×

ส่องกฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ของขวัญคริสต์มาสที่ทรัมป์มอบให้ชาวอเมริกัน

22.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ไฮไลต์สำคัญของกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ผลักดันโดยพรรครีพับลิกันฉบับนี้อยู่ที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 21% จากระดับ 35% ในปัจจุบัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า ภายหลังจากที่ทรัมป์ลงนามรับรองแล้ว
  • ศูนย์นโยบายภาษีในสหรัฐฯ ประเมินว่า กฎหมายภาษีฉบับใหม่ของสหรัฐฯ จะช่วยลดภาระภาษีต่อคนเฉลี่ย 1,600 เหรียญสหรัฐในปี 2018 และจะทำให้ผู้เสียภาษีมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% แต่คนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในประเทศ
  • ทรัมป์ยืนยันว่าการปฏิรูประบบโครงสร้างทางภาษีครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้กลับมาเติบโตที่ระดับ 4-6% ต่อปี และสร้างงานให้กับชาวอเมริกันมากกว่า 12 ล้านตำแหน่ง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้รับชัยชนะในกระบวนการนิติบัญญัติครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประมุขทำเนียบขาวในเดือนมกราคม 2017 เป็นต้นมา หลังจากที่สภาคองเกรสได้อนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับประวัติศาสตร์มูลค่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ปี 1986


กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นผลงานรูปธรรมชิ้นแรกของทรัมป์ หลังจากที่เคยคว้าน้ำเหลวในการผลักดันกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพก่อนหน้านี้ โดยทรัมป์และพรรครีพับลิกันต่างก็คาดหวังว่ามาตรการลดภาษีจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทอเมริกันทั่วโลก นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น และท้ายที่สุดจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ขยายตัวอย่างมั่นคง   


THE STANDARD จะพาไปทำความรู้จักกับกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยดูว่าเนื้อหาสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายเดิมอย่างไร? ระบบภาษีใหม่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้มากแค่ไหน? และไทยในฐานะที่เป็นฐานการลงทุนโดยตรงที่สำคัญของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากการปรับลดภาษีขนานใหญ่ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้มากน้อยเพียงใด?

 

สาระสำคัญของรัฐบัญญัติปฏิรูประบบภาษี Tax Cuts and Jobs Act

 

ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 21%

ไฮไลต์สำคัญของกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ผลักดันโดยพรรครีพับลิกันฉบับนี้อยู่ที่การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 21% จากระดับ 35% ในปัจจุบัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า ภายหลังจากที่ทรัมป์ลงนามรับรองแล้ว


ก่อนหน้านี้สมาชิกรีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างก็เสนอให้กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ระดับสูงสุด 20% แต่ท้ายที่สุดก็ได้ขยับขึ้นมาเป็น 21% ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยเสนอให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 15% แต่ก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

 

ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปรับช่วงรายได้ แต่คงฐานภาษี 7 ขั้นบันไดตามเดิม

กฎหมายใหม่กำหนดให้รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยคำนวณฐานภาษี 7 ขั้นบันไดตามช่วงรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 10%, 12%, 22%, 24%, 32%, 35% และ 37% ต่างจากกฎหมายฉบับก่อนหน้าที่กำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 10%, 15%, 25%, 28%, 33%, 35% และ 39.6%


อย่างไรก็ตาม การปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมายฉบับใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงปี 2025 เท่านั้น เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎเหล็กด้านงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐฯ

 

 

ปรับเงื่อนไขการขอหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง หลังจากที่สมาชิกพรรครีพับลิกันได้จำกัดเพดานการขอหักลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 10,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับผู้ที่เสียภาษีระดับมลรัฐและภาษีระดับท้องถิ่น (SALT) รวมถึงภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีการขาย


แต่กระนั้น กฎหมายใหม่ก็ได้เพิ่มอัตราการลดหย่อนหลังหักรายจ่ายแบบเหมา (Standard Deduction) ได้สูงสุด 12,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับบุคคลที่มีสถานภาพโสด และ 24,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับผู้เสียภาษีที่เป็นคู่สามีภรรยา ขณะที่กฎหมายฉบับก่อนได้กำหนดเพดานรายจ่ายที่สามารถนำมาหักลดหย่อนไว้ที่ 6,350 เหรียญสหรัฐ สำหรับบุคคลที่มีสถานภาพโสด และ 12,700 เหรียญสหรัฐ สำหรับคู่สมรส


เมื่อดูจากอัตราการลดหย่อนภาษีข้างต้นจะเห็นว่า กฎหมายภาษีฉบับใหม่เอื้อประโยชน์ต่อชาวอเมริกันภาคครัวเรือนราว 2 ใน 3 ที่เลือกใช้วิธีการขอลดหย่อนแบบ Standard Deduction มากกว่าการหักรายจ่ายโดยคำนวณตามรายการ (Itemized Deduction)

 

เพิ่มเงินคืนภาษีเพื่อสงเคราะห์บุตร

กฎหมายใหม่ได้เพิ่มวงเงินในการขอคืนเงินภาษีเพื่อสงเคราะห์บุตร (Child Tax Credit) จากเดิม 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 2,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและมีบุตรอายุต่ำกว่า 17 ปีได้รับประโยชน์มากขึ้น

 

ใช้ระบบจัดเก็บภาษีแบบ Territorial System

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในกฎหมายฉบับนี้คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี จากเดิมที่ใช้ระบบ Worldwide Tax System ไปเป็นระบบ Territorial System (การเก็บภาษีตามแหล่งที่มาของรายได้)


หรือพูดง่ายๆ ก็คือรัฐบาลจะเก็บภาษีจากรายได้ของบริษัทที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยไม่รวมรายได้ที่เกิดขึ้นในธุรกิจต่างประเทศ เพื่อไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน จากเดิมที่ต้องจ่ายภาษีจากรายได้นอกประเทศให้กับประเทศนั้นๆ อยู่แล้ว


ระบบจัดเก็บภาษีใหม่นี้ยังดึงดูดบริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ให้นำผลกำไรจากการดำเนินงานในต่างประเทศกลับเข้าสหรัฐฯ เพื่อจ่ายภาษีในอัตราพิเศษที่ 8% ด้วย

 

ระบบภาษีใหม่เอื้อประโยชน์ต่อคนรวย?

ศูนย์นโยบายภาษี (Tax Policy Center) ในสหรัฐฯ ประเมินว่า กฎหมายภาษีฉบับใหม่ของสหรัฐฯ จะช่วยลดภาระภาษีต่อคนเฉลี่ย 1,600 เหรียญสหรัฐในปี 2018 และจะทำให้ผู้เสียภาษีมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2%


อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดกระแสความกังวลตามมาว่าการปฏิรูประบบภาษีครั้งนี้จะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (Income Inequality) หรือเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น


ตามกฎหมายฉบับใหม่ ประชาชนชาวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จะจ่ายภาษีน้อยลงเฉลี่ย  60 เหรียญสหรัฐ หรือจะมีรายได้หลังหักภาษีเพิ่มเพียง 0.4%


ขณะที่ผู้มีรายได้ปานกลางในช่วง 49,000-86,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จะเสียภาษีน้อยลงประมาณ 900 เหรียญสหรัฐ หรือมีรายได้เพิ่ม 1.6% หลังหักภาษี


ส่วนกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้สูงพอสมควรในช่วง 86,000-149,000 เหรียญสหรัฐต่อปี และกลุ่มคนรายได้สูงในช่วง 308,000-733,000 เหรียญสหรัฐต่อปี จะจ่ายภาษีน้อยลงเฉลี่ย 1,800 เหรียญสหรัฐ และ 13,500 เหรียญสหรัฐ หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังหักภาษีที่ 1.9% และ 4.1% ตามลำดับ


ขณะที่กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดในประเทศด้วยรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 733,000 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 1% ของจำนวนผู้เสียภาษีทั้งหมดนั้นจะจ่ายภาษีน้อยลงเฉลี่ย 51,000 เหรียญสหรัฐ หรือมีรายได้เพิ่ม 3.4% หลังหักภาษี

 

ประชาชนในรัฐที่เสียภาษีสูงต้องแบกรับภาระมากขึ้น

นอกจากจะถูกวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องเอื้อประโยชน์ต่อคนรวยแล้ว กฎหมายภาษีฉบับใหม่ยังถูกวิจารณ์ว่าจะทำให้ประชาชนในมลรัฐและเมืองต่างๆ ที่เก็บภาษีในอัตราสูงลิ่วอย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และนิวเจอร์ซีย์ จะต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น เนื่องจากกฎหมายใหม่กำหนดให้หักรายจ่ายจากภาษี SALT และภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ไม่เกิน 10,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น


ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจากพรรครีพับลิกันในมลรัฐที่เก็บภาษีสูงต่างก็แสดงความกังวลว่าการผลักดันกฎหมายดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนในรัฐเหล่านั้น โดยรัฐแคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก และนิวเจอร์ซีย์ ต่างก็เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต

 

ระบบภาษีใหม่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือแค่นโยบายขายฝัน?

ทรัมป์ยืนยันต่อสื่อมวลชนก่อนออกเดินทางไปยังแคมป์เดวิดเมื่อวันเสาร์ (16 ธ.ค.) ที่ผ่านมาว่า การปฏิรูประบบโครงสร้างทางภาษีครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นกลางอเมริกันอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้กลับมาเติบโตที่ระดับ 4-6% ต่อปีเลยทีเดียว เพราะจะช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกันมากกว่า 12 ล้านตำแหน่ง ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่คิดเป็นมูลค่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ


อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากมองว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตที่ระดับ 4% หรือ 5% เป็นเรื่องท้าทายสำหรับทรัมป์มาก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เคยผ่านช่วงที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุดมาแล้วที่ 5% ในปี 1984


นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่มีแผนรูปธรรมในการจัดหารายได้เข้าคลังเพื่อชดเชยเงินภาษีที่ขาดหายไป ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก และมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 1.46 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในช่วง 10 ปีข้างหน้า จากระดับ 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยืนกรานว่าสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว เนื่องจากนโยบายลดภาษีจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจให้เพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่อง


แต่กระนั้น แดร์เรลล์ เวสต์ นักวิเคราะห์จาก The Brookings Institution ในสหรัฐฯ กลับเห็นต่างออกไป โดยมองว่ากฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่จะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากนัก

 

รีพับลิกัน’ ได้โมเมนตัมทางการเมืองก่อนลุยศึกเลือกตั้งกลางเทอมปีหน้า?

นักวิเคราะห์ต่างชาติเชื่อว่า ถึงแม้ชัยชนะของพรรครีพับลิกันในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับใหม่จะช่วยลบล้างความล้มเหลวจากกรณีที่พรรคไม่สามารถล้มเลิกกฎหมาย ‘โอบามาแคร์’ ของรัฐบาลชุดก่อนได้ แต่นั่นก็ไม่อาจหนุนพรรครีพับลิกันให้กลับมามีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า


เวสต์กล่าวเสริมว่า ในภาพรวมแล้วร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อคนรวยมากกว่าชนชั้นกลาง ดังนั้นจึงไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลของทรัมป์และพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งกลางเทอมปีหน้า โดยโพลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดบ่งชี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสำคัญในกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้พวกเขายังไม่เชื่อด้วยว่าจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของรัฐบาลในครั้งนี้


ขณะที่ เกรกอรี อาร์. แวลลิเยร์ หัวหน้านักกลยุทธ์แห่ง Horizon Investments บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินชั้นนำในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ของสหรัฐฯ กล่าวว่า หากสหรัฐฯ สามารถรักษาอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ระดับราว 3% ด้วยอัตราว่างงานต่ำกว่า 4% ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีหน้าได้ ก็อาจช่วยให้พรรครีพับลิกันมีคะแนนนิยมที่กระเตื้องขึ้นก่อนสู้ศึกเลือกตั้งกลางเทอมก็เป็นได้


แต่แวลลิเยร์เตือนว่าพรรครีพับลิกันอาจเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งกลางเทอม เนื่องจากคะแนนนิยมที่ย่ำแย่ของทรัมป์อาจส่งผลให้พรรคสูญเสียเก้าอี้ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 24 ที่นั่ง ซึ่งอาจทำให้พรรคเดโมแครตสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาล่างได้ นอกจากนี้พรรครีพับลิกันยังอาจสูญเสียเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วย โดยปัจจุบันพรรครีพับลิกันมีที่นั่ง ส.ว. ในสภาสูงมากกว่าพรรคเดโมแครตที่ 51 ต่อ 49 ที่นั่ง

 

ผลกระทบกับไทย หลังสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้กฎหมายภาษีฉบับใหม่ในปีหน้า

ทรัมป์คาดหวังว่านโยบายภาษีของเขาจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทอเมริกันทั่วโลก รวมถึงช่วยดึงดูดบริษัทอเมริกันในต่างประเทศและบริษัทต่างชาติให้กลับมาดำเนินงานหรือเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น


โดยที่ผ่านมามีการประมาณการว่าบริษัทอเมริกันสามารถทำรายได้ในต่างประเทศรวมกันประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มีหลายบริษัทที่ไม่นำผลกำไรกลับเข้าประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี 35% แต่ภายใต้กฎหมายใหม่ซึ่งลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 21% จะทำให้พวกเขาเสียภาษีจากรายได้นอกประเทศในอัตราที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการของทรัมป์ในการป้องกันไม่ให้บริษัทเหล่านี้นำเงินไปเก็บในที่พักหลบภาษี (Tax Haven) ในต่างประเทศ


นักวิชาการไทยมองว่าการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ จะไม่ส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อไทยมากนัก แต่ไทยจะได้อานิสงส์จากการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น หากนโยบายภาษีของทรัมป์สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เจริญเติบโตดียิ่งขึ้นได้


รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ทัศนะกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า เมื่อมองในแง่ของเศรษฐกิจระดับมหภาคแล้ว ไทยจะได้อานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย เพราะหากมีการปรับลดภาษีก็จะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจสหรัฐฯ ให้เพิ่มการลงทุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน


ส่วนผลกระทบด้านลบนั้น รศ.ดร.สมชาย มองว่า ถึงแม้บริษัทหรือนักลงทุนชาวอเมริกันจะมีแรงจูงใจให้ย้ายฐานการดำเนินงานหรือโรงงานกลับสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากภาษีที่ถูกลง แต่อย่าลืมว่าบริษัทเหล่านี้ก็ต้องคำนึงถึงอัตราค่าแรงด้วย ดังนั้นไทยจึงยังคงความได้เปรียบอยู่ เพราะมีแรงงานทักษะสูงที่มีค่าแรงถูกกว่ามาก


นอกจากนี้บริษัทอเมริกันยังให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประตูการค้ากับภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X