Great Resignation หรือ อภิมหาการลาออกครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่กำลังถูกจับตามองทั่วโลก ถ้าไม่เชื่อก็ลองถามบียอนเซ่ดูสิ
“I just quit my job, I’m gonna find new drive, damn, they work me so damn hard.” หรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ฉันเพิ่งลาออกจากงาน ฉันจะหาทางใหม่ให้ชีวิต แม่งเอ๊ย พวกเขาใช้งานฉันหนักเกินไปแล้ว”
นี่คือส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง Break My Soul ซิงเกิลใหม่ของบียอนเซ่ที่เพิ่งออกมาเมื่อคืนวันจันทร์ พูดถึงเรื่องราวของพนักงานบริษัทที่ต้องทำงานหนักจนทนไม่ไหว และทิ้งทุกอย่างเพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ตัวเองต้องการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตามคาด Fed อัดยาแรงขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- เปิดเหตุผลที่ทำให้ Gen Z จะกลายเป็นผู้ชนะในสงครามลาออกครั้งใหญ่ในอเมริกา
- หมดยุคเข้าทำงานออฟฟิศ? 64% ของพนักงานจะ ‘ลาออก’ หากต้องกลับเข้าไปทำงานเต็มเวลาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘กลุ่มเด็กรุ่นใหม่’
ฟังดูเหมือนเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ไหม ใช่แล้ว นี่คือการอ้างอิงถึง Great Resignation ที่เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2021 ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับมาฟื้นฟูอีกครั้งหลังจากการระบาดของโควิด ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีคนมากกว่า 47 ล้านคนลาออกจากงานโดยสมัครใจในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาล
และในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งได้ ‘ปลด’ ตัวเองจากงานด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการหมดไฟจากการระบาดของโควิด หรือความหวังที่จะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น หรือสวัสดิการที่ดีขึ้น บางคนก็มีความจำเป็นในการดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ
ส่วนในปีนี้ก็ยังมีคนลาออกเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง สถิติล่าสุดเท่าที่มีเปิดเผยให้ได้รู้ว่า ในเดือนมีนาคมมีคนลาออกมากกว่า 4.4 ล้านคน
“เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้แทรกซึมเข้าไปในหมู่จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย (Zeitgeist)” นิค บังเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ Indeed กล่าวถึงการลาออกครั้งใหญ่ พร้อมเสริมว่า แนวทางของบียอนเซ่ “เป็นตัวอย่างหนึ่งของการรับรู้หรือการอภิปรายในวงกว้างเกี่ยวกับผู้คนที่ลาออกจากงาน ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานและสังคม”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางได้อัดยาแรงขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้น และทำให้เศรษฐกิจที่ดุเดือดนั้นเย็นลงได้บ้าง แต่การออกมาเคลื่อนไหวของธนาคารกลางก็อาจทำให้ตลาดแรงงานสั่นคลอนได้เช่นกัน
ผลการสำรวจหลายครั้งแสดงให้เห็นอย่างตรงกันว่า คนที่ตัดสินใจลาออกในช่วง Great Resignation นั้นไม่ใช่ด้วยเหตุผลของค่าจ้างเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะตัวงานที่ทำให้พวกเขาไม่มีคุณค่าและไม่ได้รับการเติมเต็มด้วย
อีกทั้งส่วนหนึ่งการมีเวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นทำให้พนักงานมีโอกาสประเมินลำดับความสำคัญและค่านิยมของพวกเขาอีกครั้ง และพนักงานก็ไม่เต็มใจที่จะเลิกทำงานทางไกล
ในอดีตพนักงานที่หมดไฟในการทำงานอาจไม่ค่อยรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากพอที่จะลาออกจากงานและหางานใหม่อีกครั้งได้ แต่ในยุคนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว พนักงานกล้าตัดสินใจมากขึ้น เมื่องานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ การลาออกและหางานใหม่อีกครั้งไม่ใช่เรื่องแปลก
Pew Research Center ระบุว่า เหตุผลในการลาออกของพนักงานในปี 2021 คือค่าจ้างที่น้อย และขาดโอกาสในการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ตามมาด้วยความรู้สึกไม่เคารพกันที่ทำงาน
สิ่งที่น่าสนใจคือการจ่ายเงินดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อพนักงานหลายคน และนักเศรษฐศาสตร์บางคนคิดว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น 6.1% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นประจำปีครั้งใหญ่ที่สุดในรอบอย่างน้อย 25 ปี จากข้อมูลของธนาคารกลางแห่งแอตแลนตา
สิ่งนี้เกิดขึ้นจากความต้องการแรงงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงพนักงานที่มีความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางอุตสาหกรรม เช่น การพักผ่อนและการบริการ (บาร์ ร้านอาหาร โรงแรม) และการค้าปลีก
“Release your anger. Release your mind. Release your job. Release the tide. Release your trade. Release the stress. Release your love. Forget the rest.” หรือ “ปลดปล่อยความโกรธ ปลดปล่อยใจ ปลดปล่อยงานของเธอทิ้งไป”
เนื้อเพลงอีกท่อนหนึ่งที่บอกกับทุกคนว่า ถ้ายังลังเลอยู่ ปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธเกรี้ยว ปลดปล่อยตัวเองจากงานที่ทำให้เหนื่อยล้า และลืมทุกอย่างไปให้หมด ซึ่งเนื้อเพลงท่อนนี้บ่งบอกสถานการณ์ปัจจุบันของเหล่าพนักงานบริษัทได้ดีมาก พวกเขาเหนื่อยล้าจากการทำงาน รู้สึกไร้ค่าและเครียดเพราะงาน อย่าอดทน ปล่อยมัน แล้วลาออกเลย
กระนั้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คลื่นของการลาออกดูเหมือนจะทำให้เกิดความเครียดและความไม่พอใจในหมู่พนักงานที่เหลืออยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการลาออกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสภาวะตลาดแรงงานยังคงเอื้ออำนวยต่อพนักงานในการหางานใหม่
จากการสำรวจของ Society for Human Resource Management พบว่า พนักงานมากกว่าครึ่ง (52%) ที่ยังไม่ได้ลาออกบอกว่าตัวเองต้องทำงานและรับผิดชอบมากขึ้น
เกือบ 1 ใน 3 ของพวกเขาประสบปัญหาในการทำงานที่จำเป็นให้เสร็จลุล่วง 27% รู้สึกภักดีต่อองค์กรน้อยลง 28% รู้สึกโดดเดี่ยวหรือโดดเดี่ยวมากขึ้น และ 55% สงสัยว่าค่าจ้างของพวกเขาสูงเพียงพอหรือไม่
อ้างอิงจาก PopVortex เพลง Break My Soul สร้างปรากฏการณ์ติดอันดับ 1 ในชาร์ต iTunes Top 100 ทันทีในวันอังคาร โดยแฟนเพลงหลายคนออกมาพูดถึงงานของตัวเอง และทวีตข้อความในเชิงว่า พวกเขาจะลาออกตามเนื้อเพลงของบียอนเซ่ดีไหมนะ หรือแม้กระทั่งแต่งตั้งให้เพลง Break My Soul เป็นเพลงแห่งยุค Great Resignation
หลายคนออกมาแชร์ประสบการณ์ว่า พวกเขาได้ส่งอีเมลลาออกจากงานเป็นที่เรียบร้อย โดยให้เหตุผลว่า “เพราะบียอนเซ่บอกว่าให้ลาออก” หรือบางคนก็ทวีตถามแบบติดตลกว่า “แต่ถ้าฉันลาออก แล้วฉันจะเอาเงินที่ไหนไปคอนเสิร์ตแม่ล่ะ”
ภาพ: Winter / Getty Images for The Recording Academy
อ้างอิง: