การเมืองอเมริกันกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ก่อนที่การเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ พรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างเร่งกันทำคะแนนเชิญชวนให้พลเมืองอเมริกันออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง หวังเปลี่ยนทิศทางเกมการเมืองในช่วง 2 ปีหลังจากนี้
เลือกตั้งมิดเทอมคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
โดยทั่วไปการเลือกตั้งมิดเทอมจะจัดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บริหารประเทศผ่านไปแล้วครึ่งวาระ (2 ปี) ซึ่งจะตรงกับระยะเวลาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อยู่ครบวาระ 2 ปีพอดี จึงต้องมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใหม่ยกทีมทั้ง 435 คน นอกจากนี้ยังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้ว่าการรัฐ รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งในแต่ละปีจะมีจำนวนที่ไม่เท่ากันอีกด้วย
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป้าหมายคือการชิงชัยเก้าอี้ ส.ส. 435 ที่นั่ง ส.ว. 35 ที่นั่ง ผู้ว่าการรัฐ 36 ที่นั่ง โดยแต่ละพรรคจะต้องได้เก้าอี้ ส.ส. อย่างน้อย 218 ที่นั่ง จึงจะได้รับเสียงข้างมากในสภาล่าง ในขณะที่จะต้องได้เก้าอี้ ส.ว. อย่างน้อย 51 จาก 100 ที่นั่ง จึงจะได้รับเสียงข้างมากในสภาสูง ซึ่งการจัดให้มีการเลือกตั้งมิดเทอมเป็นไปเพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจระหว่างประธานาธิบดีกับเสียงของประชาชน
โดยปกติแล้วการเลือกตั้งมิดเทอมส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากพลเมืองอเมริกันเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติของพลเมืองที่ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้งมิดเทอมครั้งผ่านๆ มา ซึ่งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 40%
แล้วทำไมจู่ๆ การเลือกตั้งมิดเทอมครั้งนี้จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คำตอบของคำถามนี้ก็คือเป็นเพราะผู้ชายชื่อ ‘ทรัมป์’
ผลของการเลือกตั้งมิดเทอมในครั้งนี้จะส่งผลต่อการบริหารประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง ถ้าหากพรรครีพับลิกันสูญเสียเสียงข้างมากให้แก่พรรคเดโมแครต การผ่านร่างกฎหมายใดๆ ที่จำต้องผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก สภาและพรรคฝ่ายค้านจะมีอำนาจในการตรวจสอบรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น
แต่ในทางกลับกัน หากพรรครีพับลิกันยังคงรักษาเสียงข้างมากในสภาไว้ได้จะย่ิงเป็นการเน้นย้ำถึง ‘ความชอบธรรม’ ให้กับทรัมป์ในฐานะผู้นำประเทศที่พลเมืองอเมริกันยังคงให้การสนับสนุน
นโยบายที่ทรัมป์ใช้เรียกคะแนนเสียง
กลยุทธ์ของทรัมป์ดูค่อนข้างจะตรงไปตรงมา โดยไล่เรียงผลงานด้านต่างๆ ที่เขาได้ทำมาตลอด 2 ปีเพื่อสร้างแรงผลักดันให้พลเมืองออกมาเลือกลงคะแนนให้กับพรรครีพับลิกัน ซึ่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและประเด็นปัญหาผู้อพยพดูเหมือนจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้
นโยบายเศรษฐกิจที่ทรัมป์รู้สึกภูมิใจเป็นพิเศษคือการปรับลดภาษีและอัตราการว่างงานผ่านกฎหมาย Tax Cuts and Jobs Act of 2017 พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังดำเนินมาตรการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) แทนกรอบความร่วมมือ NAFTA รวมถึงการเปิดฉากทำสงครามทางการค้ากับจีนผ่านการตั้งกำแพงภาษีเพื่อลดความไม่เป็นธรรมทางการค้าที่สหรัฐฯ ได้รับ ซึ่งถ้าหากพรรครีพับลิกันสูญเสียเสียงข้างมากในสภาไปก็อาจจะส่งผลกระทบต่อท่าทีที่เคยดุดันของสหรัฐฯ ในสงครามทางการค้าหลังจากนี้
ในขณะที่กองคาราวานผู้อพยพจากลาตินอเมริกาที่เดินทางเข้าประชิดพรมแดนสหรัฐฯ ก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งมิดเทอมครั้งนี้ โดยทรัมป์ได้ปลุกกระแสชาตินิยมสุดโต่งขึ้นในสหรัฐฯ ผลักดันการสร้างกำแพงขึ้นตามแนวชายแดน ตัดงบเงินช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในลาติน พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ต้องมาก่อนตามแคมเปญ America First
แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านผู้อพยพของรัฐบาลทรัมป์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากจากพรรคฝ่ายค้าน โดยเดโมแครตมองว่าการจับให้เด็กๆ ผู้อพยพแยกจากพ่อและแม่เมื่อเดินทางมาถึงสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ พวกเขาหวังว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่และบรรดาคนกลุ่มน้อยในสังคมจะลุกขึ้นมาลงคะแนนเสียงต่อต้านจุดยืนของทรัมป์ในเรื่องนี้
โอกาสที่ทรัมป์จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีมีมากน้อยแค่ไหน
ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศระบุว่า สมาชิก ส.ส. ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเสนอญัตติไม่ไว้วางใจเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง หากสงสัยว่าประธานาธิบดีกระทำความผิด ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. (51%) สนับสนุนญัตติดังกล่าวก็จะดำเนินการต่อในขั้นตอนการไต่สวนต่อไป
โดยสภาคองเกรสจะเริ่มทำการไต่สวนโดยมีประธานศาลสูงสุดเป็นประธานและมี ส.ว. ทำหน้าที่เป็นคณะลูกขุน ในขณะที่ ส.ส. จะทำหน้าที่ฟ้องร้องจำเลย (ซึ่งในที่นี้คือประธานาธิบดี) ซึ่งถ้าหากท้ายที่สุด ส.ว. ลงมติอย่างน้อย 2 ใน 3 พิจารณาเห็นชอบว่าประธานาธิบดีมีความผิดจริงก็จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้รองประธานาธิบดีเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศแทนจนครบวาระ
ที่ผ่านมามีอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยเข้าสู่กระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี (Impeachment) มาแล้วถึง 2 คนคือ แอนดรูว์ จอห์นสัน ในปี 1868 จากกรณีปลดรัฐมนตรีสงครามที่อาจมิชอบด้วยกฎหมาย และบิล คลินตัน ในปี 1998 จากกรณีข่าวลือในประเด็นมีสัมพันธ์ทางเพศกับนักศึกษาฝึกงาน
นอกจากนี้อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เองก็เคยเกือบที่จะเข้าสู่กระบวนการนี้แล้ว แต่ชิงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเสียก่อนจากกรณีวอเตอร์เกตที่ใช้อำนาจผู้นำประเทศในทางมิชอบ สั่งการให้สมาชิกหน่วย CIA จารกรรมและเผยแพร่ข้อมูลลับของศัตรูทางการเมืองที่โรงแรมวอเตอร์เกตอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคคู่แข่งอย่างเดโมแครตในช่วงเวลานั้น นับเป็นคดีที่อื้อฉาวที่สุดในการเมืองสหรัฐฯ เมื่อปี 1972
กระแสเรียกร้องให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เขาเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง และดูเหมือนว่าช่วงเวลาที่จะผลักดันกระบวนการนี้ให้เกิดขึ้นใกล้เข้ามามากขึ้นทุกขณะ หากพรรคเดโมแครตสามารถช่วงชิงเสียงข้างมากที่ตนสูญเสียไปกลับคืนมาได้อีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพรรคเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้งมิดเทอม กลับมาครองเสียงข้างมากในสภาได้สำเร็จ และอาจเดินหน้ายื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้จริง แต่โอกาสที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ก็อาจจะเรียกได้ว่า ‘แทบจะเลือนราง’
เพราะถ้าหาก ส.ว. จากพรรครีพับลิกันไม่ยินยอมให้ความร่วมมือ ผู้ชายชื่อ ‘ทรัมป์’ ก็จะยังคงได้นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 45 ต่อไป เพราะการที่จะถอดถอนประธานาธิบดีได้นั้นจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 จาก ส.ว. ทั้งหมดตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
‘ความเป็นที่สุด’ ของการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ 2018
ในปีนี้เป็นปีที่สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันพ้นจากตำแหน่งมากที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ Center for Responsive Politics ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ พบว่าในปี 2018 นี้ พรรครีพับลิกันจะมีสมาชิกสภาคองเกรสพ้นจากตำแหน่งมากที่สุดถึง 37 คน โดยเกษียณอายุ 26 คน และอีก 11 คนตัดสินใจลาออกเพื่อลงสมัครหรือย้ายไปทำงานในตำแหน่งอื่น
ในขณะที่พรรคเดโมแครตจะมีสมาชิกสภาคองเกรสพ้นจากตำแหน่งในปีนี้เพียง 17 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเกินครึ่งต่อครึ่งเมื่อเทียบกับพรรครีพับลิกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยคือในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครหญิงลงชิงตำแหน่งทางการเมืองมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดย Politico ระบุว่าในปีนี้พรรคเดโมแครตส่งผู้สมัครหญิงลงชิงชัยถึง 198 คน ในขณะที่พรรครีพับลิกันส่งผู้สมัครหญิงลงชิงชัย 59 คน รวม 257 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 ปีก่อนมากกว่า 1 ใน 5 จนทำให้หลายฝ่ายมองว่าปี 2018 นี้จะเป็น ‘ปีของผู้หญิงอเมริกัน’ ที่ทำให้สัดส่วนของผู้หญิงในสภาคองเกรสเพิ่มขึ้น 20% จากสมาชิกทั้งหมดในปัจจุบัน ซึ่งความเป็นที่สุดในสองประเด็นนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาพลักษณ์ของการเมืองอเมริกันภายหลังจากการเลือกตั้งมิดเทอมครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย
ใครคือผู้สมัครที่น่าจับตามอง
การเลือกตั้งมิดเทอมครั้งนี้อาจเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะสร้างวินาทีประวัติศาสตร์ต่างๆ มากมายให้กับการเมืองสหรัฐฯ โดยผู้สมัครที่น่าสนใจคนแรกคือ อิลฮาน โอมาร์ หญิงสาวผู้ลี้ภัยชาวอเมริกัน-โซมาเลีย ผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส. ในเขต 5 ของรัฐมินนิโซตาจากพรรคเดโมแครต หากเธอได้รับชัยชนะเหนือผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน เธอจะกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาคองเกรสคนแรกๆ ของสหรัฐฯ ที่เป็นหญิงชาวมุสลิม ร่วมกับ ราชิดา ทลาอิบ เพื่อนผู้สมัครร่วมพรรคชาวอเมริกัน-ปาเลสไตน์ ที่ลงสมัครชิงเก้าอี้ ส.ส. ในเขต 13 ของรัฐมิชิแกนแบบไร้คู่แข่ง
เด็บ ฮาแลนด์ นักการเมืองอเมริกัน วัย 57 ปี จากรัฐนิวเม็กซิโก ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตผู้ลงชิงชัยให้กับรัฐที่เธอเติบโตมา หากเธอได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส. เขต 1 รัฐนิวเม็กซิโก จะทำให้เธอสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นผู้หญิงชาวพื้นเมืองคนแรกในประวัติศาสตร์อเมริกันที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสภาสหรัฐฯ โดยเธอยืนยันจะเดินหน้าผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงนโยบายเรียนฟรีและโครงการ Medical for All
ในขณะที่ อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตส เป็นผู้สมัครอีกคนที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะในการเลือกตั้งรอบแรก นักการเมืองอเมริกันวัยเพียง 29 ปีรายนี้สามารถกวาดคะแนนเสียงเอาชนะ โจ ครอว์ลีย์ นักการเมืองวัยเก๋าจากเดโมแครต ผู้นั่งเก้าอี้ ส.ส. รัฐนิวยอร์กมาแล้วถึง 10 สมัยลงได้สำเร็จ คว้าสิทธิ์เป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยตำแหน่ง ส.ส. เขต 14 รัฐนิวยอร์ก ในการเลือกตั้งมิดเทอมหนนี้ หากเธอได้รับชัยชนะ เธอจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุดที่ได้นั่งเก้าอี้ในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
และคนสุดท้ายที่ THE STANDARD จะหยิบยกมาพูดถึงคือ คริสติน ฮัลควิสต์ สาวข้ามเพศอดีตผู้บริหารงานด้านพลังงานในรัฐเวอร์มอนต์ ผู้ลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในนามพรรคเดโมแครต ถ้าหากฮัลควิสต์ชนะการเลือกตั้งเหนือ ฟิล สกอตต์ ผู้ว่าการรัฐคนปัจจุบันจากพรรครีพับลิกัน เธอจะกลายเป็นผู้ว่าการรัฐที่เป็นสาวข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันทันที
ผลโพลและสถิติต่างๆ เป็นอย่างไร
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติของ The American Presidency Project พบว่าพรรคการเมืองของประธานาธิบดีมักจะสูญเสียที่นั่งในสภาคองเกรสในช่วงการเลือกตั้งมิดเทอม โดยพรรครีพับลิกันเคยสูญเสียที่นั่งในสภาคองเกรสทั้งจาก ส.ส. และ ส.ว. มากที่สุด 61 ที่นั่งในสมัยอดีตประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ในการเลือกตั้งมิดเทอมปี 1958
ในขณะที่พรรคเดโมแครตพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในช่วงการเลือกตั้งมิดเทอมปี 2010 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา สูญเสียที่นั่งในสภาสูงถึง 63 ที่นั่ง ทำให้พรรครีพับลิกันกุมเสียงข้างมากได้ในสภาล่าง ส่งผลให้การทำงานของโอบามาเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วง 2 ปีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะสูญเสียเสียงข้างมากและได้รับความนิยมตกต่ำลงมาอยู่ราว 45% แต่ท้ายที่สุดโอบามาก็ยังได้รับความไว้วางใจจากพลเมืองอเมริกันในการบริหารประเทศต่ออีกสมัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2012 จนพรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงข้างมากในทั้งสองสภาเมื่อการเลือกตั้งมิดเทอมปี 2014 มาถึง
ผลโพลจากเว็บไซต์ projects.fivethirtyeight.com คาดการณ์ว่าโอกาสที่พรรคเดโมแครตจะชนะการเลือกตั้งและกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่างอีกครั้งมีสูงถึง 85.8% อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าพรรคฝ่ายค้านจะมีโอกาสคว้าที่นั่ง ส.ส. เพิ่มอีก 20-58 ที่นั่งสูงถึง 80% และโอกาสที่พรรครีพับลิกันจะยังคงครองเสียงข้างมากในสภาต่อไปมีสูงถึง 85.2%
โดยสอดคล้องกับผลโพลสำรวจความคิดเห็นของ ABC News ที่จัดทำร่วมกับ The Washington Post ที่ระบุว่าพลเมืองอเมริกันกว่า 52% ตัดสินใจเลือกลงคะแนนให้กับผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ในขณะที่อีก 44% ยังคงเทใจให้กับพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีทรัมป์
นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญของเดโมแครตที่จะกลับมาพลิกเกมการเมืองสหรัฐฯ อีกครั้ง
ผลการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร ประธานาธิบดีทรัมป์จะยังคงครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาต่อไปหรือไม่
พลเมืองอเมริกันที่จะไปใช้สิทธิ์ในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้เท่านั้นที่รู้คำตอบ!
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/trump-impeachment-can-us-president-removed-how-congress-senate-vote-midterms-a8502796.html
- www.telegraph.co.uk/news/0/presidential-impeachment-usa-often-has-happened
- www.telegraph.co.uk/news/0/us-midterm-elections-2018-years-congressional-elections-matter
- www.opensecrets.org/members-of-congress/departures-by-cycle
- www.yahoo.com/news/record-diversity-candidates-194745321–politics.html
- cawp.rutgers.edu/congressional-candidates-summary-2018
- www.cawp.rutgers.edu/facts/elections/election_watch
- www.aljazeera.com/news/2018/10/midterms-2018-candidates-history-181030140052195.html
- www.aljazeera.com/news/2018/10/nevada-elect-female-majority-legislature-181031143630373.html
- www.presidency.ucsb.edu/statistics/data/seats-congress-gainedlost-the-presidents-party-mid-term-elections
- www.bbc.com/news/world-us-canada-44314914
- projects.fivethirtyeight.com/2018-midterm-election-forecast/house/?ex_cid=rrpromo
- projects.fivethirtyeight.com/2018-midterm-election-forecast/senate/?ex_cid=midterms-header
- www.langerresearch.com/wp-content/uploads/1202a2The2018Midterms.pdf
- นอกจากเก้าอี้ ส.ส. และ ส.ว. ที่ผู้สมัครจากสองพรรคใหญ่จะลงชิงชัยกันแล้ว ตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะ ‘ผู้ว่าการรัฐ’ (Governor) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ถือครองอำนาจในการบริหารงบประมาณและนำกฎหมายและข้อปฏิบัติต่างๆ ไปบังคับใช้ในแต่ละรัฐ ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันกิจกรรมต่างๆ ของพรรค และจัดหาเงินทุนสนับสนุนที่จะใช้ในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดี
- โดยในปัจจุบันสมาชิกพรรครีพับลิกันอยู่ในตำแหน่งผู้ว่าการรัฐมากถึง 33 จาก 50 รัฐทั่วประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งมิดเทอมครั้งนี้จะมีการชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐถึง 36 ตำแหน่ง ซึ่งพรรคการเมืองที่สามารถนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐได้มากกว่าจะครองความได้เปรียบและส่งผลต่อเกมการเมืองในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 ไม่มากก็น้อย