×

รู้จัก ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ หนังสือเดินทางยุคโควิด-19 บางประเทศเริ่มใช้ แล้วไทยพร้อมหรือยัง

01.03.2021
  • LOADING...
วัคซีนพาสปอร์ต

HIGHLIGHTS

  • วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) เป็นเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามที่กำหนด มีแนวคิดคล้ายกับการออกหนังสือเดินทางและวีซ่าว่าได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว แต่ใช้ในกรณีที่เกิดโรคระบาด 
  • สำหรับกรณีโควิด-19 หลายประเทศก็เริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกวัคซีนพาสปอร์ตให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน
  • อิสราเอล เป็นประเทศแรกที่ใช้วัคซีนพาสปอร์ตในชื่อ ‘Green Pass’ โดยออกให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสเกิน 1 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว ซึ่งใบรับรองนี้มีอายุ 6 เดือน (วัคซีน Pfizer-BioNTech ต้องฉีด 2 โดสห่างกัน 3 สัปดาห์ แสดงว่าจะได้รับใบรับรองหลังฉีดเข็มแรก 1 เดือน) และสามารถขอรับผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ได้
  • การใช้วัคซีนพาสปอร์ตแทนการกักกัน (Quarantine) 14 วันเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ว่า ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปได้ว่าวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อ ดังนั้นมาตรการกักตัวจึงสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้ แต่มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะนำมาใช้ในอนาคต

ก่อนหน้านี้ถ้าจะเดินทางไปต่างประเทศเราต้องขอ ‘วีซ่า’ หรือหนังสือผ่านแดนชั่วคราวก่อน ต่อมาเกิดการระบาดของโควิด-19 มักจะมีเงื่อนไขว่าต้องมี ‘ผลการตรวจหาเชื้อ’ ว่าไม่พบเชื้อยืนยันร่วมด้วย ถึงจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่อีกไม่นาน เมื่อเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 มากขึ้น หลายประเทศน่าจะขอตรวจ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ แทนก็เป็นได้

 

‘วัคซีนพาสปอร์ต’ มีแนวคิดอย่างไร

วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) เป็นเอกสารยืนยันการได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามที่กำหนด มีแนวคิดคล้ายกับการออกหนังสือเดินทางและวีซ่าว่า ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว แต่ใช้ในกรณีที่เกิดโรคระบาด 

 

ปัจจุบันมีกรณีโรคไข้เหลือง ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่ระบาดต้องได้รับการฉีดวัคซีนก่อน และได้รับ ‘สมุดเล่มเหลือง’ (Yellow Card) เป็นหลักฐานยืนยัน ถ้าไม่มีสมุดเล่มเหลืองจะไม่สามารถเดินทางไปได้ หรือถ้าเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดแล้วไม่มีสมุดเล่มเหลืองก็จะต้องรับการฉีดวัคซีน และรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตามกำหนด 

 

ซึ่งประเทศไทยประกาศให้โรคไข้เหลืองเป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (ฉบับเดียวกับที่ประกาศโควิด-19) และประกาศเขตติดโรค 42 ประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้เป็นพื้นที่ระบาด 

 

สำหรับกรณีโควิด-19 หลายประเทศก็เริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกวัคซีนพาสปอร์ตให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อเปิดประเทศ หรือเพื่อผ่อนคลายล็อกดาวน์ภายในประเทศ เช่น อนุญาตให้ผู้ที่มีวัคซีนพาสปอร์ตเข้าสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง สนามกีฬาได้ เพราะจะทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความปลอดภัยมากขึ้น

 

วัคซีนพาสปอร์ต

 

ประเทศที่เริ่มใช้ ‘วัคซีนพาสปอร์ต’

อิสราเอล เป็นประเทศแรกที่ใช้วัคซีนพาสปอร์ตในชื่อ ‘Green Pass’ โดยออกให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสเกิน 1 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว ซึ่งใบรับรองนี้มีอายุ 6 เดือน (วัคซีน Pfizer-BioNTech ต้องฉีด 2 โดสห่างกัน 3 สัปดาห์ แสดงว่าจะได้รับใบรับรองหลังฉีดเข็มแรก 1 เดือน) และสามารถขอรับผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ได้

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีการจัดคอนเสิร์ตกลางแจ้งที่เมืองเทลอาวีฟ เป็นหนึ่งในกิจกรรมแรกของการเปิดเมือง โดยจำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมเฉพาะผู้ที่ได้รับ Green Pass แล้วเท่านั้น ซึ่งยิม สระว่ายน้ำ โรงภาพยนตร์ และโรงแรมต่างก็ใช้นโยบายเดียวกัน แต่ยังคงต้องเว้นระยะห่างทางสังคมอยู่ ทั้งนี้ อิสราเอลฉีดวัคซีนโควิด-19 ไป 45% ของประชากรทั้งหมด

 

ในขณะที่ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า วัคซีนพาสปรอ์ตเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการเดินทางระหว่างประเทศ แต่ “เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง” หากนำมาใช้ในประเทศ อาจเป็นการกีดกันประชาชนที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ทั้งด้วยเหตุผลทางการแพทย์หรือไม่ต้องการรับวัคซีน

 

ส่วน ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ได้โพสต์คลิปลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันเดียวกันว่า สิงคโปร์กำลังหารือกับประเทศที่สนใจใช้วัคซีนพาสปอร์ต เพื่อฟื้นฟูการเจรจาธุรกิจ และการท่องเที่ยวทั่วโลกให้กลับมาอีกครั้ง

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ วัคซีนพาสปอร์ตเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ผู้นำประเทศในสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้ประชุมทางไกลร่วมกันโดย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแถลงข่าวหลังประชุมว่า ทุกประเทศเห็นด้วยกับ ‘ใบรับรองการฉีดวัคซีนในรูปแบบดิจิทัล’ แต่น่าจะเริ่มใช้ในฤดูร้อน เพราะต้องใช้ระยะเวลา 3 เดือนในการกำหนดกรอบเชิงเทคนิค

 

แหล่งข่าวระบุว่าประเทศทางตอนใต้ เช่น กรีซ สเปน และอิตาลี ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยว เห็นด้วยกับวัคซีนพาสปอร์ตอย่างเต็มที่ ส่วนประเทศทางตอนเหนือกังวลเรื่องการเลือกปฏิบัติ และผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสอยู่ อย่างไรก็ตามแมร์เคิลได้กล่าวย้ำว่า “ไม่ได้หมายความว่าเฉพาะผู้ที่มีวัคซีนพาสปอร์ตเท่านั้นถึงจะเดินทางได้”

 

วัคซีนพาสปอร์ตกับประเทศไทย

 

โดยปกติเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารรับรองให้ พ่อแม่ผู้ปกครองน่าจะคุ้นเคยกับ ‘สมุดเล่มชมพู’ ของบุตรหลานที่จะมีตารางวัคซีนอยู่ด้านหลัง ส่วนวัคซีนโควิด-19 อินโฟกราฟิกของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ผู้รับการฉีดวัคซีนจะได้รับใบนัดหมายฉีดครั้งที่ 2 และใบยืนยันการฉีดวัคซีนผ่านบัญชีทางการของไลน์ (LINE OA) ‘หมอพร้อม’

 

วัคซีนพาสปอร์ต

ขั้นตอนการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 

ของกระทรวงสาธารณสุข (อ้างอิง: เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19)

 

แต่จากข้อมูลการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน การรับรองว่าคนหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ‘ไม่ได้รับรอง’ ว่าคนนั้นจะไม่ติดเชื้อหรือไม่แพร่เชื้อให้กับผู้อื่น เพราะผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และสามารถแพร่เชื้อในระยะที่ไม่มีอาการได้ ในขณะที่ไม่มีวัคซีนชนิดใดสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% เพียงแต่ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะไม่มีอาการรุนแรง

 

โดยวัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 50.4% ส่วนวัคซีน AstraZeneca ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 70.4% (62.1-90.0%) แต่ถ้ารวมการติดเชื้อทุกรูปแบบแล้วจะลดลงเหลือ 54.1% หรือแม้กระทั่งวัคซีน Pfizer-BioNTech ที่มีประสิทธิภาพ 95% แต่ผลการทดลองที่รวมการติดเชื้อแบบไม่มีอาการด้วยพบว่ามีประสิทธิภาพ 85%

 

ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงต้องป้องกันตัวเอง หรือภาษาของ ศบค. คือ ‘ตั้งการ์ด’ สูงหมือนเดิม โดยระหว่างที่รอการฉีดวัคซีนกระทรวงสาธารณสุขก็มักจะสื่อสารกับประชาชนว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วยังสามารถติดเชื้อได้อีก แต่ ‘วัคซีนที่ดีที่สุดคือ อยู่ห่างไว้ ใส่แมสก์กัน หมั่นล้างมือ’ (ซึ่งน่าถกเถียงกันว่าเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดหรือไม่ โดยเฉพาะต้นทุนที่ต้องจ่าย)

 

ส่วนการใช้วัคซีนพาสปอร์ตแทนการกักกัน (Quarantine) 14 วัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ว่า ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปได้ว่าวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อ ดังนั้นมาตรการกักตัวจึงสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้

 

แต่มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะนำมาใช้ในอนาคต และองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้กำหนดกติกาเหมือนสมุดเล่มเหลือง ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 

 

ในขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำลังผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากจะจัดสรรวัคซีนล็อตแรกให้กับ 5 จังหวัดท่องเที่ยว เพื่อเสนอให้ลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวเหลือ 3 วันแล้ว พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ว่า จะเริ่มใช้วัคซีนพาสปอร์ตภายในในไตรมาส 3 นี้

 

บทสรุปที่ยังไม่มีข้อสรุป

อิสราเอลเริ่มใช้ Green Pass แล้ว ผู้มีใบรับรองนี้จะสามารถทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับหลายประเทศที่กำลังพิจารณาเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตอยู่ ทั้งในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป รวมถึงสิงคโปร์ สำหรับไทยซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็ควรเตรียมพร้อมไว้

 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่า วัคซีนสามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ แต่ถ้าหากประชาชนในประเทศ หรือในจังหวัดท่องเที่ยวได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม เพื่อป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ก็จะสามารถเปิดเมืองได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น และยิ่งดำเนินการจัดหาและจัดสรรวัคซีนเร็วเท่าไร ก็ยิ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X