×

เผยผลการศึกษาชิ้นใหม่ Vampire Study ดื่มเลือดเพื่อวินิจฉัยโรค

31.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • ทีมนักวิจัยของนายแพทย์สเตฟาน วาวริชกา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารจาก The Centre for Gastroenterology and Hepatology ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รวบรวมอาสาสมัครจำนวน 16 คน ให้ทดลองดื่มเลือดตัวเองเพื่อวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยผู้เข้าร่วมการทดลองต้องเก็บอุจจาระของตนเองมาเป็นตัวอย่างด้วย

แม้ฟังดูน่าสะพรึงที่มนุษย์เราต้องดื่มเลือดคนจริงๆ แต่จากผลการศึกษาล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่าการดื่มเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคนั้นมีอยู่จริง แถมดื่มแล้วยังเป็นปกติดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือกลายร่างเป็นผีดิบ  

 

เมื่อทีมนักวิจัยของนายแพทย์สเตฟาน วาวริชกา (Stephan Vavricka) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารจาก The Centre for Gastroenterology and Hepatology ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รวบรวมอาสาสมัครจำนวน 16 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาแพทย์ ให้ทดลองดื่มเลือดตัวเองเพื่อวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease – IBD) แทนที่วิธีการเดิมที่มีข้อจำกัดบางประการอย่างการตรวจสอบหาโปรตีนแคลโปรเทคตินในอุจจาระของผู้ป่วย แต่ปัญหาคือแม้ระดับของเจ้าโปรตีนชื่อยาวตัวนี้มีอยู่สูงก็จริง แต่สามารถเกิดอาการกับโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร บวกกับที่ผ่านมาแพทย์ไม่รู้แน่ชัดว่าเลือดปริมาณเท่าใดที่ไหลมาถึงลำไส้แล้วส่งผลให้ระดับโปรตีนแคลโปรเทคตินสูงผิดปกติ ที่ผ่านมาจึงต้องอาศัยการวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องที่มีความแม่นยำมากที่สุด  

 

 

แต่เพื่อให้รู้แน่ชัดถึงปริมาณเลือดที่ส่งผลต่อโปรตีนแคลโปรเทคติน แนวทางใหม่ที่ทีมวิจัยชุดนี้วางไว้คือให้อาสาสมัครทั้งหมด 16 คน (ผู้หญิง 12 คน และผู้ชาย 4 คน) ดื่มเลือดของตัวเอง โดยให้กลุ่มแรกดื่มครั้งละ 3 ออนซ์ หรือ 100 มล. อีกกลุ่มดื่มครั้งละ 10 ออนซ์ หรือ 300 มล. ผ่านไป 1 เดือนแล้วค่อยสลับปริมาณการดื่ม แน่นอนว่ากลุ่มผู้เข้าร่วมการทดสอบต้องเก็บอุจจาระของตนเองไว้เป็นตัวอย่าง แบ่งเป็นเก็บ 2 วันก่อนการดื่มและเก็บต่อเนื่องอีก 7 วันหลังการดื่ม จากนั้นเก็บอีกครั้ง 14 วันหลังการดื่มเลือด

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่ง อึ๋ย!…ใครมันจะไปดื่มลง เพราะปรากฏว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ไม่สามารถทำได้จริงๆ ต้องอาศัยวิธีสอดท่อเพื่อส่งเลือดเข้าสู่ช่องท้องโดยตรง ในขณะที่คนอื่นๆ สามารถดื่มเลือดได้ปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือสีของอุจจาระที่ถ่ายออกมา ‘คล้ำผิดปกติ’ ซึ่งก็เป็นผลพวงจากการที่มีเลือดในระบบทางเดินอาหารนั่นเอง ส่วนคำตอบจากการทดลองครั้งนี้คือระดับโปรตีนที่ว่าสูงขึ้นจริงทั้งสองกลุ่มหลังการดื่มเลือด แต่ไม่มีกลุ่มไหนที่พบว่าสูงเกิน 200 ไมโครกรัมต่อกรัม ซึ่งเป็นระดับที่บ่งชี้ถึงการอักเสบซ้ำในระบบทางเดินอาหาร เรื่องนี้จึงทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยเบื้องต้นได้ว่าปริมาณโปรตีนแคลโปรเทคตินในอุจจาระของผู้ป่วยนั้นเกิดจากการอักเสบเรื้อรังในระบบทางเดินอาหารหรือไม่

 

แต่ความพีกมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่กว่าครึ่งของกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองระบุว่าการดื่มเลือดทำให้พวกเขารู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน คลื่นเหียน คลื่นไส้ ในขณะที่ 1 ใน 3 มีอาการท้องเสียหรือท้องผูกหลังดื่ม แต่โชคดีที่ไม่มีรายใดบอกว่าดื่มแล้วรู้สึกดี หรือสดชื่นกระปรี้กระเปร่าสักราย

 

ภาพ: Interview with the Vampire: The Vampire Chronicles , shutterstock

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X