×

ทำไมคำพิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ ที่ล้มล้างคำตัดสินคุ้มครองสิทธิทำแท้งของสตรี จึงสะเทือนกลุ่ม LGBTQIA+

01.07.2022
  • LOADING...
LGBTQIA

การที่ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา หรือ Supreme Court ได้ออกคำพิพากษาใหม่เพื่อเป็นการล้มล้างคำพิพากษาเดิมในคดี Roe v. Wade ที่เคยคุ้มครองสิทธิในการทำแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์แก่สตรีในทุกมลรัฐนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของสตรีชาวอเมริกันนับล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในมลรัฐที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ ที่สำคัญไปกว่านั้นเหตุผลที่ศาลสูงใช้ในการล้มล้างคำตัดสินในคดี Roe v. Wade อาจจะนำไปสู่คำล้มล้างในอีกหลายๆ คดีที่เคยเป็นชัยชนะที่สำคัญของฝ่ายเสรีนิยม

 

สิทธิความเป็นส่วนตัว (Right of Privacy)

ศาลสูงสหรัฐฯ ให้เหตุผลในการตัดสินคดี Roe v. Wade ในปี 1973 ว่าการทำแท้งของสตรีนั้นถูกคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัวที่ชาวอเมริกันจะทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเองตราบใดที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น (Right of Privacy) ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานที่ศาลสูงยึดถือมาจากคดีที่พวกเขาพิจารณาในปี 1965 คดีนั้นมีชื่อว่า Griswold v. Connecticut ซึ่งตัดสินไว้ว่ารัฐบาลระดับมลรัฐจะออกกฎหมายห้ามจำหน่ายยาคุมกำเนิดเพราะผิดต่อหลักศาสนาคริสต์ไม่ได้ 

 

แต่อย่างไรก็ดี Right of Privacy นั้นไม่ได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่เป็นการที่ผู้พิพากษาชุดนั้นอนุมานเอามาจาก Fourth Amendment ที่บอกว่าห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐค้นหรือจับกุมชาวอเมริกันโดยไม่มีเหตุอันควร และจาก Fifth Amendment ที่ระบุว่าชาวอเมริกันมีสิทธิที่จะไม่ให้ปากคำที่จะเป็นโทษกับตัวเอง

คณะผู้พิพากษาศาลสูงปัจจุบันมีความเห็นตรงข้าม

เนื่องจากสิทธิในความเป็นส่วนตัวไม่ได้มีการระบุไว้ตรงๆ ในรัฐธรรมนูญ ทำให้คำตัดสินในคดี Roe v. Wade ในปี 1973 นั้นเป็นคำตัดสินที่ค่อนข้างอ่อน และฝ่ายอนุรักษนิยมก็หวังมาตลอดว่าพวกเขาจะสามารถกลับคำตัดสินในคดี Roe v. Wade ได้เมื่อไรก็ตามที่พวกเขามีเสียงข้างมากในศาลสูง ซึ่งแม้แต่ผู้พิพากษาของฝ่ายเสรีนิยมอย่าง รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ก็แสดงถึงความกังวลในเรื่องนี้มาตลอด 

 

เธอเคยกล่าวปาฐกถาในหลายโอกาสว่า คณะผู้พิพากษาศาลสูงชุดนั้นน่าจะเอาคดีที่เธอทำอย่าง Struck v. Secretary of Defense มาตัดสินเพื่อทำให้การทำแท้งถูกกฎหมายมากกว่า เพราะในคดีนั้นกินส์เบิร์กได้พยายามต่อสู้ด้วยการเอา Equal Protection Clause (ซึ่งมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญตรงๆ) มาอ้าง ซึ่งน่าจะเป็นหลักกฎหมายที่เข้มแข็งกว่า

 

ซึ่งในที่สุดความกังวลของกินส์เบิร์กก็กลายมาเป็นความจริง เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมกลับมาครองเสียงข้างมากในศาลสูงอย่างเด็ดขาดเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ และได้กลับคำตัดสินของคดี Roe v. Wade ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

แรงสั่นสะเทือนไปถึงสิทธิของชาว LGTBQIA+

การที่คณะผู้พิพากษาชุดนี้ไม่ยอมรับถึงการมีอยู่ของ Right of Privacy ทำให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นมาในฝ่ายเสรีนิยมว่า ศาลสูงชุดนี้อาจจะดำเนินการกลับคำตัดสินในอีกหลายๆ คดีที่ใช้หลัก Right of Privacy มาอ้างเช่นกัน เช่น คดี Griswold v. Connecticut ซึ่งเป็นคดีแรกที่มีการอ้างถึงหลักการนี้ และคดีที่เป็นหมุดหมายที่สำคัญของเสรีภาพของชาว LGBTQIA+ เช่น คดี Lawrence v. Texas ที่ระบุว่ารัฐบาลมลรัฐจะเอาผิดการร่วมเพศของคนเพศเดียวกันไม่ได้ (Sodomy Law) รวมถึงคดี Obergefell v. Hodges ที่ระบุว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวต้องถูกกฎหมายในทุกมลรัฐ

 

ซึ่งความกังวลนี้ไม่ใช่เป็นการกระต่ายตื่นตูมไปเองของฝ่ายเสรีนิยมแต่อย่างใด เพราะผู้พิพากษาของฝ่ายอนุรักษนิยมคนหนึ่งอย่าง คลาเรนซ์ โทมัส ได้ให้ความเห็นลงไปในคำพิพากษาของคดี Roe v. Wade ด้วยว่า ศาลสูงควรจะพิจารณากลับคำตัดสินในอีกคดีของ LGBTQIA+ ที่กล่าวมาในข้างต้น และอัยการสูงสุดของมลรัฐเท็กซัสจากพรรครีพับลิกันอย่าง เคน แพกซ์ทัน ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลของมลรัฐเท็กซัสมีความพร้อมที่จะเอากฎหมาย Sodomy Law ออกมาบังคับใช้อีกครั้ง

 

ภาพ: Bill Clark / CQ-Roll Call, Inc via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising