สำนักข่าว Reuters รายงานข้อมูลจากเอกสารลับฉบับหนึ่งที่ถูกเผยแพร่พร้อมกับเอกสารลับระดับสูงด้านข่าวกรองและการทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่รั่วไหลและถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าเซอร์เบีย ซึ่งเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ปฏิเสธจะคว่ำบาตรรัสเซียต่อกรณีการรุกรานยูเครน ได้มีการตกลงที่จะจัดหาอาวุธให้แก่รัฐบาลเคียฟ หรืออาจถึงขั้นส่งอาวุธให้แล้ว
เอกสารดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า ‘ยุโรป | การตอบสนองต่อความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังดำเนินอยู่’ เป็นเอกสารในรูปแบบแผนภูมิที่แสดงถึง ‘การประเมินจุดยืน’ ของ 38 รัฐบาลประเทศยุโรป ที่มีการตอบสนองต่อคำร้องขอความช่วยเหลือทางทหารของยูเครน โดยถูกระบุว่าเป็นความลับและมีข้อความ ‘NOFORN’ หรือห้ามเผยแพร่ไปยังหน่วยข่าวกรองและกองทัพของต่างประเทศ โดยระบุวันที่ไว้เป็นวันที่ 2 มีนาคม และมีตราประทับของสำนักงานเสนาธิการร่วม
เนื้อหาเอกสารมีการสรุปรายละเอียด ท่าทีและการตอบสนองของรัฐบาลประเทศยุโรปเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงเซอร์เบีย ต่อคำขอของยูเครน สำหรับการฝึกทางทหารและ ‘ความช่วยเหลือที่ร้ายแรง’ หรือการจัดส่งอาวุธ
ขณะที่แผนภูมิแสดงรายการในเอกสารยังชี้ให้เห็นว่าเซอร์เบียปฏิเสธที่จะให้การฝึกอบรมแก่กองกำลังยูเครน แต่ได้ให้คำมั่นที่จะจัดส่งความช่วยเหลือที่อันตรายหรือได้จัดส่งให้แล้ว นอกจากนี้ยังระบุว่า เซอร์เบียมีเจตจำนงทางการเมืองและศักยภาพทางทหาร ที่สามารถจัดหาอาวุธให้แก่ยูเครนได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ทำเนียบประธานาธิบดีเซอร์เบียและสถานเอกอัครราชทูตยูเครนในเซอร์เบียยังไม่แสดงท่าทีหรือให้ความเห็นต่อข้อมูลจากเอกสารลับดังกล่าว เช่นเดียวกับเพนตากอนที่ยังไม่ได้ให้คำตอบใดๆ เกี่ยวกับข้อมูลในเอกสารที่โยงไปถึงเซอร์เบีย
การเปิดเผยข้อมูลลับดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีผู้โพสต์เอกสารหลายฉบับลงในแอปพลิเคชัน Telegram ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัท Krusik Corp. ผู้ผลิตอาวุธในเซอร์เบีย ได้จัดส่งจรวดโจมตีจากพื้นสู่พื้นขนาด 122 มม. ไปยังกรุงเคียฟในเดือนพฤศจิกายน โดยรายละเอียดเอกสาร รวมถึงใบรายการส่งสินค้าและใบรับรองแก่ผู้ใช้ปลายทางคือรัฐบาลยูเครน
ขณะที่รัสเซียได้สอบถามไปยังรัฐบาลเซอร์เบียเพื่อขอคำอธิบายเรื่องนี้ แต่บริษัท Krusik Corp. ปฏิเสธว่าไม่มีการจัดส่งจรวดหรืออาวุธอื่นๆ ให้แก่ยูเครน ส่วนประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูซิช (Aleksandar Vucic) ของเซอร์เบีย ชี้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าว ‘เป็นเรื่องโกหก’ และย้ำว่าเซอร์เบียไม่ได้ส่งออกอาวุธหรือเครื่องกระสุนใดๆ ไปยังรัสเซียหรือยูเครน
ที่ผ่านมารัฐบาลเซอร์เบียภายใต้การนำของประธานาธิบดีวูซิช แสดงตัวเป็นกลางในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แม้ว่าประเทศเซอร์เบียจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งทั้งในทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมกับรัสเซีย
โดยนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว รัฐบาลเซอร์เบียได้พยายามสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีต่อมอสโก โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ขณะที่เซอร์เบียเป็นประเทศเดียวในบรรดา 44 ประเทศของยุโรป ที่ปฏิเสธจะคว่ำบาตรรัสเซียเพื่อตอบโต้การตัดสินใจทำสงครามบุกยูเครน
ภาพ: Pierre Crom / Getty Images
อ้างอิง :