×

ฉีด-ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19? เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน

04.05.2021
  • LOADING...
ฉีด-ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19? เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีน

HIGHLIGHTS

  • ถึงแม้จะได้ยินกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงแผนการจัดหาวัคซีน ได้ยินแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาสนับสนุนให้ฉีดวัคซีน ฟังเพื่อนบ้าน/เพื่อนร่วมงานพูดถึงวัคซีนมาตลอด แต่สิ่งที่หลายคนกำลังตัดสินใจอยู่ตอนนี้คือ ‘ฉีด-ไม่ฉีด’ จะฉีดวัคซีนหรือไม่ รวมถึงจะให้พ่อแม่ของเราฉีดหรือไม่
  • หลายคนน่าจะตัดสินใจฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ไปแล้ว แต่ผู้ที่จะฉีดวัคซีนหรือกำลังตัดสินใจอยู่ควรได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านว่าวัคซีนมีข้อดี-ข้อเสียในระดับ ‘บุคคล’ อย่างไร เพราะแน่นอนว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ในระดับ ‘ประเทศ’
  • การตัดสินใจ ‘ฉีด-ไม่ฉีด’ ควรอยู่บนหลักการประเมินข้อดี-ข้อเสียของวัคซีนนั้นๆ ซึ่งสำหรับผมวัคซีนที่ดีที่สุดคือนอกจากจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียแล้ว ต้องเป็นวัคซีนที่จะได้รับเร็วที่สุดด้วย เพราะยิ่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้เร็วเท่าไร เราก็จะดำเนินชีวิตตามปกติและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นเท่านั้น 

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่าน 3 ช่องทางคือ

 

  1. LINE OA / แอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’
  2. โรงพยาบาลใกล้บ้านที่มีประวัติการรักษา
  3. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่

 

โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยกลุ่มเป้าหมายแรก คือ

 

  • ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (นับถึง 1 มกราคม 2565) 
  • ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่มีน้ำหนัก >100 กิโลกรัมหรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

 

ถึงแม้จะได้ยินกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงแผนการจัดหาวัคซีน ได้ยินแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกมาสนับสนุนให้ฉีดวัคซีน ฟังเพื่อนบ้าน/เพื่อนร่วมงานพูดถึงวัคซีนมาตลอด แต่สิ่งที่หลายคนกำลังตัดสินใจอยู่ตอนนี้คือ ‘ฉีด-ไม่ฉีด’ จะฉีดวัคซีนหรือไม่ รวมถึงจะให้พ่อแม่ของเราฉีดหรือไม่

 

เปรียบเทียบกับ ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ 

เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติในประเทศไทยยังใช้กับผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งวัคซีนที่ผู้ใหญ่คุ้นเคยกันมากที่สุดน่าจะเป็น ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ เพราะมีการรณรงค์ให้ฉีดเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ >65 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 

 

ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่คือ 

 

  1. ป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อ โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพประมาณ 40-60% ในปีที่สายพันธุ์ในวัคซีนกับสายพันธุ์ที่ระบาดตรงกัน เพราะไวรัสไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ง่ายทำให้มีความหลากหลายของสายพันธุ์ 

 

  1. ลดความรุนแรงของโรค ป้องกันอาการป่วยรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวถึงข้างต้น 

 

  1. สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มักจะพูดถึงในระดับของครอบครัวที่มีกลุ่มเสี่ยงหรือบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าในระดับของประเทศ ซึ่งไม่สามารถฉีดได้เพียงพอ

 

คนอายุ 30 ปีขึ้นไป น่าจะจำการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ (ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย) ตอนนี้สายพันธุ์นี้ก็ยังหมุนเวียนอยู่ทั่วโลก เพียงแต่เรามี ‘วัคซีน’ และ ‘ยาต้านไวรัส’ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่ต้องกลัวการระบาดอีกต่อไป

 

‘ข้อดี’ ของการฉีดวัคซีนโควิด-19

กลับมาที่วัคซีนโควิด-19 ประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ในการฉีดวัคซีนก็เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทั้ง 3 ข้อ เพียงแต่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในข้อ 3 มีเป้าหมายถึงระดับประเทศ เดิมกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้า 50% ภายในปีนี้ แต่เพิ่งเปลี่ยนเป็น 70% เมื่อมีการระบาดระลอกเมษายนนี้

 

เนื่องจากวัคซีนหลักในแผนการจัดหาวัคซีนของไทย คือวัคซีน AstraZeneca (จำนวน 61 ล้านโดส = 61%) ผมจึงขอพูดถึงประโยชน์ 3 ข้อของวัคซีนบริษัทนี้เป็นหลัก

 

1. ป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อ

ตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่ทดลอง และระยะเวลาที่มีการติดตามอาสาสมัคร ถ้าอ้างอิงจากผลการศึกษาในสหราชอาณาจักรที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามี

 

  • ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ หลังฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเท่ากับ 66.7% 
  • ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อทุกรูปแบบ (รวมการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ) 54.1% 
  • ประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มที่ 2 เพิ่มขึ้นจาก 55.1% เป็น 81.3% ถ้าเว้นระยะห่างระหว่างเข็มนานขึ้นจาก <6 สัปดาห์ เป็น >12 สัปดาห์ (3 เดือน)
  • นอกจากนี้ยังพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มแรก หลังฉีดไปแล้ว 3 สัปดาห์-3 เดือนเท่ากับ 76.0% 

 

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในประเทศแอฟริกาใต้ค่อนข้างต่ำ ผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร New England พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเล็กน้อยถึงปานกลาง 21.9% และเมื่อวิเคราะห์เฉพาะสายพันธุ์ B.1.351 พบว่ามีประสิทธิภาพ 10.4%

 

2. ลดความรุนแรงของโรค

ปัจจุบันอัตราป่วยเสียชีวิตของโควิด-19 ทั่วโลกเท่ากับ 2.1% หมายถึงผู้ติดเชื้อทุกๆ 100 รายจะมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ส่วนประเทศไทยในระลอกใหม่ เดือนเมษายน 2564 มีอัตราป่วยเสียชีวิต 0.4% แต่ตัวเลขอาจมากกว่านี้หากผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข 

 

ความรุนแรงของโควิด-19 เพิ่มขึ้นตามอายุและโรคประจำตัว โดยจากการศึกษาในประเทศบราซิลพบว่าปัจจัยต่อไปนี้เพิ่ม ‘ความเสี่ยง’ ต่อการนอนโรงพยาบาลด้วยโควิด-19 เทียบกับกลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

 

  • ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 6.31 เท่า
  • โรคไต 7.43 เท่า
  • สูบบุหรี่ 5.12 เท่า
  • เบาหวาน 3.36 เท่า
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.15 เท่า
  • โรคปอด 2.38 เท่า
  • ภาวะอ้วน 2.04 เท่า

 

แต่จากผลการศึกษาประสิทธิภาพที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet รอบเดียวกัน พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ 100% โดยกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลทั้งหมด 15 ราย

 

ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจได้ว่าการฉีดวัคซีนนี้จะสามารถป้องกันอาการป่วย (ประสิทธิภาพประมาณ 70%) และอาการรุนแรงได้ โดยการแปลผลที่ถูกต้องคือ ผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถ ‘ลด’ อาการป่วยจากการติดเชื้อได้ 70% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด ‘ไม่ไช่’ ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้ 30%

 

3. สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

โดยทฤษฎีแล้วระดับภูมิคุ้มกันหมู่ที่จะสามารถหยุดการระบาดของโควิด-19 ได้คือ 50-66.6% (คำนวณจากค่า R 2.0-3.0) จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ลดลงในประเทศอิสราเอล ซึ่งฉีดวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม มากกว่า 50% ของประชากรทำให้ทุกคนมีความหวังเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่

 

ส่วนสหราชอาณาจักรมีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม มากกว่า 50% (ส่วนใหญ่เป็นวัคซีน AstraZeneca) ก็มีจำนวนผู้ป่วยลดลงเช่นกัน โดยมีผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ทั้งวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca สามารถ ‘ลด’ การแพร่เชื้อให้กับสมาชิกในบ้านเดียวกันได้ถึง 40-50% 

 

‘ข้อเสีย’ ของการฉีดวัคซีนโควิด-19

ถึงตรงนี้หลายคนน่าจะตัดสินใจฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ไปแล้ว แต่ผู้ที่จะฉีดวัคซีนหรือกำลังตัดสินใจอยู่ควรได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านว่าวัคซีนมีข้อดี-ข้อเสียในระดับ ‘บุคคล’ อย่างไร เพราะแน่นอนว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ในระดับ ‘ประเทศ’

 

ข้อมูลจากคณะกรรมการควบคุมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (MHRA) สหราชอาณาจักรระบุว่า วัคซีน AstraZeneca ใช้สำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีข้อห้ามฉีดคือ

 

  • มีภาวะแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน 
  • เคยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีน (VITT) หรือจากยาเฮพาริน (HIT)

 

ผลข้างเคียงของวัคซีน AstraZeneca ที่พบระหว่างการทดลองเฟส 3 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  • พบบ่อยมาก (มากกว่า 1 ใน 10 คน) ปวดบริเวณที่ฉีด, อ่อนเพลีย, ไข้/หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, ปวดกล้ามเนื้อ/ข้อ
  • พบบ่อย (1 ใน 10 คน) บวม/แดงบริเวณที่ฉีด, อาเจียนหรือท้องเสีย, อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง, เจ็บคอ, น้ำมูกไหล, ไอ
  • พบไม่บ่อย (1 ใน 100 คน) เวียนศีรษะ, เบื่ออาหาร, ปวดท้อง, ต่อมน้ำเหลืองโต, เหงื่อออก, ผื่นคัน
  • ยังไม่ทราบแน่ชัด (ไม่มีข้อมูล) ภาวะแพ้รุนแรง

 

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยมักไม่รุนแรง ตามธรรมชาติของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน และสามารถรับประทานยาบรรเทาอาการได้

 

ส่วนภาวะ VITT พบน้อยมาก จากรายงานในสหราชอาณาจักรพบ 4 รายต่อวัคซีน 1 ล้านโดส และพบในผู้มีอายุน้อย เมื่อพิจาณาประโยชน์-โทษจากวัคซีนแล้ว คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน (JCVI) จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ฉีด ‘วัคซีนทางเลือก’ ถ้าเป็นไปได้

 

ภาพเปรียบเทียบ ‘ข้อดี’ ของวัคซีนคือการป้องกันอาการรุนแรงจนต้องรักษาในห้อง ICU (สีฟ้า) กับ ‘ข้อเสีย’ รุนแรงของวัคซีน (สีส้ม) ตามกลุ่มอายุ ซึ่งพบว่าวัคซีนมีประโยชน์มากอย่างชัดเจนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป (อ้างอิง: MHRA)

 

‘วัคซีนโควิด-19’ ที่ดีที่สุดคือวัคซีน…

ผลการสำรวจของกรมควบคุมโรค (DDC Poll) ในเดือนเมษายน 2564 พบว่าประชาชน 54.2% ต้องการฉีดวัคซีน สิ่งที่รัฐบาล/กระทรวงสาธารณสุขต้องทำคือจัดหาวัคซีนที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งแผนการจัดหาวัคซีนล่าสุด (27 เมษายน 2564) จะมี

 

  • วัคซีนที่จัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดส แบ่งเป็นวัคซีน Sinovac 2 ล้านโดส ซึ่งน่าจะฉีดครบก่อนมิถุนายนนี้ และวัคซีน AstraZeneca 61 ล้านโดสจากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่จะส่งมอบในเดือนมิถุนายนนี้
  • วัคซีนที่กำลังจัดซื้อเพิ่มเติม ได้แก่ วัคซีน Pfizer, Sputnik V, Johnson & Johnson และ Sinovac อีกบริษัทละ 5-10 ล้านโดส 

 

การตัดสินใจ ‘ฉีด-ไม่ฉีด’ ควรอยู่บนหลักการประเมินข้อดี-ข้อเสียของวัคซีนนั้นๆ ซึ่งสำหรับผมวัคซีนที่ดีที่สุดคือนอกจากจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียแล้ว ต้องเป็นวัคซีนที่จะได้รับเร็วที่สุดด้วย เพราะยิ่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมได้เร็วเท่าไร เราก็จะดำเนินชีวิตตามปกติและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นเท่านั้น 

 

แต่ต้องยอมรับว่าวัคซีนทุกบริษัทในขณะนี้มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่จำกัด เพราะปกติแล้ววัคซีนจะต้องผ่านการติดตามในการทดลองเฟส 3 อย่างน้อย 2 ปี แต่วัคซีนโควิด-19 ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาด เราจึงยังต้องติดตามผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising