×

ตุลาการศาลแถลงให้ CP ได้ไปต่อ ประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภา ชี้ยื่นเอกสารล่าช้าไม่ทำให้ได้เปรียบเจ้าอื่น

โดย THE STANDARD TEAM
07.11.2019
  • LOADING...

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ถือเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์สำคัญของเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีกองทัพเรือทำหน้าที่หลักในคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

 

การประมูลครั้งนี้ มีเอกชนเข้าร่วมแข่งขัน 3 เจ้า ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS กลุ่ม Grand Consortium และ กลุ่มธนโฮลดิ้ง (กลุ่ม CP) 

 

การยื่นซองประมูลมีขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ปมปัญหาคือ คณะกรรมการคัดเลือกฯ กำหนดเวลายื่นซองประมูลภายในเวลา 15.00 น. แต่กลุ่มธนโฮลดิ้ง (กลุ่ม CP) ยื่นซองประมูลช้ากว่ากำหนดไป 9 นาที ในขณะที่กลุ่ม BBS และกลุ่ม Grand Consortium ยื่นซองประมูลได้ตามกำหนดเวลา

 

ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกตัดสิทธิ์ไม่รับเอกสารการประมูลของกลุ่ม CP นำมาสู่การยื่นฟ้องศาลปกครองของกลุ่ม CP ซึ่งในขั้นแรกศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำสั่งยกฟ้อง เพราะเห็นว่ากองทัพเรือซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการเปิดและปิดรับซองของเอกชน ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย แต่ต่อมากลุ่ม CP ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และนัดฟังคำพิจารณาคดีในวันนี้ (7 พฤศจิกายน)

 

ทั้งนี้ การพิจารณาคดีในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่าย CP และกองทัพเรือ แถลงถ้อยคำต่อศาลด้วยวาจา จากนั้น เชี่ยวชาญ สุขช่วย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงคดี โดยมีใจความสำคัญว่า 

 

จากการพิจารณาคดีในประเด็นสำคัญของการยื่นเอกสารการประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในฐานะผู้ถูกฟ้องในคดี ได้ตัดสิทธิ์การประมูลของผู้ถูกฟ้อง เนื่องจากยื่นเอกสารการประมูลไม่ทันในเวลา 15.00 น. ของวันที่ 21 มีนาคม 2562 ประกอบกับได้มีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2562 พ.ร.บ.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 2561 พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 เอกสารตามการประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เรื่องหลักเกณฑ์การประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกหรือ RFP ที่ออกมาในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 รวมทั้งเอกสารแก้ไขเพิ่มเติม ที่ออกโดยกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ รวมทั้งการให้ข้อมูลและการชี้แจงของทั้งสองฝ่าย ที่ได้มีการนำเสนอในขั้นตอนศาลปกครองชั้นต้น แล้วมีข้อเสนอว่า

โดยที่การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวมีเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ซึ่งควรจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ กระบวนการที่ชัดเจน ในการตรวจรับเอกสาร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ภาครัฐ ในฐานะผู้ประมูลโครงการจะเป็นผู้กำหนดให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชนผู้เข้าประมูลโครงการทุกราย 

 

ซึ่งในข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า ในการยื่นเอกสารการประมูลของภาคเอกชน ได้มีการกำหนดให้มีการนำเอกสารที่ผ่านการลงทะเบียนขั้นต้นไปไว้ที่ห้องรับรองต่างประเทศ และให้ผู้เข้าร่วมประมูลทยอยเอาเอกสารมายื่นกับคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งรายแรกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ที่เริ่มขั้นตอนยื่นเอกสารเวลา 15.00 น. ตามด้วยกลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มธนโฮลดิ้ง เป็นกลุ่มสุดท้าย ซึ่งสภาพของการยื่นเอกสารย่อมเป็นการทยอยนำเอกสารเข้าเป็นระยะๆ โดยมีการรับรองเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการท้วงติงในขณะนั้น 

 

ส่วนภาพนิ่งที่ระบุว่ามีการขนเอกสารเข้ามาในเวลา 15.09 น. ก็ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงว่าจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลแต่อย่างไร

 

ขณะที่ข้อทักท้วงว่าการยื่นเอกสารล่าช้า ทำให้เกิดข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับผู้ยื่นประมูลอีก 2 ราย ก็ไม่สามารถอ้างได้ เนื่องจากผู้ที่ยื่นเอกสารรายที่ 3 ไม่อาจล่วงรู้รายละเอียด เทคนิค และราคาของรายอื่นๆ ได้เช่นกัน เนื่องจากเอกสารทั้งหมดถูกเก็บไว้ในห้อง Navy Club รวมทั้งเห็นว่าการพิจารณาเอกสารที่มีการยื่นเข้ามาแข่งขันทุกรายอย่างเป็นธรรมจะทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จากการแข่งขันมากที่สุด

 

ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าศาลปกครองสูงสุดควรมีการเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ไม่รับเอกสารการประมูลของผู้ฟ้องคดี และกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นในคดีนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising