ถึงแม้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนเกือบทั่วโลกจะเริ่มทยอยกลับมาดำเนินไปตามปกติเหมือนก่อนโควิดแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วยังไม่กลับมา หนึ่งในนั้นคือเรื่องของปัญหาจำนวนผู้โดยสารที่หายไป และกำลังส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบขนส่งสาธารณะในสหรัฐอเมริกา
Bloomberg รายงานว่า ขณะนี้บริษัทผู้ได้รับสัมปทานระบบขนส่งสาธารณะหลายแห่งในอเมริกากำลังเผชิญกับปัญหาที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกบริษัทต่างมีความหวังว่าเมื่อวิถีชีวิตปกติกลับมา สถานการณ์ทุกอย่างจะกลับมาด้วย แต่ปรากฏว่าสิ่งที่หวังนั้นสวนทางกับความเป็นจริงอย่างมาก
จำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทำให้บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการดึงดูดให้ผู้โดยสารกลับมา ด้วยการอัดโปรโมชันและหั่นราคาที่แม้จะพอช่วยได้บ้าง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการขาดทุนสะสมในระยะยาวที่จะกลายเป็นปัญหาลูกโซ่ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาระบบไปจนถึงการบำรุงรักษาต่างๆ และปัญหาเรื่องทรัพยากรบุคคล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- การรถไฟฟ้ากรุงโซลเตรียมขายสิทธิ์การใช้ ‘ชื่ออื่น’ แทนสถานีรถไฟใต้ดิน 50 แห่ง หวังหาเงินมาช่วยใช้หนี้ 4.6 แสนล้านบาท
- ชมคลิป: เปิดต้นตอปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ภาระใหญ่เกินอำนาจผู้ว่าฯ กทม. | KEY MESSAGES
“บริษัทหลายแห่งกำลังจะต้องเจอกับหน้าผาทางการคลังในปีหน้าหรือปีถัดไปจากปีหน้า ซึ่งมันจะไม่สวยงามแน่นอน” Jim Aloisi ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางนโยบายระบบขนส่งแห่ง Massachusetts Institute of Technology (MIT) ร่วมวิเคราะห์ “ปัญหานั้นอยู่ที่โครงสร้างและการที่หลายบริษัทนั้นพึ่งพากับค่าโดยสารมากเกินไป”
ในขณะที่บางแห่งยังคงหวังว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาเหมือนก่อนอีกครั้ง แต่บริษัทอีกหลายแห่งได้เริ่มปรับตัวเข้ากับโลกแห่งความจริงแบบใหม่ เพราะหากไม่มีการเข้ามาช่วยเหลือจากภาครัฐหรือมีแหล่งเงินทุนใหม่ พวกเขามีทางเลือกอยู่แค่ 2 อย่างคือการลดการบริหารลง หรือเพิ่มค่าโดยสารขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะทางไหนก็ไม่ดีกับประชาชนสักทาง ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมัน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ Bay Area Rapid Transit (BART) ในแคลิฟอร์เนีย เริ่มนึกถึงการเลิกฝากความหวังในการหารายได้จากจำนวนผู้โดยสาร เช่นเดียวกับทาง Metropolitan Transportation Authority (MTA) ที่เดินรถไฟใต้ดิน รถบัส และรถไฟชานเมือง ก็เริ่มวางแผนสำหรับอนาคตที่จะมีจำนวนผู้โดยสารลดลง และหวังว่าจะได้รับเงินทุนอุดหนุนเหมือนบริการสาธารณะระบบอื่นที่จำเป็นต่อประชาชนมากกว่าที่จะต้องมาคาดหวังจากค่าโดยสาร
ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจของ MTA จากการประชุมบอร์ดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าในวันทำงานปกตินั้นมีจำนวนผู้โดยสารกลับมาแค่ 60% ของช่วงก่อนโรคระบาดเท่านั้น และมีจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ระบบแค่ 50% หรือต่ำกว่าในย่านแมนฮัตตันรวมถึงในย่านมิดทาวน์และย่านธุรกิจ ซึ่งเป็นผลจากการที่คนยังคงทำงานที่บ้านเป็นบางวันในแต่ละสัปดาห์ ไม่ได้กลับมาทำงานในเมืองทุกวันเหมือนเดิม
ขณะที่ทางด้าน Metropolitan Atlanta Rapid Transit Authority (MARTA) ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ยังเชื่อว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับเรื่องนี้ เพราะมองเห็นการเติบโตของจำนวนประชากร แม้เวลานี้จะมีจำนวนผู้โดยสารกลับมาแค่ 49% แต่ในระยะยาวทุกอย่างน่าจะกลับมาเหมือนก่อนโควิด
เช่นเดียวกับ New Jersey Transit Corporation (NJ Transit) ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ที่เชื่อว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาอย่างช้าๆ แม้ว่าในเวลานี้รายได้จากค่าโดยสารจะกลับมาแค่ 14% ของงบประมาณค่าดำเนินการ ซึ่งน้อยกว่าในช่วงก่อนโรคระบาดที่เคยได้ที่ 45% มากก็ตาม
การยืนหยัดในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับบริษัทผู้ได้รับสัมปทานขนส่งสาธารณะทั่วสหรัฐอเมริกา เพราะแม้จะอยากจะก้าวไปข้างหน้าด้วยการพัฒนาระบบและการบริการให้ดีขึ้นโดยเฉพาะระบบการขนส่งแบบยั่งยืน แต่จำนวนผู้โดยสารที่ลดลง, ต้นทุนที่สูงขึ้น, ความจำเป็นในการตัดลดงบประมาณ และการขาดแคลนเจ้าหน้าที่คือสิ่งที่ฉุดรั้งเอาไว้ ดูเหมือนความหวังในระยะสั้นมีเพียงแค่การอัดโปรโมชันเพื่อหวังให้คนกลับมาเดินทางกันเป็นปกติอีกครั้ง
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP