สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ที่เกิดจากการระบาดของโควิดในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา อาจสิ้นสุดลงไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันจากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research: NBER) อย่างเป็นทางการ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็เริ่มออกมาแสดงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้ดีในตลาดแรงงาน ราคาอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น
โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาวะถดถอยของสหรัฐฯ ในคราวนี้คือภาพสะท้อนของภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศซึ่งเกิดขึ้นในปี 1918 อันเป็นผลมาจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำอยู่ 7 เดือนก่อนฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ จนทำสถิติเป็นการฟื้นตัวกลับมาได้เร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ด้านสำนักงาน NBER ระบุว่า การถดถอยทางเศรษฐกิจเพราะโควิดจะซ้ำรอยกับเหตุไข้หวัดใหญ่ระบาดในอดีตหรือไม่ ยังจำเป็นต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งอาจกินระยะเวลานานหลายเดือนกว่าที่จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ทั้งๆ ที่ภาวะถดถอยจบลงไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว ซึ่งหนึ่งในหน้าที่หลักของสำนักงาน NBER ก็คือการประกาศจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของวงจรเศรษฐกิจ (Economic Cycles)
นอกจากนี้แม้ว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวในตลาดหลักๆ แต่ก็ยังมีภาคธุรกิจอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ห่างไกลจากช่วงก่อนเกิดโควิดหรือก่อนเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 อย่างธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจร้านอาหาร
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในภาพรวม นักวิเคราะห์หลายสำนักระบุตรงกันว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เคลื่อนที่ไปในทิศทางบวก ทั้งตัวเลข GDP ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่าน หลังจากที่ช่วงครึ่งปีแรกของปีที่แล้วดิ่งลงเหว เช่นเดียวกันกับตลาดงานที่ตัวเลขคนว่างงานค่อยๆ ลดลง ขณะที่การจ้างงานโดยเฉพาะในธุรกิจบริการอย่างร้านอาหารเริ่มกลับมามากขึ้น ส่วนรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น รวมถึงตลาดหุ้นเองก็ฟื้นกลับมาอยู่ในแดนบวกกันบ้างแล้ว และราคาบ้านที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน จากการเปิดเผยของ Arbor Realty Trust (ABR) บริษัทขายบ้านและที่ดิน รวมถึงรับจำนองอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงเดือนที่ผ่านค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ และความต้องการเช่าบ้านในหมู่ลูกค้าของบริษัทเริ่มกลับมามากขึ้นอีกครั้ง
ในส่วนประเด็นความวิตกที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน (Double Dip Recession) เพราะการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อจัดการเงินเฟ้อ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Fed คือภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวระยะสั้น ดังนั้น Fed จึงไม่มีแรงกดดันที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้อย่างที่วิตกกันไว้แน่นอน
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: