกว่า เราอยากได้คนที่เข้ามาแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน ทำให้ชีวิตของชาวบ้าน ทำให้คนเมือง สังคมเมืองเป็นสังคมเมืองที่สมบูรณ์ดีขึ้น ลด PM2.5 ทำให้ชีวิตคนเมืองดีขึ้น นั่นคือคุณภาพ คือสิ่งที่เราต้องการ 

 

 

ถามย้ำอีกครั้ง ในบทบาทของพรรคตอนนี้ รัฐมนตรีก็เป็นแล้ว จะยังมีเป้าหมายสูงสุดที่จะเดินไปให้ถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรอยนายบรรหารไหม 

 

ไม่เคยคิด เพราะตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมคือตำแหน่งลูกนายกฯ บรรหาร แล้วก็จะตอบเหมือนเดิม ไม่เคยคิดอยากเป็นนายกฯ คำตอบแบบนี้ไม่ได้เป็นการมัดตัวเองว่าจะไม่เป็นนายกฯ เพราะไม่ได้บอกว่าจะไม่เป็น เมื่อถึงเวลามันจะต้องเป็นต้องทำ ผมไม่เคยกลัวที่จะเป็น ไม่เคยกลัวที่จะต้องทำ 

 

ภารกิจใดที่ได้ทำเพื่อแผ่นดินไทย รับใช้สถาบันฯ รับใช้เบื้องพระยุคลบาท ผมไม่เคยกลัวที่จะทำ และจะไม่รีรอที่จะทำด้วย 

 

แต่ถามว่าอยากเป็นนายกฯ ไหม ไม่อยาก เพราะผมอยู่กับคนเป็นนายกฯ มาชั่วชีวิต แล้วก็เห็นคนเป็นนายกฯ มาก็ตั้งแต่ลุงชาติชาย บิ๊กจิ๋ว มานายกฯ ทักษิณ นายกฯ อภิสิทธิ์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ มากระทั่ง พล.อ. ประยุทธ์ ไม่เห็นมีใครมีความสุขสักคน ฉะนั้นผมเป็นพวกอยากมีความสุขกับชีวิต อยากมีความสุขกับการทำงาน ดังนั้นอยากเป็นนายกไหม ไม่อยาก 

 

แต่อยากเป็นรัฐมนตรีไหม ก็บอกกันตรงๆ อยาก เพราะเวลาเป็นเรามีศักยภาพในการไปแก้ปัญหาได้จริงๆ ได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อ เรื่องอุทยานเราเห็นว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ เรื่องทะเล เราเห็นว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ เรามั่นใจอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถทำได้ 

 

 

มามองกันที่ระเบิดเวลา รัฐธรรมนูญชาติไทยพัฒนามองร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไขตอนนี้อย่างไร 

 

ยังมองเหมือนเดิมแบบที่ชาติไทย แบบที่นายบรรหารมอง คือรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรไม่ใช่สิ่งที่ผมจะมาพูด ไม่ใช่สิ่งที่นาย ก. นาย ข. จะมาพูด แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องไปเริ่มต้นที่จุดเริ่มต้นก่อน คือ สสร. ก่อน 

 

“สาเหตุที่รัฐธรรมนูญ 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เพราะเรามีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ดีที่สุดในประเทศไทย แม้แต่คนที่ด่านายบรรหาร นายบรรหารบอกว่าด่ามากใช่ไหม เข้ามาเป็นเลย อย่างที่บอกว่าผมยึดนายบรรหาร เราไม่เอาความขัดแย้ง ด่าเข้ามาเราก็ทำดีด้วย”

 

ถ้ายังด่าอยู่ก็ช่วยไม่ได้ แต่พอเจอแบบนี้ไป หลายคนก็ปรับแนวความคิดแล้วเข้ามาเป็นมิตรกัน อย่างท่านนายกฯ สมัคร เมื่อก่อนตอนผมเด็กๆ ท่านเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนายบรรหารเลยนะ แต่ในบั้นปลาย กลายเป็นหนึ่งในมิตรที่อยู่กับนายบรรหารมาตลอด ด้วยความที่พ่อไม่อยากมีศัตรูทางการเมือง 

 

กลับมามองที่ สสร. การออกแบบสร้างที่มาของ สสร. ให้มาจากทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญ แล้วก็อยากจะให้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร สสร. จะเป็นคนทำให้เป็นอย่างนั้น คือวันนี้มันไปถึงปลายทางแล้ว เราไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ แต่ชาติไทยพัฒนาก็ยังเชื่อในจุดเริ่มต้นที่ถูกอยู่ ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ แต่ทำแบบมี กมธ. เข้ามา เข้าสภามันก็อยู่ในวง 500 คนเท่านั้นเอง โอเค 500 คนนั้นเป็นผู้แทนพี่น้องประชาชนก็จริง แต่ถ้าพูดกันตรงๆ เขาเลือกคุณเข้ามาแก้ปัญหาให้กับเขา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญมันอีกเรื่องหนึ่งแล้วนะ มันคือชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ มันควรจะเริ่มต้นที่ถูกต้องก่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising