×

ชวนรู้จัก UVC เทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ที่กำลังถูกพูดถึงในวิกฤตโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
05.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • การฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C หรือที่เรียกว่า UVC นั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งโลกได้รู้จักเทคโนโลยีนี้มาแล้ว 128 ปีด้วยกัน
  • สาเหตุที่เทคโนโลยีนี้กำลังเป็นที่พูดถึงในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 มาจากคุณสมบัติของ UVC มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% จึงมีข้อได้เปรียบกว่าการฆ่าเชื้อโรคแบบอื่นๆ ที่สำคัญคือไม่ทิ้งสารเคมีที่เป็นอันตรายไว้หลังการใช้งาน จึงมีความปลอดภัยแก่ผู้ใช้
  • ในบ้านเราได้เห็นการใช้เครื่องนี้กันมากขึ้น โดยล่าสุดในโรงพยาบาลศิริราชได้นำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย Hyper Light Disinfection Robot มาใช้ถึง 3 เครื่อง ซึ่งนอกจากใช้ในโรงพยาบาลแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังถูกนำไปทดลองใช้กับการฆ่าเชื้อรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น การฆ่าเชื้อบนหน้ากากอนามัย เป็นต้น

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงในช่วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักคือ UVC หรือเทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C เพราะนี่ถือเป็นเทคโนโลยีทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่ไม่จำเป็นต้องไปหยิบจับอุปกรณ์ด้วยตัวเอง เพียงแค่สาดแสงลงไปก็กำจัดเชื้อโรคได้ และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้อีกทาง

 

โดยในช่วงที่ประเทศจีนกำลังเผชิญวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ได้มีการนำเข้าเครื่องฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC กว่า 1,000 เครื่อง เพื่อใช้ในโรงพยาบาล หลากหลายประเทศทั่วโลกทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ก็ได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ต่อสู้กับเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่เริ่มถูกหยิบมาใช้งานแล้ว

 

รู้จัก UVC

การฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C หรือที่เรียกว่า UVC นั้นไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่ถูกคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2435 หรือโลกได้รู้จักมาประมาณ 128 ปีแล้ว โดยการทดลองของ มาร์แชล วาร์ด ที่พยายามหาวิธีกำจัดแบคทีเรียโดยการใช้รังสีดังกล่าว แต่เทคโนโลยีนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักและเริ่มใช้งานกันอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลหลังมีการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ โรคซาร์ส (SARS) ในช่วง พ.ศ. 2545 และโรคเมอร์ส (MERS) เมื่อ พ.ศ. 2555 

 

สำหรับ UVC คือรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 200-280 นาโนเมตร เป็นรังสีที่โดยธรรมชาติจะไม่สามารถเดินทางผ่านชั้นโอโซนลงมายังโลกได้ เนื่องจากมีความยาวคลื่นที่สั้นกว่า UVA และ UVB แต่ในขณะเดียวกัน UVC มีพลังงานมากกว่า และมีความสามารถในการทำลาย DNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและเชื้อโรคต่างๆ ทำให้แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคชนิดต่างๆ ไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้ 

 

 

เครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตที่โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี

 

ปัจจุบันมีผลการวิจัยมากมาย ทั้งจากสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลที่พิสูจน์ได้ว่า UVC มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% จึงมีข้อได้เปรียบกว่าการฆ่าเชื้อโรคแบบอื่นๆ เช่น การฉีดพ่นสารเคมี การเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งในแง่ของความสะดวกในการใช้งาน ใช้เวลาทำความสะอาดเพียงไม่กี่นาที สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อครั้งต่ำ และที่สำคัญคือ ไม่ทิ้งสารเคมีที่เป็นอันตรายไว้หลังการใช้งาน จึงมีความปลอดภัยแก่ผู้ใช้

 

โรงพยาบาลของไทยกับนวัตกรรม UVC ช่วงโควิด-19

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น โรงพยาบาลหลายแห่งในบ้านเราเริ่มมีการนำเครื่องฆ่าเชื้อโรค UVC มาใช้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโดยเฉพาะในโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งล่าสุดได้นำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย Hyper Light Disinfection Robot ถึง 3 ตัว ไปใช้ในห้องผ่าตัด ห้อง ICU รวมไปถึงหอผู้ป่วยแยกโรคโควิด-19 และยังมีการวางแผนที่จะนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ในห้องผู้ป่วยติดเชื้อต่างๆ อีกด้วย

 

 

อ.สุวัฒน์ ดำนิล อาจารย์สาขาภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาล ภาควิชาเทคโนโลยีและสุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ข้อมูลถึงการฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลว่า การฆ่าทำลายเชื้อในโรงพยาบาลจะมีหลักการเบื้องต้นคือ การขจัดการปนเปื้อน (Decontamination) เช่น การขจัดการปนเปื้อนเชื้อออกจากตัวคนหรือเครื่องมือ ซึ่งจะมีระดับการขจัดการปนเปื้อนตั้งแต่การเช็ดทำความสะอาดทั่วไป (Cleaning) การฆ่าทำลายเชื้อ (Disinfection) การทำลายหรือลดจำนวนเชื้อโรคลง จนถึงระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

อีกแบบคือ การทำให้ปราศจากเชื้อหรือปลอดเชื้อ (Sterilization) คือการกำจัดหรือทำลายเชื้อโรคทุกชนิด รวมทั้งสปอร์ของเชื้อโรคได้ โดยกระบวนการฆ่าทำลายเชื้อจะใช้ 2 หลักการใหญ่ๆ คือ การฆ่าทำลายเชื้อโดยวิธีทางกายภาพ เช่น การฉายรังสียูวีซี (UVC) การใช้ความร้อนชื้น (Moisture Heat) ด้วยเครื่อง Autoclave ความร้อนแห้ง (Dry Heat) ด้วยเครื่อง Hot Air Oven เป็นต้น และการฆ่าทำลายเชื้อโดยวิธีทางเคมี เช่น การเช็ดด้วย 70% Alcohol การแช่ 0.5% Sodium Hypochlorite การอบด้วย 35% Hydrogen Peroxide เป็นต้น 

 

“สิ่งสำคัญในการเลือกใช้วิธีการใดในการฆ่าทำลายเชื้อ มีหลักการที่ต้องนำมาพิจารณาเสมอคือ ใช้ฆ่าเชื้ออะไร ความเข้มข้นเท่าไร ระยะเวลานานแค่ไหน เช่น ในกรณีต้องการฆ่าทำลายเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยความร้อนแห้ง (Dry Heat) ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที เป็นต้น”

 

อ.สุวัฒน์ ดำนิล อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

 

โดยวิธีการฆ่าทำลายเชื้อแต่ละวิธีจะมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน เช่น การใช้น้ำยาเช็ดทำความสะอาดพื้นผิว เชื้อจะไม่ฟุ้งกระจายขณะเช็ด แต่เช็ดได้ไม่ทั่วพื้นผิวที่ปนเปื้อน, วิธีการฆ่าเชื้อด้วยการฉีดพ่นและการอบด้วยน้ำยา สามารถฆ่าเชื้อได้ทั่วทุกพื้นผิว แต่กระบวนการฉีดพ่นและการอบจะมีความเสี่ยงอันตรายสูง จึงต้องดำเนินการโดยผู้ฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ดังนั้น จะเห็นว่าไม่มีวิธีการฆ่าทำลายเชื้อวิธีใดดีที่สุดในทุกสถานการณ์ จึงควรเลือกวิธีการที่เหมาะสม และประเมินแล้วว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเสมอ

 

ขณะเดียวกันการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้บริการนั้น อ.สุวัฒน์ ให้ข้อมูลว่า หลักการพื้นฐานในการลดหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งคุกคามสุขภาพ (Hazards) ให้บุคลากรหรือผู้ใช้บริการมีความปลอดภัยจะมีอยู่ 4 มาตรการ เริ่มจากมาตรการที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ การกำจัด/การทดแทน (Elimination/Substitution) 

 

เช่น การกำจัดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ให้หมดไปจากโรงพยาบาล เป็นต้น รองลงมาคือ การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering Control) เช่น การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเตียงแรงดันลบ ซึ่ง UVC ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ มาตรการควบคุมด้วยการบริหารจัดการ (Administrative Control) เช่น การทำงานที่บ้านเพื่อลดการสัมผัสเชื้อ และปิดท้ายด้วยมาตรการด้านบุคคล (Personal Control) เช่น PPE การใช้หน้ากากอนามัย การใช้ถุงมือ เป็นต้น

 

สำหรับนวัตกรรมการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C (UVC) นั้น ปัจจุบันมีการนำมาติดตั้งและใช้งานหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ติดตั้งแบบสแตนด์อโลน เช่น Upper Room UVGI เครื่องฟอกอากาศ เป็นต้น หรือแบบที่ติดตั้งในท่อ และแผงคอยล์เย็นของระบบระบายอากาศ หรือนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นในปัจจุบัน เช่น หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วย UVC เป็นต้น  

 

ทั้งหมดจะใช้แสง UVC ที่มาจากการสังเคราะห์ขึ้นโดยใช้หลอด UV เพราะแสง UVC ที่มาจากธรรมชาติคือแสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาที่พื้นผิวโลกเรานั้นไม่มี UVC เนื่องจากโอโซนในชั้นบรรยากาศดูดซับไว้หมดแล้ว ส่วนที่ทะลุผ่านมาถึงผิวโลกได้มากที่สุดเป็น UVA และ UVB ที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้

 

ทดลองฆ่าเชื้อในหน้ากากอนามัย

นอกจากใช้ในโรงพยาบาลแล้ว เทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตยังถูกนำไปใช้กับการวิจัยอื่นๆ อีก โดยเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้รายงานว่า ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ทดลองการฆ่าเชื้อด้วยการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต หรือ UVC เพื่อนำหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำได้ จากการทดสอบประมาณ 30 นาที พบว่า สามารถทำลายเชื้อจากโรคโควิด-19 ได้ ทั้งยังทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่สะสมอยู่ในหน้ากาก และจากการทดสอบนั้นพบว่า เส้นใยไม่เสียหายจนเสียประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโรคอีกด้วย

 

ลลนา เลิศสมิติวันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเมอร์สัน กรุ๊ป (Emerson Group) กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีที่ได้นำเทคโนโลยีที่ได้รับรางวัล Taiwan Excellence Award อย่างเครื่อง Hyper Light Disinfection Robot ที่ผลิตโดยบริษัทที่ได้รับรางวัลด้านการออกแบบยอดเยี่ยมระดับโลก Red Dot Award มาใช้ในไทย ให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างมั่นใจมากขึ้นในวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งปกติแล้วหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคจะถูกใช้งานในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล เพราะในห้องผ่าตัดมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกระจายเชื้อโรคระหว่างการผ่าตัด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาสภาพให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดเชื้อตลอดเวลา 

 

“สถานการณ์การระบาดเช่นนี้ทำให้ต้องให้ความสำคัญต่อการฆ่าเชื้อในพื้นที่อื่นด้วยมาตรฐานเดียวกับห้องผ่าตัด และต้องทำให้ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งสนใจเทคโนโลยีนี้ และได้ประสานมาทางบริษัท เราเชื่อมั่นทั้งประสิทธิภาพการทำงานและความคุ้มค่าของเครื่อง และเราเชื่อว่า ประเทศไทยจะมีการนำเทคโนโลยีฆ่าเชื้อด้วย UVC มาใช้อย่างเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในอนาคต” 

 

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า มาตรการในการรักษาความสะอาดและป้องกันการระบาดของเชื้อโรคจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงในโรงพยาบาล และเราอาจจะเห็นการฆ่าเชื้อด้วยการฉายรังสีอัลตราไวโอเลตมากขึ้นในโรงพยาบาล จนกลายเป็น ‘New Normal’ ในอนาคตอย่างแน่นอน 

 

 

อ้างอิง : 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising