วันนี้ (24 พฤศจิกายน) รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องระบบเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยกร่างกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะแก้ไขให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความเห็น
รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เข้าสู่รัฐสภาแล้ว รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยเมื่อแก้ไขเสร็จแล้ว ตามมารยาททางการเมือง รัฐบาลควรต้องยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งตามกติกาใหม่ หากไม่ยุบก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าแก้ไขระบบเลือกตั้งไปเพื่ออะไร เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ในสมัยรัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการประกาศยุบสภาทันที ถือเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง และหากเทียบระยะเวลาก็พอดีกัน รัฐธรรมนูญปี 2550 มีการแก้ไขในปี 2554 ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการแก้ไขในปี 2564 นอกจากนี้ ภาวะการเมืองในปี 2554 ก็มีลักษณะคล้ายกัน มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา, ลาออก เหมือนกัน และหากเทียบกันแล้วระบบเลือกตั้งที่แก้ไขสมัยปี 2554 ถือได้ว่าแก้ไขน้อยกว่าปี 2564 ด้วยซ้ำ เพราะการแก้ครั้งนี้ถือเป็นการแก้เพื่อเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนระบบแล้วก็ควรยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่
รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวต่อไปว่า กระบวนการที่รัฐบาลจะยื้อกฎหมายเลือกตั้งได้ตอนนี้คือการยื้อก่อนที่จะเสนอกฎหมายเข้ารัฐสภา เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่เมื่อเข้ารัฐสภาแล้ว กระบวนการจะแล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่หากรัฐบาลใช้วิธีนั้น เชื่อว่าแรงกดดันก็จะเพิ่มขึ้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลควรเสนอร่างกฎหมายเลือกตั้ง และยุบสภาให้แล้วเสร็จก่อนเดือนสิงหาคม ปี 2565 ก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องวาระ 8 ปี นายกรัฐมนตรีหรือไม่ รศ.ดร.เจษฎ์กล่าวว่า เรื่องนี้สำหรับรัฐบาลอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เพราะคงมั่นใจว่าการนับระยะเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นไม่ได้นับจากปี 2557 แน่นอน