สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง HSBC Holdings Plc และ Credit Suisse Group AG ต่างยังมีมุมมองเชิงลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างดัชนี S&P 500 ที่แม้จะบวกขึ้นมาได้ 2 วันติดต่อกัน เพิ่มขึ้น 5.7% หลังลดลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ในรอบเกือบ 2 ปีที่ระดับ 3.584.13 จุด
ทั้งนี้ HSBC มองว่า มูลค่าหุ้นของสหรัฐฯ ยังไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงทั้งหมดจากการที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น และความพยายามที่จะควบคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อกำไรของบริษัทต่างๆ ได้มากกว่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
ขณะที่ Goldman Sachs Group Inc. และ Bank of America Corp. ต่างปรับลดเป้าหมายของดัชนี S&P 500 ลงจาก 4,450 จุด มาเหลือ 3,500 จุด ในปี 2022 เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจะกระทบต่อมูลค่าหุ้นของสหรัฐฯ
แม็กซ์ เคตต์เนอร์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินทรัพย์ผสมของ HSBC กล่าวว่า ความเสี่ยงต่างๆ จะยังคงอยู่ต่อไปจนถึงปี 2023 และความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะปรับฐานลงอีกจะเกิดจากกำไรที่ชะลอลง และจะกดดันให้ดัชนี S&P 500 ลดลงไปต่ำกว่า 3,200 จุดในไตรมาส 4 ก่อนที่ตลาดอาจฟื้นตัวกลับมาได้ในครึ่งปีหลังของปี 2023 หลังจากที่ Fed เริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ย
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ของ Credit Suisse ที่ปรับลดคาดการณ์เป้าหมายดัชนี S&P 500 ลง 10% มาอยู่ที่ 3,850 จุด ส่วน Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์ลงจาก 4,300 จุด มาเหลือ 3,600 จุด
ด้าน สาวิตา สุบรามาเนียน นักวิเคราะห์ของ Bank of America มองว่า ตลาดหุ้นที่ปรับฐานลงมาก่อนหน้านี้ยังไม่ได้เป็นระดับที่นักลงทุนต่างยอมแพ้กันไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม ไมค์ วิลสัน นักวิเคราะห์ของ Morgan Stanley ที่มีชื่อเสียงในด้านมุมมองเชิงลบต่อตลาด มองว่า หุ้นสหรัฐฯ อยู่ในช่วงท้ายของตลาดหมีแล้ว ซึ่งเราน่าจะเห็นดัชนีลดลงไปอยู่ที่ราว 3,000-3,400 จุด
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP